เปิดใจเจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก คนแรกที่ศึกษาเรื่อง “ความกลัว”ในชีวิตประจำวันคน 3จว.ชายแดนใต้

นิศาชล ชัยมงคล

ปัญหาความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ทศวรรษ ในปัจจุบันก็ยังไร้วี่แววความสงบหรือแสงสว่างของทางออกจากวิกฤต

Matichon Weekly ถือโอกาสนี้มาคุยกับ นิศาชล ชัยมงคล เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก ประจำปี 2566 จากวิทยานิพนธ์เรื่องการเมืองเรื่องความกลัวกับการอยู่กับความขัดแย้งในมิติชีวิตประจำวันบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันศึกษาระดับปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย

นับเป็นวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกของการเข้าไปศึกษาเรื่อง ความกลัว อย่างเป็นระบบด้วยหลักวิชาทางด้านมนุษยวิทยา

 

(Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP)

จุดเริ่มต้นความสนใจ

นิศาชล เผยความรู้สึกหลังได้รับรางวัลว่า ตอนแรกไม่ได้คิดว่าเป็นรางวัลใหญ่ แต่ก็ดีใจและรู้สึกขอบคุณ โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษา (ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี) ที่เคี่ยวเข็ญรวมถึงพี่ๆ ทุกคนในสนามวิจัย

ก่อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ว่า เกิดจากการทำงานด้านวัฒนธรรม การอยู่ร่วมเรื่องความหลากหลาย การประกวดหนังสั้นของเยาวชน สร้างกิจกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาชายแดนใต้มานานนับตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี เพราะได้รับงบประมาณจากศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร

จนเป็นที่มาที่ไปของความสนใจเรื่องนี้ เพราะการทำงานในพื้นที่ของโครงการทักษะวัฒนธรรมที่รับผิดชอบเป็นเวลากว่า 7 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัด ช่วงแรกก็มีภาพพื้นที่ 3 จังหวัดแบบคนธรรมดาคือความกลัว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

แต่พอไปทำงานในพื้นที่ คลุกคลีกับเยาวชน ไปร่วมจัดประกวดผลิตหนังสั้น ด้วยเหตุผลตอนนั้นคือ เรามักได้ยินแต่เสียงของผู้ใหญ่ต่อปัญหาชายแดนใต้ แต่ไม่ค่อยได้ยินเสียงเยาวชน ทั้งที่สถานการณ์มันลุกลามต่อเนื่องนานเกือบ 20 ปี มีเยาวชนที่โตมากับเหตุการณ์ความรุนแรง ลืมตามาก็เห็นแต่ด่าน เห็นทหารถือปืนซื้อของในตลาด

ยิ่งทำงานสร้างกิจกรรมให้เยาวชนต่างศาสนา ก็พบว่าบรรยากาศภาคใต้มันไปไกลมากในแง่ที่ว่า มันเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากความรุนแรง คนจีน คนพุทธ คนที่มีกำลังก็จะย้ายออกจากพื้นที่ ไปซื้อบ้านที่หาดใหญ่ ไปซื้อบ้านที่ภูเก็ต ลูกหลานคนพุทธแทบจะไม่ได้กลับมา ผนวกกับโรงเรียนสอนศาสนาทางใต้ก็ฮิตขึ้น นั่นหมายความว่าเด็กๆ เขาเข้าไปตามลู่ทางของศาสนาของตัวเอง ฉะนั้นโรงเรียนที่มันจะสร้างพื้นที่ของความเป็นเพื่อนหรือการรู้จักกัน มันไม่มีเลย

ยิ่งทำงานแบบนี้ก็ยิ่งเห็นประเด็นความสัมพันธ์ของคน ยิ่งได้ฟังเรื่องเล่าว่าเมื่อก่อนคนเคยไปมาหาสู่กัน เคยมีเพื่อนคนพุทธ โตมาด้วยกัน เคยถือศีลอด แอบไปกินข้าวบ้านคนพุทธ เรื่องเล่าตลกพวกนี้ พอมีความรุนแรงเกิดขึ้น เขารู้ว่าเขาเป็นเพื่อนกัน แต่กลับไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนเดิม เพื่อนพุทธก็ไม่ข้ามไปหมู่บ้านเพื่อนมุสลิม คนมุสลิมก็ไม่มาหมู่บ้านคนพุทธ

เคยลงพื้นที่ถามครูคนหนึ่งเมื่อ 7 ปีก่อน ว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดความรุนแรง เขาก็บอกว่ามันมีเรื่องเล่าเช่นว่า ถ้าวันนี้คนมุสลิมตาย 1  คนพุทธจะตาย 1 คน หรือ คนพุทธจะไม่กล้าขี่มอเตอร์ไซต์ไปหมู่บ้านที่เป็นมุสลิม หรือ คนมุสลิมจะไม่กล้าขี่มอเตอร์ไซต์ไปหมู่บ้านที่เป็นพุทธล้วนและหัวรุนแรง อะไรแบบนี้

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

 

แก้วร้าวหรือแก้วแตก?

