ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เรื่องสั้น |
เผยแพร่ |
เรื่องสั้น | มนัส สัตยารักษ์
ผมเป็นคนไข้ชั้น 14
อาการของผมเมื่อไปโรงพยาบาลตำรวจก็คือเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น อุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติ แพทย์ตรวจแล้วต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ทิ้ง 2 ช่วง ก่อนผ่าตัดส่งไปรอคิวตรวจแบบ petscan ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์เศษ เพราะโรงพยาบาลตำรวจไม่มีเครื่องตรวจนี้
ผมยศต่ำกว่านายพล อาศัยหลาน เหลน ที่เป็นแพทย์ กับหลานเขยที่เป็นนายตำรวจใหญ่ ทั้งหมดช่วยให้ผมได้เป็นคนไข้ชั้น 14 ซึ่งมีห้องพิเศษ (ผู้ดูแลและช่วยเหลือคนไข้มีที่นอนและมีห้องน้ำแยกต่างหาก)
ห้องชุดของผมอยู่ทางฝั่งตะวันตก มองลงไปเห็นหลังคาโซลาร์เซลล์ห้องคอมพิวเตอร์ (บก.ทว.) ที่ทำงานเก่าของผม
บางเย็นเห็นพระอาทิตย์ใกล้ค่ำและท้องฟ้าสีแดง
ผมได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากบรรดาแพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะแผนกกายภาพบำบัดมีวิธีพูดจาชักชวนให้ออกกำลังแข้งขาเพื่อเดินได้โดยไม่ล้ม รวมทั้งออกกำลังปอดและหัวใจเพื่อให้แข็งแรงพร้อมรับการผ่าตัด
จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง พยาบาลสี่นางปลุกขึ้นจากหลับ (อันเป็นเรื่องปกติ) หลังจากรู้สึกตัวตื่นขึ้น ผมเอามือเสยผมที่ค่อนข้างยาวด้วยความเคยชิน
“แค่นี้ก็หล่อแล้วล่ะ ไม่รู้จะเอาหล่อไปถึงไหน!”
เป็นเสียงของพยาบาลนางหนึ่งแหวออกมาทำให้ผมแปลกใจ เป็นน้ำเสียงและกิริยาอาการของคนดื่มเหล้า หล่อนมีอายุและอ้วนมากกว่าพยาบาลคนอื่น ผมสังเกตได้ว่าพวกที่เหลือค่อนข้างเกรงใจในอาวุโสของ “ยายอ้วน” แต่บางคนแสร้งทำเหมือนว่าเป็นเรื่องขำขันที่ไม่น่าแปลกใจ
ผมมาตบะแตกหลังจากนั้นหลายวัน (หรือหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ไม่แน่ใจ) เมื่อ “ยายอ้วน” มาต่อว่า ที่ผมไม่บันทึกปริมาณของอุจจาระและปัสสาวะ ผมชี้แจงอย่างหัวเสียว่า คนเราบางครั้งอึและฉี่ออกมาในเวลาเดียวกัน ผมไม่สามารถแยกและบันทึกได้ว่าอะไรมีปริมาณเท่าไร ถ้าอยากได้ปริมาณที่ถูกต้องก็ต้องเข้าไปบันทึกเอาเอง
“ผมอนุญาตให้เข้าไปบันทึกเวลาผมเข้าห้องน้ำ ไม่อายหรอก” ผมระเบิดออกมา
หลังจากนั้นพยาบาลที่เหลือก็กระซิบบอกผมว่ายายอ้วนคนนี้ไม่ใช่พยาบาลชั้น 14!
วันหนึ่งนางพยาบาลนางหนึ่ง อ้วนเหมือนกัน แต่จะใช่คนเดิมหรือไม่ผมไม่ได้ใส่ใจจดจำ หล่อนเข้ามาถามผมว่า “ยาที่กินอยู่ทุกวันนี่เป็นยาอะไรรู้ไหม?”
