ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
‘ประกิต’ โยนโจทย์ใหญ่ ‘ซอฟต์เพาเวอร์’
สิ่งที่ต้องทำ
มากกว่าเกาะกระแส ‘กางเกงช้าง’
หมายเหตุ รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งมีโอกาสสนทนากับ “ประกิต กอบกิจวัฒนา” ครีเอทีฟและผู้สร้างสรรค์เคมเปญทางการเมืองชื่อดัง โดยหนึ่งในหัวข้อที่พูดคุยกัน คือ เรื่อง “กางเกงช้าง” ในฐานะ “ซอฟต์เพาเวอร์ไทย” ซึ่งประกิตแสดงทรรศนะไว้ ดังนี้
“กางเกงช้าง” มันเป็นเทรนด์ที่อยู่ในกระแส กระแสมันก็เป็นความเห่ออะไรขึ้นมา เป็นเรื่องของการขายของ ถ้ามันอยู่ในเทรนด์ พ่อค้าแม่ค้า (เห็นว่า) อันไหนที่เป็นสินค้าถูก ฉันขายแล้วได้กำไร เขาก็เอาหมดแหละ
พอเรามองเรื่องสินค้าที่มาจากจีน จริงๆ เราไม่ได้มองแค่กางเกงช้าง สินค้าราคาถูก วันนี้ทุกอย่างมาจากจีนหมด แล้วไอ้การที่คุณไปสกัด (กางเกงช้างเมดอินไชน่า) ตามแนวชายแดน ผมไม่อยากจะพูดเลย โห มัน “นอนเซนส์” (ไร้เหตุผล) มากๆ
ปัจจุบัน เขาไม่ได้เอาสินค้ามาจากทางแนวชายแดนแล้ว เห็นกางเกงช้างขายกันตามออนไลน์เต็มไปหมด ก็ต้องถามมันมาจากไหน? มาจากแนวชายแดนเหรอ? ไอ้วิธีคิดแบบราชการพวกนี้เลิกเถอะ
ประเทศจีน เขาผลิตตั้งแต่กางเกงช้างยันรถอีวี ประเทศเขาอยู่กับการผลิตสินค้าทุกชนิด ด้วยระบบอุตสาหกรรมที่เป็นขนาดใหญ่มาก
กางเกงช้างนี่ หลายๆ เรื่องผมฟังดู มันปนมั่วกันไปหมด เราต้องแยกออกก่อนว่า
หนึ่ง กางเกงช้างสามารถเป็นอาวุธทางวัฒนธรรม ในเรื่องของ “ซอฟต์เพาเวอร์” ได้ไหม? ส่วนเรื่องสินค้าราคาถูก ต้องแยกออกไป
ทีนี้ ถามว่าเทรนด์นี้มันสามารถเป็นเทรนด์ของโลกได้ไหม? กางเกงช้างเนี่ย ผมว่าเราไม่ได้คุยกันเรื่องนี้
ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมันกันดาร “สินค้าทางวัฒนธรรม” พอเราเจออะไรสักอัน เราจะโอ้โห เกิดแล้วๆ ทั้งที่ผมคิดว่ามันเป็นแค่เทรนด์ กระแสเสี้ยวเดียว แต่คุณในฐานะรัฐบาลจะทำให้มันยั่งยืนน่ะ จะทำอย่างไร?