เวลาฟังเรื่องเล่าแบบนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น? จากคนที่เคยเอาข้าวไปให้เพื่อนบ้านได้ อยู่มาวันหนึ่งเหมือนเส้นนี้มันหายไป

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันต์ เคยวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์มันเหมือนแก้วที่ร้าวหรือเปล่า?

แต่พอตัวเองอยู่ในสนามไปนานๆ พบว่ามันแตกเลย มันไม่ใช่แค่ร้าว คือมันแตกชนิดที่ว่าความสัมพันธ์ที่เคยมี มันทำงานไม่ได้แล้วในพื้นที่

มันจึงเป็นปัญหามากกว่าเวลาเราฟังปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ เรื่องเอกราชหรือไม่เอกราช (อันนั้นก็มีอยู่ เราไม่ปฏิเสธ)  แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดคำถามเพราะสิ่งที่มันเกิดระดับหมู่บ้าน ชุมชน ความสัมพันธ์ของคนที่มันเคยเท่ากัน เคยไปช่วยกันเลี้ยงวัว ทำนาแปลงติดกัน อยู่มาวันหนึ่ง เราไม่เป็นเพื่อนกันอีกแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น นี่คือคำถามง่ายๆของวิทยานิพนธ์

นอกจากนี้ เรื่องสำคัญอันหนึ่งที่ทุกคนพูดถึงคือ “ความกลัว”  คำพูดทำนอง “อย่าไปตรงนี้มันน่ากลัว”  “อย่าทำอันนี้มันน่ากลัว”  “อย่าข้ามถนนเส้นนี้ อย่าไป (แม้ว่าจะเป็นอีกซอยเดียวเอง)”

คำพูดเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดคำถามว่าเมื่อก่อนมันไม่ได้กลัว แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ความกลัวมันมายังไง มาจากอะไรบ้าง?

เมื่อถามว่า “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับความกลัวมีมากแค่ไหน? 

นิศาชล เล่าต่อว่า ถ้าจะจินตนาการจากสิ่งที่เห็น จะพบว่าความกลัวมันมีลักษณะ “ปกคลุม” คือมันแผ่ไปทั้ง 3 จังหวัด และความกลัวมีหลายระดับ มีทั้งทางกว้างและทางลึก

คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้าสามจังหวัด อันนี้ก็ความกลัวอันหนึ่ง เช่นไปทำงานครั้งแรกก็ต้องบอกแม่ว่าอยู่หาดใหญ่ พูดไม่ได้ว่าอยู่ปัตตานี อะไรแบบนี้ นี่คือลักษณะคนข้างนอกกลัว  แต่ประเด็นที่งานชิ้นนี้พยายามทำให้เห็นก็คือคนข้างในก็กลัว และเวลาที่พูดว่าคนข้างในก็กลัว มันก็มีพัฒนาการของมัน

ตั้งแต่ยุคหะยีสุหลง ที่พบความกลัวในลักษณะรัฐไทยกลัวมุสลิมและพลเมืองมุสลิมที่เป็นแกนนำทางการเมือง หรือจากการไปค้นหอจดหมายเหตุ จะพบลักษณะที่รัฐไทยไม่ค่อยทำงานในเรื่องศาสนาพื้นที่ภาคใต้เท่าไหร่ เช่น มีข้อเรียกร้องให้ค่ายทหารทำอาหารที่เป็นไก่บ้าง เพราะทหารเกณฑ์ที่เป็นมุสลิมหนีทหารเยอะ เขากินอะไรไม่ได้เลยในนั้น หรือไม่มีความเคารพความหลากหลายอะไรพวกนี้

(Photo by JIMIN LAI / AFP)

ใดๆ ก็ตามจะเห็นว่ายุคหนึ่ง ความกลัวมันเป็นของชนชั้นนำของรัฐไทย เช่นรัฐไทยกลัววิถีของมุสลิม จึงพยายามทำงานด้วยการกดปราบ แต่มันมีหลักฐานชัดเจนว่าในยุคนั้นๆ คนในชุมชนเขาไม่ได้กลัวกันเอง ความกลัวมันอยู่ในระดับชนชั้นปกครอง 