“ไม่รู้หรอก บางมื้อมี 8 เม็ด ใครจะไปจำว่าเป็นยาอะไรมั่ง”
ผมเริ่มรู้สึกหงุดหงิด มันเป็นคำถามที่แปลก แม้แต่พยาบาลอีก 3 คนที่มาด้วยกันก็คงไม่ทราบจุดประสงค์ของคำถามนี้ มันไม่ควรจะเป็นคำถามที่ใช้ถามคนไข้
ผมเล่าเรื่องนี้ให้ญาติฟัง ญาติคนหนึ่งให้ความเห็นว่า
“นี่มันเป็นคำถามของสันติบาลนี่หว่า มันไม่ใช่คำถามของพยาบาลว่ะ”
สมองของผมสับสนและมึนงง อาจจะด้วยผ่านการผ่าตัดใหญ่มาไม่ต่ำว่า 4 ครั้ง หรือด้วยยาสารพัดชนิดจำนวนมากจากหลายโรงพยาบาล หรืออาจจะเสื่อมสภาพไปตามวัย 87-88 ปี จะสอบถามใครก็ป่วยการ ทุกคนต่างกังวล ห่วงชีวิตมากกว่าความรู้สึกของคนไข้
ผมเข้าโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่บอกเพื่อนตำรวจ ไม่ต้องการให้ใครรู้ และไม่อยากให้ใครมาเยี่ยม ตระหนักดีว่ารถติดสาหัส ที่จอดรถก็หายาก จะคุยกันก็ไม่ถนัด ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร ของเยี่ยมก็กินยาก เพราะทางโรงพยาบาลห้ามกินหลายอย่างเนื่องจากผมเป็นคนไข้สารพัดโรค
เรื่องที่ผมเล่าข้างต้นนั้น เล่าไปตามที่นึกออกหรือตามแรงบันดาลใจ ผมไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง
อย่างไรก็ตาม ผมเป็นคนไข้ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจราว 5 เดือน ตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ไม่มีใครเรียกผมว่า “เทวดา” เลย ต่างกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่สื่อขนานนามกึ่งยกย่อง กึ่งเหยียบย่ำว่า “เทวดา”
ดูเหมือนกองเชียร์หรือแฟนคลับ รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามต่างถูกอกถูกใจกับคำนี้
วันที่ออกจากโรงพยาบาลไปรักษาตัวที่บ้าน ร่างของผมมีเครื่องพ่วงไปด้วย 2 ชุด ชุดหนึ่งคือเสาแขวนถุงน้ำเกลือกับถุงเลือด อีกชุดหนึ่งคือถุงปัสสาวะกระเตงอยู่กับเอว
วันที่โรงพยาบาลนัดให้ลูกพาผมไปปลดเครื่องพ่วง เจ้าหน้าที่หรือแพทย์พยาบาลต่างเป็นห่วงแข้งขาและปอดกับหัวใจเช่นเคย
หลังจากนั้นอีกหลายสัปดาห์ ผมก็ไม่เป็นคนไข้ชั้น 14 อีก แต่เป็นคนไข้ที่ต้องไปรอคิวร่วมกับคนจำนวนมากเพื่อให้แพทย์ตรวจตามรอบ ทุลักทุเลตั้งแต่เช้าจนเย็นจึงถึงคิวเข้าไปให้แพทย์ตรวจ แพทย์คีย์แป้นคอมพิวเตอร์รวดเร็ว ตรวจแผลที่ท้องแล้วพูดให้สบายใจว่า “ดีขึ้น”
ผมเป็นคนไข้ชั้น 14 ก่อนทักษิณ ชินวัตร ประมาณ 3 เดือน อยู่ต่ออีกราว 2 เดือน ก่อนหมดสถานะความเป็นคนไข้ชั้น “เทวดา” เป็นคนไข้ธรรมดา •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022