เกษียร เตชะพีระ : แนวคิดอินทรียภาพและพ่อปกครองลูกของไทย

เกษียร เตชะพีระ

แนวคิดอินทรียภาพ (Organicism) หรือนัยหนึ่งแนวคิดที่มองรัฐและสังคมประหนึ่งร่างกายที่ประกอบไปด้วยองคาพยพของคนเรา อันเป็นหนึ่งในเจ็ดองค์ประกอบสำคัญของอุดมการณ์อนุรักษนิยม ดังแผนภูมิสรุปของคุณ Kamchana Suttikul ข้างต้นนั้น ใช่ว่าจะเป็นของฝรั่งที่ไทยลอกเลียนมาภายหลังก็หาไม่

ปรากฏหลักฐานว่าแนวคิดอินทรียภาพได้แสดงออกในหมู่ผู้นำไทยมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน โดยสอดรับคล้องจองไปกับสังคมแบบราชูปถัมภ์ (ศัพท์บัญญัติของอาจารย์เสน่ห์ จามริก) และรัฐราชสมบัติ (ศัพท์บัญญัติของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์) แต่เดิม รวมทั้งคติราชาชาตินิยม (ศัพท์บัญญัติของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล) ในชั้นหลัง

ดังตอนหนึ่งของบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่หนึ่งแห่งราชวงศ์จักรี (ครองราชย์ พ.ศ.2325-2352) ในสมุดไทยเล่มที่ 31 ความว่า (vajirayana.org/บทละครเรื่องรามเกียรติ์/สมุดไทยเล่มที่-31)

“อันพระนครทั้งหลาย           ก็เหมือนกับกายสังขาร
กษัตริย์คือจิตวิญญาณ          เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์
มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์     บาทาคือพลทั้งสี่
อาการพร้อมสามสิบสองมี      ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย
ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์     คือศาสตราวุธทั้งหลาย
ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย        แม้นจิตจากกายก็บรรลัย”

คติอินทรียภาพ (Organicism) ที่อุปมาอุปไมยทำความเข้าใจรัฐ/สังคมประหนึ่งร่างกายและองคาพยพของมนุษย์ อันมีนัยสืบเนื่องถึงการแบ่งงานกันทำโดยธรรมชาติ, อำนาจหน้าที่อันเหลื่อมล้ำแตกต่างกันโดยธรรมชาติ และความสำคัญของหมู่คณะส่วนรวมหรือร่างกายโดยองค์รวมเหนือปัจเจกบุคคลแต่ละคน (Individualism) หรืออวัยวะส่วนต่างๆ แต่ละส่วนโดยธรรมชาตินั้น มาแสดงออกโดยพิสดารอีกครั้งในพระบรมราโชวาทเรื่อง “ปลุกใจเสือป่า” (พ.ศ.2454) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า (คงตัวสะกดแบบเดิมในสมัยนั้น) :

“เหตุที่จะทำให้ความสามัคคีแตกร้าว มักเปนด้วยบุคคลคิดถึงประโยชน์ของตนยิ่งกว่าประโยชน์แห่งพวกพ้องนั้นแลเปนที่ตั้ง สิ่งไรที่จะเปนประโยชน์แก่ตนก็เลือกกระทำไปแต่สิ่งนั้น ไม่ไตร่ตรองดูให้รอบคอบก่อนว่า ถ้าประพฤติเช่นนี้ฤๅเช่นนั้น จะเปนที่เสื่อมเสียประโยชน์แห่งคณอย่างไรบ้าง มัวนึกแต่ถึงตน เพ่งอยู่แต่ที่การงานและตำแหน่งน่าที่ของตน ก็ชักให้เห็นไปว่าตนมีน่าที่อันหนักเกินกำลังของตน หานึกต่อไปไม่ว่า ตนเปนแต่เพียงกะผีก ๑ ของคณ งานการที่ตนเปนน่าที่ต้องทำก็เปนแต่ส่วน ๑ แห่งงานการซึ่งมีอยู่สำหรับคณ ถ้างานการแพนกใดงดไปเสียแม้แต่แพนกเดียว ก็อาจจะชักให้การงานแพนกอื่นๆ พลอยเสียไปด้วย