ในงานชิ้นนี้จะเขียนถึงชุมชนๆ หนึ่งที่มีความรุนแรง เคยมีการคงอยู่ของ “เสือ” หรือผู้มีอิทธิพลที่เป็นชาวมุสลิมเรียกค่าไถ่คนจีน หมายความว่าในพื้นที่ก็ไม่ได้ไม่มีความรุนแรง มันมีการใช้ความรุนแรงอยู่ แต่คนในหมู่บ้านไม่ได้ “กลัว” แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นความกลัวที่เข้าใจได้ เป็นเรื่องเล่าที่คนในพื้นที่เล่าสู่กันฟังได้โดยไม่รู้สึกว่าพูดไม่ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าในยุคที่ความรุนแรงเป็นเรื่องของชนชั้นนำจากส่วนกลางของรัฐไทย ความกลัวนั้นมันไม่ได้ทำงานในระดับพื้นที่

“ความลึก” ของ “ความกลัว” มันทำให้เห็นว่าสถานการณ์เมื่อปี 2547 มันทำงานต่างออกไป มันเป็นความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งเลย เพราะมันมีหลายอย่างเข้าไปทำงานในพื้นที่มากๆ ความกลัวมันเคลื่อนจากแนวดิ่งมาสู้แนวราบ จากชนชั้นนำเป็นความรุนแรงแบบคนกับคนแนวราบด้วยกัน 

ส่วนเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนคือเหตุการณ์ปล้นปืนซึ่งเกิดขึ้นก่อน ซึ่งการจัดการของรัฐไทยในเหตุการณ์ความรุนแรงต่อมาในเหตุการณ์ที่ตากใบ ยิ่งสร้างบาดแผล ไม่สามารถหาคำอธิบายได้และรัฐไทยก็ไม่เคยอธิบายเรื่องนี้ว่ามันเกิดอะไร 

พอมันเป็นความรู้สึกข้างในจิตใจคน เป็นเรื่องความรู้สึกแล้วมันแก้ยาก ตอนที่เราไม่เห็นเราก็จะไม่กลัว แต่ถ้ามันมีความรุนแรงขึ้นมาในครั้งไหน เราก็จะกลับมาเป็นแบบเดิม

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

ต้องเข้าใจก่อนว่า การพูดกันเรื่องปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ มักจะมีการแบ่งชุมชนออกเป็นพุทธ มุสลิมให้เป็นตรงข้ามกัน แต่จริงๆ แล้วทั้งพุทธและมุสลิมก่อนหน้านี้มันคือชุมชนที่เรียกว่ามลายู มันไม่ได้แบ่งกันด้วยศาสนาแบบความคิดในปัจจุบันของพวกเราว่าเป็นคนพุทธ คนมุสลิม ตรงนี้คือส่ิงที่ความกลัวมันเข้าไปทำงานมากๆ

งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า คนพุทธที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่เชื่อเลยว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์มันจะยาวขนาดนี้ มีหลายคนด้วยที่บอกว่าตอนเกิดกรือเซะเขาไม่ได้กลัวนะ เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องมุสลิมกับรัฐไทย เขาไม่ได้เป็นอะไรด้วย เขาก็อยู่ตามปกติของเขา แล้วก็มีหลายครั้งหลายหน เพื่อนมุสลิมก็เตือน “วันนี้เธออย่าไปตลาดนะ” ก็เป็นการแชร์ความปลอดภัยกันในระดับหมู่บ้าน 

 

ความกลัวแนวดิ่งสู่แนวราบ 

จนกระทั่งปี 2550 ที่พบว่าการใช้ความรุนแรงมันเปลี่ยน มันไม่ใช่การตอบโต้กับรัฐอย่างเดียว แต่มันเริ่มมีการจ่อยิงคนมากขึ้น มันไม่ใช่วิธีการแบบใช้ระเบิด

การจ่อยิงมันคือการสร้างความหมายว่าเราเลือก มันมีการเล็งและคนที่ตายส่วนใหญ่มันกระทบความสัมพันธ์กับคนพุทธ เช่น คนพิการเลี้ยงวัวถูกยิงตาย ลุงเข้าไปทำสวนแล้วถูกตัดคอ อะไรแบบนี้ ซึ่งตอนแรกเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่ารัฐไทยถูกยิงหรือไม่ได้ถูกยิง เพราะมันไกลตัวมันคนละระดับกัน มันเป็นการพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ

แต่เมื่อใดก็ตามที่เป้าหมายกลายเป็นคนในหมู่บ้าน ป้าคนนั้นตาย ลุงคนนั้นตาย นี่คือจุดตัดสำคัญเลย แล้วยิ่งต่างจังหวัดไทยยิ่งเป็นสังคมเครือญาติ รู้จักกันหมด 

