ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
เป็นกระแสข่าวมาพักใหญ่ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ประเทศในฝันของคนนับล้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พี่ไทย” ที่นอกจากจะอยากไปเที่ยว และอยากไปซ้ำแล้ว บางคงถึงขนาดอยากไปอยู่อีกต่างหาก
แต่ภาพญี่ปุ่นในโปสเตอร์ หรือในสื่อสังคมออนไลน์ ก็เหมือนกับทุกประเทศที่ต้องการโปรโมตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่จะต้องเน้นภาพสวยหรูดูดี น่าค้นหา และจูงใจให้อยากไป
แต่สภาพความเป็นจริงของชีวิตจริง และความเป็นอยู่จริง การหาช่องทางทำกิน สร้างรายได้ คือการไปทำงาน กระทั่งไปเรียน หากจะไปอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
กระแสข่าวดังกล่าว ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องที่หลายคนเคยคาดคิดมาก่อน ว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความสุข ผู้คนอายุยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะมีปัญหาบางด้านที่น่าครุ่นคิด และชวนติดตามอยู่เหมือนกัน
นั่นก็คือ “ปัญหาบ้านร้าง”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบชนบทห่างไกล ที่มี “บ้านร้าง” มากมายซึ่งทางรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ได้จัดแคมเปญรณรงค์ “แจกบ้านฟรี” เพื่ออยากให้คนเข้าไปอยู่
จากข้อมูลทางสถิติ ในปี ค.ศ.2013 มี “บ้านร้าง” ทั่วญี่ปุ่น 7.5 ล้านหลัง คิดเป็น 10% ของปริมาณบ้านทั้งประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2033 จำนวน “บ้านร้าง” จะเพิ่มขึ้นอีก 30% แปลไทยเป็นไทยก็คือ “บ้านร้าง” ในญี่ปุ่นจะกลายเป็น 1 ใน 3 ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น
“บ้านร้าง” ในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด เป็นบ้านที่มีผู้สูงอายุตาย ไม่ตายธรรมชาติ ก็ป่วยติดเตียง และเสียชีวิต
แม้จะมีคนที่บาดเจ็บเรื้อรังจากอุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการตายตามธรรมชาติ คือแก่ตาย หรือป่วยจากโรคชราแล้วเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี ยังมี “บ้านร้าง” อีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีผู้สูงอายุตายในบ้าน ทว่า ก็ยังไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของ หรือเข้าไปอยู่ อยู่ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหลานของบ้านเอง ที่เข้าไปเรียนหนังสือ หรือทำงานในเมืองใหญ่ ไม่อยากกลับมาอยู่บ้านเกิด หรือบ้านของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตนเอง
ปัญหาสำคัญก็คือ อัตราการเก็บภาษีที่ดินที่สูงถึง 1.7% ของมูลค่าที่ดิน ซึ่งต้องบอกว่า ราคาที่ดินญี่ปุ่นแพงมาก เมื่อเจอกับอัตราภาษีที่แพงแบบนี้ จึงไม่มีใครอยากรับ หรือถือมรดกบ้าน และที่ดินเก่าของครอบครัวอีกต่อไป
ปัญหาสำคัญอีกประการก็คือ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก คือบ้าน และที่ดินของครอบครัว แบบเอาไว้เก็งกำไร หรือเล่นที่ดิน ก็ทำได้ยาก
เนื่องจากต่างคนต่างไม่อยากอยู่ ต่างคนจึงต่างไม่อยากซื้อด้วย ขนาดให้อยู่บ้านฟรียังไม่มีใครเอา แล้วใครจะมาซื้อ
ปัญหาทั้งสองข้อ เป็นผลกระทบมาจากปัญหาโดมิโน ว่าด้วยเด็กเกิดน้อย คนวัยทำงานลดลง แรงงานหายาก ผู้สูงอายุตายช้า ผู้สูงอายุมีมาก เมื่อผู้สูงอายุตายลง บ้านร้างก็นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในภาคการผลิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพดูแลคนสูงอายุ หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนแก่ ก็ยิ่งทำให้คนชราญี่ปุ่นต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่
ที่นอกจากจะห่างไกลลูกหลานแล้ว แม้จะมีเงินจ้างคนดูแล แต่ไม่มีคนดูแลให้จ้าง
นำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งก็คือ “ตายอย่างโดดเดี่ยว” ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนหนึ่งในสังคม “ต่างคนต่างอยู่” ไม่ว่าจะในญี่ปุ่น หรือที่อื่นๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พี่ไทย” ที่เริ่มเห็นบรรยากาศทำนองนี้บ้างแล้ว
ไม่ใช่เฉพาะในญี่ปุ่น เพราะที่ไหนๆ การ “ตายอย่างโดดเดี่ยว” เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นภาพสะท้อนสังคมญี่ปุ่น ที่ความสัมพันธ์แบบครอบครัวกำลังล่มสลาย
孤独死 อ่านว่า “โคะโดะกุชิ” แปลได้ในทำนองว่า “ตายอย่างโดดเดี่ยว” หมายถึง ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังมาอย่างยาวนาน และเสียชีวิตในที่พัก
ซึ่งอาจจะเป็นบ้าน หรืออพาร์ตเมนต์ โดยที่ไม่มีใครรู้เห็น หรือสังเกตพบ กระทั่งเวลาผ่านไปนานเป็นสัปดาห์ หรือนานนับเดือน หรือหลายเดือน บางครั้งเกือบปี
ส่วนใหญ่แล้ว กว่าจะทราบว่ามีผู้เสียชีวิต ก็ต่อเมื่อเพื่อนบ้าน หรืออพาร์ตเมนต์ห้องข้างๆ ได้กลิ่นรุนแรง หรือบางครั้ง อาจถึงขั้นมีของเหลวหยดซึมลงไปที่ห้องอพาร์ตเมนต์ชั้นล่าง
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีประชากรอายุเกิน 65 ปีราว 34 ล้านคนหรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ
ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง เฉพาะในกรุงโตเกียว ตัวเลขผู้สูงอายุที่ “ตายอย่างโดดเดี่ยว” อยู่ที่ 3,116 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนถึงเกือบเท่าตัว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Miyu Kojima ทำงานพาร์ตไทม์ในบริษัทรับทำความสะอาด เธอเป็นพนักงานหญิงเพียงคนเดียว และเป็นพนักงานที่มีอายุน้อยที่สุด (24 ปี)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่เธอทำงานอยู่ เชี่ยวชาญเรื่องการทำความสะอาดบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ที่พบผู้สูงอายุเสียชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย หรือถูกฆาตกรรม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีผู้สูงอายุที่ “ตายอย่างโดดเดี่ยว”
ทุกเช้า Miyu Kojima ต้องเข้าร่วมประชุมแผน เพื่อรับมอบหมายงานจากหัวหน้าชุด และแบ่งหน้าที่กับทีมงาน ซึ่งชุดหนึ่งมีประมาณ 6 คน ก่อนจะออกไปทำความสะอาด หลังเจ้าหน้าที่ทางการได้นำร่างผู้เสียชีวิตออกไปแล้ว
สิ่งที่เธอต้องเก็บกวาด ก็มีข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า หรือเศษอาหารที่ระเกะระกะ บางครั้งยังพบซากสัตว์เลี้ยงที่ตายเพราะไม่มีคนให้อาหาร
ส่วนใหญ่ทางการจะได้รับแจ้งหลังจากผู้สูงอายุเหล่านั้นเสียชีวิตประมาณ 1 หรือ 2 เดือน นานสุดที่เคยประสบมาก็คือ 8 เดือน
นอกจากการทำความสะอาดแล้ว Miyu Kojima ยังมีหน้าที่รวบรวมข้าวของ ที่คาดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากให้ญาติเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึก
“แต่หลายครั้งมันน่าเศร้ามาก ที่ญาติผู้เสียชีวิต ไม่มีใครอยากได้ของพวกนั้นเลย” Miyu Kojima บอก
ช่วงแรกที่เธอเริ่มงานนี้เมื่อหลายปีก่อน แฟนหนุ่มของเธอคัดค้านอย่างหนัก
“เขาต่อว่า ว่าฉันบ้าไปแล้ว ทั้งยังขู่ว่าฉันอาจจะถูกผีหลอก” ฉันตอบเขาไปว่า “ฉันไม่ได้ทำอะไรไม่ดี จะถูกผีหลอกได้ยังไง”
“โชคดีที่ตอนนี้เขาเข้าใจฉันแล้ว” Miyu Kojima กล่าว และว่า
“การตายอย่างโดดเดี่ยว มักเกิดกับคนที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวย่ำแย่ พวกเขาไม่เป็นที่ต้องการ”
ที่น่าเศร้าก็คือ Miyu Kojima พบว่า ลูกหลานจำนวนมากไม่สนใจการจากไปของคนในครอบครัว หรือแม้แต่พ่อแม่ตัวเองเลย
“บางคนไม่อยากแม้กระทั่งจะมอง ไม่ต้องพูดถึงข้าวของของผู้เสียชีวิต แม้ร่างผู้เสียชีวิตก็ยังไม่อยากมอง”
“แต่จะตาโตขึ้นมาทันทีที่เห็นเงินสด หรือสิ่งมีค่า ซึ่งผู้เสียชีวิตเหลือทิ้งไว้” Miyu Kojima กล่าว และว่า
“โคะโดะกุชิ” (孤独死) มิได้แปลว่าการตายคนเดียว แต่มันหมายถึงการตายอย่างโดดเดี่ยว”
“สักวันหนึ่ง คนคนนั้นอาจเป็นคุณ หรืออาจเป็นฉันก็ได้” Miyu Kojima ทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022