“ถ้าจะเปรียบด้วยร่างกายของคน คณก็คือร่างกาย บุคคลในคณเปนอวัยวะส่วน ๑ๆ ของร่างกาย ถ้าอวัยวะส่วนใดส่วน ๑ จะงดไม่กระทำการตามน่าที่ อวัยวะส่วนอื่นๆ อาจที่จะพลอยชำรุดทรุดโทรมไปด้วยทั่วกัน และอวัยวะส่วนที่งดเสียไม่ทำงานนั้น ใช่ว่าจะได้รับผลดีอันใดก็หามิได้เลย คงต้องพลอยทรุดโทรมไปพร้อมกับอวัยวะส่วนอื่นๆ เหมือนกัน ต่างว่ามือจะเห็นว่าต้องทำการงานอยู่มากหลายอย่างแล้ว จะงดไม่หยิบอาหารป้อนปากเสียอย่าง ๑ ดังนี้ จะเปนอย่างไรบ้าง

เมื่ออาหารไม่ตกลงไปถึงกระเพาะ ถึงกระเพาะจะได้เตรียมย่อยอาหารอยู่แล้ว ก็ไม่มีอาหารจะย่อย เมื่อกระเพาะไม่ได้ย่อยอาหารส่งไปเปนเครื่องบำรุงโลหิต ฝ่ายโลหิตก็จะอ่อน ไม่สามารถจะทำน่าที่เลี้ยงเนื้อหนังและเส้นเอนตามอวัยวะต่างๆ ได้ เนื้อหนังเส้นเอนก็มีแต่จะอ่อนลงเพลียลงทุกที มีแต่จะเหี่ยวไปแห้งไปทรุดไปโทรมไป ทั่วทั้งกาย ทั้งมือที่หยุดไม่หยิบอาหารป้อนนั้นเองก็จะต้องทรุดไปโทรมไปพร้อมกับอวัยวะอื่นๆ ดังนี้อุประมาฉันใด ในส่วนคณก็อุประมัยฉันนั้น

“เพราะฉนั้น ควรเห็นได้แล้วว่าผู้ที่คิดถึงตนฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงคณ ชื่อว่าเปนผู้มีความคิดสั้น ไม่แลดูประโยชน์แห่งตนเองให้ไกลพอ ก็เหมือนหนึ่งว่าทำลายตนเอง ผู้ใดละทิ้งน่าที่อันควรกระทำเพื่อประโยชน์แห่งคณ ชื่อว่าเปนผู้ประทุษฐร้ายต่อคณ เปนผู้เปิดช่องให้ความแตกความฉิบหายมาสู่คณ และเมื่อคณใดถึงแก่ความพินาศฉิบหายไปแล้ว บุคคลทุกคนที่เปนส่วนแห่งคณก็จะต้องถึงแก่ความพินาศฉิบหายด้วย เพราะฉนั้น การรักษาความมั่นคงของคณจึ่งควรนับว่าเปนอัน ๑ อันเดียวกับการรักษาความมั่นคงของตนเอง”

(อ้างจาก ปลุกใจเสือป่า พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2457, “บทที่ ๖ เห็นแก่คณ ฟังบังคับบัญชา และรักษาสัตย์” (แสดงครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๔) หน้า ๗๑-๗๒)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ผู้นำไทยที่แสดงทรรศนะแบบอินทรียภาพว่ารัฐ/สังคมไทยเปรียบเสมือนร่างกายและองคาพยพ รวมทั้งเชื่อมโยงแนวคิดอินทรียภาพเข้ากับระบบพ่อปกครองลูก/ลัทธิพ่อเมือง (Paternalism-ลัทธิพ่อเป็นใหญ่ในครอบครัวในฐานะที่ครอบครัวเป็นชุมชนขนาดเล็กแรกสุดที่เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์ แล้วขยายความไปสู่ชุมชนใหญ่ขึ้นในระดับหมู่บ้าน เมืองและประเทศชาติตามลำดับ) อย่างคล้องจองกันได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้พยายามรุล้างระบอบรัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกของคณะราษฎรและแนวคิดปัจเจกนิยมอันเป็นฐานรากความคิดของระบอบดังกล่าวออกไป แล้วสถาปนาระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ขึ้นแทน

 

ดังปรากฏในคำปราศรัยและคำแถลงครั้งต่างๆ ของจอมพลสฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2502-2506) ว่า (คัดสรรจาก ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2526) :

– “ระบอบการปกครองของไทยเราตั้งแต่โบราณมาก็คือว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นหูเป็นตาของรัฐบาลซึ่งคำโบราณพูดว่า “ต่างหูต่างตา” อันที่จริงไม่แต่เพียงต่างหูต่างตาเท่านั้น การปกครองสมัยโบราณของเรายังมีตำแหน่ง “ข้าหลวงต่างใจ” หมายความว่าพวกข้าหลวงผู้ว่าราชการยังต้องเป็นดวงใจที่ต้องตริตรึกนึกคิดแทนรัฐบาลที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย

“ในสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาลปฏิวัติซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นี้ ข้าพเจ้าถือว่าท่านทั้งหลายเป็นหูเป็นตาและเป็นดวงใจของข้าพเจ้าที่มอบไว้แก่ราษฎรทั้งหลาย ความผาสุกอยู่ดีกินดีของราษฎรเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในดวงใจของข้าพเจ้า ซึ่งจะให้ความรักเอาใจใส่แก่ราษฎร… ขอให้ท่านนึกเสมอว่าท่านเป็น “ข้าหลวงต่างใจ” เป็นตัวแทนดวงใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีดวงใจที่รักและสุจริตต่อประชาชนอย่างไร ขอให้ท่านรักและสุจริตใจต่อประชาชนอย่างนั้น” (พ.ศ.2503)

– “วิชารัฐศาสตร์สมัยใหม่จะก้าวหน้าไปสักเพียงใดก็ตาม หลักการอันหนึ่งในระบอบการปกครองแบบโบราณของไทยยังมีคุณค่าอย่างประเสริฐและควรจะใช้อยู่เสมอ หลักการที่ว่านี้ก็คือการเป็นพ่อบ้านพ่อเมือง บ้านเมืองเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ลดหลั่นกันลงมา นักปกครองต้องถือว่าพลเมืองที่อยู่ในความปกครองนั้นไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นพี่น้องลูกหลานในครอบครัวเดียวกัน ความยากดีมีจน ความผาสุก ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแก่พลเมืองเป็นเรื่องของครอบครัว จึงจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของครอบครัวใหญ่นี้อย่างใกล้ชิด ปกครองกันด้วยความรักใคร่ไมตรีเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน…

“เมื่อใดเราสามารถทำให้พลเมืองไว้วางใจรักใคร่นับถือเราอย่างเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อนั้นเราจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปกครองที่ดี เราได้เคยทราบเรื่องของนักปกครองที่ดี เราได้เคยทราบเรื่องของนักปกครองบางคนที่กล่าวกันว่าพลเมืองรักเหมือนพ่อ เวลาถูกย้ายหรือจากไป มีคนเสียดายถึงกับร้องไห้ นั่นคือนักปกครองที่ดีจริง” (พ.ศ.2502)

– “นายกรัฐมนตรีก็คือพ่อบ้านของครอบครัว” (พ.ศ.2503)

– “ประเพณีการปกครองของไทยแต่โบราณมาได้ถือระบอบพ่อปกครองลูก เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อขุน” หมายความว่าเป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มีพ่อเมืองคือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึงพ่อบ้านคือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุดถึงพ่อเรือนคือหัวหน้าครอบครัว

“แม้ในสมัยนี้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่า “พ่อ” เหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้ายังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อ “ปกครอง” ลูกอยู่เสมอ” (พ.ศ.2504)

 

ห้าทศวรรษให้หลัง แนวคิดนี้ยังทรงพลังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ดังสะท้อนออกอย่างชัดเจนเป็นระบบในข้อเขียนชิ้นต่างๆ ของ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิตและเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่นำแนวคิดพ่อปกครองลูกมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมและกฎหมายของไทยในทางวัฒนธรรม อาทิ :

“วัฒนธรรมการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” (paternalistic governance) นี้เองที่อธิบายปรากฏการณ์ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ คือ เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกเหมือนพ่อตนเองกําลังถูกทําร้ายและยอมรับไม่ได้เหมือนๆ กับที่คนไทยยอมรับไม่ได้ที่จะให้ใครมาจาบจ้วงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือแม้พระพุทธรูปที่แทนพระพุทธเจ้า

“ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงไม่ใช่การทําร้ายพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เป็นการทําร้าย “พ่อ” ของคนไทยส่วนใหญ่ เป็นความผิดทางสังคมที่ร้ายแรงเหมือนการเนรคุณและด่าพ่อของตนเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่า แม้ “พ่อ” จะไม่อยากเอาความผิด (ดังปรากฏในพระราชดํารัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548) และทรงเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่านทําได้แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังต้องการให้คงความผิดนี้ไว้เพื่อคุ้มครองสิ่งที่เขาเห็นว่า ทําร้ายสถาบันที่เคารพของเขา…”

(http://kpi.ac.th/media/pdf/M10_35.pdf)