ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (8)
ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)
ด้วยเหตุนั้น ตัวเลขประชากรที่เป็นไปได้ในสมัยหยวนจึงน่าจะมีอยู่ราว 65 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับที่มีการสำรวจในสมัยหมิงในอีกราวหนึ่งร้อยปีต่อมาที่พบว่ามี 10,652,789 ครัวเรือน และมีประชากรอยู่ที่ 60,545,812 คน
โดยตัวเลขสมัยหมิงมิได้นับบุคคลที่มิได้เสียภาษีอย่างเด็กเล็ก แม่หม้าย และผู้อ่อนแอหรือป่วยไข้
ที่ว่าใกล้เคียงก็เพราะว่า เกณฑ์การพิจารณาในการสำรวจที่ต่างกันของหยวนกับหมิงทำให้เห็นว่า เกณฑ์ของหยวนจะมีที่ผู้ตกสำรวจมากกว่าเกณฑ์ของหมิง และแน่นอนว่า ตัวเลขประชากรเหล่านี้คงมิได้หมายเฉพาะชาวจีนเท่านั้น
หากได้รวมชนชาติอื่นเอาไว้ได้วย ถึงแม้ในข้อเท็จจริงชาวจีนจะยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่อยู่ก็ตาม
การที่ชาวจีนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ถูกปกครองโดยมองโกลที่เป็นประชากรส่วนน้อยนั้น ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจให้แก่ชาวจีนเป็นธรรมดา
แต่ในอีกด้านหนึ่งหลังจากที่กุบไลข่านโค่นราชวงศ์ซ่งทางภาคใต้ลงได้แล้ว ก็ทำให้ดินแดนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ที่เคยแยกขาดกันก็ถูกหลอมรวมเป็นแผ่นดินเดียวกันอีกครั้ง
การหลอมรวมเช่นนี้กลับทำให้ชาวจีนบางคนรู้สึกยินดี ว่าจากนี้ไปตนสามารถที่จะเดินทางไปคารวะสุสานขงจื่อที่มณฑลซันตง หรือเยือนเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ฮั่นและถังที่มณฑลสั่นซีได้ดังเดิม
จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งกันเองนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า มองโกลประสบความสำเร็จก็แต่ในด้านการทหารที่ใช้กำลังเข้ายึดครองจีนเอาไว้ได้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านวัฒนธรรม ที่ไม่เพียงไม่อาจทำลายวัฒนธรรมจีนได้เท่านั้น หากยังต้องรับเอาวัฒนธรรมจีนมาถือปฏิบัติอีกด้วย
จากเหตุนี้ ชาวมองโกลในสายตาของชาวจีนจึงไร้ค่าไร้ราคา เป็นเพียงกองทัพที่ยึดครองจีนและสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวจีนได้ทุกขณะ และนำไปสู่ปฏิกิริยาที่ต่อต้านขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นศตวรรษที่ 13 อันเป็นช่วงที่ชาวจีนได้การลุกขึ้นสู้เพื่อโค่นล้มและขับไล่มองโกล
กุบไลข่านซึ่งเข้าใจวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างดีก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ และด้วยเหตุที่เป็นไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน การปกครองของพระองค์ก็ยังความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประการหนึ่ง นั่นคือ การทำให้ชนชั้นในสังคมจีนถูกจัดวางขึ้นมาใหม่
แน่นอนว่า มองโกลในฐานะผู้ปกครองย่อมต้องเป็นชนชั้นสูงสุด ถัดมาคือ ชนชาติที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า จูกว๋อเหญิน หรือ เซ่อมู่เหญิน
คำแรกแปลได้ว่า ปวงชนแห่งรัฐ คำหลังแปลได้ว่า ชนผู้มีตาเป็นสี คำเรียกทั้งสองคำนี้หมายถึง ชาว “เอเชียตะวันตก” (Western Asian) ซึ่งก็คือ ชาวอุยกูร์
