มองโลกเปลี่ยนไป เมื่อใส่ Vision Pro

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

จากประสบการณ์ที่ฉันได้ลองใช้งาน Apple Vision Pro ด้วยตัวเองและจากการฟังฟีดแบ็กของคนอื่นๆ ก็ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันว่าแม้จะมีอุปกรณ์ในคอนเซ็ปต์แบบเดียวกันอยู่แล้วในท้องตลาด แต่ Vision Pro สามารถให้ประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจได้อย่างตราตรึงตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลอง

ซึ่งฉันคิดว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนรู้สึกทึ่งคือคอนเทนต์ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีและการบังคับควบคุมได้ด้วยท่าทางเคลื่อนไหวของมือที่เป็นธรรมชาติ

เมื่อการใช้งานแรกสร้างประสบการณ์ที่ดีได้ก็คงไม่ยากที่จะคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ Vision Pro รุ่นใหม่ๆ ที่ถูกปรับให้ลงตัวมากขึ้นก็จะเป็นที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายกว่านี้แน่นอน บางคนอาจจะไม่ใช่แค่หยิบมาใช้บ่อย แต่อาจจะสวมทิ้งไว้นานทั้งวันก็ได้

ดังนั้น คำถามที่จะตามมาก็คือการใช้อุปกรณ์สวมศีรษะและแสดงภาพอยู่เบื้องหน้าเรานั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจ สุขภาพกาย และเปลี่ยนวิธีการมองโลกของมนุษย์เราไปอย่างไรบ้าง

เนื่องจากอุปกรณ์ประเภทแสดงภาพเรียลลิตี้แบบนี้ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่เราใช้งานมานานพอที่จะบอกได้ว่ามันส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไร

ดังนั้น ผลกระทบระยะยาวด้านต่างๆ จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องคอยศึกษาดูกันต่อไปเรื่อยๆ

 

อย่างคำถามที่ว่า Vision Pro จะทำให้สายตาเสียได้หรือไม่นั้น ก็มีผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบว่าในระยะสั้นที่เราไม่ได้ใช้งานติดต่อกันนานขนาดนั้นก็ดูจะไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรต่อดวงตา แต่ระยะยาวยังไม่สามารถตอบได้

ส่วนผลกระทบระยะสั้นอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือเมื่อสวมอุปกรณ์เข้าไปและวาร์ปตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบเสมือนจริง เราจะไม่สามารถกะระยะได้อย่างแม่นยำไม่ว่าจะเป็นระยะที่อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ตัวเราก็ตาม และคนหรือวัตถุอาจจะมีรูปทรงและสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไปด้วย

ฉันสวม Vision Pro และวาร์ปตัวเองเข้าไปอยู่ในห้องอัดเพลงของ Alicia Keys ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ Apple ถ่ายทำออกมาได้ดีมาก แต่ไม่ว่าจะสมจริงแค่ไหนก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้ามีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย การขยับ เคลื่อนไหวร่างกายแม้จะเป็นการบันทึกวิดีโอมาจากคนจริงๆ

แต่กลับดูแล้วเหมือนภาพแอนิเมชั่นอย่างบอกไม่ถูก

 

Business Insider รายงานว่าทีมนักวิจัยที่มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ประเภทสวมศีรษะแบบนี้ได้ทดลองสวมทั้ง Vision Pro และ Quest เพื่อเดินไปเดินมาและทำกิจกรรมรอบๆ มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือถึงจะเป็นกลุ่มคนที่ใช้อุปกรณ์ประเภทนี้อยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่วายมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ปวดหัว และมีความเข้าใจระยะที่ผิดไปจากปกติ เช่น ยื่นมือไปกดปุ่มลิฟต์แบบผิดระยะ หรือไม่สามารถหยิบอาหารส่งเข้าปากได้

เมื่อลองใส่ต่อไปอีกสักพักก็พบว่าสมองและกล้ามเนื้อสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในโลกใบใหม่ได้ในที่สุด แต่ทันทีที่ถอดอุปกรณ์ออก โลกความจริงก็จะกลับกลายเป็นบิดเบี้ยวแทน

ยิ่งเราวาร์ปไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเสมือนนานแค่ไหน เมื่อกลับมาสู่โลกความเป็นจริงสิ่งแวดล้อมจริงก็จะยิ่งแปลกประหลาดไปเท่านั้น

ดังนั้น คนที่สวมอุปกรณ์อย่าง Vision Pro มาทั้งวัน เมื่อถึงเวลากลับบ้านตอนกลางคืนก็อาจจะเกิดปฏิกิริยาร่างกายบางอย่างที่ผิดไปจากปกติ อาจจะมีอาการคล้ายๆ กับการแฮงก์โอเวอร์นิดๆ ได้

 

หนึ่งในฟีเจอร์สำคัญของอุปกรณ์ประเภทเรียลลิตี้คือความสามารถที่เรียกว่า passthrough โดยปกติแล้วเมื่อเราสวมแว่นเข้าไปเราจะมองไม่เห็นอะไรรอบตัวอีกเลย แว่นจึงต้องช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้กล้องถ่ายและฉายให้เราเห็นบนจอเพื่อจำลองให้เรารู้สึกว่าเรายังมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่ เพื่อประโยชน์เรื่องความปลอดภัยและช่วยให้แว่นสามารถซ้อนคอนเทนต์เสมือนลงบนโลกจริงให้เราได้

ความท้าทายก็คือหาก passthrough ทำได้ไม่ดี เช่น เกิดความหน่วงหรือความบิดเบี้ยวของสัดส่วนขึ้นก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้สวมใส่ได้ หรือต่อให้ทำได้ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีจะเอื้อในตอนนี้ก็คงไม่สามารถเหมือนของจริงได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

ฉันคิดว่านี่อาจจะทำให้ห้องอัดเสียงของ Alicia Keys ที่ฉันมองผ่าน Vision Pro แม้จะดูสมจริงมากและทำให้รู้สึกอยู่ใกล้ราวกับจะเอื้อมมือไปทักทายได้ แต่ก็มีความแปลกประหลาดที่อธิบายไม่ถูกแฝงอยู่ในนั้น ดูครั้งแรกเหมือนคนจริงๆ แต่กะพริบตาอีกทีก็เหมือนจะกลายเป็นอวตารไปเฉยๆ

ความรู้สึกที่ได้คล้ายกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Uncanny valley ซึ่งใช้เพื่ออธิบายอาการขนลุกเวลาที่เราอยู่ใกล้ๆ หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างมาให้เหมือนมนุษย์มากๆ แต่คล้ายยังไงมันก็ไม่ใช่มนุษย์อยู่ดี

อีกอย่างที่เป็นความรู้สึกที่ได้จากการชมคอนเทนต์แบบเสมือนจริงก็คือทุกคนที่อยู่ตรงหน้าเราต่างก็ทำกิจกรรมอะไรบางอย่างไปโดยที่ไม่ได้แสดงความรับรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้นด้วย ถ้าหากเป็นการดูหนังบนจอตามปกติก็ไม่แปลกอะไร แต่เมื่อเราสวมอุปกรณ์เรียลลิตี้ที่มีความสมจริงมากๆ การที่มีคนอยู่ตรงหน้าเราเพียงแค่เอื้อมแต่เขาไม่ได้แสดงท่าทีรับรู้การมีอยู่ของเราก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่แปลกขึ้นมาเหมือนกัน

อีกปรากฏการณ์ที่ Business Insider พูดถึงและฉันคิดว่าน่าสนใจที่จะนำไปคิดต่อก็คือเราสามารถสวมอุปกรณ์เรียลลิตี้ และ ‘ลบ’ คนอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการออกไปได้ง่ายๆ

สมมุติว่าเราอยู่บนรถไฟฟ้าที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คนหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ชอบ เพียงแค่สวมอุปกรณ์และปรับให้เข้าสู่โหมดเสมือนเต็มรูปแบบเราก็จะสามารถลบทุกสิ่งออกได้ง่ายๆ นำมาซึ่งการอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่รับรู้โลกไม่เหมือนกัน แต่ละคนก็จะไม่มีอะไรที่ยึดโยงเข้าหากันได้อีก

 

ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ออกมาก็จะต้องมีการพูดคุยกันว่ามันจะเปลี่ยนโลกไปอย่างไร หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง ซึ่งฉันก็คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะถกเถียงกัน หลายๆ อย่างที่พูดมาแล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หรือเกิดขึ้นจริงมันก็อาจจะไม่ได้แย่เหมือนที่กลัวกันได้ ในขณะเดียวกันมันก็อาจจะแย่กว่าที่คิดก็ได้เหมือนกัน

สิ่งที่ฉันเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือไม่ว่าผลกระทบจะเป็นไปในทางไหนเราก็จะสามารถปรับตัวได้ และในที่สุดเราก็จะกลับมาสู่ข้อสรุปเดิมที่เรามีประสบการณ์มาแล้วกับเทคโนโลยีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต

ซึ่งก็คือการใช้งานอย่างพอเหมาะและพอดีนั่นแหละค่ะ