กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ถ้าผมมี “เดิมพัน” และ “ข้อเสนอ” ด้านล่างให้คุณเลือก มาเล่นกันเถอะ!

“คิดเร็ว เสียตังค์”

ถ้าผมบอกว่า มีธุรกิจที่ทำอย่างไรก็ได้เงิน ไม่มีทางเสีย

เป็นธุรกิจที่พ่อค้ารวยเอาๆ ลูกค้าเสียตังค์แล้วไม่เข็ด

ชอบกลับมาเสียเงินซ้ำๆ

ควบคุมตัวเองไม่ได้

คุณจะสนใจมั้ยครับ

 

ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือครับ

หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือต่างประเทศ

ไม่ใช่ว่า “ดัดจริต”

แต่เป็นคน “ใจร้อน” ครับ

อยากได้ความรู้ก่อนเพื่อน

ทว่า เดี๋ยวนี้ การรู้ก่อนเพื่อนนั้น ทำยากขึ้นมาก

ก็ “สำนักพิมพ์” บ้านเราน่ะสิครับ หูตากว้างไกลกว่าแต่ก่อนมาก

หนังสือดีๆ ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา อังกฤษ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น

อ่านฉบับต่างประเทศจบได้ไม่นาน กะว่าจะเอาไป “โม้” ให้เพื่อนฟังเสียหน่อย

อีกไม่กี่สัปดาห์ ก็มี “แปล” ออกมาเสียแล้ว

เรียกได้ว่าตัดช่องทาง “ทำมาหากิน” กันเลยทีเดียว

ตัดพ้อ ด้วยความ ชื่นชม นะครับ

 

แต่ทว่า มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ที่ผมชอบมาก

เป็นหนังสือที่โด่งดังไปทั่วโลก

ถึงขั้นเรียกได้ว่า “สะเทือน” วงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ไปเลยก็ว่าได้

เชื่อมั้ยครับ “หนังสือแนวจิตวิทยา” แทบทุกเล่มที่ออกมาวางขายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ไม่เว้นแม้แต่นักเขียนชื่อดังเช่น Malcolm Gladwell ที่เขียนหนังสือ Outlier

หรือ Dan Ariely ที่เขียนหนังสือ Predictably Irrationale

ต้องมีการอ้างถึง “นักเขียนท่านนี้” ไม่มากก็น้อย

ที่แปลกก็คือ หนังสือเล่มนี้ “ยังไม่มีแปลไทย”

ทั้งๆ ที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2011

จากการอ่านฉบับภาษาต่างประเทศแล้ว ผมเชื่อว่า ไม่ใช่ไม่มีใครรู้จักหนังสือเล่มนี้

แต่ว่า หนังสือมันอ่านยาก เป็นงานวิจัยซะเยอะ ก็เลยอาจจะยังไม่มีใครเอามาแปลกัน

หนังสือเล่มนี้มีชื่อง่ายๆ ว่า “Thinking Fast and Slow” แปลว่า “คิดเร็วและช้า”

เขียนโดยศาสตราจารย์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton)

สถานศึกษาเดียวกันกับ “จอห์น แนช (John Nash)” ในหนัง “The Beautiful Mind”

เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขา “เศรษฐศาสตร์” เมื่อปี 2002

ท่านมีชื่อว่า “แดเนียล คาห์นแมน (Daniel Kahneman)” ปัจจุบันมีอายุ 82 ปี

หนังสือ “ชื่อจำง่าย” แต่ “อ่านยาก” เล่มนี้

นำเสนอว่า “คนเราคิดว่าตัวเองตัดสินใจโดยใช้เหตุผล แต่จริงๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอารมณ์ซะเยอะ”

ลองอ่าน “เรื่องราว” ทางด้านล่าง แล้วพิจารณาตัวเองดูนะครับ

ว่า จริงหรือไม่

 

ถ้าผมมี “เดิมพัน” และ “ข้อเสนอ” ด้านล่างให้คุณเลือก

คุณจะเลือกแบบไหนครับ

ถ้าคุณเลือก “เดิมพัน”

มีความเป็นไปได้ 95% ว่าคุณจะเสียเงิน 10,000 บาท

อีก 5% ที่เหลือ คุณโชคดีไม่ต้องเสียเงิน

เดิมพันนี้ มาพร้อมกับ “ข้อเสนอ”

ให้คุณเสียเงินตอนนี้เลย 9,400 บาท โดยไม่ต้องเสี่ยงเดิมพัน

คุณจะเลือก “เดิมพัน” หรือรับ “ข้อเสนอ”

 

ถ้าคุณเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่

คุณคงจะเลือก “เดิมพัน”

