สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว – รุ่งอรุณแห่งอิสรภาพ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (จบ) รุ่งอรุณแห่งอิสรภาพ

“ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก ที่จะหักพาลแทรกแหลกเป็นผง

ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา”

อุชเชนี

“ขอบฟ้าขลิบทอง”

ในขณะที่ชีวิตของพวกเราดำเนินไปในแดนพิเศษด้วยการปรับตัวและปรับใจเพื่อเตรียมว่าเราอาจจะต้องอยู่ในคุกนานขึ้น

กล่าวกันว่าชีวิตที่ขมขื่นที่สุดในคุกนั้นอยู่ที่ 6 เดือนแรก แต่หากผ่านช่วงดังกล่าวไปได้ก็จะเริ่มปรับตัวด้วยความคุ้นชิน และทำใจกับการใช้ชีวิตในคุกได้

และว่าที่จริงแล้วพวกเราทั้ง 6 คนก็เริ่มคุ้นเคยกับชีวิตในบางขวาง

อีกทั้งต่อมายังมีการจับกุมเพิ่มอีก 1 คน และถูกส่งเข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเราคือ บุญชาติ เสถียรธรรมมณี คดี 6 ตุลาฯ ในเวลาต่อมาจึงกลายเป็น “กรุงเทพฯ 18+1” แต่ในขณะที่ชีวิตของพวกเราในแดนพิเศษเริ่มดำเนินไปแบบเรื่อยๆ ชีวิตภายนอกกลับร้อนแรงมากขึ้น

แม้ช่วงหนึ่งเราจะคุยกันเล่นๆ ในบางขวางว่า พวกเราอาจจะได้รับนิรโทษกรรมตอนฉลองกรุงเทพฯ 200 ปีในปี 2525

เพราะคาดกันว่าในช่วงนั้นน่าจะมีการทำบุญแผ่นดินด้วยการปล่อยนักโทษครั้งใหญ่เช่นในครั้งงานฉลองกึ่งพุทธกาลในปี 2500 แต่มองไม่ออกเลยว่าเราจะได้รับอิสรภาพอย่างไรภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเช่นนี้

รัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการชูประเด็นต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่งนั้น ไม่มีทางจะปล่อยให้พวกเราออกจากที่คุมขังอย่างแน่นอน เว้นแต่การเมืองในระดับมหภาคจะถึงจุดเปลี่ยน

แต่จะเปลี่ยนอย่างไรได้ ถ้าทหารยังทำหน้าที่เป็น “เปลือกหอย” เพื่อคุ้มครองรัฐบาลที่เป็นดัง “เนื้อหอย” อยู่… ชีวิตของ “รัฐบาลหอย” จึงดูจะเป็นอมตะภายใต้การคุ้มครองของทหาร

กบฏพลเอกฉลาด

ในวันนี้ เรื่องราวของการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะยังคงเป็นความลับอยู่มาก แต่ก็พอคาดการณ์ได้ว่า มีความพยายามมากกว่า 1 ฝ่ายที่จะก่อการยึดอำนาจในวันนั้น เพราะแม้ปีกขวาจัดจะเป็นเอกภาพในการต่อต้านขบวนการนักศึกษา แต่พวกเขาไม่เป็นเอกภาพในการจัดสรรอำนาจ และขณะเดียวกันโครงสร้างของอำนาจภายในกองทัพบกก็ไม่ได้เหมือนกับในอดีต ดังจะเห็นได้จากการก่อตัวของกลุ่มนายทหารระดับกลางเกิดขึ้นในช่องว่างแห่งอำนาจหลังจากการล้มลงของ “ระบบถนอม-ประภาส” ที่ควบคุมการเมืองและการทหารมาตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปี 2516

แม้โดยข้อเท็จจริง ชัยชนะของการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะตกเป็นของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับการเมืองไทยตอบได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจากกองทัพเรือจะเป็นผู้นำการยึดอำนาจ

เพราะผลพวงจาก “กบฏแมนฮัตตัน” (29 มิถุนายน 2494) กองทัพเรือถูกผลักออกไปจากวงจรอำนาจแล้ว

การยึดอำนาจในการเมืองไทยเป็น “รัฐประหารของกองทัพบก และโดยกองทัพบก” ทั้งหมด

การที่มีนายทหารยศพลเรือเอกเป็นหัวหน้ายึดอำนาจจึงบ่งบอกถึงความผิดปกติ

จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า แล้วใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจครั้งนี้

