Next Station ‘รถไฟสีส้ม’ พิธา-ก้าวไกล

ถ้าเปรียบ “พรรคก้าวไกล” เป็นขบวนรถไฟ ก็นับเป็นขบวนรถที่มีโบกี้รถไฟยาวขึ้นเรื่อยๆ มีผู้โดยสาร มีเจ้าหน้าที่ในขบวน มากขึ้นเรื่อยๆ

จุดเริ่มต้นจากขบวนรถไฟอนาคตใหม่ ภายใต้พลขับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแกนนำอย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ช่อ พรรณิการ์ วานิช เริ่มออกเดินทาง รับผู้โดยสารเรื่อยมา

แต่แล้วก็ถูกคำสั่งให้ลงจากขบวนรถไฟ พร้อมถูกลงโทษประหารชีวิตทางการเมือง กลับมาทำหน้าที่พลขับไม่ได้อีก

จึงส่งต่อให้แกนนำรุ่นที่สอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ต๋อม ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นมาเป็นพลขับแทน

ขบวนรถไฟที่เปลี่ยนพลขับใหม่ กลับเดินหน้าต่อได้อย่างราบรื่น มิหนำซ้ำยังเดินหน้ารับผู้โดยสารเข้ามาอยู่ในขบวนได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นขบวนรถไฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

นับเป็นขบวนรถไฟสีส้ม ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และขยายกิจการอย่างรวดเร็วจนเป็นที่น่ากังวลต่อบริษัทอื่น

นำมาสู่การเตะสกัดด้วยทุกวิธีการ

 

คดีหุ้นสื่อไอทีวีก็เป็นหนึ่งในสเต็ปแรกของการสกัดกั้นขบวนรถไฟสีส้ม

แต่ยกนี้ขจัดไม่ลง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ยังได้ไปต่อ

คดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการสื่ออยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อ 4 เมษายน 2566

ความน่าสนใจของคดีนี้อยู่ที่ปัญหาการตีความ จะใช้จุดยืนทางนิติศาสตร์ นิติปรัชญาใด ในการตัดสินเพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีมาตรฐานมากมายเกิดขึ้น

จึงแบ่งจุดยืนการตีความได้หลักๆ 2 ฝ่าย หนึ่งคือตีความตามตัวอักษร การถือหุ้นแม้จะถือจำนวนน้อย แต่ตามกฎหมาย ต่อให้ถือแค่หุ้นเดียวก็ผิด ไอทีวียังไม่ส่งหนังสือเลิกกิจการก็แปลว่าเป็นสื่ออยู่

ตัวอย่างจุดยืนนี้ที่ให้สัมภาษณ์ออกสื่อบ่อยๆ ก็เช่น สมชาย แสวงการ ส.ว.คนดังนั่นเอง

อีกจุดยืนหนึ่งมองว่า นักกฎหมายต้องตีความตามตัวอักษรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูพฤติการณ์ความเป็นจริงประกอบ และต้องดูเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นด้วย

แต่ด้วยความรอบหลายปีที่ผ่านมา การตัดสินคดีเช่นนี้มีหลายมาตรฐานเกิดขึ้น คนจึงไม่รู้ว่า หวยจะไปออกเลขไหน ตัดสิทธิ์ หรือไม่ตัดสิทธิ์ มีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด สังคมเต็มไปด้วยความคลุมเครือ

แต่แล้ว 24 มกราคม ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยตามนัด

 

สรุปสาระสำคัญในการตัดสินแบบเข้าใจง่ายก็คือ ในช่วงแรก ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า นายพิธา ถือหุ้นไอทีวีจริง ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

กองเชียร์ที่ฟังมาถึงจุดนี้หลายคนคอตก เกิดอาการหงุดหงิด ขณะที่กองแช่งยิ้มแก้มปริ

แต่แล้วในนาทีสุดท้าย การวินิจฉัยว่า แล้วไอทีวียังมีสถานะเป็นสื่อมวลชนอยู่หรือไม่ คำวินิจฉัยเห็นว่า

