ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ประเด็นขบวนเสด็จ ถูกนำกลับมาพูดถึงในสังคมอีกครั้ง ภายหลังเกิดกรณีเหตุการณ์บีบแตรขวางขบวนเสด็จของ “ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” หรือ “ตะวัน” จากกลุ่มทะลุวัง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บนทางด่วนย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
จนกลายเป็นข้อถกเถียงและทำให้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะฝ่ายขวาจัด ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก
จนเกิดการโต้เถียงและเลยเถิดไปถึงขั้นลงมือทำร้ายร่างกาย และหนักถึงขั้นข่มขู่หมายเอาชีวิต
สถานการณ์นี้มีหลายฝ่ายออกมาขยับรับเรื่อง ทั้งฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าง “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ผบ.ตร. ที่ออกมากำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ว่าต้องไม่กระทบกับพี่น้องประชาชนที่สัญจรบนท้องถนน และยังคงยึดหลักด้านความปลอดภัยในขบวนเสด็จอย่างสูงสุด
ตลอดจนได้กำชับการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีที่เกี่ยวข้อง ทั้งก่อน ขณะ และหลังขบวนเสด็จ อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย หากพบว่ามีความผิดก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย
รวมถึง “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” รอง ผบ.ตร.เองก็ได้ออกคำสั่งด่วนที่สุดถึง ผบช.น. ให้ดำเนินการ กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อน ขณะและหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 หรือไม่
และกำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ความสงบของสังคม เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก
เรื่องดังกล่าวยังนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนในฝั่งสภาล่างและสภาบน อย่างกลุ่ม ส.ว. และ ส.ส.ที่ออกมาตำหนิอย่างรุนแรงถึงพฤติกรรมของตะวันที่เกินเลยไปมาก
ไม่ว่าจะเป็น “ส.ว.สมชาย แสวงการ” ที่กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แม้จะอ้างว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การทำโพล รวมถึงการขัดขวางขบวนเสด็จ ก็ไม่สมควรจะกระทำอย่างยิ่ง เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะไม่ควร รวมถึงเป็นการคุกคามที่คนไทยรับไม่ได้ เห็นสมควรที่จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการกับผู้ที่กระทำการดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม กลุ่มของกลุ่มมวลชนที่เห็นต่าง รวมถึงการปะทะกันของกลุ่มมวลชนอาจจะทำให้เกิดน้ำผึ้งหยดเดียวได้
รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เตรียมยื่นร่างญัตติด่วนทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ รวมถึงแนวทางป้องกันปราบปรามพฤติกรรม ข่มขู่ ท้าทาย ให้ร้ายสถาบัน โดยได้เร่งประสานพรรคร่วมรัฐบาล เสนอเข้าที่ประชุมสภา
ซึ่งทางพรรคภูมิใจ โดย “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” ก็ออกมาพูดอย่างชัดเจนแล้วว่า จะเข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติดังกล่าวอย่างแน่นอน และสิ่งนี้เป็นการแสดงความจงรักภักดีของ ส.ส.ภูมิใจไทยทั้งพรรค
คนที่กลายเป็นตำบลกระสุนตก คงหนีไม่พ้น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล ที่โดนกล่าวหาอย่างหนักหน่วงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำของตะวันและกลุ่มทะลุวัง ในฐานะเคยเป็นนายประกันให้จากคดีหมิ่นเบื้องสูงมาตรา 112 ที่ออกมาทำโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ไปก่อนหน้านี้
ซึ่งทางก้าวไกลเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้โพสต์ข้อความชี้แจงข้อเท็จจริงโดยระบุว่า
“ปัจจุบันในแง่กฎหมาย พิธาไม่ได้เป็นนายประกันของคุณทานตะวัน เนื่องจากคุณทานตะวันยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเองเมื่อต้นปี 2566 แต่พรรคก้าวไกลและพิธา ในฐานะนักการเมืองและในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีความห่วงใยบ้านเมืองและอนาคตของคนรุ่นใหม่ รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พรรคก้าวไกลทราบว่าการแสดงออกของคุณทานตะวัน อาจสร้างความไม่สบายใจต่อประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมถึงทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับขอบเขตของการแสดงออกและเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการต่างๆ ในการเพิ่มแนวร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมองเรื่องนี้โดยไม่แยกขาดจากภาพใหญ่ด้วยเช่นกัน นั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองและความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนที่ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมถึงต้นตอของปัญหา และการสร้างพื้นที่สำหรับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกอย่างมีวุฒิภาวะและคลี่คลายความขัดแย้งในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เท่าทันโลก”
“ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” พิธีกรและนักวิชาการชื่อดัง ได้แสดงความเห็นในรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี 12 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมชี้แนะสิ่งที่ก้าวไกลต้องทำ หลังถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้
“เรื่องของการพยายามโยงว่าใครอยู่เบื้องหลังเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา เมื่อไรก็ตามที่มีการแสดงออก เหมือนมี DNA ลึกลับอยู่ในผู้มีอำนาจ เห็นประชาชนแสดงออกปุ๊บ ก็จะต้องบอกว่ามีคนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลัง เช่น ในความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าเป็นยุคก่อนมีอนาคตใหม่มีก้าวไกล ตัวละครที่จะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังทุกเรื่องคือคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย สมัยมีการชุมนุมคนเสื้อแดง มีเหตุการณ์ชายชุดดำยิงทหาร ยิงตำรวจ ตอนนั้นก็บอกว่าคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยอยู่เบื้องหลัง หลังปี 2557 พอมีการระเบิดจุดนั้นจุดนี้ก็บอกว่าคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง อันนี้คือ DNA หรือเหมือนเป็นปุ่มออโต้ของรัฐหรือผู้มีอำนาจที่เมื่อเกิดเรื่องราวต่างๆ มักจะชอบบอกว่ามันมีคนอยู่เบื้องหลัง”
“ผมคิดว่าในคำอธิบายแบบนี้ ในที่สุดแล้วมันไม่มีมูล เราก็เห็นว่าในอดีต ไทยรักไทยหรือคุณทักษิณ ก็ถูกกล่าวหาฟรีหลายเรื่อง ผมคิดว่าวันนี้บรรยากาศแบบนี้มันกำลังกลับมา เพราะวันนี้สิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจคือพรรคก้าวไกลและคุณพิธา เพราะฉะนั้น ตอนนี้การเชื่อมโยงว่าเรื่องทั้งหมดมันมีการเมืองอยู่เบื้องหลังนั่นแหละมันเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำทุกยุค เหตุผลที่ทำมันไม่ค่อยเริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริง แต่เริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่าผู้มีอำนาจเกลียด เหม็นขี้หน้าใครในตอนนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด”
“หลายเรื่องที่มันเกิดขึ้นบางทีต้องไปดูว่าคนที่เขาทำเรื่องต่างๆ มันทำเพราะอะไร แล้วแรงจูงใจของเขาคืออะไร อย่างเช่นกรณีคุณตะวัน ผมว่าปี 2563-2564 เขาเป็นเพียงคนที่ไปร่วมชุมนุม พอเวลาผ่านมา 3 ปี มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคุณตะวันกลายเป็นก่อเรื่องประเด็นที่มันดูใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่ทำให้ตะวันในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เด็กคนหนึ่งเป็นแบบนี้ได้ มันเกิดอะไรในสังคม”
“ผมว่าก้าวไกลต้องยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการแสดงออกระดับปัจเจกบุคคล ไม่รู้ว่าก้าวไกลจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกมั้ย เหมือนสมมุติผมเดินผ่านร้านทอง แล้วอยู่ดีๆ คนมาชี้ว่า ศิโรตม์ คุณขโมยทอง ผมก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้ขโมย ผมไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เพราะผมแค่เดินผ่าน แต่คุณหาว่าผมขโมย ผมจะทำยังไง มันก็ต้องยืนยันว่าเราไม่ได้ขโมยแล้วก็บอกไป ถ้าเจ้าหน้าที่คิดว่ามีหลักฐานก็ดำเนินคดีกับผม แค่นั้นเอง ก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นทางออก”
“เพียงแต่ว่ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเรามันจะเป็นทางออกได้หรือเปล่า จะบอกว่าเคยเป็นนายประกัน มีคนถูกจับแล้วไม่ให้ประกัน คุณก็ไปออกกฎหมายว่าคนโดนคดี 112 ห้ามประกัน แต่มันไม่ได้มีกฎหมายห้ามประกัน ประเทศไทยอยู่ในประชาคมโลก กำลังจะส่งคนของเราเข้าชิงตำแหน่งในคณะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กฎหมายของโลก กติกาของโลกมันก็มีว่าทุกคนมีสิทธิในการประกัน รัฐบาลเองก็ต้องชัดเจนว่าความขัดแย้งในประเทศนี้ ต้องบริหารไปตามกติกาของโลก จะไปสร้างกระแสว่าการที่พรรคก้าวไกลเป็นนายประกันเท่ากับก้าวไกลอยู่เบื้องหลัง อันนี้พูดไม่ได้”
ศิโรตม์ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ท้ายที่สุดตะวันจะทำผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ก็ไปว่าตามกระบวนการยุติธรรม แต่การไปข่มขู่ ไล่ล่า คุกคาม เป็นสิ่งที่ผิด
พร้อมแนะเจ้าหน้าที่บริหารการใช้กฏหมายด้วยความรอบคอบที่สุดกับสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022