คนมองหนัง : “The Great Buddha +” ภาพยนตร์ตลกร้ายเรื่องเยี่ยมจากไต้หวัน

คนมองหนัง

“The Great Buddha +” เป็นภาพยนตร์บันเทิงคดีขนาดยาวเรื่องแรกของ “หวง ซิน เหยา” ผู้กำกับฯ วัย 44 ปี จากไต้หวัน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผลงานหนังสารคดีและหนังสั้นมาก่อน

นี่ถือเป็นหนังไต้หวันที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งประจำปี 2017 ซึ่งกวาดรางวัลสาขาสำคัญๆ ในงานประกาศผลรางวัล “ม้าทองคำ” และในเทศกาลภาพยนตร์ไทเป

ขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้ยังบินไปคว้ารางวัล NETPAC Award (รางวัลของเครือข่ายส่งเสริมภาพยนตร์เอเชีย) จากเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ประเทศแคนาดา มาครองได้อีกด้วย

หนังเล่าเรื่องราวของชายชนชั้นล่างสองคน คนหนึ่งเป็นยามหัวทึบ (มีอาชีพเสริมเป็นคนตีกลอง -ไม่เข้าจังหวะ- ในวงดนตรีงานศพ) ผู้ต้องเลี้ยงดูแม่วัยชราที่กำลังป่วยหนัก อีกรายเป็นคนเก็บขยะจรจัดเจ้าไอเดีย ผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากกว่าเพื่อนสนิทของตนเอง

ชายคู่นี้ชอบมาซ่องสุมกันยามดึกดื่นค่ำคืนในป้อมยามโทรมๆ หน้าโรงงานประติมากรรมชื่อดัง ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของชายคนแรก

วันดีคืนดี ชายเก็บขยะเกิดมีไอเดียบรรเจิดด้วยการแนะนำให้เพื่อนยามไปแอบนำคลิปจากกล้องหน้ารถของเจ้าของโรงงาน ผู้เป็นศิลปินนักเรียนนอก ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมชนชั้นสูง และมีเส้นสายเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจมากมายมาเปิดดูเล่นๆ ฆ่าเวลา ผ่านจอคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าในป้อม

แล้วทั้งสองคนก็ค้นพบ “ความลับดำมืด” ของเจ้าของโรงงานประติมากรรม ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ต่างๆ และชีวิตของพวกเขา (บางคน) เปลี่ยนแปลงไป

ตามความเห็นส่วนตัว “The Great Buddha +” ถือเป็นหนังที่สนุกมากๆ เรื่องหนึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ตรงการนำเสนออารมณ์ตลกร้ายอันแม่นยำเด็ดขาด ที่ถูกรองรับหนุนส่งด้วยการแสดงที่ดีเยี่ยมและงานผลิตที่ประณีตสมบูรณ์

จะว่าไปแล้ว หนังไต้หวันเรื่องนี้มีองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่ไม่ได้แปลกใหม่หรือล้ำสมัยมากมาย

งานถ่ายภาพขาว-ดำของหนังนั้นโดดเด่นและควรได้รับคำชมแน่ๆ ทว่ากระบวนท่าการสลับภาพสีกับขาวดำที่ถูกใช้เพื่อขับเน้นเรื่องเล่าบางอย่าง ก็มิได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังเรื่องนี้

เช่นเดียวกับการพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม/ชนชั้น ผ่านแง่มุมตลกร้าย ซึ่งปิดฉากลงอย่างเศร้าสร้อยหดหู่ หรือการให้ภาพของเหล่าตัวละครชนชั้นล่างที่เต็มไปด้วยลำดับขั้นสถานะอันซับซ้อนจำนวนมาก อาทิ คนจนที่เอารัดเอาเปรียบคนจนด้วยกัน คนจนที่ฉลาดกว่าหรือคนจนที่โง่กว่า และคนจรไร้บ้านไร้ที่มาที่ไป ซึ่งแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย

การเล่นประเด็น “มือถือสากปากถือศีล” ของผู้มีอำนาจ/คนมีเงิน/คนดี โดยใช้ “พระพุทธรูปใหญ่” หรือ “ศาสนา” เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์

ตลอดจนลูกเล่นที่ตัวผู้กำกับฯ คอยพูดแทรก (ทั้งคอมเมนต์ อธิบายความเพิ่มเติม และจิกกัดตัวละคร/เนื้อเรื่องที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้น) เข้ามาในหนังเป็นระยะๆ

ซึ่งล้วนไม่ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าทึ่งหรือน่าตื่นตะลึงของโลกภาพยนตร์ ณ ค.ศ. นี้

