มองปรากฏการณ์ นางแบก ‘สไตรก์’ จาก ‘ภูมิธรรม’ และ ‘คนนอก’ ปรับระบบสื่อสารใน พท.-รับมือ ‘ก้าวไกล’

“ประกาศ! #นางแบกStrike นัดหยุดงานประท้วงการสื่อสารพรรคเพื่อไทย ช่วงวันอภิปรายงบปี 67 เป็นเวลาอย่างต่ำ 7 วันนะคะ”

ส่วนหนึ่งของคำประกาศจาก “สหภาพนางแบก” บนเพจเฟซบุ๊ก “อินโฟนางแบก” สะท้อนถึงปัญหาบางประการภายในพรรคเพื่อไทย ก่อนที่ในเวลาต่อมา ผู้ใช้บัญชีเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) “อึ่งไข่สามย่าน” จะขยายความกรณีดังกล่าว มีเนื้อความบางส่วนดังนี้

“เห็นด้วยที่มีการ call out การสื่อสารของพรรคจากกลุ่มนางแบก นางแบกเป็นกลุ่มคนที่มองโลกเชิงบวกมากสุด เป็นพวกจอยชีวิต และเอาเอเนจี้เชิงบวกออกมาสนับสนุนการทำงานของนายกฯ ของพรรค และรวมไปถึงของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เมื่อต้องโต้แย้ง ก็แย้งด้วยความภูมิใจ ส่วนมากก็พยายามใช้เหตุผลให้มากที่สุดแล้ว”

“แหล่งอ้างอิงทางความคิด แหล่งข้อมูล และแหล่งพักใจ ไม่ควรตกเป็นภาระของนางแบกทุกคน รวมทั้งตัวมัมแบบ ‘พี่แขก’ ด้วย มันควรเป็นภาระของการสื่อสารจากพรรคเพื่อไทย ใช่มั้ยครับ”

“แต่ยังเชื่อว่าการส่งข้อความไปยัง ‘พรรคเพื่อไทย’ โดยตรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่สุด สำหรับกลุ่มนางแบกที่ทำงานหนักทั้งกายและใจ มาถึงวันนี้พวกเราเรียกร้องภาระหลักของพรรค คือการเป็นเสาหลัก การเป็นหลังพิง และการเป็นแหล่งอ้างอิง ให้กับผู้สนับสนุนของพรรค ไม่ใช่เรื่องเกินเลย”

 

ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีความเคลื่อนไหวจากบัญชีเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

“เสียงวิจารณ์จากนางแบก

…เราน้อมรับฟังด้วยความเคารพรัก

…จากนี้ไป คือนำคำวิจารณ์นี้ + คำวิจารณ์อื่นๆ ไปคิดและทบทวนบทเรียนโดยเร็ว

…เรา รับรู้และตระหนักได้ถึงความห่วงใย และความคาดหวัง ที่มีต่อเรา และจะเร่งปรับปรุงให้สมความมุ่งหวังของทุกคน”

 

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงสถานะ “การมีตัวคนและดำรงอยู่” ของเหล่านางแบกพรรคเพื่อไทย

หากถามว่าคำประกาศของ “เหล่านางแบก” มีเหตุปัจจัยมาจากไหน อย่างไร

เหตุหนึ่งอาจมาจากปัจจัยภายใน เรื่องการสื่อสารภายในพรรค

เหตุหนึ่งอาจมาจากปัจจัยภายนอก อันมาจากการเดินหมากของพรรคก้าวไกล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับบทบาทของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เรื่องปัญหาของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ซึ่งพรรคก้าวไกลสามารถ “ยึดครองพื้นที่สื่อ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ปฏิกิริยาของเหล่านางแบกพรรคเพื่อไทย ทำให้เห็นเป็นที่ชัดเจนว่า การขับเคี่ยวกันด้วยวาทกรรมทางการเมือง ที่ดำเนินมาตลอดปี 2566 คงจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นในปี 2567

 

“ใบตองแห้ง” อธึกกิต แสวงสุข กล่าวในรายการ The Politics X ใบตองแห้ง (รับชมได้ทางช่อง YouTube มติชนทีวี) วิเคราะห์นางแบกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคนนอก สรุปความได้ว่า ที่ผ่านมาพฤติกรรมของนางแบก เพื่อปกป้องรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะผลักคนที่วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย 1.กลุ่มอนุรักษนิยมหัวเก่า กับ 2.กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ด้อมส้ม” รวมเข้าด้วยกัน เพื่อแปะป้ายว่าเป็น “สลิ่ม”

ขณะเดียวกัน ก็ทวงถามหรือมีความรู้สึกว่าสื่อมวลชน นักวิชาการ ไม่ให้ความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทย หากเทียบกับเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคการเมืองที่เล่นบทบาทนำต่อต้านการรัฐประหาร-ตุลาการภิวัฒน์ ในช่วงปี 2549 และ 2557

สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องระมัดระวัง คือกลุ่มด้อมส้ม คนรุ่นใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้มีการแสดงออกทางอารมณ์สูง มีความดราม่า มีความแรง ประเมินผลที่ตามมาในเรื่องต่างๆ ได้ยาก เพราะแม้แต่กับ ส.ส. 2 คนของพรรคก้าวไกลที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ กลุ่มด้อมส้มก็ไม่ได้ปกป้องหรือละเว้น

ขณะที่ฝั่งนางแบกก็ต้องปรับตัว เพราะที่ผ่านมาการให้เหตุผลในเรื่องต่างๆ อ่อนลงไปเรื่อยๆ แม้แต่สภาพความย่ำแย่ของ “หมอชิต 2” ยังมีนางแบกเข้าไปแบก เข้าไปปกป้อง

