แพทย์ พิจิตร : รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่ ? (16)

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่ ?  : จากวิกฤตมาตรา 7 ครั้งที่สองถึงรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

 

หลายคนอาจจะไม่ได้ทันสังเกตว่า “มาตรา 7” ที่ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อน “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องเกิดรัฐประหาร

เพราะในบริบทของวิกฤตการเมืองระหว่าง พ.ศ.2556-2557 มาตรา 7 ถูกใช้อ้างอิงจากขั้วการเมืองทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งต่างจากบริบทของวิกฤตการเมือง พ.ศ.2549 ที่มีฝ่ายหนึ่งพยายามใช้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งโต้แย้งว่าใช้ไม่ได้

คราวที่แล้วได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อคิดเห็นของบุคคลและฝ่ายต่างๆ ต่อมาตรา 7 ในวิกฤตการเมือง พ.ศ.2556-2557 โดยมาถึงคำอธิบายความของ คุณคณิน บุญสุวรรณ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงแนวคิดของ คุณชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยตาม มาตรา 7 หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายกฯ สิ้นสภาพจากการโยกย้าย คุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่เป็นธรรมว่า

“ไม่ทราบว่าคุณชัยเกษม มีวัตถุประสงค์อะไร ที่เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะจริงๆ แล้วมาตรา 7 เหมือนกับเป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือ กปปส. ซึ่งหากทุกฝ่ายเดินไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา ก็จะไม่มีอะไรที่นอกเหนือจากความน่าจะเป็น “มาตรา 7 ไม่สามารถเป็นทางออกของวิกฤตการเมืองในขณะนี้ได้ แต่ผมมองว่าการออกมาพูดเรื่องนี้ของนายชัยเกษม น่าจะเป็นลักษณะของการพูดดักคอ หรือเอาไว้แก้เกมมากกว่า ซึ่งในพรรคเองไม่มีใครทราบเรื่องนี้ และหลังสงกรานต์คงจะได้พูดคุยกันว่าเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ พรรคเพื่อไทยไม่เอาเรื่องนี้แน่นอน และที่ผ่านมาพรรคก็คัดค้านมาตลอด”

คุณคณิน ยังกล่าวไว้ด้วยว่า

“เป็นไปได้ที่บางคนในพรรคคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งทำมาแล้วหลายหน จึงย้อนศรกันบ้าง แต่คิดว่ามันคนละเรื่องกัน เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องต่อสู้ไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ การที่บอกว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เป็นสุญญากาศ แต่คิดว่ามันไม่มีทางเป็นสุญญากาศไปได้ ดังนั้น เมื่อไม่มีทางเป็นสุญญากาศไปได้ การที่จะคิดแก้เกมด้วยการใช้มาตรา 7 ก็ไม่จำเป็น”

“เท่าที่ดูข้อเสนอของนายชัยเกษม ยังไม่มีอะไรเลย ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร แต่มันก็ได้ผลอย่างหนึ่งตรงที่ว่า ข้อเสนอของคุณชัยเกษมนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. เต้นได้เหมือนกัน ประมาณว่าของเล่นแบบนี้ฉันเล่นมาก่อน อยู่ๆ รัฐบาลจะหยิบมาเล่นได้อย่างไร และจริงๆ แล้วหากทำตามมาตรา 7 จริงก็ยังหาคนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ไม่ได้ ใครจะเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพราะนายกฯ ก็คงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว”

 

ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้กล่าวตอบคำถามทางเว็บไซต์ว่า “มาตรา 7 ไม่ได้ให้อำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรี ที่พูดๆ กันว่านายกตามมาตรา 7 น่าเป็นการพูดตามๆ กันมา เอาโก้เข้าว่า มาตรา 7 เป็นเรื่องที่ใช้ในเวลาที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าไว้โดยตรง ก็ให้ใช้ตามประเพณีการปกครองฯ ส่วนจะนำไปสู่การทำอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอะไร”