ความรุนแรงภาคใต้จึงมีพัฒนาการของมัน ระดับความรุนแรงก็ต่าง วิธีการก็ต่าง ข้อค้นพบของงานก็คือ การกระทำความรุนแรงต่อประชาชนนี่แหละ กระทบความรู้สึกของคนมาก อย่างน้อยที่สุดคือความกลัว ไม่นับว่าเป็นความแค้น ในเชิงทฤษฎีมันก็จะบอกว่าความกลัวกับความเกลียดชังมันจะทำงานแบบไต้ระดับกันไป เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนตีความต่างกันอย่างไร ว่าอะไรบ้าง ถึงแม้คนหนึ่งตาย มันจะไม่เท่ากันอีกแล้ว มันจะไม่ใช่ทหารนายนี้เสียชีวิตในสามจังหวัด ถ้าจะอธิบายไปอีกคือ ทหารนายนี้เป็นลูกใครซักคนในภาคเหนือหรืออีสาน

เวลาพูดปัญหาสามจังหวัด แผลมันจึงกระจายไปทุกที่ แต่พูดในเชิงพื้นที่ก็คือคนที่ยังอยู่มันก็หนีไม่ได้มันก็ต้องอยู่ 

ปี 2550 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ประชาชนเริ่มโดนความรุนแรง จากเป้าปกติที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ฝ่ายปกครอง ต่อมาก็เป็นครู แล้วก็เป็นชาวบ้าน ซึ่งในระดับชาวบ้านก็มีหลายระดับ เพราะมันมีการสร้าง อรบ. หรือ ชรบ. ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทหารไทยลงไปฝึกยิงปืนให้คนไทยพุทธเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการตั้งด่านความมั่นคง ขณะที่ทหารพรานที่เข้าไปในพื้นที่ก็จะไปตั้งค่ายอยู่ในวัด ซึ่งมันหมายความว่าเป็นการไปยึดเอาชุมชนพุทธเป็นฐาน ในแง่นี้งานวิจัยชิ้นนี้ก็ดำเนินไปอย่างระมัดระวัง เพราะมันคือกระบวนการทำให้คนพุทธไม่เป็นคนพุทธ เป็นการเอากระบวนการของความเป็นรัฐไทย ไปใส่ในความเป็นคนพุทธในพื้นที่ ผ่านการเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ความมั่นคง คนพุทธต้องกลายเป็นหูเป็นตาแทนรัฐ ซึ่งในแง่นี้มันคาบเกี่ยวกับความเป็นสายข่าว 

ลองจินตนาการว่าที่นี่คือสนามการต่อสู้ แล้วพอมีบทบาทแบบนี้ของคนไทยพุทธ มันเลยทำให้คนมุสลิมที่เป็นเพื่อนกันก็ไม่ไว้ใจอีก ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรได้ไหม พอเกิดเหตุความรุนแรงคนก็ช็อค  ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง  บางคนถูกจับไปหลายวันเพิ่งถูกปล่อยออก  กระบวนการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็เช่น  การติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่แล้วแปะหน้าคนไว้ลักษณะเป็นป้ายผู้ต้องหาตามด่าน ป้ายพวกนี้ความรู้สึกอย่างหนึ่งมันคือการสร้างภาพของ “ผู้ก่อการ” แล้วคนในรูปซักคน ก็เป็นลูกของคนในพื้นที่ เห็นชื่อนามสกุล เห็นหน้า ก็รู้แล้วว่าเป็นคนใน

เหล่านี้คือส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการในการสร้างความกลัวขึ้นในพิ้นที่ของสนามทางการทหาร มันเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ให้เป็นพื้นที่ทางการทหาร การเมือง คนพุทธในพื้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางการทหารของไทย

ซึ่งข้อเสนอสำคัญก็คือสิ่งเหล่านี้มันต้องเอาออก หมายความว่าเราต้องไม่เอาพื้นที่ชุมชนทำให้เป็นพื้นที่ทางการทหาร มันอาจจะต้องเสนออย่างสุดโต่งคือต้องเอาทหารออก แต่ตอนนี้มันเอาออกไม่ได้ เพราะคนไม่มีที่พึ่งเนื่องจากความกลัว แต่เวลาไปสัมภาษณ์รายระเอียดในงานวิจัยก็จะบอก เมื่อถามว่ามีทหารแล้วรู้สึกปลอดภัยหรือไม่? เขาก็ตอบว่าไม่นะ…ทุกคนรู้ว่าถ้ารถทหารอยู่ที่ไหน อย่าไปยืนใกล้ เพราะจะเป็นเป้า คือมันอิหลักอิเหลื่อ เพราะมันไม่รู้จะทำอย่างไร ถามว่ามันมันคงไหม มันไม่ได้มั่นคงนะในอารมณ์ความรู้สึก มันไม่ได้ช่วย

