เพลงสุนทราภรณ์ที่มีชีวิต

วัชระ แวววุฒินันท์

วันที่ 21 มกราคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของศิลปินนักดนตรีและนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” หากยังมีชีวิตอยู่ครูเอื้อจะมีอายุครบ 114 ปีในวันนี้

ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ก่อตั้ง “วงดนตรีสุนทราภรณ์” ซึ่งก็มีอายุ 84 ปีกว่าๆ เป็น 84 ปีที่ได้ฝากผลงานเพลงอันไพเราะเป็นอมตะไว้มากมาย และทุกวันนี้หลายร้อยบทเพลงของสุนทราภรณ์ยังคงมีลมหายใจอยู่

ตอนช่วงปีใหม่ ช่อง workpoint ได้นำภาพจากละครเวทีเรื่อง “สุนทราภรณ์ เพลงรัก เพลงแผ่นดิน” มานำเสนอ หลังจากทำการแสดงบนเวทีไปแล้วสองครั้ง ผมได้มีโอกาสชมทั้งตอนแสดงสด และมาชมอีกครั้งตอนเป็นเทปบันทึกการแสดงนี้

จะว่าไปการชมผ่านจอก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสอันใด ยิ่งได้เห็นภาพชัดๆ ที่สวยงามจากการถ่ายทำและตัดต่อมาอย่างดี พร้อมการมิกซ์เสียงมาแล้ว ก็ทำให้เพลิดเพลินกับการชม จนเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ใครที่เป็นคอละครเวที หรือเป็นแฟนเพลงของวงสุนทราภรณ์ หรือคนที่สนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็ขอแนะนำให้ดู จะถูกใจแน่นอน โดยชมได้ทาง YouTube ของ คุณพระช่วย

 

สําหรับเพลงสุนทราภรณ์นั้น ผมได้ยินได้ฟังตั้งแต่ยังเด็ก เพราะที่บ้านเปิดแผ่นเสียงฟังบ่อยๆ หรือไม่ก็ได้ฟังจากวิทยุ แม้ด้วยความเป็นเด็กอาจจะไม่ได้ฟังอย่างลึกซึ้งอะไร แต่ก็จำได้ว่าเพราะดีและมีหลากหลายอารมณ์เพลง

ครั้นพอโตขึ้น เพลงสุนทราภรณ์ก็ยังคงมีให้ฟังอยู่เรื่อยๆ และด้วยความชอบเชิงศิลปะและอักษร ก็เลยพลอยลึกซึ้งกับผลงานเพลงสุนทราภรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากทำนองที่ไพเราะ ติดหู ฟังเพลินแล้ว คำร้องก็มีความหมาย มีสัมผัส มีอุปมาอุปไมยได้อย่างวิเศษ

ภายหลังวงการเพลงบ้านเรามีทางเลือกและแนวเพลงหลากหลายมากขึ้น แต่เพลงของสุนทราภรณ์ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและสังคมได้เช่นเดิม ที่แน่ๆ คือเพลงในเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เราจะมีความสุข สนุกสนาน เมื่อได้ฟังเพลงของสุนทราภรณ์ดังอยู่ทั่วไปในช่วงเวลาเทศกาลนั้นๆ

หรือสามารถพัฒนาจนเป็นเพลงประกอบหนังโฆษณาสมัยใหม่ หรือในละคร และภาพยนตร์หลายเรื่อง ก็ได้นำเพลงของสุนทราภรณ์มาเติมเต็มจินตนาการและเรื่องราวได้อย่างไม่เคอะเขิน นี่กระมังที่บอกถึงการเป็นอมตะได้อย่างดี

 

ย้อนกลับมาที่ละครเวทีที่ว่า หากใครอยากรู้จัก “ครูเอื้อ” และ “วงสุนทราภรณ์” ให้มากขึ้น ก็จะสามารถรับรู้ได้จากละครเวทีเรื่องนี้ที่ชื่อ “สุนทราภรณ์ เพลงรัก เพลงแผ่นดิน”

ครึ่งแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของครูเอื้อ ที่มีต่อภรรยาคือ คุณอาภรณ์ ที่เปรียบเหมือนยาใจกับยาจกในนิยาย เพราะอาชีพนักดนตรีเมื่อ 80 กว่าปีก่อนนั้น เป็นอาชีพที่สังคมมองว่าต่ำต้อย ไม่มั่นคง จนเรียกว่า “พวกเต้นกินรำกิน” พ่อแม่ของหญิงสาวจึงมักให้ลูกได้ครองคู่กับคนมีตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ มากกว่า

แต่ด้วยความรักที่มั่นคง และเป็นคนดี คนซื่อ จริงใจ ของครูเอื้อ จึงสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ มาได้ จนได้ลงเอยกับคุณอาภรณ์ตามที่หวัง เรื่องราวเหล่านี้จะบอกผ่านบทเพลงดังๆ ที่ไพเราะของสุนทราภรณ์หลายต่อหลายเพลง เช่น รักฉันสักครึ่งหัวใจ, รักเอาบุญ, ศรรัก, หนึ่งน้องนางเดียว, ยอดดวงใจ, ศึกในอก เป็นต้น

ในบทเพลงเหล่านั้นหากฟังกันดีๆ เราจะพบความงามของถ้อยคำที่ผู้แต่งได้ประพันธ์ไว้ เช่น ประโยคในเพลง “หนึ่งน้องนางเดียว” ที่ว่า “รักชื่นชวนยั่วยวนพะวง” สามารถเล่นคำที่ให้อารมณ์ความรักได้หลากหลายในประโยคๆ เดียว “ชื่นชวน” คือ ออกแนวสุขสม ส่วน “ยั่วยวน” นั้นมีความใคร่ผสม ส่วน “พะวง” ออกแนวเศร้า สับสน ซึ่งชายหนุ่มที่มีความรักมักจะมีอารมณ์ปนเปอยู่อย่างนี้จริงๆ

หรือท่อนหนึ่งจากเพลง “รักเอาบุญ” ที่ว่า “…เพียงน้องเมินแลเลย ผิดเคยฤทัยร้าวรอน อกเหมือนไฟฟอน ร้อนรุมสุมไหม้เจียนตาย…” ก็ให้อารมณ์ว้าวุ่นในใจเพราะความรักได้อย่างไพเราะ

 

จากบทเพลงรัก บทเพลงของสุนทราภรณ์ก็ขยายวงกว้างขึ้นไปถึงการรับใช้สังคมและบ้านเมือง ในช่วงครึ่งหลังที่เป็น “เพลงแผ่นดิน” ซึ่งเราจะได้เห็นเหตุการณ์ของบ้านเมืองในช่วงที่อยู่ในสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นบุกไทย ผู้คนต้องทนทุกข์จากผลพวงของสงคราม ชีวิตต้องอยู่กับความหวาดกลัวจากการทิ้งระเบิดเกือบทุกวัน รวมทั้งการลุกขึ้นสร้างชาตินิยมจากผู้นำด้วยการมีเพลงปลุกใจ ที่แน่นอนส่วนหนึ่งก็มาจากฝีมือการแต่งของครูเอื้อ และ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล นักแต่งเพลงคู่บุญของครูเอื้อ

เมื่อสงครามสงบ เพลงของสุนทราภรณ์ก็รับใช้ความบันเทิงรื่นเริงด้วยบทเพลงหลาก หลายแนว รวมทั้งสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยในช่วงนั้นด้วย ครึ่งหลังนี้เราจะได้ฟังเพลงแบบเต็มอิ่มและหลากรสทีเดียว เช่น ไทยรวมกำลัง, บ้านเกิดเมืองนอน, เจ้าทุยอยู่ไหน, เริงลีลาศ, เพลินเพลงแมมโบ้, นกเขาไพร หรือเพลงเทศกาลอย่าง รำวงลอยกระทง ที่เล่าถึงเกร็ดเบื้องหลังของเพลงนี้ว่า

ครูเอื้อ และ ครูแก้ว ช่วยกันแต่งแบบสดๆ หลังเวทีในงานหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ ด้วยเจ้าภาพต้องการเพลงที่เกี่ยวกับเทศกาลลอยกระทง ทั้งสองใช้เวลาเพียง 15 นาทีในการสร้างสรรค์ และบทเพลงนี้ก็ยังกระหึ่มในเทศกาลลอยกระทงทุกๆ ปี จนถึงบัดนี้

 

ในละครได้ใช้เพลง “พรหมลิขิต” เพื่อเล่าถึงการได้มาพบกันของสิ่งที่นำมาสู่ความสำเร็จของวงสุนทราภรณ์ ซึ่งได้แก่ ครูเพลงที่มีฝีมือมากมาย นอกจาก ครูแก้ว แล้ว ยังมี ครูธนิต, ครูสมศักดิ์, ครูชะอุ่ม, ครูศรีสวัสดิ์, ครูเวส, ครูสุรัฐ เป็นต้น

รวมทั้งนักร้องผู้ถ่ายทอดเพลงเหล่านี้ เช่น เพ็ญศรี, รวงทอง, มัณฑนา,ชวลี, วรนุช, บุษยา, มาริษา, ศรีสุดา, รุ่งฤดี, ศรวณี, เลิศ, วินัย, นพดล, ยรรยงค์ เป็นต้น

แม้เวลาจะผ่านเลยไปจนครูเอื้อเข้าสู่ช่วงปลายๆ ของชีวิตการทำงาน แต่ครูก็ยังมีไฟที่ลุกโชนและจินตนาการที่บรรเจิดในการแต่งเพลงอยู่ ในละครครูเอื้อได้บอกกับคุณอาภรณ์ศรีภรรยาที่เอ่ยปากถึงการทำงานหนักของครูเอื้อด้วยความเป็นห่วง โดยบอกว่าที่ตนยังเขียนเพลงอยู่นั้นก็เพราะว่า

“…ดนตรีมันมีพลังนะ ปากกาก็มีพลัง มันทำให้คนรักกันก็ได้ เกลียดกันก็ได้ ทำได้ทุกอย่างเลย ถ้าดนตรีกับปากกามาเจอกัน จะเกิดอะไรขึ้น มันสามารถสร้างความรู้สึกให้กับคนฟังได้อย่างฉกาจฉกรรจ์เลยทีเดียว”

ด้วยความรู้สึกที่ว่า ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ครูเอื้อสามารถมอบให้กับผู้คนและสังคมได้ เป็นสิ่งวิเศษที่ครูเอื้อมอบให้กับแผ่นดินไทยเพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความสงบสุขได้ ดังช่วงท้ายที่ครูเอื้อได้บอกกับ “ครูดำ” หลานชายที่ได้รับหน้าที่ดูแลวงสุนทราภรณ์ต่อ ว่า

“…ตาอยากให้เพลงสุนทราภรณ์ ยังร้อง ยังเล่น ยังบรรเลงอยู่ตลอดไป ฝากไว้ให้กับผืนแผ่นดินนี้ที่ตารัก จากหัวใจของตา และวงสุนทราภรณ์”

ธัช-กิตติธัช แก้วอุทัย ผู้รับบทครูเอื้อ เขาทั้งร้อง แสดง และสีไวโอลีน เพื่อสะท้อนตัวตนที่มีชีวิตของครูเอื้อให้ดีที่สุด ซึ่งก็นับว่าทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะในประโยคสำคัญที่ว่านี้ เขาพูดอย่างช้าๆ แต่แน่วแน่ พร้อมมีน้ำตาไหลออกมา ซึ่งพอเป็นภาพใกล้จากการถ่ายทำยิ่งทำให้เราได้เห็นอารมณ์และความรู้สึกของนักแสดงมากยิ่งขึ้น

ละครเวทีเรื่องนี้สร้างสรรค์โดยทีมงานของเวิร์คพอยท์ นำมาจากบทละครดั้งเดิมของ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ หรือชื่อที่ใช้ในการประพันธ์ว่า แก้วเกล้า และ ว.วินิจฉัยกุล เขียนเป็นบทละครใหม่โดย ชยานันต์ เทพวนินกร กำกับดนตรีและเรียบเรียงโดย จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน กำกับการแสดงโดย สันติ ต่อวิวรรธน์

ขอชื่นชมกับผู้เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ทุกคน ซึ่งความสำเร็จและงดงามส่วนหนึ่งนั้นมาจากต้นทางคือ “มูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” แน่นอน

มีคำพูดอีกท่อนหนึ่งในละครตอนท้าย เป็นประโยคสำคัญที่ครูเอื้อได้ทิ้งไว้ว่า

“นักดนตรีต้องเล่น นักร้องต้องร้อง บทเพลงต้องถูกขับขาน มันคือศักดิ์ศรีของคีตการ เพื่อให้เพลงมีชีวิตสืบไป”

ตอนนี้มีกิจกรรมหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นการสืบชีวิตของเพลงสุนทราภรณ์ได้ส่วนหนึ่ง นั่นคือ การแสดงคอนเสิร์ตที่ชื่อ “The Show Suntaraporn Songs of Memory” จัดโดย เจ เอส แอล ที่เคยสร้างสรรค์ละครเวทีชุด “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” มาแล้วถึง 7 เรื่อง ครั้งนี้มาในรูปแบบคอนเสิร์ตด้วยเพลงเพราะๆ ของสุนทราภรณ์เต็มอิ่ม โดยนักร้องนักแสดงชื่อดัง เช่น นันทิดา, ซี ศิวัฒน์, คริส พีรวัส, ไมค์ ภัทรเดช, ปอ อรรณพ, แอ็ค โชคชัย, สปาย ภาสกรณ์ ,แก้ม กุลกรณ์พัชร์, ชมพู สุทธิพงษ์ เป็นต้น

แสดงวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์นี้ วันละ 2 รอบ คือ 14.00 และ 18.30 น. ที่โรงละครเอ็ม เธียเตอร์ ซื้อบัตรได้ทางไทยทิกเก็ตเมเจอร์

ในตอนท้ายของละคร อาร์ม กรกันต์ ที่เป็นคนเล่าเรื่อง ได้บอกว่า หากจะให้ความหมายของชื่อ “สุนทราภรณ์” แล้ว ก็คงจะเป็น

“ความไพเราะที่เป็นดั่งอาภรณ์แห่งแผ่นดิน”

ซึ่งถือว่าไม่ได้เกินจริงเลย •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์