จำรัส สุวคนธ์ ดาราดังแห่งยุค กับการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ ช่วงก่อนสงคราม

ณัฐพล ใจจริง

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้น (2484) และไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านทัพ ติดตามด้วยการลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับญี่ปุ่นพร้อมการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรตามลำดับ ชุดเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ไทยถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร

อย่างไรก็ตาม นับแต่การปราบกบฏบวรเดช (2476) แล้ว รัฐบาลเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนและการเตรียมความพร้อมพอสมควรกับเผชิญหน้ากับสงครามที่มีการใช้ก๊าซพิษและการโจมตีทางอากาศมาก่อนแล้ว

ในช่วงแห่งการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศช่วงสงครามอินโดจีน (2483-2484) นั้น จำรัส สุวคนธ์ ดาราดังที่สุดแห่งยุคสมัยร่วมเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยทางอากาศ เดินตรวจตราบ้านเรือนและให้คำแนะนำแก่ประชาชนด้วย

จำรัส สุวคนธ์ พระเอกดังแห่งยุคสมัยและอาคารในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการทาสีพรางอาคารช่วงสงคราม

การซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ
ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา

จากหลักฐานพบว่า ภายหลังการปราบกบฏบวรเดช (2476) แล้ว รัฐบาลคณะราษฎรและประชาชนมีความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของพลเมืองจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งที่มาจากการสู้รบภายในและภัยจากภายนอกมากขึ้น

ดังมีการเผยแพร่ (2477-2479) เรื่อง วิธีป้องกันภัยทางอากาศในสยาม การป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่น การโจมตีกรุงลอนดอนทางอากาศคราวมหาสงคราม การป้องกันภัยทางอากาศและก๊าซพิษ การป้องกันภัยจากสงครามไอพิษและเชื้อโรคทั่วไป

กระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลสมัยจอมพล ป. จัดพิมพ์ “คำแนะนำการป้องกันภัยทางอากาศ” (2481) แจกจ่ายประชาชนมาแล้ว ต่อมาเมื่อไทยมีการพิพาทกับฝรั่งเศสกรณีดินแดนในอินโดจีน กรมโฆษณาการนำหนังสือ “การป้องกันภัยทางอากาศ คำแนะนำเรื่องการป้องกันภัยจากลูกระเบิดทำลาย” (2483) มาพิมพ์ซ้ำแจกจ่ายเผยแพร่แก่ประชาชนอีก (2484)

จากความทรงจำของชาวตลาดพลู ย่านฝั่งธนบุรีในช่วงสงครามบันทึกว่า รัฐบาลเคยมีการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ (ซ.ป.อ.) มีการซ้อมพรางไฟ มีสัญญาณเตือนภัยโดยวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ มีการทิ้งพลุสีต่างๆ สีเขียวหมายถึงระเบิดไอพิษ สีแดงหมายถึงระเบิดเพลิง สีเหลืองหมายถึงระเบิดทำลาย การซ้อมเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2481 แล้ว (หลวงเมือง, 2552, 104)

เครื่องบิน บี 29 ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ามาทิ้งระเบิดไทยช่วงสงคราม

วิธีป้องกันภัยทางอากาศ

ในหนังสือการป้องกันภัยทางอากาศ (2484) ที่กรมโฆษณาการแจกประชาชนเผยแพร่การสร้างห้องหลบภัย แบบพิมพ์เขียวสร้างหลุมหลบภัย การพรางอาคารและความรู้เรื่องการป้องกันไอพิษ ฯลฯ รวมทั้งประชาชนพิมพ์เผยแพร่ในหนังสืออย่างกว้างขวางด้วย

ในกฎกระทรวงกลาโหม ออกตามความใน พ.ร.บ.ป้องกันภัยทางอากาศ (2482) กำหนดให้การปิดแสงไฟ หมายถึง การใช้วัสดุสีดำหันเข้าหาแสงปิดแสงมิให้เล็ดลอดออกมา มีการให้คำจำกัดความว่า การบังแสงไฟ ใช้วัสดุโปร่งแสงสีน้ำเงินบังแสงไฟ และการจำกัดแสงไฟ คือ การดับและลดแสงไฟ (กรมโฆษณาการ, 2484, 14-15)

