จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (6) ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

เริ่มจากผลงานในด้านกฎหมาย ที่กุบไลข่านทรงปฏิรูปกฎหมายจีนโดยทำให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เจงกิสข่านทรงตราขึ้นมา โดยกฎหมายของพระองค์ให้การรับรองสิทธิในทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน ลดภาษี ปรับปรุงถนนและการคมนาคม

ผ่อนบทลงโทษของราชวงศ์ซ่งเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากราษฎร ลดการกระทำผิดที่มีโทษประหารชีวิตลงให้มากที่สุด บทลงโทษทางกฎหมายถูกลดให้เบากว่าของราชวงศ์ซ่ง

ตัวอย่างกฎหมายของมองโกลที่น่าสนใจในกรณีหนึ่งก็คือ การลงโทษด้วยการสัก ซึ่งจีนใช้วิธีการการสักบนใบหน้าของผู้กระทำผิด แต่สำหรับชาวมองโกลแล้วถือว่าหน้าผากเป็นที่สถิตของวิญญาณ และเห็นว่าศีรษะของนักโทษไม่ควรถูกละเมิดเช่นนั้น

ดังนั้น เจ้าพนักงานมองโกลจึงอนุญาตให้ใช้โทษนี้ต่อไปในเขตที่มีการกระทำดังกล่าวอยู่แล้ว แต่กำหนดให้สักในความผิดสองครั้งแรกบนต้นแขน และสักในความผิดครั้งที่สามบนคอ

ห้ามไม่ให้สักบนหน้าผาก และห้ามไม่ให้มีการลงโทษเช่นนี้ในดินแดนใหม่ หรือในเขตชนชาติอื่นที่ไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน เป็นต้น

 

ในด้านอาชีพนั้น ระบอบของมองโกลจะสนับสนุนการฝึกอาชีพที่หลากหลาย มากกว่าให้เจ้าหน้าที่ของตนฝึกการแต่งกวีหรือคัดลายมืออันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งของจีน

มองโกลใช้วิธีการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำของความรู้สำหรับวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่ช่างไม้ขีดไฟ พ่อค้า ทนายความ ไปจนถึงแพทย์ ให้เป็นแบบเดียวกันหมด

โดยรับประกันให้ราษฎรเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เป็นประโยชน์และการบริการของผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ

ส่วนทางด้านการปกครอง กุบไลข่านทรงรู้ดีว่า ชาวมองโกลส่วนน้อยต้องปกครองชาวจีนที่เป็นประชากรส่วนมาก พระองค์จึงดูเหมือนถูกบีบให้ยอมรับการรับใช้จากขุนนางชาวจีน ซึ่งจะต้องผ่านการศึกษาและการสอบบัณฑิต

พระองค์จึงทรงปฏิเสธวิธีนี้แล้วหันไปใช้ชาวต่างชาติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชาวมุสลิม

แต่ขณะเดียวกันก็พยายามมิให้มีความโน้มเอียงเฉพาะชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ด้วยการผสานชาวจีนให้เข้ากับชาวต่างชาติให้มากที่สุด

กลุ่มผู้ปกครองในยุคมองโกลจึงมีความหลากหลาย คือประกอบไปด้วยชนชาวทิเบต อุยกูร์ อาร์เมเนียน คีตัน อาหรับ ทาจิก ทังกุต เติร์ก เปอร์เซีย และยุโรป

 

เมื่อมิได้ใช้ระบบขุนนางแบบจีนแล้ว กุบไลข่านได้ใช้ระบบการประชุมและคณะกรรมการขนาดใหญ่ผ่านการปรึกษาหารือ ระบบนี้คล้ายกับระบบดั้งเดิมที่ชาวมองโกลใช้กันมานานที่เรียกกันว่า คูริลไต (khuriltai)

ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันก็จะคล้ายกับสภา

ระบบนี้จะทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ อย่างเช่น การเลือกผู้นำสูงสุดที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงไปแล้ว ว่าหากผู้นำสูงสุดสิ้นชีพไปแล้ว ผู้นำในท้องถิ่นต่างๆ ของมองโกลจะเดินทางมาประชุมร่วมกันเพื่อเลือกผู้นำคนใหม่แทน เป็นต้น