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบเดิมๆ เหล่านั้น กลับถูกนำเสนอออกมาอย่างครบรส ทั้งเกรียน ยียวน กวนโอ๊ย สนุกสนาน ตลก ขบขัน ด้วยกระบวนการปรุงแต่งคลุกเคล้าที่ลงตัว (ไม่มากไปน้อยไป) จนกลายเป็น “หนังสนุก” หนึ่งเรื่อง

ฉากหนึ่งที่น่าประทับใจเป็นพิเศษ คือฉากที่ตัวละครเอกสองคนกำลังนั่งคุยกัน คนเก็บขยะบอกว่า พวกคนรวยน่ะ มันรวยได้เพราะโกงคนอื่นมา 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์มาจาก “แบ๊กกราวด์” (หมายถึง ภูมิหลังทางสังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ) ของตัวมันเอง

จู่ๆ พี่ยามหัวช้าก็พูดสวนขึ้นมาทันควันว่า เนี่ย “แบ๊กกราวด์” ของกูก็มีสับปะรด กล้วย แล้วก็ฝรั่ง ทำเอาคนดูทั้งหมดเกิดอาการเง็งว่าไอ้นี่มันพูดเชี่ยอะไรของมันวะ? ก่อนที่ทุกคนจะปล่อยเสียงฮาพร้อมกันลั่นโรง เมื่อกล้องถ่ายภาพยนตร์ค่อยๆ ซูมเอาต์ออกมาจับภาพมุมกว้างให้คนดูมองเห็นว่าตรงผนังด้านหลังที่ชายสองคนนี้นั่งคุยกัน มีปฏิทินรูปผลไม้สามอย่างนั้นแขวนอยู่พอดี

หากเทียบกับหนังไทยหรือสื่อบันเทิงไทยชนิดอื่นๆ มุขทำนองนี้คงจัดเป็น “มุขควาย” แต่ “มุขควาย” ในหนังไต้หวันเรื่องนี้กลับแตกต่างออกไป เพราะมีความคมคายในการพูดถึงประเด็นความขัดแย้งทางสังคมดำรงอยู่เคียงคู่กับอารมณ์ขันดิบๆ ซื่อๆ

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบ “แปลกใหม่สุดๆ” และน่าสนใจมากๆ หนึ่งประการใน “The Great Buddha +” นั้นได้แก่ การเล่นกับเทคโนโลยีใหม่ในโลกร่วมสมัย คือ “กล้องหน้ารถ”

หนังเริ่มต้นด้วยการนำเอาอุปกรณ์ไฮเทคดังกล่าวมายั่วล้อจิกกัดการทำหน้าที่ของตำรวจและสื่อมวลชนยุคปัจจุบัน ซึ่งมักหยิบฉวยภาพจากกล้องหน้ารถของผู้คนมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำเสนอผลงานของตนเอง

แต่ที่น่าทึ่งและสลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้นก็คือ ประเด็นคำถามหลักของหนังซึ่งมีอยู่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากมีคนมาแอบนั่งมอนิเตอร์ภาพวิดีโอจากกล้องหน้ารถของคุณ (ซึ่งคุณใช้มันสอดส่องพฤติกรรมบนท้องถนนของคนอื่นอีกต่อหนึ่ง) แล้วดันค้นพบภาพและเสียงที่บันทึก “ความผิด” ของตัวคุณเอง (เจ้าของรถ/เจ้าของกล้อง) เอาไว้โดยบังเอิญ?

“หวง ซิน เหยา” ไม่ได้คลี่คลายหรือจบปัญหาข้างต้นด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ค้นพบความลับ (คนยากจน) สามารถแบล๊กเมล์หรือเอาคืนเจ้าของความลับ (คนรวย/ผู้มีอำนาจ)

ทว่า หนังยาวเรื่องแรกของเขาเลือกเดินไปบนทางอีกเส้น ซึ่งค่อยๆ กดดันคนดูและบีบคั้นชะตากรรมของตัวละครได้หนักหน่วงไม่แพ้กัน

อารมณ์ตลกร้ายที่เล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ระหว่างคนตัวเล็กกับผู้มีอำนาจในโลกสีเทาของ “The Great Buddha +” นั้น ชวนให้นึกถึงหนังหลายเรื่องของ “เป็นเอก รัตนเรือง” อยู่ไม่น้อย

ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมหนังไต้หวันเรื่องนี้กับ “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” งานชิ้นล่าสุดของเป็นเอก ในเวลาใกล้เคียงกันพอดี

และอาจต้องพูดตามตรงว่า งานของ “หวง ซิน เหยา” นั้นมีพลังความสด อารมณ์ขัน ความลงตัว และความแหลมคมเหนือกว่าหนังใหม่ของผู้กำกับฯ รุ่นเก๋า จากเมืองไทยอยู่เล็กน้อย