แพทย์ พิจิตร : รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย? (17)

AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย? (17)  : ภายใต้เกณฑ์ของ Varol (1)

 

สิ่งที่ Varol ไม่ได้กล่าวไว้ในงานวิจัยเรื่อง Democratic Coup d’etat ของเขาคือ ปัญหาเรื่อง “รัฐผุเสื่อม-รัฐล้มเหลว” แต่เราสามารถตีความได้ว่าการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะรักษาเยียวยาไม่ให้สภาวะที่เริ่มผุเสื่อมของรัฐทรุดตัวลงไปจนเกิดสภาวะสงครามกลางเมืองที่ทำให้การเยียวยาฟื้นฟูกลับคืนยากลำบากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน ก็พึงสังเกตตามที่ Charles T. Call ได้กล่าวไว้ใน The Fallacy of the ‘Failed State’ ว่าในกรณีของ War-torn states หรือรัฐที่มีสงครามแบ่งแยกดินแดนหรือช่วงชิงอำนาจอธิปไตย นั่นคือ สภาวะสงครามกลางเมืองย่อมนำมาซึ่งความล่มสลายของรัฐได้ แต่กระนั้น สงครามก็สามารถเป็นกลจักรขับเคลื่อนสู่การก่อตัวกลับคืนมาของรัฐ (state formation) ได้ด้วย ไม่จะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

นั่นคือ การสู้รบจนแตกหักถึงที่สุดที่ทำให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่าใครคือผู้กุมอำนาจอธิปไตย

ซึ่งในกรณีของไทย ยังไม่ได้เข้าสู่สภาวะเช่นนั้น!

 

ขณะเดียวกัน ก็ไม่แน่ใจว่า การสู้รบจนกว่าจะแตกหักรู้แพ้ชนะจะต้องกินเวลานานเท่าใด และต้องเสียเลือดเนื้อมากแค่ไหน

และกว่ารัฐจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปรกติจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูมากน้อยเพียงไร

คนแนวซาดิสต์-มาโซคิสต์เท่านั้นที่สนใจแนวทางเช่นนี้

และอาจรวมทั้งปัญญาชนประเภท “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”

 

ต่อไปคือ เกณฑ์ข้อที่สามในทั้งหมดเจ็ดข้อของ Varol ที่เป็นมาตรวัดว่ารัฐประหารใดเป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย

เกณฑ์ที่ว่านี้คือ ในการ “รัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย” ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ/อำนาจนิยมปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจในการสนองตอบข้อเรียกร้องของประชาชน เราจะพบว่า ในที่สุดแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจในการตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

และผู้เขียนเห็นว่า การยุบสภาดังกล่าวของยิ่งลักษณ์เป็นไปตามหลักเกณฑ์การยุบสภาตามครรลองของระบอบรัฐสภา

แต่กระนั้นการยุบสภาของยิ่งลักษณ์กลับไม่ได้รับการยอมรับ เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประสบกับวิกฤตความชอบธรรม

การที่ประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองตามกติกา อีกทั้งก่อนหน้านี้คู่ขัดแย้งทางการเมืองต่างก็แสดงการไม่ยอมรับในกฎกติกาและคำตัดสินของสถาบันทางการเมืองต่างๆ

สภาวการณ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสภาวะที่เรียกได้ว่าเป็นสภาวะของรัฐผุเสื่อม (state decay) ตามกรอบทฤษฎีแนวคิดที่ได้กล่าวไปในครั้งก่อนๆ อีกทั้งก่อนหน้าการยุบสภา

และสภาวะเริ่มต้นของอาการรัฐผุเสื่อมนี้อาจจะนำรัฐไทยเข้าสู่กระบวนการถดถอยเสื่อมโทรมลงไป (process of deterioration) จนเป็นรัฐล้มเหลวหรือรัฐพังทลาย (collapsed state) ได้ในที่สุด

และเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่ทำให้กองทัพในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่เหลืออยู่ที่ยังพอมีประสิทธิภาพและไม่แตกแยกเหมือนสถาบันอื่นๆ ในสังคมทำการรัฐประหาร

ซึ่งผู้เขียนจักได้วิเคราะห์ในรายละเอียดในประเด็นนี้ต่อไปโดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่ Varol อธิบายกองทัพในฐานะที่เป็นตัวแสดงที่ตัดสินใจกระทำการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง (self-interested actor) ซึ่ง Varol อธิบายภายใต้ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice theory)

และผู้เขียนจะวิเคราะห์การตัดสินใจทำรัฐประหารของกองทัพไทยโดยเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

 

เกณฑ์ข้อที่สี่ คือ รัฐประหารโดยกองทัพได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้คนภายในประเทศ และทหารส่วนใหญ่ของกองทัพจะเป็นกำลังพลที่มาจากการเกณฑ์ทหารจากประชาชน

สำหรับเกณฑ์ข้อนี้ Varol กล่าวว่า รัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีกองทัพที่มีความเป็นอิสระ (the Interdependent Militaries)