Thai soldiers hold their machine guns while patroling in front of a giant Buddha statue during violence in Narathiwat province, southern Thailand, 01 April 2004.  (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ยากที่สุดต้องทำให้เชื่อใจ 

นิศาชล เล่าให้ฟังเรื่องความยากง่ายในการเก็บข้อมูล เธอยอมรับว่ายาก ตอนแรกที่ลงพื้นที่ไปในหมู่บ้าน ก็มีทหารเข้ามาถามในบ้านผู้ใหญ่บ้านที่ตัวเธอไปอยู่ เข้ามาถามคนในชุมชนว่าตัวเธอเป็นใคร หลายคนก็ช่วยกันตอบว่าเป็นหลานผู้ใหญ่บ้านมาจากกรุงเทพฯ จะได้เลี่ยงการตอบคำถามมากกว่านั้น

แต่ผ่านไปราว3-4 เดือน ก็มีทหารมาถึงที่บ้านแล้วเชิญไปคุยว่ามาทำอะไร จากนั้นก็เชิญไปรับประทานอาหาร ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี ซึ่งท่าทีของทหารก็ไม่ได้คุกคาม แต่มันก็คือการเรียกไปคุย เพราะเขาอยากรู้เรามาทำอะไร ซึ่งทหารก็พูดว่าพื้นที่นี้มันมีจริงๆ พวกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน พร้อมกับเอาข่าวของทางการทหารมาบอกเรา ทั้งนี้คนที่ไปทำวิจัยส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าจะถูกจับตามองในแง่ของความมั่นคง ซึ่งจะต้องถูกรายงานผ่านระบบที่เขาสร้างขึ้น เช่นผ่านผู้ใหญ่บ้าน รายงานไปสู่นายอำเภอ อะไรแบบนี้ นับเป็นการพยายามจับตา แต่ก็ไม่ได้ถึงกับมารบกวนการทำงาน หรือมาห้ามไม่ให้ทำ ไม่ให้ถาม อาจจะถามหัวข้องานวิจัยกว้างๆ ซึ่งทหารเขาก็ไม่ได้สนใจมาอ่านงานเรา เขาแค่อยากรู้ว่าทำไมเราถึงคุยกับคนโน้น คนนี้

ส่วนตัวก็ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนในพื้นที่ ถ้าจะขอเล่าสู่กันฟังก็คือ มันเป็นพื้นที่ที่เก็บข้อมูลยาก เพราะว่าถ้าเขาไม่ไว้ใจ เรื่องที่เราได้ยินจะเปลี่ยนไปเลย

ถ้าถามว่าอยู่กันดีไหม กับเพื่อนบ้านมุสลิมเป็นอย่างไร เขาก็จะตอบทันทีว่า ดี…ไม่มีปัญหา ไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าอยู่ไปสักพัก ก็จะเห็น… บางทีเขาก็จะเตือนว่าอย่าออกไปถนนเส้นนั้น บ้านมุสลิมทั้งนั้น ไม่ไว้ใจเพื่อนมุสลิม อะไรอย่างนี้ เซนส์แบบนี้มันจะค่อยๆออกมา ความยากทีสุดก็คือเขาต้องเชื่อใจเรานี่แหละ

เมื่อถามว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ ความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทอดยาวตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ?

นิศาชล เล่าในฐานะผู้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่มายาวนานว่า ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงจนไหลมาสู่ความกลัวแผ่ไปทั่วพื้นที่ ส่วนตัวมองว่าเกิดจากความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา มันไม่สามารถจัดการความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นหลายระดับได้จริงๆ

ข้อเรียกร้องเรื่องเอกราชยังไม่มีการคุยอะไร แต่รัฐกลับดันไปแก้เรื่องเล็กน้อย เช่นไปสร้างหมู่บ้านพหุวัฒนธรรม หมู่บ้านศีลห้า ให้งบไปแสวงบุญอะไรแบบนี้ ถามว่ามันแก้หรือเปล่า?

