เจาะลึก มติ ครม. ‘เลิกให้ครูอยู่เวร’ ‘บิ๊กอุ้ม’ เดินเกมลดภาระ หวังเด็กเรียนดี

กรณีครูสาว โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ถูกทำร้ายร่างกายขณะกำลังเข้าเวรเฝ้าโรงเรียน ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเป็นเรื่องแรก ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดระนอง ก่อนนำมาสู่มติยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ…

จากข้อมูลแม้จะมีกล้องวงจรปิดก็ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ ดังนั้น การให้ครูอยู่เวรนอกราชการจึงถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง ซึ่ง ครม.ได้พิจารณาถึงความเสียหายในชีวิตและร่างกาย ซึ่งจะต้องพยายามป้องกันรักษา

ส่วนหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะแม่งานหลัก ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน เข้าไปช่วยดูแล รักษาความปลอดภัยของโรงเรียน

ครูยิ้มยังไม่ทันหุบก็มีดราม่า เพิ่มภาระงานให้ตำรวจตามมา…

 

ร้อนถึง “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องออกโรงชี้แจงว่า หลังยกเลิกการอยู่เวรของครู ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เข้ามาช่วยดูแล

ส่วนที่มีกระแสว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่การดูแลความสงบเรียบร้อยให้ประชาชน ถือเป็นหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง เช่น ธนาคาร ร้านทอง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่อาจจะเพิ่มจุดเน้น

ในส่วนของ ศธ.ก็ได้มีหนังสือประสานไปที่ ตร.และ มท.เรียบร้อยแล้ว เพื่อบูรณาการดูแลความปลอดภัย ส่วนในระดับจังหวัดก็ได้มอบหมายให้สำนักปลัด ศธ.แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ในการเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม การประสานงานดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่

“ขณะที่ในส่วนของสถานศึกษาก็ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา โดยมีการเชิญตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาหารือมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้กับสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการรองรับมติดังกล่าว ส่วนเรื่องการอยู่เวร เมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวออกมาแล้ว ครูที่ไม่อยู่เวรก็ถือว่าไม่มีความผิดทางวินัย เพราะได้รับการยกเว้นแล้ว และหากครูจะมาทำงานที่โรงเรียนนอกเวลาราชการก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วย เช่น เข้ามาในห้องทำงานแล้วก็ควรล็อกประตูให้เรียบร้อย มีเพื่อนมาอยู่ด้วย เพราะเราห่วงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งไม่มีสิ่งที่จะมาทดแทนได้ ไม่เหมือนความเสียหายต่อทรัพย์สินที่บางทียังหาทดแทนได้ อยากให้ประชาชนได้เข้าใจ”

พล.ต.อ.เพิ่มพูนระบุ

 

มติดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติทันที โดยที่ผ่านมาได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีมติ ครม.เป็นสภาพบังคับ หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศก็จะต้องดำเนินการด้วยความเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศว่ามีกล้องวงจรปิดกี่แห่ง ส่วนจะต้องเพิ่มกล้องวงจรปิดให้กับโรงเรียนที่ยังไม่มีหรือไม่นั้น ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง เพราะแม้จะมีกล้องวงจรปิดแต่การมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต การมีกล้องวงจรปิดก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นลักษณะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจเยี่ยม คล้ายโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมและชุมชนที่จะต้องช่วยกันดูแลทรัพย์สินของส่วนรวม

ส่วนการของบประมาณจัดจ้างธุรการ ภารโรง เพิ่มนั้น ครม.ให้ไปปรับแก้ในรายละเอียด แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การของบฯ จัดจ้างนักการ ภารโรงเพิ่มนั้นไม่ใช่ให้มาเฝ้าโรงเรียนแทนครู แต่จะเข้ามาช่วยลดภาระ เพื่อให้ครูได้มีเวลาในห้องเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มี “ครูน้อย” หากมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนก็จะเป็นการลดภาระครู คืนครูสู่โรงเรียน เพื่อให้ครูสอนหนังสือได้เต็มที่ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีธุรการ ภารโรงครบทุกโรงเรียน

โดยที่ผ่านมา ศธ. ขออนุมัติหลักการสนับสนุนให้จัดสรรอัตรานักการภารโรงให้ครบทุกสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ในอัตราที่ยังขาด 12,837 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567 รวม 5 เดือน (จำนวนนักเรียน x อัตราจ้าง x ระยะเวลาการจ้าง) เป็นเงินกว่า 577,665,000 บาท

 

ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า กรณีที่ ครม.มีมติให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา ว่าเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรักษาความสงบ ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าตำรวจเข้าเวรแทนครู เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของโรงเรียน ครู และนักเรียนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่มีแนวทางให้ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ร่วมกันป้องกันความปลอดภัยให้กับครู นักเรียน และสถานที่ราชการด้วย

ถือเป็นเรื่องดี ที่แม่พิมพ์ของชาติได้รับการดูแล แต่จะว่าไป ครู ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับการเอาใจใส่จากทุกรัฐบาลเป็นพิเศษ จนอาจจะมากกว่าข้าราชการ และคนในอาชีพอื่นๆ ทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินครู เลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งเมื่อก็มีการปรับระบบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และล่าสุด ยกเลิกการอยู่เวร…

ก็หวังว่า เมื่อภาระงานลดลงตามข้อเรียกร้องแล้ว จะได้เห็นการทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่สูงขึ้น ที่สำคัญ ขอให้เหตุการณ์เด็กถูกครูทำร้ายร่างกายลดลงตามไปด้วย… •

 

| การศึกษา