เปิด ‘ช็อตคัต’ สู่ ผบ.ตร.คนที่ 15 ‘บิ๊กสีกากี-ก.ตร.’ เสียงแตก ลุ้นมติ ‘บอร์ดตำรวจ’ ปลาย ม.ค.

เนื่องจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดภารกิจไปประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม

ทำให้วาระการแต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. นรต.รุ่นที่ 40 เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนที่ 24 วางแพลนไว้ว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม ต้องเลื่อนออกไปก่อน

ด้วยเหตุนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ แล้วสวมหมวกประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ควรจะนั่งหัวโต๊ะในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาวาระนี้

ถึงนายเศรษฐาบอกว่า ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจข้าราชการภายใน สมช.แล้ว ไม่มีกระแสต่อต้านจากลูกหม้อ รวมถึงข้าราชการประจำที่มีต่อ พล.ต.อ.รอย เพราะได้พูดคุยกันรู้เรื่องเรียบร้อยหมดแล้วก็ตาม

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจริงๆ แล้ว มีความน้อยใจของคนองค์กรนี้ ก่อตั้งมา 112 ปี ผ่านการมีเลขาธิการ สมช. 23 คน ส่วนใหญ่มาจากทหารและตำรวจ มีพลเรือนแค่ 5 คนที่ได้ขึ้นเป็นเบอร์ 1

 

เมื่อยังไม่แต่งตั้ง พล.ต.อ.รอยข้ามห้วยนั่งเลขาฯ สมช. ใช่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยังไม่ขยับอะไร เพราะรับรู้ทั้งกรมปทุมวันแล้วว่า “สัญญาณ” ส่งมาชัดเจนแล้วให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผช.ผบ.ตร. นรต.ที่ 39 อัพขึ้นรอง ผบ.ตร เพื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.เมษายนนี้ แล้วก้าวสู่บันไดขั้นสูงสุดผู้นำอาณาจักรโล่เงิน คนที่ 15 ในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเริ่มปฏิบัติการเพื่อสู่เป้าหมายจาก “สัญญาณ” ดังกล่าวแล้ว

ขณะนี้อยู่ระหว่าง “ร่างหลักเกณฑ์” ที่จะใช้แต่งตั้ง ระหว่างรอมติ ครม.การแต่งตั้ง “รองรอย” เมื่อไหร่รอง ผบ.ตร.ว่าง เท่ากับว่าได้ “เปิดหลุม”

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่า การแต่งตั้งตำรวจประจำปี 2567 ต้องเป็นไปตามกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ มาตรา 88 และกฎหมายลำดับรองคือ “กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ….” ที่จะต้องทำให้เสร็จในเดือนมกราคมนี้ แล้วมีผลบังคับใช้อีก 180 วันข้างหน้าเพื่อใช้การแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2567

เจตนารมณ์กฎหมายให้ประกาศล่วงหน้า 6 เดือนเพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายด้วยความเป็นธรรม และมีธรรมาภิบาล

แต่ “ผู้มีอำนาจ” พิจารณาแล้วถ้าปล่อยไปตามครรลองไม่ทัน จึงส่ง “ไซน์” ถึงบิ๊กกรมปทุมวัน กระบวนการ “หลังบ้าน” เริ่มเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

 

ล่าสุดมีรายงานว่า เหล่าบิ๊กตำรวจและ ก.ตร.เสียงแตก

ส่วนหนึ่งเห็นว่า ระหว่างที่ยังไม่มี “กฎ ก.ตร.” หากจะแต่งตั้ง ควรจะมี “หลักเกณฑ์” เป็นกฎหมายอันดับสาม ขึ้นมาใช้ จะเรียกอะไรสุดแล้วแต่ เป็นมติ ก.ตร.ออกมาเป็นแนวทางวิธีการแต่งตั้ง

อาจเป็น “ข้อกำหนด ก.ตร.” เดิม ที่ประกาศใช้เมื่อ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาซึ่งใช้แต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2566 ไปแล้วก็ได้ แล้วนำปรับปรุงใช้อีกที เสนอให้ที่ประชุม ก.ตร.มีมติเห็นชอบ

ขณะที่ ก.ตร.ได้รับการขนานนามว่าเป็น “กูรู HR” พล.ต.อ.เอกเห็นว่า “ข้อกำหนด ก.ตร.” เดิม ที่ประกาศใช้ได้หมดอายุไปแล้ว ต้องยกร่าง “ข้อกำหนด ก.ตร.” ขึ้นมาใหม่

แต่ไม่ว่าจะมีมติเป็นอย่างไร เสี่ยงถูกพิจารณาว่ามีธรรมาภิบาลหรือไม่ เนื่องจากทำเฉพาะกิจเพื่อคนบางคน อาจไม่เป็นธรรมตามกฎหมายมาตรา 60(3) ส่งผลให้ ก.พ.ค.ตร.อาจวินิจฉัยแก้ไขยกเลิกได้ และยังมีโทษความผิดอาญาด้วย

จึงเป็นความรับผิดชอบของ ก.ตร.เต็มๆ หนีไม่ออก

และ “กติกา” ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกร่างขึ้นมาใช้เฉพาะกิจครั้งนี้ ว่ากันว่าจะชู้ตเข้าที่ประชุม ก.ตร.ปลายเดือนมกราคมนี้ ไม่ต้องผ่านอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ หรือ “อ.ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ” ที่มี พล.ต.อ.เอกเป็นประธาน

เชื่อขนมกินได้ งานนี้ในที่สุดแนวโน้มมติเข้าอีหรอบ “โหวต ผบ.ตร.คนที่ 14” คือ เสียงส่วนใหญ่เป็นไปตาม “ผู้มีอำนาจ” โดยมี ก.ตร. 1 เสียงข้างน้อยเจ้าเก่าคนเดิม

 

ส่วนวาระแต่งตั้งกลางปีเดือนเมษายนตามปกติ พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ มาตรา 82 วรรคห้า เปิดช่องให้แต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งระดับผู้บังคับการขึ้นไปสำหรับผู้ที่จะครบเกษียณอายุราชการเป็นการเฉพาะนั้น จะมี “ข้อกำหนด ก.ตร.” แยกออกไปต่างหาก

สำหรับ พล.ต.ท.ประจวบ ได้เปิดใจเมื่อมีคนถามถึงกระแสข่าวว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น “ว่าที่แคนดิเดต ผบ.ตร.” ว่า “ผมเองไม่ต้องการจะเป็นอะไรครับ มาถึงตรงนี้ไกลมากแล้ว สำหรับตำรวจที่มาจากผู้ปฏิบัติ ทำงานอยู่ในพื้นที่มาตลอดชีวิต ไม่เคยเป็นนายเวร นายตำรวจติดตาม อยู่สำนักงานนายเลย ถึงตอนนี้ก็ถือว่ามีความสำเร็จในชีวิตแล้วครับ”

ดังนั้น ที่มาของ “คำตอบ” ทำไมต้องเป็น พล.ต.ท.ประจวบ น่าจะมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจของ “บิ๊กเนม” คนป่วย

จึงนำมาสู่การเปิดเส้นทางช็อตคัต ผบ.ตร.คนที่ 15

อย่างไรก็ตาม มีปรมาจารย์ทางกฎหมายคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ตราบใดนายกฯ เป็นประธาน ก.ตร. อย่าหวังว่าตำรวจจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพราะนายกฯ มาจากการเมือง ดังนั้น จึงน่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจให้ประธาน ก.ตร.มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) แล้วตำรวจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้