และกองทัพแบบนี้เกิดขึ้นได้จากการที่ประเทศนั้นมีการบังคับการเกณฑ์ทหาร (mandatory national conscription) ทำให้กองกำลังพลของกองทัพโดยส่วนใหญ่เป็นทหารเกณฑ์ ไม่ใช่ทหารอาชีพ มีความใกล้ชิดผูกพันกับประชาชนพลเมืองโดยทั่วไปมากกว่าทหารอาชีพ

Varol เห็นว่า กองทัพของทหารที่มีกำลังพลส่วนใหญ่ที่เป็นทหารเกณฑ์จะแตกต่างจากกองกำลังทหารอาชีพ Varol เรียกทหารแบบนี้ว่า ทหาร-พลเมือง (citizen-soldiers)

และทหาร-พลเมืองมักจะไม่ฉ้อฉลและเป็นสถาบันที่มีเสถียรภาพไม่ถูกครอบงำและเป็นเครื่องมือให้กับผู้ปกครองเผด็จการ

Varol ยกตัวอย่างทหารในตุรกีว่าเป็นสถาบันที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจมากที่สุดจากประชาชน (แต่จากรัฐประหารที่ล้มเหลวล่าสุดในตุรกี Varol อาจจะต้องหันมาศึกษาทัศนคติล่าสุดของชาวตุรกีที่มีต่อกองทัพ!!)

Varol ชี้ว่า กองทัพที่ส่วนใหญ่เป็น “ทหาร-พลเมือง” จะมีความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมสนับสนุนเผด็จการทหารน้อยกว่ากองทัพที่เป็นทหารอาชีพ และมีแนวโน้มที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของสาธารณชนมากกว่า

และด้วยเหตุนี้ Varol เชื่อว่า กองทัพแบบนี้มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะทำการรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย

 

ถ้าพิจารณากองทัพไทยจากเกณฑ์ข้างต้น จะพบว่า ประเทศไทยมีระบบการเกณฑ์ทหารทั่วไป ทำให้กำลังพลส่วนใหญ่ของกองทัพไม่ใช่ทหารอาชีพ อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า กองทัพไทยเป็นกองทัพที่มีความเป็นอิสระ (Independent Military) และมีแนวโน้มที่จะไม่ฉ้อฉลและมีแนวโน้มที่จะฟังเสียงประชาชน มากกว่าจะเป็นเครื่องมือของผู้นำเผด็จการทหาร

แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่คือ กองทัพไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่งนับตั้งแต่สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา และได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ที่จะต้องจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

และอย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปแล้วว่า นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ในสังคมไทย ยังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และความเห็นต่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายปมประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น กบฏบวรเดช พ.ศ.2490 หรือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเห็นต่างที่ว่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตการเมืองไทย นั่นคือ ปัญหาของระบอบการเมืองการปกครองไทยที่ถูกมองว่า ยังไม่ก้าวข้าม “ช่วงปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงการปกครอง”

ถือว่าเป็น “การปฏิวัติที่ยังไม่จบสิ้น” (Unfinished Revolution) หรือเป็น “การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ ยังไม่ลงตัว” (Unsettled Changes)

สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นประเด็นของการถูกนำไปอ้างเพื่อความชอบธรรมในการต่อสู้เอาชนะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

แต่ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมสูงสุดหนึ่งเดียวในสังคมไทยที่สามารถยุติความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วย

เช่นในกรณี 14 ตุลาคม 2516 และกรณีพฤษภาทมิฬ 2535

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดเช่นนี้จะเป็นสถาบันที่สามารถถูกนำไปสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างน่าสะพรึงกลัวด้วยเช่นกัน

ดังในกรณี 6 ตุลาคม 2519

และนอกจากจะเป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมสูงสุดหนึ่งเดียวในสังคมไทยที่สามารถทั้งยุติและถูกนำไปเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองแล้ว

ขณะเดียวกัน กล่าวได้ว่า ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2500 การทำรัฐประหารจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น หาได้มีความเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่

แต่หลังจาก พ.ศ.2500 สถาบันพระมหากษัตริย์ค่อยๆ เริ่มเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการทำรัฐประหาร

และมีความชัดเจนเด็ดขาดในเหตุการณ์ความพยายามทำรัฐประหารที่นำโดย พลเอกสัณฑ์ จิตรปฏิมา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 ที่ยืนยันและพิสูจน์ได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการพยายามทำรัฐประหารในสมัยที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความพยายามทำรัฐประหารของ พลเอกสัณฑ์ จิตรปฏิมา ล้มเหลวก็คือ การที่พลเอกสัณฑ์เคยมีข่าวพัวพันในกรณีสังหารประชาชนจำนวนราว 1,000-3,000 คนในจังหวัดพัทลุงในช่วงปี พ.ศ.2515 ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อปฏิบัติการ “ถีบลงเขาเผาถังแดง”

ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ถูกเปิดเผยโดยทางการสหรัฐอเมริกาหลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้วกว่าสี่สิบปี

แต่ข้อมูลดังกล่าวนี้น่าจะเป็นที่รู้กันภายในทหารระดับสูงของไทยมาก่อนแล้ว

และเพิ่งปรากฏในบทความวิชาการของ Matthew Zipple เรื่อง “Thailand”s Red Drum Murders Through an Analysis of Declassified Documents,” ในวารสาร Southeast Review of Asian Studies, Volume 36 (2014), pp. 91-111.