 

“ใบตองแห้ง” ระบุว่า ถามว่าพฤติกรรมของนางแบกพรรคเพื่อไทย มีที่มาจากอะไรนั้น มีหลากหลายที่มา

1. มาจากความรู้สึกรัก ผูกพันพรรคเพื่อไทย และโกรธพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพราะโทษว่าการตั้งพรรค อนค. ทำให้พรรคตัดคะแนนกันเองกับพรรคเพื่อไทย ทำให้แพ้การเลือกตั้งในหลายพื้นที่

2. มาจากความไม่เข้าใจเรื่องบทบาททางการเมืองของพรรคก้าวไกล โดยเวลามองบทบาทของพรรคก้าวไกล ต้องมองเป็นทัพหน้า มองพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) เป็นทัพใหญ่ ซึ่งบทบาททัพหน้าต้องแหลมคม ทะลุทะลวง ส่วนทัพใหญ่ต้องไปหาพันธมิตรในวงกว้าง แต่นางแบกยอมรับไม่ได้ที่พรรคก้าวไกลแหลมคมกว่า ดูเหมือนก้าวหน้ากว่า ขณะเดียวกันกองเชียร์พรรคก้าวไกลก็จะรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยล้าหลังกว่า มันก็ปะทะซึ่งกันและกัน

3. นางแบกบางส่วน มาจากความรู้สึกผูกพันกับเสื้อแดง มีความรู้สึกว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยแพ้มันจะเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่รู้ว่าต้องอธิบายยังไง แต่มีความรู้สึกแบบนี้อยู่เยอะ ทั้งที่คนเสื้อแดงจำนวนมากก็ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ข้ามมาเป็นส้มก็เยอะ แต่มีจำนวนหนึ่งรู้สึกอย่างนี้

4. มาจากคนที่เจ็บปวดจากคำดูถูกคนชนบทว่าโง่ จน เจ็บ ทำให้เขา Romanticize ประชาธิปไตยแบบชนบท เกลียดการเมืองดี คนดี มองการเมืองใสสะอาดเป็นเรื่องโกหก ดัดจริต เมื่อการเมืองแบบพรรคก้าวไกลรุกเข้ามา คนกลุ่มนี้ก็ปกป้องการเมืองบ้านใหญ่ ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นไปดูถูกคนชนบทว่าถูกซื้อ ทำให้เกิดการเมืองบ้านใหญ่ผูกขาด

แต่ “ใบตองแห้ง” มองว่า คนกลุ่มนี้ต้องปรับความคิด เพราะเมื่อดูจากผลการเลือกตั้ง 2566 ประชาชนเลือก ส.ส.เขต จากกลุ่มบ้านใหญ่ แต่เลือกปาร์ตี้ลิสต์เป็นพรรคก้าวไกล แสดงว่าประชาชนเข้าใจว่ายังต้องพึ่งพิงการเมืองระบบอุปถัมภ์แบบบ้านใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็อยากเปลี่ยน ต้องการการเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ทำให้มองได้ว่าการเมืองไทยกำลังจะยกระดับขึ้นแล้ว

5. มาจากคนที่มองว่าตนมีวุฒิภาวะมากกว่า ต้องเชียร์พรรคเพื่อไทยเพื่อการประนีประนอม เพราะสังคมต้องประนีประนอม แต่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคมุทะลุ หัวชนฝา มุมมองนี้พบมากในกลุ่มส้มที่เปลี่ยนเป็นแดง

แต่จริงๆ แล้วเราต้องเข้าใจว่า การประนีประนอมมันอยู่บนการต่อสู้ต่อรองอย่างหนึ่ง ทุกอย่างในการต่อสู้คือการประนีประนอม เพราะมันลงเอยด้วยการเจรจาต่อรอง มันไม่ได้บอกว่าต้องไปหักซึ่งกันและกัน

 

“ใบตองแห้ง” ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่คนแบกพรรคเพื่อไทยต้องเข้าใจ คือเรื่องการข้ามขั้ว มันไม่ได้แค่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยโกหก แต่มันเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยหักกับจุดยืนที่ตัวพรรคเองต่อสู้มา 17 ปี ซึ่งคนรับไม่ได้

สิ่งต่างๆ อาจจะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เพราะหลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คนจำนวนไม่น้อยตั้งใจเลือกพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นพรรคอันดับสอง แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมาเกิดไม่เป็นไปตามคาด

แต่พฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยในช่วงตั้งรัฐบาลต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะกลายเป็นว่าหลังบันทึกความเข้าใจ (MOU) 8 พรรคที่นำโดยพรรคก้าวไกลแตก พรรคเพื่อไทยไม่ต่อรองอะไรเลย ทั้งที่ต่อรองได้ดีกว่านี้มาก นี่คือการพูดในบริบทที่ตัด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ออกจากสมการที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พูดในเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีชื่อเศรษฐา ทวีสิน แล้วให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ใช้เวลาต่อรองตั้งรัฐบาลให้นานขึ้น ใช้อำนาจของประชาชน คัดง้างกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ใช่บอกว่ารอ 8 เดือนไม่ได้ เดี๋ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย สิ่งนี้เป็นเรื่องตลก แต่กับโอกาสที่เกิดขึ้น ข้อต่อรองของพรรคเพื่อไทยกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

นั่นคือสิ่งที่นางแบกต้องยอมรับ และควรเลิกเถียงได้แล้ว

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024