ปรากฏการณ์ ‘คำพูดติดที่ปลายลิ้น’ | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

หลายคนคงเคยนึกคำที่ต้องการไม่ออกขึ้นมาเฉยๆ โดยคำที่ว่านี้มักเป็นชื่อเฉพาะ (เช่น ชื่อคน) แต่ขณะเดียวกันก็พอจะรู้ว่าตัวอักษรตัวแรกเป็นตัวอะไร ทำให้รำพึงทำนองว่า “ชื่ออะไรน้า…จำได้ว่าขึ้นต้นด้วย ส.เสือ…” ระหว่างที่นึกอยู่นี้ คุณจะรู้สึกอึดอัดใจ แต่แม้กระนั้นคุณอาจพูดถึงเรื่องราวแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้

ครั้นไม่ได้พยายามนึกถึง จู่ๆ คุณก็กลับนึกคำคำนั้นออกมาได้โดยไม่ตั้งใจซะงั้น!

อาการแบบนี้ฝรั่งเรียกว่า Tip-of-the-Tongue Phenomenon แปลตรงตัวว่า ‘ปรากฏการณ์ปลายลิ้น’ เรียกย่อว่าปรากฏการณ์ทีโอที (TOT phenomenon) คำว่า Tip-of-the-Tongue มาจากสำนวน to be on the tip of one’s tongue อันเป็นการเปรียบเปรยว่าคำที่ต้องการติดอยู่ที่ปลายลิ้น จึงยังไม่หลุดออกมาจากปาก

ส่วนสภาพช่วงที่กำลังนึกไม่ออกนั้นเรียกว่า สภาวะทีโอที (TOT state)

ทําไมนักจิตวิทยาถึงสนใจปรากฏการณ์ทีโอที?

คำตอบคือ เชื่อกันว่าปรากฏการณ์คำพูดติดปลายลิ้นน่าจะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของระบบความจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการดึงข้อมูลออกมาจากสมอง โดยช่วงเวลาที่อาจช่วยไขความลับก็คือ ช่วงที่กำลังนึกไม่ออก และเสี้ยวเวลาที่นึกออกพอดีนั่นเอง

ปรากฏการณ์ทีโอทีเกิดกับผู้คนทั่วโลก มีภาษาอย่างน้อย 51 ภาษาซึ่งมีวลีหรือประโยคที่หมายถึงปรากฏการณ์นี้ โดยในจำนวนนี้มีการใช้คำว่า ‘ลิ้น’ อยู่ในวลีหรือประโยคดังกล่าวอยู่ถึง 45 ภาษา

ส่วนภาษาไทยนั้นเราบอกว่าคำที่นึกไม่ออก ‘ติดอยู่ที่ริมฝีปาก’ ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นสำนวนไทยแท้หรือได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอื่นอีกที เพราะบางภาษา เช่น ภาษาเดนมาร์ก ก็ถอดความออกมาได้ว่า “คำพูดติดอยู่ที่ริมฝีปาก” เช่นกัน

น่ารู้ด้วยว่าอริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก เคยพาดพิงถึงปราฏการณ์ทีโอทีไว้เล็กน้อยเมื่อกล่าวถึงความจำและความทรงจำเกี่ยวกับอดีต

วงการวรรณกรรมมีการนำปรากฏการณ์คำพูดติดปลายลิ้นไปใช้เป็นพล็อตเรื่องด้วย เช่น เรื่องสั้นเขียนโดย อันตอน พัฟโลวิช เชฮอฟ (Anton Pavlovich Tchekhov) เมื่อปี ค.ศ.1885 ชื่อ “A Horsey Name” ก็มีตัวละครสำคัญซึ่งมีอาการนึกนามสกุลไม่ออกตลอดเรื่อง แต่พอมานึกออกเอาตอนจบก็สายไปเสียแล้ว

หากสนใจเรื่องสั้นเรื่องนี้ ก็ตามไปอ่านได้ที่ http://www.ibiblio.org/eldritch/ac/horsey.htm ครับ

อันโตน พัฟโลวิช เชฮอฟ นักเขียนและนักเขียนบทละครชาวรัสเซีย
(เกิด ค.ศ.1860 เสียชีวิต ค.ศ.1904)
ที่มา : https://www.britannica.com/summary/Anton-Chekhov

ส่วนวงการวิชาการเริ่มกล่าวถึงปรากฏการณ์ทีโอทีครั้งแรกในตำราชื่อ The Principles of Psychology (หลักจิตวิทยา) เขียนโดยนักจิตวิทยาชื่อ วิลเลียม เจมส์ (William James) ในปี ค.ศ.1890

งานวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทีโอทีชิ้นแรกปรากฏขึ้นในปี ค.ศ.1966 โดยโรเจอร์ บราวน์ (Roger Brown) และเดวิด แม็กนีล (David McNeil) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดำเนินการศึกษาในลักษณะเชิงประจักษ์ (empirical investigation) และวางรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะทีโอทีไว้อย่างน่าสนใจ เช่น “ดูเหมือนว่าเขา (หมายถึง ผู้ถูกทดสอบในการวิจัย) จะรู้สึกเหมือนถูกทรมานอยู่บ้าง คล้ายๆ กับความรู้สึกในขณะที่กำลังจะจาม และหากนึกคำคำนั้นออก ก็จะรู้สึกโล่งใจอย่างมาก”

งานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่าปรากฏการณ์คำพูดติดปลายลิ้นมักเกิดขึ้นราวสัปดาห์ละครั้ง แต่จะเกิดบ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ คำที่นึกไม่ออกมักเป็นชื่อเฉพาะ

น่าสนใจว่าคนที่กำลังอยู่ในสภาวะทีโอทีมักจะจำตัวอักษรตัวแรกได้ และมักจะพูดคำที่เกี่ยวข้องกับคำที่ต้องการออกมา (เช่น คำที่มีเสียงคล้ายๆ กัน) ทั้งนี้ ผู้ได้รับการทดสอบสามารถนึกคำที่ต้องการออกได้ราวครึ่งหนึ่งของคำทั้งหมดโดยประมาณ

 

มีทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์ทีโอทีไหม?

เนื่องจากคนที่กำลังนึกคำไม่ออกมักจะพูดคำอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น คำที่มีเสียงพยัญชนะนำคล้ายกัน หรือมีเสียงพยางค์บางส่วนคล้ายกัน จึงมีผู้เสนอแนวคิดง่ายๆ ว่าการที่คำที่ต้องการไม่หลุดออกมาซะทีเป็นเพราะว่ามีคำอื่นๆ ที่ฟังคล้ายๆ กันมากีดขวางอยู่ แนวคิดที่ว่านี้เรียกว่า สมมุติฐานการกีดขวาง (blocking hypothesis)

อย่างไรก็ดี ไม่ค่อยมีใครเชื่อสมมุติฐานการกีดขวางเท่าใดนัก เนื่องจากมีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่าคำที่ฟังคล้ายๆ กับคำที่ต้องการนั้นกลับจะช่วยให้คนที่กำลังนึกไม่ออกอยู่นึกถึงคำที่ต้องการได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำไป

ในปี ค.ศ.1991 นักจิตวิทยา 2 คน คือ เดโบราห์ เอ็ม เบิร์ก (Deborah M. Burke) และ ดอน แม็กเคย์ (Don Mackay) เสนอแนวคิดว่าคำคำหนึ่งมีข้อมูลองค์ประกอบ 3 มิติ โดยแต่ละมิติจะถูกเก็บในบริเวณที่แตกต่างกันของสมอง ข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบทั้ง 3 มิติของคำ ได้แก่ ตัวอักษรที่ประกอบขึ้นเป็นคำคำนั้น (lexical information) ความหมายของคำ (semantic information) และเสียงของคำ (phonological information)

ตัวอย่างเช่น คำว่า house เมื่อสะกดออกมาทีละตัวอักษรก็คือ “h-o-u-s-e” ออกเสียงว่า “เฮ้าส์” และมีความหมายคือ “สิ่งก่อสร้างที่ใช้อยู่อาศัย”