อีกทั้งใครบ้างที่พยายามจะยึดอำนาจในวันนั้น

ปริศนานี้ยังคงเป็นประเด็นที่ค้างคาใจคนรุ่นผมจนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างน้อยก็พออาจกล่าวได้ว่า สายขวาจัดบางส่วนกลายเป็น “ผู้แพ้” พร้อมกับพวกเรา

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่เมื่อ “สงครามปราบฝ่ายซ้าย” ยุติลงในวันที่ 6 ตุลาฯ “สงครามชิงอำนาจฝ่ายขวา” ก็เริ่มเปิดฉากขึ้น

ว่าที่จริงแล้วสงครามชุดนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ถึงแก่อนิจกรรม และจากช่วงเวลาดังกล่าวการต่อสู้แข่งขันภายในกองทัพก็เริ่มทวีความรุนแรง…

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

สัญญาณแรกเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2519 พลเอกฉลาด หิรัญศิริ หนึ่งใน “ห้าเสือ” กองทัพบกถูกย้ายเข้าประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด หรือ “ย้ายเข้ากรุ” ในทางทหาร

และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารระดับกลางในสายของพลเอกฉลาด

แต่สงครามชิงอำนาจชุดนี้ก็หยุดชะงักลงด้วยการล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และทหารในสายนี้ก็ถูกผลักออกจากวงโคจร

จนในที่สุดก็ตัดสินใจทำรัฐประหารในวันที่ 26 มีนาคม 2520 และประสบกับความพ่ายแพ้ (ดูบทความของผู้เขียน 9 ตอน เรื่อง “40 ปีรัฐประหาร 26 มีนาคม” ในมติชนสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์ตอนแรกเมื่อ 7 เมษายน 2560) หรือ คลิกที่นี่

คณะนายทหารชุดนี้ นำโดย พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ จึงกลายเป็น “นักศึกษารุ่น 2” ของมหาวิทยาลัยบางขวางต่อจากพวกเรา

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

แม้พลเอกฉลาดจะถูกส่งเข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเราเพียง 21 วัน และในวันที่ 21 เมษายน 2520 พลเอกฉลาดก็ถูกตัดสินยิงเป้าด้วยมาตรา 21…

ความขัดแย้งภายในกองทัพรุนแรงมากกว่าที่ผมคิด

ว่าที่จริงแล้วการตัดสินใจจัดการกับปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการเช่นนี้ก็เท่ากับบ่งบอกถึงการต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากวงการทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

โค่นรัฐบาลขวาจัด!

หลังจากกลุ่มนายทหารระดับกลางในสายของพลเอกฉลาดถูกทำลายไป กลุ่มทหารระดับกลางที่นำโดย พันตรีมนูญ รูปขจร และ พันตรีจำลอง ศรีเมือง (ยศในขณะนั้น) ที่ก่อตั้งขึ้นในราวปี 2516 กลุ่มนี้รู้จักกันในชื่อของ “ยังเติร์ก” และในเวลาต่อมาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

พวกเขาตัดสินใจเปิดเกมรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 3 มิถุนายน 2520 ทุกอย่างประสบความสำเร็จ

แต่ทว่า พลเอกเสริม ณ นคร กลับปฏิเสธที่จะรับบทบาทหัวหน้า

ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลขวาจัดกับกลุ่มนายทหารสายคุมกำลังนั้น มีความรุนแรงจนไม่อาจยุติได้ง่ายๆ แล้ว

และสำหรับพวกเราทั้งนักศึกษาคดี 6 ตุลาฯ และทหารคดี 26 มีนาฯ ล้วนส่งเสียงเชียร์ให้มีการล้มรัฐบาล 6 ตุลาฯ โดยเร็ว…

ทุกวันพวกเราจะรอคอยฟังข่าวความเคลื่อนไหวทางทหารจากพวกพี่ๆ ด้วยความตื่นเต้น แล้วก็อด “ลุ้น” ไปกับพวกเขาไม่ได้…

ชีวิตระหว่างผู้นำนักศึกษากับผู้นำทหารในบางขวางมีเรื่องร่วมกันที่สำคัญคือ การล้มรัฐบาลธานินทร์ พวกเราทั้งสองกลุ่มลุ้นเชียร์ให้ล้มรัฐบาลทุกวันทุกเวลา

ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 กลุ่มยังเติร์กตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้ง ในครั้งนี้มี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตอบรับเป็นหัวหน้า แต่พลเรือเอกสงัดก็ชิงประกาศการยึดอำนาจได้ก่อนเพราะข่าวรั่ว

และขณะเดียวกัน พันโทพัลลภ ปิ่นมณี ที่นำเอากำลังออกไปสกัดนายทหารเรือที่ถือประกาศการยึดอำนาจไปกรมประชาสัมพันธ์ ต้องเผชิญกับอุปสรรคแบบคนกรุงเทพฯ กำลังของพันโทพัลลภไปไม่ได้เพราะติดอยู่แถวบางลำพูเนื่องจาก “รถติดมาก” ถ้าพลเรือเอกสงัดเป็นฝ่ายชนะ เหตุปัจจัยของชัยชนะครั้งนี้จะมาจากปัญหารถติด… รัฐประหารกับการจราจรไทย!

การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเกรียงศักดิ์กำลังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ทางการเมือง แน่นอนว่าวันที่ประกาศยึดอำนาจสำเร็จนั้น เสียง “เฮ” ดังสนั่นแดนพิเศษ รัฐบาลขวาจัดถูกโค่นลงจากอำนาจแล้ว

ผู้นำทหารส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่านโยบายแบบขวาจัดที่เคยใช้เป็น “แกน” ของการต่อต้านขบวนนักศึกษานั้นกำลังเป็นปัจจัยโดยตรงต่อการขยายสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท

ยิ่งดำเนินนโยบายขวาจัดเท่าใด พคท. ก็ยิ่งเก็บเกี่ยวผลพวงได้มากขึ้นเท่านั้น

รัฐบาลขวาจัดที่กรุงเทพฯ กลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” อย่างดีให้แก่ พคท. และเป็นดังการ “สุมไฟกองใหญ่” ในการเมืองไทย

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว คำตอบจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า จะเปลี่ยนนโยบายได้ต้องเปลี่ยนรัฐบาลก่อน การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเกรียงศักดิ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย และจะต้องปรับให้ได้ทันก่อนที่ไทยจะกลายเป็นโดมิโน

ในด้านหนึ่ง เพื่อประนีประนอมกับปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพ ในการประชุมวาระแรกของรัฐบาลเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรมได้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับบรรดานายทหารคดี 26 มีนาฯ สัญญาณการปล่อยนักโทษการเมืองเพื่อ “ปรองดอง” เริ่มขึ้นแล้ว แม้จะเป็นในบริบทของฝ่ายทหารก็ตาม

สำหรับพวกเรากับพี่ๆ 26 มีนาฯ นั้น แม้ในช่วงแรกอาจจะเป็นความไม่คุ้นเคยกัน แต่พวกเราทั้งสองกลุ่มล้วนอยู่ในชะตากรรมเดียวกันที่ถูกคุมขังโดยรัฐบาลธานินทร์ การปรับตัวเข้าหากันทำให้ชีวิตในแดนพิเศษไม่ตึงเครียด

และหลายครั้งกลายเป็นความสนุกสนานของ “คนคุก” เช่น การหาเรื่องมาล้อเลียนรัฐบาล

การผ่อนคลายด้วยการเล่นตะกร้อหรือเล่นหมากรุก อันเป็นความริเริ่มของ “พี่หนั่น” ที่ดัดแปลงพื้นที่ใจกลางแดนให้กลายเป็นสนามตะกร้อ

ขณะเดียวกันการควบคุมของทางเรือนจำก็ดูจะผ่อนปรนมากขึ้น อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง มีวิทยุคอยฟังข่าวการเมืองทั้งภายในและภายนอก

ถ้าไม่คิดถึงเรื่องของอิสรภาพที่หายไปแล้ว ชีวิตในบางขวางก็ไม่ได้กดดันจนเราทานทนไม่ได้

สำหรับผมแล้ว ความผ่อนปรนที่สำคัญก็คือ การอนุญาตให้เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น

พวกพี่ๆ เอาหนังสือเข้ามาโดยเฉพาะ “หนังสือทหาร” ซึ่งทำให้ผมได้เริ่มอ่านหนังสือเหล่านี้

จนกระทั่งอาจารย์พิชัยแปลหนังสือ “The Art of War” ของซุนวู และผมคัดลอกคำแปลภาษาไทย อันทำให้มีโอกาสอ่านงานของซุนวูจริงๆ