ในช่วงนั้นมีประกาศกระทรวงกลาโหมเรื่อง การตั้งผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศแห่งราชอาณาจักร การตั้งนายก อุปนายก และผู้ช่วยอุปนายกสันนิบาตช่วยป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ การตั้งเจ้าพนักงานอนุญาตในเรื่องการใช้เครื่องต่อสู้หรือเครื่องป้องกันภัยทางอากาศ การตั้งสันนิบาตช่วยป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ ระดับจังหวัด คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศ เช่น วิธีการปฏิบัติการจำกัดแสงไฟ การป้องกันภัยจากลูกระเบิดทำลาย การป้องกันภัยจากลูกระเบิดเพลิง การป้องกันไอพิษ และการสร้างที่หลบภัยสาธารณะ เป็นต้น

มีการสอนประชาชนให้ป้องกันอาคารจากลูกระเบิดเพลิง สอนการดับเพลิงด้วยการเตรียมถังน้ำและถังทราย การกำจัดลูกระเบิดที่ระเบิดตกลงโดยใช้ทรายกลบ (กรมโฆษณาการ, 182)

ให้ความรู้การป้องกันระเบิดไอพิษ ที่มีผลทำให้น้ำตาไหล ทำลายปอด ทำลายผิวหนัง ทำลายระบบประสาท เมื่อได้กลิ่น ให้หลบหนี หรือใช้หน้ากากชุบน้ำละลายโซดาไบคาร์บอเนต พร้อมแนะนำให้ทุกคนจัดเตรียมหน้ากากกันไอพิษด้วย

อาสาสมัครป้องกันภัยทางอากาศ

ในช่วงสงครามอินโดจีน รัฐบาลจัดให้มีการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศด้วยเกรงเครื่องบินฝรั่งเศสจะบินเข้ามาโจมตีพระนครทำให้คนในพระนครครั้งนั้นพอมีประสบการณ์ ตามเวลานัดราว 20.00 น. ทางการจะเปิดสัญญาณหวอ มีการดับไฟถนนทุกดวง ให้ประชาชนหาที่หลบภัย ในครั้งนั้น แม้แต่ปกสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียนยังปรากฏเรื่องราววิธีการป้องกันภัยทางอากาศให้ความรู้แก่นักเรียน เช่น ให้หลบภัยที่มุมผนังตึกอาคาร ควรเตรียมกระป๋องทรายสำหรับดับเพลิง เมื่อถึงเวลานั้น ทางราชการเปิดเสียงหวอเพื่อบอกว่าเครื่องบินข้าศึกมา ให้ประชาชนดับไฟ และหลบภัยตามที่เตรียมการไว้ (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 103-104)

ในการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ รัฐบาลจัดให้มีตำรวจและหน่วยอาสาป้องกันภัยทางอากาศ ออกตรวจพื้นที่ แนะนำประชาชนในวิธีการพรางไฟให้ถูกต้อง อาสาสมัครออกเดินตรวจหลอดไฟในแต่ละบ้านอย่างละเอียดทั้งภายในและภายนอกบ้าน รวมทั้งการแนะนำให้ใช้กระดาษแข็งทาสีดำปิดครึ่งบนของดวงไฟรถยนต์ จักรยานยนต์ จักรยานสองล้อ ตะเกียงรถสามล้อ ทั้งไฟฉาย ตะเกียงหลอด ตะเกียงรั้วด้วย และฝึกฝนอบรมประชาชนให้เข้าใจในการป้องกันภัยทางอากาศ (กรมโฆษณาการ, 74)

มีผู้บันทึกว่า ในหน่วยอาสาหน่วยหนึ่งที่เดินตรวจตราถนนและตึกแถว ดังย่านละแวกโรงพักพระราชวัง มีคนดังเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครด้วย คือ จำรัส สุวคนธ์ พระเอกภาพยนตร์ชื่อดังสมัยนั้น ปิยะ ชวนเสถียร เจ้าของร้านห้องหุ่น ช่างปั้นปูนปลาสเตอร์ และชายหนุ่มสุภาพอีกคนหนึ่ง อาสาสมัครแต่งชุดสากลผูกไท้ สวมปลอกแขนสีธงชาติที่แขนขวา กลัดเครื่องหมายทองเหลืองทรงกลมมีรูปเปลวไฟลุก หมายถึงสังกัดเหล่าทหารปืนใหญ่ (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 103-106)