แน่นอนว่านโยบายที่จะสร้างความหลากหลาย ความเท่าเทียมก็ทำไป มันมีแนวทางที่ควรจะทำ แต่ความขัดแย้งที่มันเป็นแกนกลางมันไม่ถูกพูดถึง มันไม่มีใครที่จะกล้าพูด แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐไทยยอมไม่ได้ แล้วไม่เคยยอมมาเป็นร้อยปี อันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันทำให้เห็นว่าการที่ไม่ทำ มันส่งผลกับชีวิตคนและมันก็คากันอยู่อย่างนี้ มันคือการไม่ยอมรับว่าแก่นกลางของความขัดแย้งมันคืออะไร อันนี้ก็อย่างหนึ่ง

สองก็คือถ้ารัฐยังคงใช้วิธีการเช่นนี้ในการทำงานในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ชุมชนกลายเป็นพื้นที่ทางการทหาร ก็จะยิ่งทำให้คนพุทธไม่ปลอดภัย คนในพื้นที่ก็จะไม่ปลอดภัย การเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัย ถามว่ามันจะปลอดภัยจากตรงไหน ทหารต้องออกก่อนไหม มีกลไกในการคืนพื้นที่ให้ตำรวจไหม กลไกความปลอดภัยในพื้นที่มันก็มีระบบตำรวจใช่ไหมก่อนที่ทหารจะมาอยู่ ทำไมมันไม่สามารถทำได้?

วันนี้คนก็ข้องใจว่าไปตั้งด่านทำไมหลายด่านก็ไม่ได้ตรวจ ยังมีเรื่องการแสวงหาประโยชน์จากความรุนแรงที่หล่อเลี้ยง ทำให้วันนี้ความรุนแรงมันไม่จบหรอก คนในพื้นที่ ในชุมชนเขาก็พูดกัน 

(Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP)

ปัญหาใต้ขัดแย้งหลายระดับ 

จะเห็นว่าเวลาพูดเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดมีหลายระดับมากๆ อยู่ที่ว่าจะเอาความขัดแย้งชุดไหนมาคุยกัน ประเด็นคือตอนนี้ก็ต้องทำสองระดับ ปัญหาทางการเมืองก็ต้องพูด ก็ต้องคุยแบบตรงไปตรงมา จะทำรูปแบบการปกครองพิเศษแบบเมืองพัทยา แบบกรุงเทพฯ หรืออะไรก็ไม่รู้ แต่มันต้องคุยให้เห็นว่าความรุนแรงต้องไม่มีอีกต่อไป ต้องทำให้ความรุนแรงเป็นความไม่ชอบธรรม การไปปิดล้อมตรวจค้น กฏหมายพิเศษนั้นต้องไม่ต่อ พวกนี้คือกลไกในการคืนพื้นที่ 3 จังหวัดให้มันเป็นปกติแบบก่อนหน้านี้

เอาจริงตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ความรุนแรงมันลดลงขนาดไหน ขนาดตอนนี้ภาคใต้น้ำท่วมด่านก็ยังอยู่เหมือนเดิม 

เมื่อถามถึงคนเจเนเรชั่นใหม่ๆ กับการเปลี่ยนแปลงมุมมองเรื่อง “ความกลัว” ในพื้นที่ เป็นอย่างไร

“นิศาชล” เล่าให้ฟังว่าจากประสบการณ์ที่ไปทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ เขาแทบไม่รู้จักเพื่อนต่างศาสนาเลย ราวกับอยู่โลกคนละใบ แม้ว่าจะอยู่แค่ซอยถัดไป คือมีน้อยมากๆ ที่ยังรู้ว่า อาจารย์ที่เคยสอนเขาเป็นคนพุทธ เพราะส่วนใหญ่ก็ส่งลูกไปเรียนศาสนา ขณะที่คนพุทธก็ส่งลูกไปเรียนสามัญปกติ ตำบลที่ตนเองอยู่ส่วนใหญ่เขาก็ส่งลูกไปเรียนในเมือง และพยายามจะผลักดันลูกให้ไปเรียนนอกสามจังหวัด เพราะฉะนั้นมันเหมือนอยู่กันโลกคนละใบ

“มีน้องอยู่หมู่บ้านถัดไป ก็ส่งอาหารทางไลน์น้องก็เอามาส่ง พอมาถึง 6 โมงคนพุทธก็ปิดบ้านกันเงียบ เขาก็ถามว่าคนพุทธอยู่กันอย่างนี้หรือ? อะไรแบบนี้”

นิศาชล ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่าขนาดพื้นที่มันใกล้มากๆ ยังไม่ได้มีการเรียนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ก่อนเล่าต่อว่า เวลาที่ตนเองทำค่ายและนำเด็กพุทธกับมุสลิมมารวมกัน เขาก็ค่อนข้างเปิดกว้าง ความรู้สึกของเขาคือปัญหาสามจังหวัดมันเป็นอะไรที่ยืดเยื้อและเขาก็ชิน ความกลัวกับความรุนแรงมันน่ากลัวอย่างหนึ่งคือวันหนึ่งมันจะกลายเป็น “ความชิน” แล้วมันจะเป็นสิ่งที่เราจะไม่ตั้งคำถามกับมันอีกแล้ว เราจะอยู่กับมันไปแบบนี้ แบบที่ว่า ฉันจะไม่ข้ามถนนเส้นนี้ก็ไม่เป็นไร มันถูกขัดเกลาทางสังคม ถูกบอกถูกทำให้เข้าใจแบบนี้จนกลายเป็นความเข้าใจจริงๆ จนมันไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนต่างศาสนาที่จะมาเจอกัน อันนี้สำคัญ

