การศึกษา / เหลียวหลัง…แลหน้า วงการศึกษาไทย “ปีจอ”

การศึกษา

เหลียวหลัง…แลหน้า วงการศึกษาไทย “ปีจอ”

ปีไก่ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ร้อนแรงสำหรับแวดวงการศึกษาไทยอย่างมาก จากสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งมีทั้งปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สถานศึกษา หรือแม้แต่สถาบันอุดมศึกษา ทั้งในส่วนกลางและทั่วประเทศ จนทำให้การศึกษาสะดุด

ขณะเดียวกันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง ซึ่งพอจะทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในปีจอนี้บ้าง

เริ่มจาก “ศึกสายเลือด” ภายใน ศธ. ระหว่าง “ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)” และ “ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)” เกี่ยวกับโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ที่ให้อำนาจ ศธจ. ในการแต่งตั้งโยกย้ายครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

จนทำให้ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขคำสั่ง คสช.

ล่าสุด คสช. แก้ไขคำสั่งดังกล่าว และให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา และคณะกรรมการบริหารงานบุคคล มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มี ศธจ. เป็นผู้แทน ศธ. ส่วนคณะกรรมการบริหารงานบุคคลจะมีผู้อำนวยการ สพท. ทุกจังหวัดและทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสัดส่วนเท่ากับผู้อำนวยการ สพท. และผู้แทนจากส่วนต่างๆ

แต่ดูเหมือนเรื่องจะยังไม่จบง่ายๆ

ปัญหา “น.ส.วนาลี ทุนมาก” หรือครูแอน และ “น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี” หรือครูวัลย์ ชวดบรรจุครูผู้ช่วยในโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก หลังสอนได้ 5 เดือน เพราะ กศจ.ตาก ไม่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากกระบวนการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนนั้น

เป็นอีกเรื่องที่สะเทือนวงการแม่พิมพ์ไทย จนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง “นายมรกต กลัดสอาด” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) ในขณะนั้น

ซึ่งปัญหาการลัดขั้นตอนต่างๆ ในการบรรจุครูผู้ช่วยไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก แต่ที่กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ เพราะกระบวนการบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จของ สพท. เหมือนในอดีต เรื่องเลยจบไม่สวยเหมือนที่ผ่านมา จนครูแอนและครูวัลย์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก

ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบลงแบบไหน

อีกคู่ความขัดแย้งที่กว่าจะเจรจากันรู้เรื่อง และตกลงกันได้ ก็ทำเอาผู้เกี่ยวข้องหืดจับกันเลยทีเดียว ระหว่าง “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)” และ “ธนาคารออมสิน” เกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนการหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เพื่อชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป

เพราะแม้จะเจรจากันหลายรอบ แต่ดูเหมือนทั้ง 2 ฝ่ายจะตีความบันทึกข้อตกลงไปกันคนละทาง

คณะกรรมการ สกสค. จึงตัดสินใจยุบคณะกรรมการกองทุนฯ และข้อบังคับต่างๆ

ส่งผลให้ต้องจัดทำข้อบังคับ และยกร่างสัญญาข้อตกลงความร่วมมือที่ทำไว้กับธนาคารใหม่ ล่าสุดได้ข้อยุติว่าธนาคารจะยกเลิกเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับ สกสค. 0.5-1% และเปลี่ยนมาคืนให้กับครูที่มีวินัยในการชำระเงินแทน

ถือว่าเรื่องนี้จบค่อนข้างสวย

ปัญหาโลกแตกอย่าง “แป๊ะเจี๊ยะ” ซึ่งคู่กรณีคงหนีไม่พ้น “ผู้ปกครอง” กับ “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ก็ยังคงสร้างความหนักใจให้กับหลายๆ ฝ่าย

แม้จะหาวิธีสกัด แต่เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนดีๆ การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับที่นั่งเรียนจึงเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับคลิปกล่าวหา “นายวิโรฒ สำรวล” อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย รับแป๊ะเจี๊ยะ 4 แสนบาท ซึ่งนายวิโรฒยอมรับว่าเป็นคนในคลิปจริง แต่เป็นการพูดคุยกันปกติ และการระดมทรัพยากรก็เป็นเรื่องปกติของทุกโรงเรียน

แต่กระแสกดดันของสังคมที่ค่อนข้างแรง ทำให้ต้นสังกัดอย่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.กทม.1) ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

พร้อมย้ายนายวิโรฒพ้นจากโรงเรียน ก่อนจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหลังพบมีมูล

แต่จนถึงบัดนี้เรื่องยังเงียบ

นับเป็นอีกศึกที่ร้อนแรงไม่แพ้ศึกอื่นๆ ในปีระกา กรณี “ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.)” เคลื่อนไหวต้าน “อธิการบดี” จาก “คนนอก”

หลังสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งลงมติให้ผู้เกษียณอายุ หรือคนนอกเป็นอธิการบดีได้

โดยมองว่าเป็นการเอาพรรคพวกตัวเองมานั่งบริหารงาน จนเกิดการล่ารายชื่อคัดค้าน และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลจะไม่หวั่นไหว เดินหน้าใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา

เพื่อให้มหาวิทยาลัยรัฐแต่งตั้งอธิการบดีจากคนนอกได้

ส่วนเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลง และน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีสำหรับแวดวงการศึกษาไทย

เริ่มจาก “การปฏิรูปการศึกษา” ทั้งระบบ ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี “นพ.จรัส สุวรรณเวลา” เป็นประธาน กำลังเดินหน้าวางแนวทางการพัฒนาทุกๆ ด้านของเด็กปฐมวัย การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา การผลิตและพัฒนาครู การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานใน ศธ. รวมทั้งการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เป็นต้น เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาไทยขับเคลื่อนไปได้

การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จาก “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” เป็น “นพ.อุดม คชินทร” ได้รับการตอบรับจากชาวอุดมศึกษาค่อนข้างดี โดยเฉพาะถูกคาดหวังว่าจะมาเป็นผู้ผลักดันให้เกิด “กระทรวงการอุดมศึกษา” แก้ไขปัญหา “ธรรมาภิบาล” ในมหาวิทยาลัย รวมถึง “การปฏิรูปอุดมศึกษา” ทั้งระบบ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับความต้องการของประเทศ และการแข่งขันในระดับนานาชาติ

“ทีแคส” หรือ “ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง” หรือ “Thai university Central Admission System (TCAS)” ระบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2561 แทนระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลาง ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติยกเลิกหลังใช้มานาน 12 ปี ซึ่งแบ่งการรับออกเป็น 5 รอบ

โดยมุ่งหวังว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ กันสิทธิผู้อื่น ลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจน และดึงนักเรียนให้อยู่ในห้องเรียนจนจบ

อีกความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การยกคุณภาพมาตรฐานการอุดมศึกษาไทยให้อยู่ในระดับนานาชาติ หลังรัฐบาลใช้มาตรา 44 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เปิดช่องให้มหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก เข้ามาจัดตั้งมหาวิทยาลัยในไทยได้

โดย “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นสถาบันแรกที่จะเข้ามาจัดตั้งในไทย ประเดิมด้วย 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาโทและเอก และหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ในระดับปริญญาโท

จะเริ่มเปิดสอนเดือนสิงหาคม ปีการศึกษา 2561 และขณะนี้ “มหาวิทยาลัยเนชั่นแนลไต้หวัน” อยู่ระหว่างขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยในไทยเช่นกัน

ต้องติดตามดูว่า ปัญหาต่างๆ ใน ศธ. จะคลี่คลายหรือไม่ และทิศทางการปฏิรูปการศึกษาในปีจอ