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คุณมีชัยขยายคำอธิบายในคำตอบเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับความพยายามในการผลักดันให้มีการตั้งนายกฯ ที่มาจากมาตรา 7 ในขณะนั้น โดยกล่าวย้ำว่า

“มาตรา 7 ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้ตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่เป็นบทบัญญัติที่จะต้องใช้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องอะไร ยกตัวอย่างเช่น เลขานุการ ศอ.รส. เกิดทำระเบิดหลุดมือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนรัฐมนตรีตายกันหมด การจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้น ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติ ก็ต้องไปพึ่งพาบริการของมาตรา 7 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

จากข้อถกเถียงข้างต้น มีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ ในวิกฤตการเมืองไทย พ.ศ.2557 มีความพยายามกล่าวอ้างที่จะใช้มาตรา 7 จากทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง นั่นคือ

ทางฝ่าย กปปส. โดย คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วง ประกาศเจตนาของ กปปส. เพื่อทวงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลมาคืนประชาชน เป้าหมายสูงสุดของ กปปส. คือกดดันให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากความเป็นหัวหน้ารัฐบาล เพื่อให้เกิดช่องว่างแห่งอำนาจ จากนั้นจะอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”

และมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

โดยเชื่อว่า ประเทศไทยเคยปกครองโดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง ฉะนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

ทางฝ่ายรัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย คุณชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คุณยิ่งลักษณ์พ้นสถานภาพรักษาการของนายกรัฐมนตรีจากกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย คุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐบาลจะต้องอยู่รักษาการต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จะเสนอทางออกให้รัฐบาลใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เพราะรัฐบาลไม่มีทางออกแล้ว

ขณะเดียวกัน การพยายามกล่าวอ้างว่าจะใช้มาตรา 7 ของทางฝ่ายรัฐบาล ก็ถูกตีความจากคุณคณิน ที่เป็นฝ่ายเดียวกันกับรัฐบาลว่า ไม่ได้มุ่งหมายที่จะใช้มาตรา 7 จริงๆ แต่น่าจะเป็นการ “น่าจะเป็นลักษณะของการพูดดักคอ หรือเอาไว้แก้เกมมากกว่า”

และ “ได้ผลอย่างหนึ่งตรงที่ว่าข้อเสนอของคุณชัยเกษมนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. เต้นได้เหมือนกัน ประมาณว่าของเล่นแบบนี้ฉันเล่นมาก่อน อยู่ๆ รัฐบาลจะหยิบมาเล่นได้อย่างไร และจริงๆ แล้วหากทำตามมาตรา 7 จริง ก็ยังหาคนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ไม่ได้ ใครจะเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพราะนายกฯ ก็คงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว”

จะสังเกตได้ว่า ในที่สุดแล้ว การกล่าวอ้างมาตรา 7 จากทั้งสองฝ่ายนี้ ส่งผลให้มาตรา 7 ลดทอนความสำคัญไปเป็นเพียง “ของเล่น” ทางการเมืองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ.2556-2557 ก็ได้ยุติลงชั่วคราวด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

อันส่งผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงโดยไม่มีข้อยุติว่า ตกลงแล้ว ในกรณีนี้ จะตีความมาตรา 7 กันอย่างไร?

แน่นอนว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินต่อไป แรงกดดันจากขั้วขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คล้ายๆ กับในกรณีวิกฤตรัฐธรรมนูญของอังกฤษในปี ค.ศ.1912-1913 ที่ นายโบนาร์ ลอว์ (Bonar Law) หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษได้กราบบังคมทูลต่อพระเจ้าจอร์จที่ห้าว่า “ไม่ว่าจะเลือกทางใด ครึ่งหนึ่งของพสกนิกรของพระองค์จะคิดว่าพระองค์ไม่ได้อยู่ข้างพวกเขา” (จาก Politics from inside; an epistolary chronicle, 1904-1914, หน้า 486-487)

และด้วยเหตุนี้เองที่ข้อความลงท้ายของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 1/2557 จึงลงท้ายไว้ว่า

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้อง เทิดทูน ดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง”