จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (5) ต้นราชวงศ์หยวน กุบไลข่านผู้พิชิต

ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ) กุบไลข่านผู้พิชิต

 

ช่วงที่กุบไลข่านก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่นั้น ดินแดนที่มองโกลยึดครองอยู่ก่อนแล้วประกอบไปด้วยจีน ทิเบต แมนจูเรีย เกาหลี พื้นที่ทางตะวันออกของมองโกเลีย สลาฟในยุโรปตะวันออก พื้นที่จากอัฟกานิสถานจนถึงตุรกี

ทุ่งหญ้าสเตปป์ตอนกลางที่รู้จักในชื่อ โมกุลลิสถาน และพื้นที่ที่ในปัจจุบันคือคาซัคสถาน ไซบีเรียทางเหนือข้ามเตอร์กิสถานในเอเชียกลางไปจดถึงทางใต้ของอัฟกานิสถาน

แต่ดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ยังไม่เพียงพอสำหรับข่านผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้

ดินแดนแรกๆ ที่กุบไลข่านเข้าจัดการก็คือ เกาหลี ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่ไม่น้อยของเกาหลีได้ตกอยู่ใต้การปกครองของมองโกลไปแล้ว แต่พอถึงยุคนี้เกาหลีก็อยู่ภายใต้บังคับของมองโกลโดยเด็ดขาดในกลางทศวรรษ 1270

เมื่อพิจารณาจากดินแดนทางบกที่มองโกลพิชิตมาได้นับแต่ยุคของเจงกิสข่านแล้ว มาถึงยุคนี้ดินแดนใหม่ๆ ใต้การปกครองของมองโกลก็ขยายใหญ่เป็นห้าเท่าของอารยธรรมที่มีพลเมืองพูดภาษาจีน

และในเมื่อกุบไลข่านทรงเห็นว่าดินแดนที่มีขนาดใหญ่นี้ยังไม่เพียงพอ การมองออกไปยังดินแดนทางทะเลจึงเกิดขึ้น

และประเทศที่พระองค์หมายตาก็คือ ญี่ปุ่น

 

การบุกโจมตีญี่ปุ่นของกุบไลข่านถือเป็นตำนานที่เล่าขานกันไม่รู้จบ โดยเริ่มจากการส่งทูตไปเจรจาให้ญี่ปุ่นอยู่ใต้อาณัติแล้วถูกญี่ปุ่นปฏิเสธ กุบไลข่านจึงรวบรวมกองเรือประมาณเก้าร้อยลำ ทหารเกาหลีและจีนราว 23,000 นาย และกองทหารม้ามองโกลไม่ทราบจำนวน บุกเข้าตีญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1274

ทัพมองโกลสามารถยึดเมืองเล็กเมืองน้อยได้ในระยะแรกที่ยกพลขึ้นบกอย่างง่ายดาย

จนเมื่อยกพลขึ้นบกที่อ่าวฮากาตะ ทัพมองโกลก็พบกับนักรบญี่ปุ่นหรือที่เรียกขานกันว่า ซามูไร ขี่ม้ามาตั้งรับหมายจะสู้กันแบบตัวต่อตัว

แต่แทนที่นักรบมองโกลจะสู้แบบนั้นก็กลับยิงระเบิดและห่าธนูเข้าใส่ จนขุนศึกญี่ปุ่นถูกสังหาร ทัพญี่ปุ่นจึงล่าถอยเข้าไปในป้อมปราการที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทัพมองโกลไม่ได้ไล่ตาม แต่พักรบอยู่ในเรือของตน

คืนนั้นเองพายุในฤดูใบไม้ร่วงได้พัดมาอย่างน่ากลัว พายุนี้ได้ซัดเอาเรือไปกระแทกกับโขดหินตามแนวชายฝั่งจนแหลกลาญ ทหารของมองโกลที่พยายามหนีแต่หนีไม่พ้นต้องเสียชีวิตไปราว 13,000 นาย

ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าพายุที่พัดมาในคืนวันนั้นคือพายุศักดิ์สิทธิ์ นับแต่นั้นมาชาวญี่ปุ่นจึงเรียกพายุนี้ว่า พายุศักดิ์สิทธิ์ (Kamikaze)

 

แต่สำหรับกุบไลข่านแล้วการสูญเสียดังกล่าวมิใช่ความพ่ายแพ้ ด้วยถือว่าชัยชนะเป็นของมองโกลในการศึกทางบกไปแล้ว พระองค์จึงส่งทูตไปญี่ปุ่นพร้อมคำสั่งให้จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จไปยังเมืองหลวงเพื่อประกาศยอมจำนน

จากนั้นก็จะแต่งตั้งองค์จักรพรรดิให้อยู่ในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง

ส่วนญี่ปุ่นเองก็เชื่อว่าตนเป็นผู้ชนะโดยไม่นับการสูญเสียที่เกิดจากมองโกลเช่นกัน และเชื่อว่าตนจักได้รับการปกป้องจากเทพเจ้า ญี่ปุ่นจึงไม่เพียงปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น หากยังได้ประหารชีวิตทูตของมองโกลด้วยการตัดหัวแล้วนำเลือดไปสาด จากนั้นก็นำไปเสียบประจาน

แม้จะถูกตอบโต้เช่นนั้น แต่กุบไลข่านก็ไม่ละความพยายามที่จะให้ญี่ปุ่นสยบยอมต่อตนให้ได้ พระองค์ยังคงส่งทูตไปยังญี่ปุ่นอีกครั้งใน ค.ศ.1279 แต่ก็ถูกญี่ปุ่นสังหารอีก

เมื่อเป็นดังนี้การเตรียมพร้อมเพื่อทำศึกของทั้งสองก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

ทัพมองโกลมีเรือ 3,500 ลำพร้อมกับทหารเรือ 60,000 นาย และทหารบก 100,000 นาย ส่วนญี่ปุ่นเตรียมเรือขนาดเล็ก และนำหินมาสร้างแนวกำแพงขึ้นป้องกันที่ชายฝั่ง ค.ศ.1281 กองเรือมองโกลก็กรีธาเข้าบุกญี่ปุ่น แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแนวกั้นของญี่ปุ่นไปได้

ทัพมองโกลจึงถูกบีบให้อยู่แต่ในเรือท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดของฤดูร้อน พอถึงเดือนมิถุนายนทหารมองโกลก็ล้มป่วยด้วยโรคระบาดที่ไม่รุนแรง จนคืนวันหนึ่งเรือลำเล็กของญี่ปุ่นก็บุกเข้าโจมตีเรือลำใหญ่ของมองโกล

การโจมตีนี้มิได้หมายที่จะให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและสับสนมากกว่า

เมื่อไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้และถูกก่อกวนเช่นนี้ ทัพเรือมองโกลจึงล่าถอยไปเพื่อรอกองเรือจากทางใต้มาเสริม และเมื่อมาถึงทั้งหมดจึงออกเดินเรือไปตีอีก การบุกครั้งนี้เป็นไปด้วยความสับสน เจ็บป่วย และอยู่ในทะเลนานกว่าที่เตรียมการเอาไว้

ซ้ำยังเกิดพายุทำให้ท้องทะเลปั่นป่วนขึ้นมาอีก เรือมองโกลพลิกคว่ำและถูกซัดแตก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่าแสนราย มีอยู่ไม่กี่ลำเท่านั้นที่เหลือรอดกลับไปเพื่อถวายรายงานความย่อยยับแกกุบไลข่าน

 

ความล้มเหลวในญี่ปุ่นได้หันเหให้มองโกลมุ่งไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภูมิภาคนี้ทัพมองโกลได้ชัยเหนือพม่า อันนัมและจามปาในภาคเหนือกับภาคใต้ของเวียดนามตามลำดับ ลาว มาลาบาร์บนชายฝั่งอินเดีย โดยทั้งหมดนี้ยอมส่งบรรณาการแก่ราชสำนักมองโกล

จะมีก็แต่หมู่เกาะอันเป็นที่ตั้งของอินโดนีเซียในปัจจุบันเท่านั้น ที่มองโกลประสบความล้มเหลว

การขยายดินแดนของกุบไลข่านจากที่กล่าวมาแม้จะล้มเหลวในกรณีญี่ปุ่น แต่โดยรวมแล้วได้สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้แพ้ และทำให้ผู้แพ้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการปกครองของมองโกล

หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมาความสงบก็เกิดขึ้น การค้าที่มาคู่กับเทคโนโลยีและการศึกษาที่ดีได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งอันเป็นผลที่มาจากการปกครองของมองโกลด้วยเช่นกัน

เหตุฉะนั้น หากไม่นับความล้มเหลวในกรณีญี่ปุ่นแล้วก็ยังพอที่จะกล่าวได้ว่า กุบไลข่านคือผู้พิชิตจริงๆ และไม่แปลกที่จักรวรรดิมองโกลที่พระองค์ได้สร้างขึ้นมาจะถูกเรียกว่า จักรวรรดิของข่านผู้ยิ่งใหญ่ (The Empire of the Great Khan)

 

กุบไลข่านผู้สร้างสรรค์

การที่กุบไลข่านทรงครองราชย์ยาวนานถึง 34 ปีนั้น จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะพึงมีผลงานปรากฏขึ้นมากมาย

แต่ที่เหนือกว่าปริมาณของผลงานก็คือ การที่พระองค์ได้วางรากฐานให้กับข่านองค์ต่อๆ มา

จนกลายเป็นระบอบการเมืองหนึ่งก็ว่าได้