ทั้งนี้ จำรัส สุวคนธ์ (2450/2451-2487) เป็นดาราชายและนักร้องชาวไทยผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะพระเอกชั้นนำ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง 2479-2485 สังกัดอยู่ค่ายภาพยนตร์แห่งบริษัทภาพยนตร์ไทยเสียงศรีกรุง ของ มานิต วสุวัติ

อาคารกระทรวงกลาโหมซ้อมป้องกันภัยทางอากาศเมื่อพฤศจิกายน 2481

การพรางอาคาร

ในช่วงสงคราม รัฐบาลประกาศให้มีการพรางไฟด้วยเครื่องพราง หรือไฟดำพันโป๊ะไฟไม่ให้มีแสงลอดตามอาคารร้านค้า รถยนต์และยวดยานอื่นๆ ต้องปิดไฟด้วยผ้าดำ อาคารสถานที่ต่างๆ ให้ทาด้วยสีดำแบบพรางตา มีการทำหลุมหลบภัยตามสถานที่ต่างๆ มีการติดตั้งสัญญาณหวอไว้บนภูเขาทองเพื่อส่งเสียงเตือนภัยให้กว้างขวาง มหรสพหยุดทั้งหมด (ขุนวิจิตรมาตรา, 462-463)

ความรู้จากการเผยแพร่ ทำให้ในช่วงสงคราม บ้านตึก อาคารราชการช่วงนั้นมักจะทาสีเหลืองเขียวดำสลับเป็นลายพราง จากนั้นคลุมด้วยใบมะพร้าวให้แน่น ตึกที่พรางมักไม่ค่อยถูกระเบิด แต่นานๆ ไปใบมะพร้าวก็แห้งเป็นสีน้ำตาล (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 178)

ทั้งนี้ บุญเสริม สาตราภัย บันทึกว่า เมื่อเกิดสงครามขึ้น สีจากต่างประเทศไม่สามารถนำเข้ามาได้ ทำให้คนไทยต้องผลิตสีเอง ดังสีที่ใช้ทาอาคารเพื่อพรางการโจมตีทางอากาศนั้นเป็นสีฝุ่นสีดำที่ผลิตในประเทศผสมกับปูนขาวและแป้งเปียกกลายเป็นสีเทาอ่อนมีความเหนียวเกาะติดผนังอาคารด้วยแป้งเปียกเพื่อใช้ทดแทนสีจากต่างประเทศ (บุญเสริม สาตราภัย, 2546, 74)

แม้นการโจมตีพระนครทางอากาศเกิดขึ้นครั้งแรก (8 มกราคม 2485) ภายหลังสงครามระเบิดขึ้นเมื่อปลายปี 2484 แต่รัฐบาลไทยได้เคยเตรียมความพร้อมด้วยการซ้อมการถูกโจมตีทางอากาศให้กับประชาชนมาตั้งแต่ไทยรบกับฝรั่งเศสในอินโดจีนแล้ว

กล่าวได้ว่า การซ้อมป้องกันภัยทางอากาศมีส่วนทำให้ข้าราชการและประชาชนมีความรู้และมีประสบการณ์ในการพรางไฟ การพรางอาคาร การหลบภัยพอสมควรแก่การเอาตัวรอดเมื่อไทยถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ภาพการป้องกันไอพิษเบื้องต้น
จำรัส สุวคนธ์ และปิยะ ชวนเสถียร คนดังอาสมัครป้องกันภัยทางอากาศในช่วงสงครามอินโดจีน เครดิตภาพ : นริส จรัสจรรยาวงศ์
การพรางอาคารในพระนครและภาพตัวอย่างการพรางศาลากลางเชียงใหม่ช่วงสงคราม จากความทรงจำของบุญเสริม สาตราภัย
ภาพตัวอย่างการพรางสะพานนวรัตน์ เชียงใหม่ จากความทรงจำของบุญเสริม สาตราภัย