การสร้างพื้นที่ในแนวราบ สร้างพื้นที่ของชุมชนที่มันปลอดภัยจริงๆขึ้นมา ไม่ว่าจะผ่านระบบเศรษฐกิจ การศึกษา หรืออะไรก็ตาม แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นจริงๆไม่ได้ในปัจจุบันถ้าไม่ผ่านระบบทหารให้การยินยอมก่อน

(Photo by MUHAMMAD SABRI / AFP)

ยังไงก็ต้องการเมืองนำการทหาร 

การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ถามว่าต้องใช้การเมืองนำไหม ส่วนตัวตอบเลยว่าใช่ เพราะมันเป็นประเด็นทางการเมือง

มันมีประเด็นทางการเมืองอยู่ ความสัมพันธ์ของคนมันถูกทำให้เป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองไปด้วย  คนพุทธมันไม่ได้เท่ากับคนที่เข้าวัด แต่เป็นคนพุทธที่ถูกทำให้มีความหมายเท่ากับรัฐไทย นี่คือการเมืองมันเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ของคนไปแล้ว มันจำเป็นจะต้องใช้การเมืองเข้าไปจัดการ เยอะพอสมควร

สรุปก็คือท่าทีของรัฐไทยมันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่อดีต แม้เราจะมีรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบสิบปี ถามว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ไหม ในส่วนตัวก็ต้องบอกว่ายาก

ช่วงที่รัฐบาลเศรษฐา ขึ้นมาแรกเป็นช่วงจุดเปลี่ยนว่าจะต่อกฏหมายฉุกเฉินหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ต่อ มีความเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะทยอยเปลี่ยนแปลงเลิกลงในบางจุด ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีถ้าเขาทำได้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นแบบเดิม

เมื่อถามถึงความเชื่อชุดหนึ่งที่มักบอกว่า ถ้าเศรษฐกิจดี รายได้ดี ปัญหาความขัดแย้งจะหมดไปเอง จนสองทศวรรษที่ผ่าน รัฐไทยทุ่มเงินลงไปแก้ปัญหาพื้นที่เยอะมาก แต่สุดท้าย ตามสถิติ ความยากจน เศรษฐกิจ คุณภาพการศึกษา สาธารณสุขพื้นที่สามจังหวัดก็ยังอยู่รั้งท้ายอยู่ดี?  

นิศาชล ให้ความเห็นเรื่องนี้ ว่า ต้องไปถามทหารและ กอ.รมน. ว่างบแสนล้านทั้งหมด หายไปไหน 

“มันเคยมีคนเอางบแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้มาทั้งหมดตั้ง แล้วหารด้วยจำนวนประชาชน แจกเงินทุกคน คนหนึ่งน่าจะได้มากกว่าห้าหมื่นบาท ความสำคัญคืองบที่ว่า มันไปลงตรงไหน ถ้าใช้งบมากขนาด และประชาชนยังจนเหลื่อมล้ำติดอันดับ มันน่าจะไม่ใช่ความรุนแรงอย่างเดียว มันน่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นในความรุนแรงแล้ว..” นิศาชล กล่าว

พร้อมเล่าต่อว่า มันมีสตอรี่เรื่องเล่า ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ เช่น พอจะถึงเดือนกันยายน เดี๋ยวจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งคนในพื้นที่ที่เขาอยู่กับความรุนแรงมานาน เขาพูดคุยเล่าต่อเรื่องแบบนี้กัน ทั้งคนพุทธ ทั้งคนมุสลิมในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเขาเล่าเรื่องแบบนี้กัน ซึ่งถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่เขามีวิธีการดู มีวิธีการเล่าของเขา ดูจากอุปกรณ์ที่ใช้ วิธีการที่ระเบิด อะไรแบบนี้ จนถึงปัจจุบัน พอใกล้ๆกันยายนของทุกปี เรื่องเล่าแบบนี้จะปรากฏ กระทั่งเขาคุยสอบถามกัน เช่นปัตตานีโดนหรือยัง ถ้าโดนแล้ว ก็จะข้ามไปต่อที่ นราธิวาส และจะไปที่ยะลา คือคนอยู่กับความรุนแรงจนหาทางออกไม่ได้

