“The Lost Forest” | เปิดตัวหนังสือประวัติศาสตร์การทำลายสิ่งแวดล้อมเล่มแรกของไทย ผลงาน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

รายงานพิเศษ : กรกฤษณ์ พรอินทร์

 

“The Lost Forest”

เปิดตัวหนังสือประวัติศาสตร์การทำลายสิ่งแวดล้อมเล่มแรกของไทย

ผลงาน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.30 – 15.30 น. สำนักพิมพ์มติชนจัดเวทีเสวนา “Book Launch: The Lost Forest ป่าที่สูญหาย-อากาศที่ถูกทำลาย” ภายในงาน ‘Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม’ ณ มิวเซียมสยาม

เวทีนี้มีที่มาจากหนังสือ ‘The Lost Forest: ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร’ ผลงานเล่มล่าสุดของ “จอบ” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียน สื่อมวลชน ผู้เคลื่อนไหวและติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดหลายสิบปี นำสนทนาโดย ทรงกลด บางยี่ขัน

การเสวนาครั้งนี้เพื่อตอบคำถามว่า บทบันทึกประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยชิ้นนี้มีที่มาอย่างไร? หนังสือประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยสำคัญกับคนไทยมากเพียงไหน? และทำไมนักอ่านชาวไทยจึงไม่ควรพลาด?

ที่มาของหนังสือเล่มนี้

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่าว่าการที่ตนเขียนหนังสือ ‘The Lost Forest: ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร’ เล่มนี้ มีที่มาจากการที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากพูดถึง แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นตามรอยความเจริญของประเทศ ไม่มีใครอยากพูดถึงการใช้ทรัพยากร แต่ชอบพูดถึง GDP เพราะมันมีความหวัง เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงถูกซุกไว้ใต้พรมตลอด เวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี นักข่าวโต๊ะสิ่งแวดล้อมโดนโละออกโต๊ะแรก สะท้อนว่าไม่มีใครอยากพูดถึงสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมใช้เวลานานมากกว่าที่จะสะท้อนปัญหาออกมา ยกตัวอย่างเช่นปัญหาแม่น้ำเทมส์เน่าเสีย อังกฤษใช้เวลา 100 ปีในการทำให้แม่น้ำเทมส์กลับมามีสิ่งทีชีวิตในแม่น้ำได้ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยกลับไม่มีใครให้ความสำคัญ มันเป็นเรื่องของการไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย แลกมาด้วยความเจริญ

ผมคิดว่าเราต้องการความเจริญ แต่ก็ควรเหลียวไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง เรามีสปริงบอร์ดในช่วงปี 30 ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เกิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จังหวัดระยอง ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ในการกระจายความเจริญจากเมืองหลวงสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ

แม้นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจะสร้างความเจริญและรายได้ให้ประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งของมันก็คือการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน หนังสือพิมพ์ไม่อยากพูดอะไรมากเพราะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเกรงใจสปอนเซอร์ ในทางการแพทย์ก็ไม่มีพูดถึงปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งของคนในพื้นที่ นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ว่าทำไมไม่มีใครพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะมันจะไปขัดขวางความเจริญของประเทศ

หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากขึ้นของคนก็เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน การปลูกอาหารสัตว์ทั้งไทย พม่า ลาว หรือในแอมะซอนทำให้เกิดการเผาป่า เผาข้าวโพด จนเกิดฝุ่น pm 2.5

ในฐานะคนทำข่าวสิ่งแวดล้อมมา 30 ปี ที่ผมลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพราะคนทั่วไปคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันห่างไกลจากเรา ทั้งที่จริงมันไม่ใช่ แม้จะถูกกล่าวว่าเป็นพวกนักอนุรักษ์ก็ยอมรับ แต่ไม่อยากให้ว่ากันว่านักข่าวสิ่งแวดล้อมอย่างเราขัดขวางความเจริญ

สิ่งที่หายไปพร้อมการพัฒนา

มีหลายสิ่งที่หายไปจากอดีตพร้อมกับการพัฒนา เช่น สมัน ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เชื่อหรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของการทำลายป่าอย่างเป็นระบบคือสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่เราภาคภูมิใจว่าทำให้เกิดการค้าเสรีเกิดขึ้น แต่เราไม่ได้มองว่ามันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม จนเกิดสัมปทานการตัดไม้สักครั้งมโหฬารในพม่า ในลาว และการส่งออกข้าวที่เกิดการขุดคลองรังสิต จนเกิดการล่าสมันที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเพื่อส่งออกสมันไปยังต่างประเทศ เพราะเขาของสมันใหญ่โตและต่างชาติชื่นชม เป็นที่ต้องการ สมันตัวสุดท้ายของไทยถูกฆ่าที่วัดแห่งหนึ่งที่บริเวณปากน้ำ

ความเจริญไม่ได้พรากสัตว์ไปจากระบบนิเวศน์เพียงอย่างเดียว แม้จะไม่มีสมัน แต่ในปัจจุบันมีข่าวดีคือเราสามารถเพาะพันธุ์นกกระเรียนให้กลับมาวางไข่ตามธรรมชาติได้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะชาวบ้านให้ความร่วมมือกับทางการในการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ เพราะนกกระเรียนต้องใช้พื้นที่นาข้าวในการวางไข่ คนบุรีรัมย์เชื่อว่า “เราจงเลี้ยงนกกระเรียน แล้ววันหนึ่งนกกระเรียนจะเลี้ยงเรา” ซึ่งเป็นความจริงในทุกวันนี้ เพราะนอกจากการดูฟุตบอลและแข่งรถแล้ว นักท่องเที่ยวยังไปเยือนบุรีรัมย์เพื่อชมนกกระเรียนด้วย

คนอ่านได้อะไร

หวังว่าหนังสือเล่มนี้อาจจะช่วยเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนตัวเล็กๆ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เราในฐานะสื่อ ในฐานะชนชั้นกลาง อาจจะมองข้ามคนตัวเล็กๆ ตามชายขอบที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผมไม่อยากให้คนลืมพวกเขา

ที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้เพราะให้ทุกคนอ่าน สำหรับคนที่คิดว่าอยากเติมเต็มข้อมูลอีกด้านที่ไม่รู้ คือปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอุตสาหกรรมที่ย้อนแย้งกันอยู่ ก่อนที่เราจะไปปลูกป่า ดูแลคาร์บอนเครดิต แต่เรามีรากไหม เรามีความรู้เหล่านี้ไหม จึงอยากให้อ่านกัน

การเขียนหนังสือเล่มนี้แม้รู้ว่าขายยาก แต่เชื่อว่าขายได้เพราะเราไม่ได้เขียนแบบวิชาการ เราเขียนแบบคนลงพื้นที่ และอยากให้มีหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมของไทยขึ้นสักเล่ม

สมัยที่เป็น บก. นิตยสารสารคดี ผมเจอน้องๆ มาขอบคุณที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรนะ แต่ก็หวังว่า หนังสือเล่มนี้จะมีคนมาพูดคุยกับผมในอนาคตว่า ขอบคุณที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเช่นกัน •