ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (8)

ภายหลังจากคดี Minerva Mills Ltd. v. Union of India แล้ว ศาลสูงสุดของอินเดียก็ยังคงยืนยันเข้าไปตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่ากระทบกับโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยศาลสูงสุดไม่เพียงแต่ตรวจสอบกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งหลังๆ ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมาเท่านั้น

แต่ศาลสูงสุดยังมีโอกาสย้อนกลับไปตรวจสอบว่ากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอดีตตั้งแต่ช่วงปี 1950 นั้นขัดกับโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) หรือไม่

ในคดี Waman Rao v. Union of India ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1981 ศาลสูงสุดได้ตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ปี 1951 และครั้งที่ 4 ปี 1955 ซึ่งกำหนดให้มีตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 เพื่อระบุรายชื่อกฎหมายที่ได้รับรองว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

แต่ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่กระทบกับโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลสูงสุดยืนยันว่าการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองให้กฎหมายกลุ่มหนึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอนั้นสามารถทำได้ ไม่กระทบกับโครงสร้างพื้นฐานก็ตาม แต่ศาลสูงสุดก็ยังค้นหาวิธีการเข้าไปตรวจสอบบรรดากฎหมายที่รัฐธรรมนูญได้รับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้แล้วนั้นว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลสูงสุดในคดี Maharao Sabib Shri Bhim Singhji v. Union of India ได้ตรวจสอบว่ากฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 มีผลยกเลิกหรือตัดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งจะทำให้กฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 ปี 1951 ได้รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้แก่กฎหมายเหล่านี้แล้วก็ตาม

โดยศาลสูงสุดในคดีนี้ได้อ้างหลักการโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันว่าศาลมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเหล่านี้

ศาลสูงสุดให้เหตุผล การตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานโดยองค์กรตุลาการนั้นถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ต่อให้รัฐธรรมนูญได้รับรองให้กฎหมายกลุ่มหนึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้ว ก็ไม่ส่งผลเป็นการตัดอำนาจของศาลในการตรวจสอบว่ากฎหมายเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผลจากคดี Maharao Sabib Shri Bhim Singhji v. Union of India เท่ากับว่าการตรากฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองให้กฎหมายจำนวนหนึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอนั้น ไม่ส่งผลให้กฎหมายเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอไปและโดยอัตโนมัติแต่อย่างใด แม้ศาลสูงสุดยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้สามารถทำได้ และรายการกฎหมายที่ถูกรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

กล่าวให้ถึงที่สุด ในความเห็นของศาลแล้ว กฎหมายเหล่านี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับรัฐธรรมนูญบอกให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ขึ้นกับว่าศาลจะวินิจฉัยให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

นับตั้งแต่นั้น ศาลสูงสุดก็มีโอกาสตรวจสอบกฎหมายที่อยู่ในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 อยู่เสมอ กรณีล่าสุด คือ คดี IR Coelho v. State of Tamil Nadu ลงวันที่ 11 มกราคม 2007

การต่อสู้กันในอินเดียระหว่างรัฐสภาผู้ทรงอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญกับศาลสูงสุดผู้ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนานราวกับมหากาพย์รามเกียรติ์ นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การปะทะขัดแย้งกันระหว่างคู่นี้ได้ดำเนินเรื่อยมา จนในที่สุดก็ตกผลึก และอาจได้ข้อสรุป ดังนี้

1) รัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทุกบทบัญญัติทุกมาตรา ทั้งนี้ ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 368

2) แม้รัฐสภาจะมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา แต่ก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดในทางเนื้อหาที่ว่า ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนส่งผลกระทบต่อ “โครงสร้างพื้นฐาน” (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ

3) รัฐธรรมนูญอินเดียไม่มีบทบัญญัติใดที่เป็นข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางเนื้อหา อีกนัยหนึ่ง คือ ไม่มีบทบัญญัตินิรันดร (Eternity Clause) แบบรัฐธรรมนูญเยอรมัน แต่ศาลสูงสุดอินเดียเป็นผู้สร้างหลัก “โครงสร้างพื้นฐาน” (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง เพื่อจำกัดอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

4) รัฐธรรมนูญอินเดียไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทบกับโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลสูงสุดอินเดียประกาศอำนาจนี้ขึ้นเอง

5) เพื่อเกิดความแน่นอนชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบต่อเรื่องใดบ้างจึงจะถือว่าไม่กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ นักวิชาการและศาลจึงพยายามสกัดและสรุปออกมาว่า โครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญประกอบด้วยเรื่อง ดังต่อไปนี้

– สหพันธรัฐ

– สาธารณรัฐ

– นิติรัฐ

– ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

– การแบ่งแยกอำนาจ

– วัตถุประสงค์ที่รับรองไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ

– การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยองค์กรตุลาการ

– การแยกรัฐออกจากศาสนา

– ประชาธิปไตย

– ความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของชาติ

– ระบบรัฐสภา

– แก่นของสิทธิขั้นพื้นฐาน

– ความเป็นอิสระของศาล

ในประเทศไทย ช่วงปี 2555-2556 เมื่อครั้งมีความพยายามขัดขวางไม่ให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีผู้รู้ได้กล่าวอ้างกรณีของอินเดียเพื่อสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่อาจนำกรณีของอินเดียมาอธิบายกับกรณีของประเทศไทยได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายอินเดียแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกับไทยอย่างสิ้นเชิง ดังนี้

ประการแรก อินเดียใช้ระบบกระจายอำนาจออกไปให้ศาลทุกศาลตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศที่เลือกใช้ระบบนี้ ศาลทุกศาลต่างมีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายทั้งหลาย กฎ การกระทำทางปกครอง การกระทำของรัฐทั้งหลาย ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลอินเดียประกาศอำนาจขึ้นเองเพื่อเข้าไปตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น “กฎหมาย” จึงต้องถูกตรวจสอบได้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ

ในขณะที่ประเทศไทยใช้ระบบรวมอำนาจการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจดังกล่าว

ประการที่สอง แม้อินเดียกับสหรัฐอเมริกาจะใช้ระบบกระจายอำนาจออกไปให้ศาลทุกศาลควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติเรื่องข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ เมื่อเกิดประเด็นในคดีว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญละเมิดข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีอำนาจตรวจสอบประเด็นดังกล่าว

ในขณะที่อินเดียนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดเรื่องข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหาเลย แต่ศาลสูงสุดอินเดียสร้างขึ้นมาเองผ่านหลักโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 ของไทย แม้มีบทบัญญัติห้ามมิให้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ตาม แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นใดมีอำนาจตรวจสอบว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมละเมิดข้อห้ามนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันเป็นผลพวงของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งพึ่งผ่านกระบวนการที่ไม่ใช่การออกเสียงประชามติอย่างแท้จริง แต่ถูกเรียกว่าเป็นการออกเสียงประชามตินั้น ได้จัดการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้