ระบบมันก็ดูเหมือนหล่อเลี้ยงความรุนแรง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าประเทศนี้ กำลังทำอะไรกับชีวิตคน 

(Photo by Madaree TOHLALA / AFP)

แก้วแตกซ่อมไม่ได้ ต้องสร้างใหม่

นี่คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า มันไม่ใช่รอยร้าว แต่คือแก้วที่แตกไปแล้ว แล้วมันซ่อมไม่ได้ มันต้องสร้างใหม่ สร้างพื้นที่ใหม่ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ เรื่องเล่าในอดีตก็เอามาเป็นฐานในการอยู่ร่วมกัน แต่เวลารัฐลงไปสร้างพื้นที่พหุวัฒนธรรม ไปสร้างภาพอิหม่ามขี่มอเตอร์ไซต์ให้พระสงฆ์ ภาพแบบนี้มันไม่พอ เพราะมันไม่ทำงานอะไรกับอารมณ์ความรู้สึกที่มันกลัวอยู่ แค่รู้ว่ารัฐพยายามจะบอกว่าอยู่ด้วยกันได้ไม่ได้ทะเลาะกัน

เมื่อถามว่าศึกษาเรื่องคนพุทธกลัวอิสลาม และลักษณะอิสลามกลัวพุทธเป็นอย่างไร?  

นิศาชล เล่าว่า คนอิสลามไม่ได้กลัวชาวพุทธมากนัก แต่เขารู้สึกว่าความสัมพันธ์มันเปลี่ยน บางคนเขาก็เตือนเพื่อนว่าช่วงนี้อย่ามาหมู่บ้านนี้ ถามว่าคนอิสลามกลัวอะไร เขาก็กลัวทุกอย่างเหมือนกัน กลัวระเบิด กลัวทหาร เพราะทหารมักจะไปตามที่บ้าน ไปคุย ไปสอดส่อง พวกนี้ทำให้เขากลัว เขาไม่รู้ว่าถ้าไปพูดอะไรกับทหาร เขาจะถูกอีกฝั่งจับตามองหรือเปล่าอีก ถูกกล่าวหาเป็นสายข่าว อะไรแบบนี้… มันทำตัวยาก แล้วก็อย่างที่บอก คนอิสลามบางส่วนจะกลัวบางหมู่บ้านของคนพุทธ ที่ขึ้นชื่อในความเป็นพุทธหัวรุนแรง ส่วนตัวคิดว่าทหารที่จะลงมาในพื้นที่บางทีก็ยิ่งกลัวมากกว่าอีก กลัวถูกยิง ครอบครัวก็ร้องห่มร้องไห้

แต่ละกลุ่มยิ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความกลัวมากขึ้น นานขึ้น ขยายแผ่กว้างไปตามการเวลา ยิ่งนานก็ยิ่งลึกจนถึงปัจจุบันที่ยากจะกำจัดความกลัวนี้ให้หมดไป วันนี้ความขัดแย้งมันถึงจุดยืดเยื้อแล้วมันไม่สามารถจะแก้ได้ง่ายๆ ในเชิงทฤษฎี ถ้าความขัดแย้งมันเปลี่ยนมาสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ยาวนาน “เป็นความขัดแย้งดื้อยา” ไอ้ที่เคยทำมาแล้วไม่แก้ๆๆๆ จนเลี้ยงความขัดแย้งมันมาเรื่อยๆ พอคืดจะแก้ มันไม่สามารถที่จะแก้ได้ทันทีวันนี้ ถามว่าวันนี้จะแก้ปัญหาความขัดแย้งยังไง ก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะเราและทุกๆ คนรู้สึกเหมือนกันหมดว่ามันไม่มีทางออก

ความกลัวมันมีคุณสมบัติอันหนึ่งคือมันจะแช่แข็งเรา มันจะทำให้เราจำ เราเคยไปถนนเส้นนี้แล้วเราเกือบโดนยิง เราไม่กล้าไปอีกแล้ว แต่ถ้าเรามีค่อยๆมีความสัมพันธ์ที่มันปลอดภัย ค่อยๆปลอดภัยทีละนิดๆ มันเหมือนเราค่อยๆ ละลายน้ำแข็ง ค่อยๆละลายความกลัวของเรา เราอยู่กับความขัดแย้งมา 20 ปี เกือบเจนเนเรชั่นนึงที่โตมากับสิ่งนี้ เราจะคาดหวังการแก้ปัญหาแบบพลิกฝ่ามือ มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันต้องทำ นิศาชล กล่าวทิ้งท้าย