รัฐบาลจะทำเรื่องจับสินค้าจีนอะไรก็แล้วแต่ คุณอยากทำก็ทำไป แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ระดับรัฐบาลต้องมานั่งเต้นกับอะไรอย่างนี้ รัฐบาลควรจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้ไปได้ระยะยาว
ถ้าในอนาคต เทรนด์ของกางเกงช้างไม่อยู่ จะทำอย่างไร? จะเอาตัวอื่นมาแทน มันคืออะไร? อันนี้ไม่ได้ถูกคิดถูกวางแผน
เพราะฉะนั้น เรามาเถียงอะไรกันไม่รู้เรื่องกางเกงช้าง
แล้วจริงๆ ที่มีบอกว่า (กางเกงช้าง) มันเป็นกระแสของ “anti-fashion” ผมก็ไม่เชื่อ เพราะในโลกนี้ กระแส “anti-fashion” เดียวที่ทรงพลังที่สุดคือ “พังก์”
จริงๆ กางเกงช้าง มันเป็นเรื่องที่ฝรั่งมาแก้ปัญหาของประเทศไทย คือ เขาห้ามใส่กางเกงขาสั้นเข้าวัดพระแก้ว อ้าว แล้วจะนั่งรถกลับไปเอ็มโพเรียม ซื้อกางเกงขายาว ได้อย่างไร? ผลสุดท้าย เขาก็ซื้อกางเกงที่ระลึก กางเกงช้าง ที่หน้าพระลาน อันนี้ มันเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยวด้วยส่วนหนึ่ง (ที่ทำให้เกิดกระแสนิยมกางเกงช้างขึ้นมา)
ถ้าวันนั้น ไม่มีกางเกงช้าง มีกางเกงชาวเล เขาก็ใส่กางเกงชาวเล ก็กฎระเบียบไทยบอกให้ใส่ขายาว กางเกงช้างนี่ผมเห็นมันขายตั้งแต่ตอนผมเรียนศิลปากรแล้วนะ ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อพาผมไปเที่ยวเชียงใหม่ ไนท์ บาซาร์ ก็กางเกงช้างทั้งนั้น มันก็ไม่ได้ฮิต
แต่ตอนหลังมันมาฮิต เมื่อตอนที่เขาห้ามใส่กางเกงขาสั้นเข้าวัดพระแก้ว เพราะฉะนั้น กางเกงช้างตอบโจทย์ (เรื่องนี้)
อันนี้ ต้องตั้งโจทย์กันดีๆ โอเค กางเกงช้างมันอาจจะฮิต แต่เราจะมายึดให้มันเป็นเรื่องระยะยาว เป็นอาวุธทางวัฒนธรรมนี่ ผมไม่ค่อยแน่ใจ
รัฐบาลเองต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตัวเองก่อน ถ้าคุณจะทำ “ซอฟต์เพาเวอร์”
สิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็น ก็คือ การสร้าง “ระบบนิเวศ” ซึ่งต้องถอยๆ ออกมาจากเรื่องนักออกแบบนะ ต้องมองให้เห็น (ระบบ) ทั้งหมดของมัน ไปจนถึง (ประเด็น) วัตถุดิบในประเทศด้วยซ้ำไป
จริงๆ แฟชั่นในระดับโลก เขาคุยกันไปถึงตรงนั้น ผมเคยคุยกับน้องคนหนึ่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตลาดแฟชั่น คุณรู้ไหม ปีๆ หนึ่ง ทำไมคุณต้องใส่เสื้อสีน้ำเงิน? ทำไมคุณต้องใส่สีแดง? ทำไมคุณต้องใส่คอตตอน 80 เปอร์เซ็นต์ โพลีเอสเตอร์ผสม 20 เปอร์เซ็นต์?
ก็มันเป็นเรื่องวัตถุดิบ เช่น ปีนี้ คอตตอนแพงมากๆ คอตตอนก็เหมือนน้ำมัน ราคาขึ้นราคาลง เวลาผู้ผลิตเขาซื้อล็อตใหญ่ๆ (แล้วพบว่า) เฮ้ย ปีนี้ มันแพงมาก อาจต้องเอาโพลีเอสเตอร์มาผสม เพราะต้นทุนมันเยอะ
คุณใส่สีเหลือง-สีแดง ก็เป็นสีในธรรมชาติที่เขาได้เป็นวัตถุดิบมา (ถ้า) ปีนี้มันน้อย เพราะมันอาจจะเจอโลกร้อน เจอนู่นเจอนี่
เห็นไหมว่า เบื้องหลังของตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นมันใหญ่มากๆ คือมันไม่ได้อยู่แค่ดีไซเนอร์คนเดียว แต่ในระบบนิเวศนั้น มันมีผู้ประกอบการอีกตั้งเยอะตั้งแยะ เช่น ในภาคสินค้าเกษตรที่จะส่งวัตถุดิบมาเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น
ของเรา เราไม่เคยมอง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ว่านโยบาย “ซอฟต์เพาเวอร์” สมมุติเรื่องของแฟชั่น หนึ่ง เรื่องคนเป็นอย่างไร? เรื่องคนที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจแฟชั่นต้องทำอย่างไร? เรื่องการศึกษาเราปรับหรือยัง? เราสร้างระบบการเรียนรู้เรื่องการออกแบบหรือยัง? เราก็ยังไม่ได้ทำ
เฮ้ย ผู้ประกอบการเป็นอย่างไร? หรือเราอาจจะต้องมองไกลว่า เรายังควรอยู่ในธุรกิจแฟชั่นหรือเปล่า? เราสู้ได้ไหม? เราจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกนี้กี่เปอร์เซ็นต์?
หรือเรื่องอุตสาหกรรมแฟชั่น เราจะเปลี่ยนตัวเราเองจากประเทศที่รับจ้างผลิต-รับจ้างตัดเย็บ ไปสู่ประเทศที่สามารถสร้างสรรค์แบรนด์ได้อย่างไร?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022