ไหนๆ จะต้องเสียเงินแล้ว ขอลอง “เดิมพัน” ดูสักตั้ง

รับข้อเสนอเสียเงินก้อนใหญ่เลย มันยัง “ทัมใจ” ไม่ได้

ซึ่ง แดเนียล บอกว่า ถ้าคุณตัดสินใจเลือกที่จะเดิมพันนั้น

“ความเป็นเหตุเป็นผล” ที่คุณภูมิใจนั้น บกพร่องเสียแล้ว

ก็เพราะว่า ถ้าคำนวณมูลค่าของการเดิมพัน โดยใช้คณิตศาสตร์

(0.95 x 10,000) + (0.05 x 0) จะมีค่าเท่ากับ คุณต้องเสียเงิน 9,500 บาท

ซึ่ง เสียมากกว่า ข้อเสนอ ที่ 9,400 บาท

แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะ “เดิมพัน” ทั้งๆ ที่มีโอกาสจะเสียเงินสูงกว่า

เป็นเรื่องที่ “ไม่เป็นเหตุเป็นผล” เอาซะเลย

ซึ่งอันนี้เกิดจากผลทาง “จิตวิทยา” ที่เรียกว่า “การหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Loss Aversion)”

เราจะเห็นการตัดสินใจแบบนี้บ่อยครั้งในการ “เล่นพนัน”

รู้ว่า โอกาสน้อย ยอมหมอบเสียแต่เนิ่นๆ ก็ไม่เสียเงินเยอะ

แต่ก็ยังอยากจะลุ้น จนต้อง “สิ้นเนื้อประดาตัว” มานักต่อนัก

มองอีกด้าน นี่แหละคือเหตุผลว่า ทำไม “เจ้ามือบ่อนการพนัน” ถึงรวยเอา รวยเอา

ก็เพราะรู้ถึง “ความไม่มีเหตุผล” ข้อนี้ของมนุษย์นี่เอง

 

ทีนี้ลองใหม่

มี “เดิมพัน” กับ “ข้อเสนอ” อีกหนึ่งแบบ

ถ้าคุณเลือก “เดิมพัน”

มีความเป็นไปได้ 5% ว่าคุณจะเสียเงิน 10,000 บาท

อีก 95% ที่เหลือ คุณโชคดีไม่ต้องเสียเงิน

เดิมพันนี้ มาพร้อมกับ “ข้อเสนอ” เช่นเดียวกัน

โดยให้คุณเสียเงินตอนนี้เลย 600 บาท โดยไม่ต้องเสี่ยงเดิมพัน

คุณจะเลือก “เดิมพัน” หรือรับ “ข้อเสนอ”

 

ถ้าคุณเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่

คุณคงจะเลือก “รับข้อเสนอ”

ชั้นไม่อยากเสียเงิน “ก้อนใหญ่”

สู้เสียนิดหน่อย ป้องกันไว้ จะดีกว่า สบายใจ

ซึ่งเช่นกันครับ เป็นการตัดสินใจที่ “ไม่สมเหตุสมผล”

ก็เพราะว่า ถ้าคำนวณมูลค่าของการเดิมพัน โดยใช้คณิตศาสตร์

(0.05 x 10,000) + (0.95 x 0) จะมีค่าเท่ากับ คุณต้องเสียเงินเพียงแค่ 500 บาท

ซึ่ง เสียน้อยกว่า ข้อเสนอ ที่ 600 บาท

แต่คนส่วนใหญ่ ก็ยังคงกลัวจะเสียก้อนใหญ่ แม้ตัวเลขจะออกมาอย่างที่เห็นก็ตาม

คุ้นๆ มั้ยครับ ธุรกิจอะไร ที่หาเงินกับพวกเรา เพราะเรา “กลัวการสูญเสีย” ครั้งใหญ่

ใช่ครับ “ธุรกิจประกัน” นั่นเอง

เราจ่าย “เบี้ยประกัน” ไม่เยอะมาก เพื่อแลกกับ “ความสบายใจ” ที่ “ไม่สมเหตุสมผล” ในเชิงคณิตศาสตร์

ก็แล้วจะไม่ให้ “บริษัทประกัน” กำไรมากมายได้อย่างไรล่ะครับ

ที่เมืองนอกนั้น ธุรกิจประกันภัย ใหญ่กว่า “ธนาคาร” แทบทั้งสิ้น

เพราะถ้าคำนวณค่าเบี้ยประกันดีๆ จะทำกำไรได้สูงมาก ไม่มีวันเสียเงินเลยในทาง “ทฤษฎี”

 

สองตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “Prospect Theory”

“ผลงาน” ที่ทำให้ แดเนียล คาห์นแมน ได้รับ “รางวัลโนเบล” ในที่สุด

อธิบายแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย

แต่การ “ค้นพบ” และอธิบาย “พฤติกรรมมนุษย์” ได้อย่างเป็นระบบแบบนี้

นำมาซึ่งความเข้าใจถึงหลักการเบื้องหลังของสองธุรกิจยักษ์ใหญ่ ที่มีเงินหมุนจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

 

สรุปสั้นๆ

ถ้าอยากรวย แต่ไม่ชอบ “ขายประกัน” และ “ศีลธรรม” ไม่ใช่ประเด็นสำหรับคุณ

ก็มาเปิด “บ่อน” กันเถอะครับ