แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (25)

ตามความเห็นของผู้เขียน เมื่อประมวลสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 13 ครั้ง จะพบว่า มีสาเหตุหลักในการยุบสภาดังนี้คือ

1. ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา 2 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2481, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2529)

2. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 4 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2519, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2531, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2538, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2539)

3. ครบวาระ 3 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2488, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2543, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2548)

4. สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา 2 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2526, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556)

5. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554)

6. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง 1 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2535)

 

ขณะเดียวกัน ในการยุบสภาบางครั้ง อาจมีสาเหตุมากกว่า 1 ข้อ เช่น การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 ในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 มีสาเหตุมาจาก

1. รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

2. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล และการเลือกจังหวะเวลาในการยุบที่คาดหวังว่าจะได้เปรียบในทางการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร

และในการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 ที่มีสาเหตุจาก

1. ความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา

และ 2. ความขัดแย้งภายในสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งในงานวิจัยของ หนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ ที่ศึกษาการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยจนถึง พ.ศ.2553 ก็เห็นด้วยและได้กล่าวไว้ว่า

“จากเหตุการณ์การยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 11 ครั้ง (เนื่องจากการศึกษาวิจัยนี้สิ้นสุดลงที่การยุบสภา พ.ศ.2549 จึงยังไม่รวมการยุบสภา พ.ศ.2554 ในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และการยุบสภา พ.ศ.2556 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี—ผู้เขียน) แสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่หลากหลาย ซึ่งการยุบสภาในแต่ละครั้งอาจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุประการใดประการหนึ่งเพียงประการเดียวเท่านั้น อาจมีสาเหตุหลายปัจจัยประกอบกันจนมีการยุบสภาเกิดขึ้น”

 

ขณะเดียวกัน เมื่อสืบค้นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรและปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย จะพบว่ามีงานวิจัย 3 ชิ้น โดยเริ่มจาก กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง เรื่อง “การยุบสภาในประเทศไทย” (2530)

หนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ เรื่อง “ปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎร” (2553)

และ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ เรื่อง “การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย” (2554)

จะพบความเห็นของทั้งสามพ้องต้องกันกับผู้เขียนเกี่ยวกับสาเหตุในการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2529 และความเห็นต่อสาเหตุของการยุบสภาหลัง พ.ศ.2529 จนถึงการยุบสภา พ.ศ.2543 หนึ่งฤทัยและตวงรัตน์ ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เขียน

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาการยุบสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ พ.ศ.2481-2529 แม้ว่าจะเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและตามหลักการของระบบรัฐสภา แต่กระนั้น กาญจนาได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“จากประสบการณ์และความเป็นจริงของไทย จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เกรงการตอบโต้จากสภา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรของไทยอ่อนแอ เป็นเหตุให้สภาเสียเปรียบฝ่ายบริหาร ซึ่งมีผลเสียต่อศรัทธาของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

แต่สำหรับการยุบสภา พ.ศ.2549 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ในงานวิจัยของตวงรัตน์ มิได้มีข้อสังเกตเห็นถึงความผิดปรกติแต่อย่างใด

แต่ในงานของหนึ่งฤทัย ได้เขียนสรุปให้ความเห็นถึงสาเหตุการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 11 ครั้ง นั่นคือ ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475-2549 ที่มีการยุบสภาครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2549 ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไว้ว่า

“จากการศึกษาเหตุการณ์ยุบสภายังทำให้ทราบอีกว่า เหตุผลการยุบสภารวมทั้งคำชี้แจงทั้งหลายเกี่ยวกับการยุบสภาที่ปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎรและในคำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นจริงดังเนื้อความที่ปรากฏอยู่หรืออาจเป็นการเขียนเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุหรือเหตุผลในการยุบสภาจะเกิดจากสิ่งใดหรือจะเขียนไปในแนวทางใด สามารถกระทำได้ทั้งสิ้น เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ ดังนั้น สาเหตุของการยุบสภาจึงเปิดกว้างมาก การยุบสภาจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