ชนชั้นที่สามคือ ฮั่นเหญิน หมายถึง ชาวจีน ผู้อยู่ใต้ปกครองของมองโกล อีกทั้งยังคงเป็นคำเรียกชนชาตินี้แม้ในทุกวันนี้
ชนชั้นที่สี่คือ หนันเหญิน ที่แปลว่า ชาวใต้
ชนชั้นนี้คือประชากรราว 50 ล้านคนที่เคยอยู่ใต้ปกครองของราชวงศ์ซ่งใต้
การที่ราษฎรในแผ่นดินจีนเวลานั้นถูกแบ่งเป็นสี่ชนชั้นดังกล่าว ผลประการหนึ่งที่ตามมาก็คือ การเลือกปฏิบัติต่างๆ ต่อชนแต่ละชั้น เช่น การเสียภาษี การกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับราชการ
ความแตกต่างในด้านสิทธิและข้อได้เปรียบในกระบวนการยุติธรรม ในประเด็นเรื่องของบทลงโทษในคดีอาญา การอิสระจากข้อบังคับในคดีเกี่ยวกับหนี้สิน หรือการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย
โดยชนชั้นที่ได้รับการปฏิบัติที่ดีก็คือ ชาวมองโกลและชาวเอเชียตะวันตก ผู้ซึ่งมีกำไรผ่านการผูกขาดสถานะที่สูง และอำนาจในการตอบโต้กับประเพณีทางการเมืองและสังคมที่นำโดยอดีตผู้นำชาวจีน ที่ยังคงมีปฏิกิริยากับการปกครองของมองโกล
ซึ่งคือชนชั้นที่สามและชนชั้นสี่ข้างต้น
ไม่ว่าการแบ่งชนชั้นดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า เหตุผลสำคัญของการแบ่งชนชั้นที่ว่านั้นเป็นไปเพื่อให้การปกครองของหยวนราบรื่น
แต่กระนั้น กุบไลข่านก็มิได้ปฏิเสธระบบการสอบบัณฑิตของจีน ที่ยังคงใช้หลักคำสอนของลัทธิขงจื่อเป็นตำราพื้นฐานดังที่มีการปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ การสอบบัณฑิตในสมัยหยวนมีมาอย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนามาเป็นระยะ
จนท้ายที่สุดใน ค.ศ.1315 การสอบบัณฑิตก็ได้รับการพัฒนาจนเป็นที่น่าพอใจ ด้วยการจัดให้มีการสอบทุกสามปี โดยระหว่าง ค.ศ.1315 ถึง 1366 หยวนสามารถผลิตบัณฑิตระดับจิ้นซื่อได้ 1,139 คน
ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นชาวมองโกลและชาวเอเชียตะวันตก ที่สอบผ่านมาได้ก็ด้วยข้อสอบที่ง่ายกว่าและต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป หาไม่แล้วก็คงไม่ได้มากเช่นนั้น
ผลสะเทือนจากการปกครองของหยวนจากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า ในด้านหนึ่งจะเป็นผลสะเทือนที่มีต่อสถานะของชาวจีนโดยตรงที่ได้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง
อีกด้านหนึ่งเป็นการรับวัฒนธรรมจีนมารองรับการปกครองของตน ในด้านนี้เท่ากับหยวนยอมรับว่าลำพังวัฒนธรรมของตนคงไม่มีประสิทธิภาพพอ และทำให้วัฒนธรรมจีนถูกขับเน้นให้เห็นถึงความสำคัญอย่างที่มิอาจปฏิเสธได้
โดยเฉพาะกับการสร้างจักรวรรดิ
หลังยุคกุบไลข่านจนถึงการล่มสลาย
หากกล่าวในทางการเมืองแล้ว ระบบการปกครองที่กุบไลข่านสร้างขึ้นมานั้น เป็นระบบที่ประนีประนอมกันระหว่างระบบการสืบทอดอำนาจศักดินาฝ่ายชายของมองโกล (patrimonial feudalism) กับระบบอัตตอำมาตยาธิปัตย์ (autocratic-bureaucratic system) ตามประเพณีจีนที่มีมายาวนาน
ทั้งนี้ วงศานุวงศ์มองโกลพอใจกับการสืบทอดสิทธิพิเศษทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารที่มีมาแต่เดิม แต่พอมาถึงยุคกุบไลข่านจึงได้มีการลดทอนสิทธิพิเศษนี้ แต่ก็ลดทอนลงไม่มากนัก
ด้วยเกรงว่าจะเกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่วงศานุวงศ์จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022