ศัพทานุกรมอำนาจนิยม : ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism) (ตอนต้น)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ศัพทานุกรมอำนาจนิยม

: ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism)

(ตอนต้น)

 

ผมอ่านสะดุดงานชิ้นนี้ของฟารีด ซาคาเรีย ปัญญาชนสาธารณะด้านการเมืองระหว่างประเทศชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย ผู้เป็นนักข่าว CNN และบรรณาธิการวารสาร Foreign Affairs & นิตยสาร Newsweek เข้าเมื่อราว 20 ปีก่อนขณะกำลังค้นหาเครื่องมือการคิดเพื่อพยายามวิเคราะห์เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของระเบียบการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทย (พ.ศ.2544-2549/ค.ศ.2001-2006)

คำว่า “ลัทธิไม่เสรีนิยม” (illiberalism) เริ่มแพร่หลายกระจายกว้างจนติดปากนักวิเคราะห์การเมืองโลกปัจจุบันก็ด้วยบทความของซาคาเรียที่ลงพิมพ์ในวารสาร Foreign Affairs, 76 : 6 (November-December 1997), 22-43. ชื่อ “The Rise of Illiberal Democracy” (https://www.jstor.org/stable/20048274) ซึ่งต่อมาเขาขยายความเพิ่มเติมออกไปเป็นหนังสือชื่อ The Future of Freedom : Illiberal Democracy at Home and Abroad (2003)

ในบทความชิ้นแรกเริ่มนั้น ซาคาเรียร้องเตือนผู้อ่านให้ระวัง “การผงาดของประชาธิปไตยไม่เสรี” ในโลกยุคหลังสงครามเย็น (หลังสหภาพโซเวียตสลายตัวเมื่อปี 1991) ระบอบที่ว่ามาจากการเลือกตั้ง (จึงขึ้นชื่อว่าเป็น “ประชาธิปไตย”) แต่ไม่ยอมรับนับถือการจำกัดและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจบริหารของรัฐด้วยหลักนิติธรรมระบบรัฐสภาหรือสิทธิมนุษยชน (จึงได้ชื่อว่า “ไม่เสรี” ไปพร้อมกัน)

สำหรับกรณีตัวอย่างของ “ประชาธิปไตยไม่เสรี” ร่วมสมัยตอนนั้น ซาคาเรียชี้ไปที่รัสเซียภายใต้การปกครองของรัฐบาลประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (1991-1999) และอาร์เจนตินาภายใต้การปกครองของรัฐบาลประธานาธิบดีคาร์ลอส เมเนม (1989-1999) เป็นต้น

ส่วนในแง่ประวัติคำหรือศัพทมูลวิทยา (ethymology) ซาคาเรียไปเก็บเกี่ยวคำว่า “ไม่เสรี” (illiberalism) ซึ่งผู้คนทั่วไปหลงลืมแล้วมาจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อครั้งกระแสลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและการเมืองกำลังแผ่ขยายตัวทั่วยุโรป ประดานักเขียนนักการเมืองและข้อคิดความเห็นที่ต่อต้านทัดทานกระแสนั้นจึงถูกเรียกขานว่า “ไม่เสรี” นั่นเอง

ฟารีด ซาคาเรีย กับบทความ “การผงาดของประชาธิปไตยไม่เสรี” ปี 1997

รัฐบาลนายกฯ ทักษิณแห่งพรรคไทยรักไทยตอนนั้นก็มีทั้งด้าน “ประชาธิปไตย” ที่ชนะเลือกตั้งเสียงข้างมาก เด็ดขาดด้วยคะแนนนิยมจากประชาชนสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากแนวนโยบายที่โดนใจสะท้อนความต้องการของมหาชนโดยเฉพาะคนรากหญ้าในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางระดับล่าง และการบริหารอำนาจอย่างเด็ดขาดได้ผลรวดเร็วเฉียบพลัน ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบราชการให้มีประสิทธิภาพสนองตอบประชาชน “ลูกค้า/ผู้รับบริการ” ได้ดีขึ้น

แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลทักษิณก็มีด้านที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่พรรคและตัวหัวหน้าพรรค/นายกรัฐมนตรี (เหนือมุ้ง/หัวหน้ามุ้งและรัฐมนตรีทั้งหลาย) กดดันเบียดขับคุกคามรังควานฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างทั้งในแวดวงการเมือง สื่อมวลชน วิชาการและเอ็นจีโอ และใช้อำนาจรัฐกับกลไกรัฐดำเนินสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด (ยาบ้า), สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้มีอิทธิพล และสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเด็ดขาดรุนแรงรุกล้ำก้ำเกินขีดจำกัดทางการเมืองและกฎหมาย จนนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิและสูญเสียชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองจำนวนมากอย่างไม่พร้อมรับผิด โดยมิอาจตรวจสอบถ่วงดุลในระบบอย่างได้ผล – อันเป็นด้านที่ “ไม่เสรี”

ลักษณะทั้งสองด้านดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายที่ซาคาเรียเรียกว่าระบอบ “ประชาธิปไตยไม่เสรี” หรือที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรียกว่า “ประชาธิปไตยอำนาจนิยม”

(authoritarian democracy ดู “ประชาธิปไตยอำนาจนิยม : ผลของการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย”, ใน ความรู้กับการแก้ปัญหา ความขัดแย้ง : กรณีวิกฤตการณ์ชายแดนภาคใต้, 2548)

ส่วนผมเองก็ได้คลี่คลายขยายความและพัฒนาข้อคิดข้างต้นไปเป็นงานชิ้นต่างๆ เช่น “วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ” (ปาฐกถา 2546, พิมพ์ใน อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร : บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย, 2547), บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (2547) และร่วมแลกเปลี่ยนในวงสัมมนา “ระบอบทักษิณ” ของนักกิจกรรมนักหนังสือพิมพ์นักวิชาการราว 30 คนที่จัดโดยนิตยสารฟ้าเดียวกัน (ดู ฟ้าเดียวกัน (ฉบับระบอบทักษิณ), 2 : 1 (มกราคม-มีนาคม 2547)

สองทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มอาการ “ไม่เสรี” ได้กลายเป็นพิมพ์นิยมและระบาดลุกลามออกไปในหลายประเทศ “ประชาธิปไตย” จากการเลือกตั้ง เช่น (ดูภาพประกอบถัดจากอดีตนายกฯ ทักษิณซ้ายไปขวา) :

อดีตนายกรัฐมนตรียาโรสลาฟ คาชินสกี แห่งโปแลนด์ (2006-2007 & รองนายกฯ 2020-2022, 2023), นายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี (1998-2002, 2010-ปัจจุบัน), ประธานาธิบดีเรเจพ แอร์โดอาน แห่งตุรกี (2014-ปัจจุบัน), อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา (2017-2021), ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส (2017-ปัจจุบัน) และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย (2014-ปัจจุบัน) เป็นต้น ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง ทว่า แสดงออกซึ่งแนวโน้มทิศทางการใช้อำนาจรัฐแบบ “ไม่เสรี”

จนมหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน (ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ) ถึงกับตั้งโครงการศึกษาลัทธิไม่เสรีนิยมขึ้นมา (https://www.illiberalism.org/about-illiberalism-studies-program/) ทำการวิจัยและออกวารสารเผยแพร่งานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยศาสตราจารย์มาร์เลน ลารูเอล ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียศึกษาและผู้อำนวยการโครงการได้บรรยายลัทธิไม่เสรีนิยมโดยสังเขปไว้ว่า :

“ลัทธิไม่เสรีนิยมเป็นเอกภพทางอุดมการณ์ของฝ่ายขวาซึ่งประเมินว่าลัทธิเสรีนิยมในความหมายที่มันเป็นโครงการทางการเมืองอันถือเสรีภาพของปัจเจกบุคคลกับสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางนั้นไปไกลเกินไป การปัดปฏิเสธที่ว่านี้มาพร้อมกับจุดยืนทางการเมืองต่างๆ ที่ตั้งมั่นชัดเจนมากน้อยต่างกันไป ทว่า โดยทั่วไปแล้วอยู่บนฐานอำนาจอธิปไตยกับการปกป้องคนส่วนใหญ่ไว้จากชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย และมีแนวคิดเรื่องชาติที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันและยกย่องลำดับชั้นเหลื่อมล้ำตามประเพณี” (https://www.lemonde.fr/idees/article/2023/09/06/illiberalisme-une-doctrine-qui-defend-la-majorite-au-detriment-de-l-etat-de-droit_6188018_3232.html)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)