“ณ วันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บริษัท ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้อง (นายพิธา) จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 อนุสาม สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ”

เรียกได้ว่าตอนจบหักมุมไม่น้อยหากใครฟังคำวินิจฉัยมาตั้งแต่แรก สร้างเสียงเฮดังลั่นให้กับกองเชียร์ที่มารอรับนายพิธาจากความข้องใจที่มีในช่วงฟังคำวินิจฉัยแรกๆ

ในชั่วโมงต่อมา ข่าวนายพิธา กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกทันที ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี ต่างรายงานเป็นข่าวด่วน

 

หลังคำตัดสิน แม้จะสร้างความดีอกดีใจให้กับด้อมส้ม กองเชียร์ก้าวไกล

แต่ในมุมของ อมรัตน์ โชคปมิตรกุล อดีต ส.ส.ของพรรคก้าวไกลก็น่าสนใจ ในแง่การออกมาตั้งคำถามว่า จะชดเชยต้นทุนค่าเสียโอกาสเวลาครึ่งปีที่สูญเสียไปของพิธาอย่างไร?

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะหากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์การร้องเรียนเรื่องนี้ พบข้อพิรุธหลายอย่าง

เพราะจากคำตัดสินว่าไอทีวีไม่ใช่สื่อ ไม่มีสถานะสื่อแล้วในปัจจุบัน ต้องให้เครดิตอดีตนักข่าวไอทีวีที่ออกมารวมพลังกันทำงานข่าวในคดีไอทีวี จนกลายเป็นจุดพลิกสำคัญของคดีนี้

ตั้งแต่การเปิดเทปประชุมผู้ถือหุ้น และโต้กลับหลักฐานเอกสาร จนสุดท้ายคนเห็นตรงกันว่าคดีนี้เป็นคดีทางการเมือง มีขบวนการปลุกผีไอทีวีขึ้นมา เกิดการปักหมุดข้อเท็จจริงใหม่

ถ้ามองว่าครึ่งปีที่ผ่านมา เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่หายไปของนายพิธา งานนี้ต้องกลับไปดูกระบวนการสร้างเรื่องราวและหลักฐานทั้งหมดขึ้นมา กระทั่ง กกต.ออกมารับลูก ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

จำเป็นไหมที่ กกต.จะต้องกลับไปสอบสวนคำร้อง ที่มาที่ไป เบื้องหลังทั้งหมดว่าที่มาของหลักฐานมาอย่างไร

เพราะมิฉะนั้น “การสร้างเรื่อง” เช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก กลายเป็นเครื่องมือเล่นงานทางการเมือง ที่ในอนาคตอาจจะเกิดกับฝ่ายใดก็ได้

 

หรือจะเป็นมุมของ ชำนาญ จันทร์เรือง ก็น่าสนใจ

ชำนาญมองว่า จุดยืนเช่นนี้ ในทางวิชาการเท่ากับเป็นการ “หัก” กับแนวคำพิพากษาศาลฎีกานั่นเอง

เพราะเมื่อไปฟังคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพบบรรทัดฐานในกรณีนี้อีกเรื่อง ซึ่งนับเป็นประเด็นถกเถียงทางนิติปรัชญาสำคัญ

ศาลรัฐธรรมนูญมองว่า การถือหุ้นสื่อแม้เพียงหุ้นเดียวก็ถือว่าผิด แม้จะไม่มีสิทธิครอบงำ หรือตัดสินใจก็ตาม

ซึ่งขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยมีคำพิพากษาเป็นแนวทางก่อนหน้านี้ ว่าต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

 

แน่นอนว่า รถไฟขบวนสีส้ม ได้เดินหน้าต่อ เพราะวิบากกรรมพรรคก้าวไกลยังไม่หมด 31 มกราคมนี้ ยังต้องเจอกับคดีสำคัญคือล้มล้างการปกครอง