 

ผู้เขียนขอย้ำความเห็นของหนึ่งฤทัย ที่ยืนยันว่า การยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตามที่ประกาศไว้อย่างไรในพระราชกฤษฎีกา รวมทั้งเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม เพราะการยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การยืนยันในเรื่องการยุบสภาของเธอนั้นยึดหลักการให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน เธอก็ยอมรับว่า การกระทำได้ตามบทบัญญัติข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอาจจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ได้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากกฎหมายลายลักษณ์อักษรอาจไม่สามารถให้ความชอบธรรมต่อการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วอะไรจะไปตัวกำกับให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้ อันทำให้สาเหตุของการยุบสภาเปิดกว้างมากอยู่กรอบของความชอบธรรมได้?

 

การวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ที่กระทำได้ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แต่เป็นการยุบสภาที่ไม่ชอบธรรม? : กฎหมายลายลักษณ์อักษร กับ ประเพณีปฏิบัติ

เหตุผลในการยุบสภาของอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๖๘-๒๐๐๑ เหตุผลในการยุบสภาทั่วไปไม่เฉพาะอังกฤษ (จากการศึกษาของ Markesinis จนถึง ค.ศ. ๑๙๗๐) เหตุผลในการยุบสภาจากการศึกษาวิจัยของสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance) นำเสนอเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

– ความขัดแย้งระหว่างสองสภา

– สภาใกล้หมดวาระ

– ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา

– สภาไม่สามารถเป็นทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้เลือกตั้งได้

– ปัญหาการเมืองภายในพรรค

– ขอให้ประชาชนตัดสินบางประเด็นของนโยบายสาธารณะ

– เกิดสภาวะที่เรียกว่า hung parliament นั่นคือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่อ่อนแอ จึงตัดสินใจให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และผลการเลือกตั้งทำให้มีพรรคที่ได้

คะแนนเสียงข้างมากในที่สุด

-รัฐบาลสูญเสียความไว้วางใจในสภา

– พรรคฝ่ายรัฐบาลสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในสภาจากการลงมติต่อร่างกฎหมายที่สำคัญ

– รัฐบาลสูญเสียความไว้วางใจในสภา

รัฐบาลหวังจะทำให้สถานะของตนเข้มแข็งขึ้นโดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าพอใจกับผลงานที่ผ่านมาหรือนโยบายที่จะนำเสนอขึ้นใหม่

– ในบางประเทศ หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับไม่มีผู้ครองราชย์บัลลังก์ (ในกรณีระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ) ต้องมีการยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาใหม่ โดยเป็นที่รู้กันว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกไปครั้งนี้ จะทำหน้าที่ลงมติรับรองผู้สืบราชสันตติวงศ์

– มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสองประการหลังนี้ การยุบสภาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (เฉพาะในประเทศเบลเยี่ยม เกิดขึ้นถึง ๕ ครั้งจากสาเหตุแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ปี ค.ศ. ๑๘๙๒, ๑๙๑๙, ๑๙๕๔, ๑๙๕๘, ๑๙๖๕) – การยุบสภาในฐานะที่เป็นหนทางในการบังคับวินัยพรรคและสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร

– การยุบสภาในฐานะตัวเร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

– การยุบสภาในฐานะที่เป็นทางออกจากทางตันที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันทางการเมือง

– การยุบสภาในฐานะที่เป็นหนทางในการสนับสนุนอำนาจที่ได้รับความนิยมจากประชาชนของรัฐบาล

– การยุบสภาเพื่อได้อาณัติจากประชาชนหลังการเปลี่ยนรัฐบาล

– การยุบสภาในฐานะที่เป็นหนทางที่จะหยั่งเสียงประชาชนต่อประเด็นสำคัญ

– การยุบสภาในฐานะที่เป็นหนทางที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบในการเลือกตั้ง