ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ
ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (1)
เป็นที่ยอมรับทั่วไปอย่างไร้ข้อขัดแย้งมานานแล้วนะครับว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามในเชิงสัญลักษณ์ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุในคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลทางพระพุทธศาสนา
แต่ภายใต้ความเห็นพ้องดังกล่าว น่าสนใจที่การอธิบายในรายละเอียดการออกแบบว่าองค์ประกอบส่วนไหนควรจะสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์อะไรบ้างนั้นกลับมีไม่มากนัก
เท่าที่พอปรากฏอยู่บ้างก็มักอธิบายในภาพรวมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เช่น ปรางค์ประธานตรงกลางคือเขาพระสุเมรุ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ด้านคือทวีปทั้งสี่ (การตีความนี้ส่วนตัวไม่เห็นด้วย รายละเอียดจะกล่าวต่อไปข้างหน้า)
ส่วนประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่เรือนธาตุสื่อถึงพระอินทร์ที่เป็นใหญ่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นต้น
หากเทียบกับความยิ่งใหญ่ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สลับซับซ้อน และสถานะของการเป็นดั่งมหาธาตุหลวงของกรุงเทพฯ ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีความสูงมากถึง 80 เมตร ผมเชื่อว่าช่างในยุคนั้นต้องคิดมากกว่านี้ในเชิงการออกแบบรายละเอียดทางสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวพระปรางค์
หลายปีก่อนผมมีโอกาสได้ศึกษาในประเด็นนี้โดยตรงและตีพิมพ์ข้อเสนอทั้งหมดไปแล้วในหนังสือ “คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม” แต่การตีพิมพ์ในครั้งนั้นมีหลายประเด็นของการตีความที่กว้างมากไปกว่าตัวพระปรางค์ อีกทั้งหนังสือก็ค่อนข้างเผยแพร่ในวงจำกัด
ประกอบกับมีการค้นพบประเด็นการตีความในเชิงรายละเอียดบางอย่างที่มากขึ้น
ดังนั้น ผมเลยอยากจะใช้พื้นที่ในคอลัมน์นี้ อธิบายเน้นการศึกษาตีความอย่างละเอียดอีกครั้งโดยเจาะเฉพาะลงไปในส่วนของการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ
โดยหวังว่า ผู้อ่านหากมีโอกาสไปเที่ยมชมพระปรางค์วัดอรุณฯ ในอนาคต จะเข้าใจนัยยะที่แฝงอยู่ตามองค์ประกอบลวดลายต่างๆ และสนุกมากขึ้นในการเดินชม

ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม
การตีความสัญลักษณ์ที่จะกล่าวต่อไป มิได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ ตามใจผมนะครับ แต่เกิดขึ้นจากการตีความเทียบเคียงอย่างละเอียดจาก “คัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” (ต่อไปจะขอเรียกอย่างง่ายๆ ว่า ไตรภูมิรัชกาลที่ 1) ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ที่อธิบายความคิดและความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลที่ละเอียดที่สุดในยุคต้นรัตนโกสินทร์
ที่สำคัญคือเป็นเอกสารสำคัญที่รัชกาลที่ 3 และนายช่างทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ จะต้องได้อ่านอย่างแน่นอน
ดังนั้น การตีความของผมจึงตั้งอยู่บนเอกสารร่วมสมัยซึ่งน่าเชื่อว่าจะเป็นเอกสารหลักที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจการตีความได้ง่ายขึ้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจภาพรวมของเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 เป็นลำดับแรก

ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม
ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 เขียนอธิบายแสดงลักษณะทางกายภาพของโลกและจักรวาลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาสมัยต้นรัตนโกสินทร์เอาไว้โดยละเอียด ซึ่งสามารถสรุปโดยย่อได้ดังต่อไปนี้
จักรวาลแต่ละจักรวาลมีสันฐานกลมเหมือน “กงเกวียน” มีเขาพระสุเมรุประดิษฐานอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางแห่งจักรวาล โดยจะมี “เขาสัตตบริภัณฑ์” จำนวน 7 ชั้นล้อมรอบเขาพระสุเมรุเป็นเสมือนวงแหวน มีชื่อไล่เรียงกันคือ ยุคนธร, อิสินธร, กรวิก, สุทัสสนะ, เนมินธร, วินันตกะ, และ อัสสกัณณะ
โดยความสูงของแต่ละเขาจะลดหลั่นลงเป็นลำดับ จากศูนย์กลางคือเขาพระสุเมรุลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงเขาอัสกัณณะที่อยู่ชั้นนอกสุด
ในพื้นที่ระหว่างเขาสัตตบริภัณฑ์คือ “สีทันดรมหาสมุทร” ซึ่งเป็นทะเลน้ำจืด โดยถัดออกไปจากแนวเขาสัตตบริภัณฑ์ก็จะเป็นมหาสมุทรใหญ่เรียกชื่อว่า “โลณมหาสมุทร” ซึ่งเป็นทะเลน้ำเค็ม โดยในโลณมหาสมุทรนี้จะเป็นที่ตั้งของทวีปใหญ่ทั้ง 4 ซึ่งตั้งอยู่ในทิศทั้ง 4 ถัดออกไปจากวงรอบเขาพระสุเมรุ
และที่ขอบนอกสุดของจักรวาลจะเป็นแนวเขาจักรวาล โดยในแต่ละจักรวาลจะมีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรรอบเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่มาของกลางวันและกลางคืน
ทวีปทางทิศเหนือชื่อ “อุตตรกุรุทวีป”, ทวีปทางทิศใต้ชื่อ “ชมพูทวีป”, ทวีปทางทิศตะวันออกชื่อ “ปุฟพวิเทหทวีป”, และทวีปทางทิศตะวันตกชื่อ “อมรโคยานทวีป” โดยแต่ละทวีปจะมีทวีปน้อย 500 ทวีปเป็นบริวาร รวมได้เป็นทวีปน้อย 2,000 ทวีปที่แวดล้อมทวีปใหญ่ทั้ง 4 อีกชั้นหนึ่ง โดยทวีปทั้ง 4 จะมีรูปพรรณสัณฐานที่แตกต่างกัน
จักรวาลดังกล่าวข้างต้น เป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกตามภพภูมิต่างๆ ได้แก่ “นิรยโลก” (นรก), “เปตโลก” (เปรต), “ดิรัจฉานโลก” (สัตว์ต่างๆ), “มนุษยโลก” (โลกมนุษย์), “เทวโลก” (สวรรค์) และ “พรหมโลก” โดยนรกทั้งหลายจะตั้งอยู่ใต้แผ่นดินของชมพูทวีป แบ่งเป็น “นรกใหญ่” 8 ขุม และ “อุสุทนรก” อีก 128 ขุม
นอกจากนี้ ยังมี “โลกันตนรก” อยู่ในพื้นที่ภายนอกรอบเขาจักรวาลอันมืดมิด
ส่วนมนุษย์จะอาศัยอยู่เฉพาะชมพูทวีปในส่วนพื้นที่ที่เรียกว่า “มัชฌิมประเทศ” เท่านั้น โดยพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของชมพูทวีปจะเป็น “ป่าหิมพานต์” และส่วนที่น้ำทะเลท่วมตลอดซึ่งไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่
บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุคือพื้นที่ป่าหิมพานต์อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หิมพานต์นานาชนิด อาทิ กินนร กินรี คนธรรพ์ สิงห์ ครุฑ นาค ฯลฯ โดยส่วนที่ลึกลงไปใต้เขาพระสุเมรุจะเป็น “พิภพอสูร” อันเป็นที่อยู่ของเหล่าอสูรต่างๆ
ส่วนเทวดาทั้งหลายจะอยู่ในเทวโลก ซึ่งมี 6 ชั้นตามบุญบารมี โดยไล่จากชั้นสวรรค์ล่างขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นบน คือ “จาตุมหาราชิกา”, “ดาวดึงส์”, “ยามา”, “ดุสิตฎ”, “นิมมานรดี”, และ “ปรนิมมิตวสวัตดี” ทั้งนี้ เขาพระสุเมรุจะเป็นที่ตั้งของสวรรค์เพียงแค่ 2 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ซึ่งตั้งอยู่บนเขายุคนธร เป็นที่ประทับของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ได้แก่ “ท้าวกุเวร” ประจำทิศเหนือ, “ท้าวธตรฐ” ประจำทิศตะวันออก, “ท้าววิรูปักษ์” ประจำทิศตะวันตก, และ “ท้าววิรุฬราช” ประจำทิศใต้
ยอดสุดของเขาพระสุเมรุจะเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ เทวดาผู้เป็นใหญ่ที่สุดบนสวรรค์และบนเขาพระสุเมรุ บนสวรรค์ชั้นนี้เป็นที่ตั้งของ “เจดีย์จุฬามณี” ซึ่งภายในบรรจุพระเกศาธาตุและพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญมาก
ส่วนสวรรค์ชั้นที่สูงไปกว่านี้จะเป็นวิมานที่ลอยสูงขึ้นไปเหนือยอดเขาพระสุเมรุ ส่วนพรหมโลกจะอยู่สูงเหนือขึ้นไปจากเทวโลก ประกอบไปด้วยรูปพรหม 16 ชั้น และอรูปพรหม 4 ชั้น
จากรายละเอียดอย่างสังเขปข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ ในส่วนต่างๆ สิ่งที่ผมค้นพบคือ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างน่าสนใจระหว่างเนื้อหา ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 กับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ จนอาจกล่าวได้ว่า การออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ ถูกคิดขึ้นจากเนื้อหาที่ถูกเขียนไว้ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1
ผมอยากเริ่มองค์ประกอบแรกด้วยการวิเคราะห์ตัวเรือนธาตุและยอดของพระปรางค์ประธานในฐานะสัญลักษณ์วิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยมีองค์ประกอบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่สะท้อนความหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ซุ้มจรนำที่เรือนธาตุขององค์พระปรางค์ทั้ง 4 ทิศที่ทำเป็นประติมากรรมรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
การทำเช่นนี้ทำให้ตัวปรางค์ประธานไม่สามารถตีความเป็นอื่นไปได้นอกจากการเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ โดยเรือนธาตุและยอดของพระปรางค์ 5 ยอดน่าจะหมายถึง “วิมานไพชยนต์” อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์
การออกแบบปราสาท 5 ยอดให้เป็นวิมานไพชยนต์จะเห็นได้ชัดในรัชกาล 4 ต่อมา ที่พระองค์ได้ไปสร้างพระที่นั่งปราสาท 5 ยอดในลักษณะที่คล้ายคลึงกับยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ ไว้บนยอดพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี โดยตั้งชื่ออย่างตรงตัวว่า “เวชยันตวิเชียรปราสาท” ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ “วิมานไพชยนต์”
นอกจากนี้ ยอดพระปรางค์ยังมีการประดับด้วย “นภศูล” ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผนเฉพาะของงานสถาปัตยกรรมพระปรางค์ตามขนบงานช่างของสังคมไทย
ซึ่งองค์ประกอบนี้สามารถคสื่อวามหมายถึงพระอินทร์ได้เช่นกัน โดยจากการตีความของ โชติ กัลยาณมิตร ที่เสนอว่านภศูลคือการนำสัญลักษณ์ “วชิราวุธ” อันเป็นอาวุธของพระอินทร์มาซ้อนกัน 3 ชั้น
ซึ่งหากเราเชื่อตามข้อเสนอดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้องค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ของยอดพระปรางค์ประธานมีความครบสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022