หลักใหญ่ใจความของคำร้องคือ การที่พรรคก้าวไกลพูดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการยุบพรรค

ความน่าสนใจอยู่ที่ปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยมไม่กี่นาทีหลังคำวินิจฉัย

กองแช่งนายพิธาอย่าง ส.ว.สมชาย แสวงการ โพสต์ข้อความทันที ระบุ “คำโบราณสอนว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”

นั่นแปลว่าฝ่ายอนุรักษนิยมก็รอลุ้นคำตัดสินวันที่ 31 มกราคม หวังว่าจะเป็นจุดจบทางการเมืองของพรรคก้าวไกลเช่นกัน

แต่ถ้ารอด ก็แปลว่า Next Station ของพรรคก้าวไกล จะไปได้อีกไกลโข ไม่มีอะไรให้ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

 

ต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยคดีหุ้นไอทีวี ปลดล็อกความตึงเครียดทางการเมืองไปได้มาก

บริบทการเมืองไทยวันนี้เปลี่ยนไปมากจริงๆ อะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็ล้วนได้เห็นมาหมด

รถไฟสีส้ม ที่เพิ่งเริ่มเดินทางไม่นาน ถูกประหารชีวิตทางการเมืองมาแล้วซ้ำๆ ก็ยังเดินทางต่อเนื่องได้ แถมยิ่งใหญ่ กลายเป็นพรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1

ดังนั้น การใช้กลวิธีกำจัดในทางการเมืองแบบเดิมที่เคยได้ผล วันนี้อาจจะต้องคิดใหม่ เนื่องจากต้นทุนการใช้วิธีการแบบเดิม นับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

1. อาจจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ที่อาจจะหนัก ขยายลุกลามกว่าเดิม

2. เครื่องมือที่ถูกใช้จัดการพลังใหม่จะยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมากกว่าที่เคยเป็นมา

3. ความนิยมต่อผู้นำกลุ่มพลังการเมืองใหม่ยิ่งมากขึ้น

4. รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม จะยิ่งทำให้คนกลางๆ คนที่เคยลังเล จะเห็นใจกลุ่มพลังใหม่มากขึ้น

5. กลุ่มพลังใหม่พิสูจน์แล้วว่าแม้ไม่มีอำนาจในสภา ก็สามารถทำงานนอกสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งกำจัดยิ่งขยาย การกำจัด “รถไฟสีส้มขบวนอนาคตใหม่” พิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถทำลายความนิยมของธนาธร ไม่สามารถทำลายพลังของกลุ่มก้อนนี้ได้ ตรงกันข้าม พวกเขาได้รับความนิยมมากกว่าเดิม

เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และแน่นอน การเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงทำนายผลได้ไม่ยาก

 

ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายอำนาจเก่าเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น สะท้อนชัดครั้งแรกๆ จากการส่งสัญญาณจับมือกับพรรคเพื่อไทยจนยอมพลิกขั้วตั้งรัฐบาลนั่นแหละ

ฉะนั้น แม้วันนี้พิธาจะได้กลับเข้าสภา แต่ก้าวไกลก็จะยังต้องเจออีกสารพัดวิบากกรรม ถูกรุมถล่มจากทั่วสารทิศ

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม กลไกเชิงโครงสร้างของอำนาจเก่าที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกระบบสังคม ปรากฏชัดผ่านการปรับปรุงระบบราชการช่วงรัฐบาล คสช.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังต้องเจอกับพลังทางการเมืองจากกลุ่มก้อนอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคง กลุ่มนักการเมืองจากการเลือกตั้ง บ้านใหญ่ต่างๆ ภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทย ที่พลิกจากพรรคพันธมิตรเป็นคู่แข่ง

แม้พิธาจะพ้นมลทิน แต่การนำพรรคก้าวไกลไปต่อไม่ง่าย

ด่านต่อไปของรถไฟสีส้มคือ 31 มกราคมนี้ จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ…