โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญเสมารูปเหมือน รุ่นแรก “หลวงปู่สาธุ์” พระเกจิพยัคฆภูมิพิสัย

Exif_JPEG_PICTURE

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญเสมารูปเหมือน รุ่นแรก “หลวงปู่สาธุ์” พระเกจิพยัคฆภูมิพิสัย

“หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม” วัดบ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม พระเกจิเรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน สืบทอดสายธรรมจากพระครูสีหราช วัดบ้านแก่นท้าว บูรพาจารย์รุ่นเก่า

หลวงปู่สาธุ์ จัดสร้างวัตถุมงคลเพียง 3 รุ่นเท่านั้น แต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะเหรียญเสมารูปเหมือนรุ่นแรก สร้างเมื่อปี 2509 ได้รับความนิยมสูงมานานกว่า 40 ปี จัดสร้างรวม 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก สำหรับพิมพ์ใหญ่มี 2 เนื้อ คือ ทองแดงผิวไฟและเนื้อตะกั่ว ส่วนพิมพ์เล็กมีเฉพาะเนื้อทองแดง

ด้านหน้าเหรียญทั้ง 2 พิมพ์เป็นรูปเหมือนหลวงปู่สาธุ์ครึ่งองค์ มีตัวอักษรที่ใต้ขอบด้านบนว่า “รุ่น ๑” และตัวอักษรโค้งไปตามขอบเหรียญจากขวาไปซ้าย ความว่า “หลวงพ่อสาธุ์ สุขธมฺโม วัดบ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม” ส่วนด้านหลังของเหรียญจะเป็นยันต์ 5 และมีตัวเลขบอกวันเดือนปีที่สร้าง คือ “๑ มกราคม ๒๕๐๙” ด้านหลังแทบทุกเหรียญจะปรากฏรอยจารอักขระ นะ มะ พะ ทะ นะ มะ อะ อุ แต่บางเหรียญก็ไม่มีจาร

จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ ทราบว่า หลวงปู่สาธุ์ท่านปลุกเสกเดี่ยวภายในกุฏิของท่าน เป็นเวลา 1 พรรษา และมั่นใจได้ว่าทุกเหรียญผ่านการอธิษฐานจิตจากหลวงปู่สาธุ์โดยตรง ในส่วนของจำนวนการสร้างไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ประเมินว่าน่าจะไม่เกิน 5,000 เหรียญ ค่านิยมในการเล่นหาวงการพระเครื่องตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จะอยู่ที่เหรียญเสมาพิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดงผิวไฟ “บล็อก จ.จาน” จะได้รับความนิยมสูงสุด

ส่วนบล็อกธรรมดา หากเหรียญสภาพสวย มีจารอักขระ ค่านิยมก็ใกล้เคียงกับบล็อกนิยม ส่วนเหรียญที่ไม่มีรอยจารอักขระ จะได้รับความนิยมลดหลั่นลงมา

เหรียญนี้จึงจัดอยู่ในทำเนียบเหรียญยอดนิยมตลอดกาล และติดรายการประกวดพระภาคอีสานมาทุกยุคทุกสมัย

มีนามเดิมว่า สาธุ์ สรรพสอน เกิดในปี พ.ศ.2421 ที่บ้านข่อย อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเด็ก พ.ศ.2430 บ้านข่อยเกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี บิดา-มารดา ตัดสินใจอพยพมาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่บ้านเหล่า

ด้วยความที่เป็นผู้มีจิตใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรม เมื่ออายุได้ 12 ปี จึงขอให้พาไปบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน

จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบ้านแก่นท้าว โดยมีพระครูสีหราช วัดบ้านแก่นท้าว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการน้อย วัดบ้านเหล่า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่จันทา วัดบ้านเม็กดำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัด ต่อมาได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ สำนักเรียนวัดบ้านแก่นท้าว และเริ่มให้ความสนใจด้านวิทยาคม

ในยุคนั้นชื่อเสียงของพระครูสีหราช โด่งดังทั่วภาคอีสานกลางและอีสานใต้ ในฐานะบูรพาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมสายเขมร จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนไสยเวท ควบคู่กับการศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักษรขอม ไทยน้อย อักษรลาว ทำให้มีความรู้ทางด้านอักขระโบราณเพิ่มขึ้นอีกแขนง

วัตรปฏิบัติช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี จะออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน รวมทั้งกัมพูชาและลาว แสวงหาความหลุดพ้น

จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติจำเริญรอยตามพระครูสีหราช เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังทำให้มีพระภิกษุสงฆ์มาขอฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนวิทยาคมจำนวนหลายรูป ภายหลังมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก เช่น หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม (ดงส้มป่อย) อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม หลวงปู่ทองสุก สัมปันโน วัดโพธิ์ชัยนิมิต อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นต้น

วัตถุมงคลเด่นรอบด้าน ได้รับการยกย่องวิทยาคมเข้มขลัง แต่ไม่เคยโอ้อวด กลับพร่ำสอนให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปให้นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกครั้ง แล้วชีวิตจะพานพบแต่ความสงบสุข

นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาค จะนำมาพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัด ไม่ว่าจะเป็นศาลาการเปรียญ กุฏิ พระอุโบสถ เป็นต้น ทำให้วัดบ้านเหล่าเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว บรรยากาศในบริเวณวัด มีแต่ความสงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมยิ่งนักแล

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต อาพาธบ่อยครั้ง เนื่องจากชราภาพ

สุดท้ายมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2512 สิริอายุ 93 ปี พรรษา 72

แม้จะละสังขารนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่แรงศรัทธายังคงไม่เสื่อมคลายตราบจนปัจจุบัน เห็นได้จากทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันมรณภาพ ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศจะเดินทางมาร่วมทำบุญที่วัด