ดังนั้น ชีวิตในบางขวางจึงเป็นจุดเริ่มต้นประการหนึ่งของการศึกษาเรื่องทหารและความมั่นคง

และทำให้ผมตัดสินใจชัดเจนกับชีวิตที่จะเป็น “นักวิชาการ” ในอนาคตมากกว่าจะไปรับราชการเป็น “ปลัดอำเภอ” แม้จะไม่รู้ว่าจะออกจากคุกเมื่อใดก็ตาม

อิสรภาพ

การคุมขังพวกเรากลายเป็นแรงกดดันกับรัฐบาลไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว กลุ่มทหารที่นำโดยพวกยังเติร์กและทหารสายปฏิรูปมีทัศนะคล้ายคลึงกันในการตัดสินใจปลดชนวนความขัดแย้งชุดนี้ด้วยการนิรโทษกรรม

ทหารในปีกที่ก้าวหน้าจึงหวังว่า หากตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ชนวนสำคัญประการหนึ่งของสงคราม พคท. จะถูกถอดออก

และต่อมาในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2521 “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519” ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ก็ผ่านสภา

โดยมีเหตุผลว่า การพิจารณาคดี “ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตไปทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังอธิบายว่า “ความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัย การขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด” สำเนียงเช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแถลงการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวว่า

“ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”

ต้องยอมรับว่าคืนวันที่ 15 ที่มีการประกาศนิรโทษกรรมแล้ว พวกเราตื่นเต้นกันมาก เป็นคืนที่นอนไม่หลับเลยด้วยความตื่นเต้นกับอิสรภาพที่กำลังจะมาถึง

อดคิดถึงคืนแรกของการถูกจับในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่กองปราบสามยอดไม่ได้

คืนนั้นพวกเรานอนไม่หลับด้วยความเครียด

เช้าวันที่ 16 กันยายน 2521 จึงเป็น “รุ่งอรุณแห่งอิสรภาพ” สำหรับพวกเรา ตอนสายๆ อาจารย์พิชัยแวะมาหาและนั่งคุย ผมยังจำคำอธิบายของอาจารย์ที่ว่า “รัฐบาลต้องการยุติสงครามกับนักศึกษา”

แล้วในที่สุดเรือนจำก็นำเอาพวกเราเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัว พวกเราทั้งหมดถูกปล่อยตัวที่เรือนจำกรุงเทพฯ… จำได้ว่าตอนที่เราออกจากบางขวางนั้น มีขบวนรถนักข่าวตามมาบันทึกภาพตลอดทาง

คุณป้าที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่ผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ กรุณามารอรับที่หน้าเรือนจำกรุงเทพฯ กลับไปนอนบ้านคืนแรก แปลกที่จนนอนไม่หลับเพราะรู้สึกไม่เคยชิน

ผมถูกจับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และวันที่ 12 ตุลาคม 2519 ก็เดินทางเข้าบางขวาง ถูกปล่อยตัวในวันที่ 16 กันยายน 2521

และรุ่งสางของเช้ามืดวันที่ 17 กันยายน พ่อกับแม่และย่าจึงมาถึง แม่โผมากอดพร้อมน้ำตา

ผมรู้สึกว่าชีวิตผมจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผมถูกจับตอนเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 จึงกลับมาเรียนพร้อมกับรุ่นน้องต่ออีกเทอมจึงจบรัฐศาสตรบัณฑิต

และเรียนรู้ว่าสงครามของคนรุ่นผมยังไม่จบ มีน้องๆ ที่จุฬาฯ หลายคนทอดร่างทิ้งไว้กลางป่า เพื่อนและน้องจุฬาฯ รวม 9 คนคือ “วีรชนจุฬาฯ กลางป่าเขา”

พวกผมเป็นเพียง “ทหารผ่านศึก” ที่โชคดีรอดชีวิตจากการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่วีรบุรุษอะไรทั้งสิ้น

และหลังจากนั้นไม่นานคนรุ่นผมก็ทยอยออกจากป่า และ “ป่าแตก”… สงครามของคนรุ่นผมไม่เคยจบ

แต่ไม่เคยคิดว่าสักวันพวกเรา ในฐานะ “มิตรร่วมรบ-เพื่อนร่วมอุดมการณ์” จะกลายเป็น “น้ำแยกสาย-ไผ่แยกกอ” ต้องรบกันเอง

แล้วเส้นทางชีวิตของ “คนเดือนตุลาฯ” ก็พลิกผันกันอีกครั้ง!