ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ดาวพลูโตมองดูโลก |
เผยแพร่ |
ช่วงเทศกาลตรุษจีน คนไทยเชื้อสายจีนหลายๆ ท่านจัดพิธีไว้ตรุษจีน เผากระดาษเงิน กระดาษทอง และเงินให้บรรพบุรุษ บางท่านได้รับอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีน
ขึ้นชื่อว่า “เงิน” แล้ว ใครๆ ก็อยากได้
เพื่อให้เข้ากับช่วงควันหลงของเทศกาลตรุษจีน วันนี้ขอชวนคุยเรื่อง “เงิน” กันครับ
เงิน ในทางเศรษฐศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่เก็บรักษามูลค่า และทำหน้าที่ใช้สำหรับชำระหนี้
ในสมัยโบราณนิยมใช้วัตถุที่มีมูลค่า เช่น แร่ต่างๆ โลหะเงิน โลหะทอง เป็นต้น มาสร้างเป็นเงิน เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่าในตัวเอง
ต่อมาจึงมีการนำเงินตราที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง หรือ เงินเฟียต (Fiat Money) มาใช้
เงินเฟียต คือเงินที่ไม่ได้นำวัตถุที่มีมูลค่าในตนเองมาทำ แต่มีมูลค่าเนื่องจากสังคมให้การยอมรับโดยทั่วไปให้สามารถใช้แลกเปลี่ยนได้
ตัวอย่างได้แก่ ธนบัตรในปัจจุบัน ผลิตจากกระดาษหรือพลาสติก มูลค่าในตัวเองน้อยว่า แต่กฎหมายรับรองให้มีมูลค่าสามารถแลกเปลี่ยนหรือใช้ชำระหนี้ได้
พอกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเงิน คงหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงหมู่เกาะแยป (Yap Island) หมู่เกาะนี้อยู่ไกลออกไปทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบันอยู่ในประเทศสหพันธรัฐไมโครนีเซีย
ในสมัยโบราณชาวเกาะแยปนำหินขนาดใหญ่มาขัดให้เป็นแผ่นกลมและเจาะรูตรงกลางเหมือนโดนัท ความใหญ่ยักษ์ของหินนั้น บางอันมีขนาดใหญ่ถึง 3 เมตร มีน้ำหนักมากถึง 4 ตัน หินดังกล่าวเรียกว่า หินไร (Rai Stone)
ชาวเกาะแยปใช้หินดังกล่าวเป็นเงินสำหรับแลกเปลี่ยนในเกาะ ซี่งแน่นอนว่าเงินที่ทำจากหินไรนี้ ไม่สามารถพกพาติดตัวไปไหนมาไหนได้
วิธีการใช้เงินหินไรนี้จะแตกต่างจากที่เราคุ้นเคย เนื่องจากการใช้เงินนี้สามารถใช้โดยไม่ต้องเปลี่ยนมือ (แน่สิ หนักขนาด 4 ตัน ใครจะพกไปซื้อของกัน) ชาวเกาะจะจดจำกันเองว่าเงินที่วางอยู่บนเกาะอันไหนใครเป็นเจ้าของ
และแม้แต่เงินหินไรที่จมอยู่ใต้น้ำก็ไม่จำเป็นต้องงมขึ้นมาบนฝั่งก็สามารถใช้แลกเปลี่ยนได้ เพียงแค่ประกาศว่าใครเป็นเจ้าของก็เป็นอันใช้ได้
ฟังดูแล้วคุ้นๆ ไหมครับ หลักการคล้ายๆ กับเงินคริปโตเคอเรนซี่ทั้งหลาย หลักการเดียวกันเลย
เงินในทางเศรษฐศาสตร์ มีการแบ่งตามความหมายอย่างแคบ และความหมายอย่างกว้าง เป็น M1 M2 M2a และ M3
M1 คือ เงินในความหมายอย่างแคบ ได้แก่ ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ ที่อยู่กับประชาชน และเงินฝากกระแสรายวันของประชาชน
M2 คือ เงินในความหมายอย่างกว้าง โดยนำ M1 รวมกับเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และบัญชี Margin deposit ของประชาชน
M2a คือ เงินในความหมายที่กว้างขึ้น โดยนำ M2 รวมกับตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุน หักรายการส่วนต่างระหว่างกัน
M3 คือ เงินในความหมายที่กว้างที่สุด โดยนำ M2a รวมกับเงินฝากของประชาชนที่ธนาคารเฉพาะกิจ หักรายการส่วนต่างระหว่างกัน
ปริมาณของเงินข้างต้น เราจะเรียกว่า ปริมาณเงิน หรืออุปทานของเงิน (Money Supply)
ปริมาณเงินในระบบจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ กำกับผ่านกลไกสำคัญคือ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
เมื่อธนาคารกลางซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์จะมีเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยสินเชื่อ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น
เมื่อธนาคารกลางขายพันธบัตรแก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์จะมีเงินสดลดลง เป็นการดูดซับสภาพคล่องในระบบการเงิน การปล่อยสินเชื่อก็จะลดลง ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะลดลง
ทั้งนี้ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอาจมีความสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อ หากปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ ก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อได้
ในทางกลับกัน หากปริมาณเงินเพิ่มขึ้นช้ากว่าอัตราเติบโตของการผลิต อาจก่อให้เกิดปัญหาเงินฝืดได้ ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่ลดน้อยลง และปัญหาการว่างงาน
การเพิ่มปริมาณเงินเป็นหนึ่งในนโยบายการเงิน ซึ่งจะไม่สามารถใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามเศรษฐกิจขาลงได้ เพราะการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เงินก็จะกลับเข้าสู่บัญชีเงินฝากของธนาคาร เกิดสภาวะ “กับดักสภาพคล่อง” หรือ “Liquidity trap” กล่าวคือ ประชาชนก็ไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนอะไร เอามาฝากธนาคารดีกว่า
แต่ในทางกลับกัน หากลดปริมาณเงินในระบบ จะเป็นการแตะเบรกเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายการเงินเช่นกัน สามารถใช้เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้ ตรงตามตำรา
ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 8 ครั้ง จากระดับ 0.50% สู่ระดับ 2.50%
และล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบแล้วก็ตาม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะเงินเฟ้อติดลบ
อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นอันตรายต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปกติจะไม่เกิดขึ้นบ่อย ยกเว้นในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซามากๆ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบจะทำให้ธุรกิจทุกประเภทขาดทุน
การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง ยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว จะส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเติบโตช้าลงเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น ประชาชนก็จะลดการลงทุนเนื่องจากดอกเบี้ยแพง
ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะคอยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เสมือนการแตะเบรกเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงิน
ธปท.ไม่ควรโทษแต่รัฐบาลที่ผ่านงบประมาณแผ่นดินล่าช้า แต่ควรพิจารณานโยบายการเงินของตนเองด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022