ระบบคูริลไต จึงเข้ามาแทนที่ระบบขุนนางหรือเจ้าขุนมูลนายของจีน โดยทั้งก่อนและหลังยุคมองโกลไม่เคยเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์จีนเลย จนศตวรรษที่ 20 เมื่อจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐและยุคสาธารณรัฐประชาชนแล้วระบบสภาจึงเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากไม่นับยุคตำนานที่ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ว่าในยุคนั้นจีนก็มีระบบการเมืองการปกครองที่คล้ายกันนี้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ กุบไลข่านยังได้ขยายการใช้ธนบัตรอย่างกว้างขวางในขณะที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในยุโรป ธนบัตรนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเครื่องหมายบอกราคา ประทับตราสีแดงสด ทำให้พกพาได้ง่ายและสะดวกกว่าเงินที่เป็นเหรียญตรา

แต่การใช้ธนบัตรกลับมิได้ประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ของจักรวรรดิอันไพศาล ดังในเปอร์เซียซึ่งล้มเหลวด้วยพ่อค้าในท้องถิ่นนั้นเห็นเป็นของแปลก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้กุบไลข่านจะใช้กฎหมายหรือผลิตนโยบายในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการปกครองจีนอย่างมากมายก็ตาม แต่สำหรับชาวมองโกลแล้วยากที่จะยอมรับวัฒนธรรมบางอย่างของจีน อย่างเช่น ลัทธิขงจื่อหรือค่านิยมในการมัดเท้าสตรี

จากเหตุนี้ กุบไลข่านจึงเลือกที่จะใช้ความเป็นจีนในการพัฒนาจักรวรรดิอย่างรอบคอบ เช่น ทรงฟื้นฟูวนอักษราศรม (สำนักฮั่นหลิน) และให้สร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ แต่ก็ทรงก่อตั้งมหาสิกขาลัยของชนชาติมองโกลขึ้นมาด้วย

อีกทั้งยังทรงจ้างอาลักษณ์ภาษาอารบิก เปอร์เซีย อุยกูร์ ทังกุต เจอร์เชด ทิเบต จีน หรือแม้แต่ภาษาที่รู้จักกันน้อย นอกเหนือไปจากอาลักษณ์ภาษามองโกล

แต่ในขณะที่มีนโยบายไม่เลือกปฏิบัติทางภาษาดังกล่าว กุบไลข่านกลับทรงให้ลามะชาวทิเบตประดิษฐ์ตัวอักษรที่เป็นของมองโกลขึ้นมาใช้ด้วย พระองค์ทรงวาดหวังให้ตัวอักษรนี้ใช้กันทั่วโลก แต่กลับไม่บังคับให้ทุกคนใช้ตัวอักษรนี้

ชาวจีนและชนชาติอื่นที่มีตัวอักษรของตนใช้อยู่แล้วจึงยังใช้อักษรของตนต่อไป ที่ทรงทำเช่นนี้ก็เพราะพระองค์เชื่อว่า วันหนึ่งอักษรมองโกลจะเข้ามาแทนที่อักษรอื่นด้วยความเหนือกว่าของชนชาติมองโกล

แต่หาได้เฉลียวพระทัยว่าบัณฑิตชาวจีนไม่เพียงไม่ยอมรับอักษรมองโกลเท่านั้น หากยังดูแคลนว่าเป็นตัวอักษรของอนารยชนอีกด้วย

เหตุดังนั้น อักษรมองโกลจึงถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงเมื่อมองโกลหมดอำนาจในจีน

 

ไม่ว่าจะในด้านการศึกษาก็ดี หรือการประดิษฐ์อักษรมองโกลก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นได้ว่า กุบไลข่านทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างสูง พระองค์ไม่เพียงมีนโยบายการศึกษาให้แก่บุตรหลานของเกษตรกรเท่านั้น

หากยังทรงให้สอนด้วยภาษาจีนราษฎร์แทนภาษาจีนหลวงอีกด้วย

อนึ่ง ภาษาจีนราษฎร์ (ไป๋ฮว่า) คือภาษาจีนที่ชาวจีนใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ผิดกับภาษาจีนหลวง (เหวินเอี๋ยน) ที่ถือเป็นภาษาจีนชั้นสูง และใช้สื่อสารกันในหมู่ชนชั้นปกครอง ภาษาจีนหลวงจึงเข้าถึงได้ยาก เพราะจะเข้าถึงได้ก็แต่ต้องเรียนเท่านั้น

จีนดำรงการใช้ภาษาสองแบบนี้มานานกว่าสองพันปี และมีการรณรงค์ให้ใช้ภาษาจีนราษฎร์แทนภาษาจีนหลวงในต้นศตวรรษที่ 20 แต่มาสำเร็จในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองหลัง ค.ศ.1949 ไปแล้ว