ธุรกิจพอดีคำ : “ยอดดอย”

วันก่อนได้มีโอกาสนั่งทานข้าวกับเพื่อนเก่าครับ

รู้จักกันมาเกือบยี่สิบปี ตอนนี้อายุก็สามสิบกว่ากันหมดแล้ว

บทสนทนาที่คุยกันก็เรื่องเดิมๆ

“ทำงานเป็นยังไงมั่ง”

“มีลูกหรือยัง จะให้เรียนที่ไหน”

เอายังไงดีกับชีวิตที่เริ่มจะเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน

เพื่อนหลายคนกำลังคิดว่า จะลาออกจากงานประจำดีไหม

อยากจะทำอะไรของตัวเอง อยากจะไล่ตามความฝัน

แต่อายุก็ไม่น้อยแล้ว

ความสดใหม่ แรงกำลัง จะสู้เด็กๆ หนุ่มๆ ไหวหรือ

หญิงชราท่านหนึ่ง อายุ 87 ปี ช่วงบั้นปลายของชีวิต

ได้มีโอกาสเดินทางมาที่ “หุบเขา” แห่งหนึ่ง

เป็น “ภูเขาหัวโล้น” แห้งแล้ง

ไม่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม

เธอได้พบปะ พูดคุยกับชาวเขาที่นั่น

พบว่า ชาวเชากำลังประสบเคราะห์กรรมลำบาก

สุขภาพย่ำแย่ ไม่มีการศึกษา

การเกษตรที่ทำอยู่ก็ผิดกฎหมาย ไม่มีความยั่งยืน

แถมต้องพี่งพากองกำลังทหาร ที่ข่มขู่ คุกคามชีวิตของตน

บางครอบครัวต้องขายลูกสาวให้ไปค้าบริการทางเพศกับชายหนุ่มในประเทศข้างเคียง

ติดโรคร้าย โรคเอดส์ มาแพร่เชื้อให้กับคนในหุบเขา

ผู้คนล้มตายปีหนึ่งเป็นร้อย

หญิงชราคิดว่า “ฉันต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยคนเหล่านี้”

เธอจึงสอบถามชาวบ้าน หาข้อมูลจากคนข้างเคียง

พบว่า “ชาวบ้านไม่ได้อยากจะเป็นคนไม่ดี แต่พวกเขาขาดโอกาส”

เธอครุ่นคิด แล้วค้นพบวิธีการแก้ปัญหา

“ฉันจะปลูกป่าที่นี่” หญิงชราบอกกับทีมงาน

ป่าจะเป็นต้นน้ำ และสร้าง “อาชีพ” ให้กับคนในหุบเขาแห่งนี้

แต่วิสัยทัศน์ที่กว้างใหญ่ ย่อมต้องการ “กำลังสนับสนุน”

เธอใช้สติปัญญา “ระดมทุน” ผ่านการรับบริจาค

ได้รับเงินมาหนึ่งก้อน เพื่อนำมาปลูกป่า

และชักชวนบริษัทเอกชนอีก 6 บริษัท มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน

เธอเริ่มจ้างชาวบ้านมาช่วยกัน “ปลูกป่า”

ให้ค่าแรงเป็นรายวัน ชาวบ้านได้เงินทันที

สนับสนุนให้ชาวบ้านเลิกทำเกษตรผิดกฎหมาย

สร้างความ “เชื่อใจ” ให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก

ยึดหลัก เอา “ชาวบ้าน” เป็นจุดศูนย์กลาง

ขั้นตอนที่หนึ่ง ชาวบ้านจะต้อง “อยู่รอด” ก่อน

ให้พวกเขาได้มีเงินกินอิ่ม

ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มจากที่เป็นอยู่

ให้มีบริการสาธารณสุข หยุดโรคระบาด

เมื่อ “อยู่รอด” แล้ว ก็ต้อง “ทำมาหากิน” ตามมา

หญิงชราทดลองนำพืชหลายๆ ชนิดเข้ามาปลูกในบริเวณนี้

หวังจะสร้างเป็น “อาชีพ” ให้กับชาวบ้าน

ทดลองปลูกพืชเป็นร้อยๆ อย่าง

ก็มาจบที่สองอย่าง นั่นคือ “ถั่วแม็กคาเดเมีย” และ “เมล็ดกาแฟ”

พืชทั้งสองประเภทสามารถปลูกได้ในเขตภูมิอากาศที่ “หุบเขา” แห่งนี้

ปลูกทีเดียว เก็บเกี่ยวได้หลายสิบปี

แต่ว่าต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้ “แรงงานคน” ปริมาณมาก

หญิงชราเห็นเป็นโอกาสในการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้กับชาวบ้าน

สร้างรายได้ให้กับ “ชาวบ้าน” ให้เลี้ยงตัวเองได้

ค่อยๆ ปลดหนี้ จาก “เงินกู้ยืม” ที่ตนมี

ขั้นตอนสุดท้าย สอนให้ชาวบ้าน “รัก” ผืนดินของตัวเอง

โดยการยกที่ดินบริเวณที่พวกเขาเคยถูก “จ้าง” ให้ดูแล

ให้เป็น “เจ้าของ” มีส่วนได้เสียอย่างเต็มตัว

คิดค่าเช่าต้นไม้ต่อต้น ต้นละ 1 บาทต่อปีเท่านั้น

ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย

ยืนบน “ลำแข้ง” ของตัวเองได้อย่างอาจอง

ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านผลิตได้ ส่งขายให้กับ “องค์กร” ของเธอ

เอาไปเข้ากระบวนการทาง “การตลาด” สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างมากมาย

20 ปีผ่านไป มาจนถึงปัจจุบัน

จากภูเขาหัวโล้น กลายมาเป็น “ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ” ไปทั่วทั้งหุบเขา

ชาวบ้านที่ลำบาก อัตคัด ก็สามารถลืมตาอ้าปาก

มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า

มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้นเกือบ 30 เท่า

องค์กรของหญิงชรา ก็มีรายได้จากการขายสินค้า ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

มีผลกำไรเกือบ 200 ล้านบาท

เป็นต้นแบบของ “ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ที่ยั่งยืน ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ

พืชเกษตรที่ผิดกฎหมายของชาวบ้าน เมื่อก่อนคือ “ฝิ่น”

หุบเขาที่เคยแห้งแล้งเป็นภูเขาหัวโล้น คือ “ดอยตุง”

หญิงชราผู้มุมานะ คือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”

“สมเด็จย่า” หรือ “แม่ฟ้าหลวง” ของปวงชนชาวไทย

ริเริ่มโครงการ “ดอยตุง” เมื่อมีพระชนมายุ 87 พรรษา

อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

แม้จะมิใช่ “วัยแห่งความฝัน”

แต่หากคุณยังมี “ฝัน”

มีความคิดจะสร้าง “ประโยชน์” ให้เกิดขึ้นกับ “ผู้อื่น”

ก็จงลงมือทำเถิด

“เขาหัวโล้น” ที่แห้งแล้ง ก็อาจจะถูกเปลี่ยนเป็น “ยอดดอยแห่งแรงบันดาลใจ”

ให้ “คนรุ่นต่อไป” ได้ชื่นชม