เบิร์กและแม็กเคย์เสนอว่าสภาวะคำพูดติดปลายลิ้นเกิดจากการที่สมองไม่สามารถเชื่อมโยงความหมายและเสียงของคำที่ต้องการได้ดีนัก เช่น อาจเกิดจากการที่ไม่ได้ยิน หรือไม่ได้พูดคำดังกล่าวเป็นเวลานาน แนวคิดนี้เรียกว่า แบบจำลองการส่งผ่านข้อมูลอย่างไม่เพียงพอ (Transmission Deficit Model) หรือ แบบจำลองทีดี (TD Model)

แต่แบบจำลองทีดีก็มีข้อจำกัดนะครับ เพราะใช้อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์คำพูดติดปลายลิ้นได้ในบางแง่มุมเท่านั้น เช่น ระหว่างที่นึกคำคำหนึ่งไม่ออก หากผู้ถูกทดสอบได้ยินคำคำอื่นที่มีเสียงคล้ายกัน ก็อาจจะนึกคำที่ต้องการได้

ส่วนแบบจำลองอื่นๆ ที่มีการเสนอกัน เช่น แบบจำลองเครือข่ายเซลล์ประสาท (Neural Network Model) ซึ่งสามารถนำไปคำนวณเพื่อทำนายแง่มุมต่างๆ ของปรากฏการณ์ทีโอทีได้ในเชิงปริมาณ

 

การศึกษาปรากฏการณ์คำพูดติดปลายลิ้นยังให้มุมมองที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

– เด็กเล็กๆ ก็เป็นได้ : เด็กวัยอนุบาลบางคนก็เริ่มมีอาการนึกคำไม่ออกบ้างแล้ว แต่ไม่มากนัก ส่วนเด็กวัยประถมเป็นบ่อยกว่า

– ยิ่งแก่ ยิ่งนึกนาน : สำหรับผู้ใหญ่พบว่า หากอายุมากขึ้นก็จะใช้เวลานานขึ้นกว่าจะนึกคำที่ต้องการออกมาได้

– ยิ่งเครียด ยิ่งเป็นบ่อย : ความรู้สึกเครียดหรือหดหู่สามารถทำให้เกิดอาการคำพูดติดปลายลิ้นมากยิ่งขึ้น

– ขยับมือไม้ อาจช่วยให้นึกออกได้ : มีการทดลองหนึ่งซึ่งทดสอบกับคนที่อยู่ในสภาวะทีโอที โดยคนกลุ่มแรกสามารถขยับมือได้อย่างอิสระ ส่วนคนอีกกลุ่มถูกห้ามไม่ให้ขยับมือ พบว่าคนกลุ่มแรกที่ขยับมือได้สามารถนึกคำออกมาได้มากกว่า

– ความหมายมาก่อนเสียงของคำ : เคยมีการศึกษาปรากฏการณ์ทีโอทีในคนที่เป็นซินเนสทีเซียประเภทที่เมื่อนึกถึงคำก็จะรู้รสชาติร่วมด้วย (เรียกว่า lexical-gustatory synaesthete) พบว่า เพียงแค่คิดถึงความหมายของคำก็จะรู้รสชาติได้ก่อนที่จะนึกถึงการออกเสียงคำนั้น (นั่นคือ semantic information มาก่อน phonological informaton)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคนิคเอฟเอ็มอาร์ไอ (fMRI, funtional Magnetic Resonance Imaging) ศึกษาบริเวณต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทีโอที เช่น นักวิจัยญี่ปุ่นใช้ชื่อคนดังในหนังสือพิมพ์ชั้นนำในการวิจัย พวกเขาพบว่าในขณะที่ยังนึกชื่อไม่ออกนั้น มีบริเวณหลายแห่งในสมองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อนึกชื่อออกปรากฏว่าสมองส่วนที่เรียกว่า ดอร์โซแลตเทอรัล พรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์ (dorsolateral prefrontal cortex, DLPFC) และแอนทีเรียร์ซิงกูเลตคอร์เทกซ์ (anterior cinculate cortex) เท่านั้นที่ถูกกระตุ้น

จะเห็นว่าปรากฏการณ์คำพูดติดปลายลิ้นอันแสนสามัญนี้มีการศึกษากันอย่างลึกซึ้งและจริงจังทีเดียว แต่ไม่ว่าความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้จะเพิ่มขึ้นเพียงใด ในชีวิตจริงนั้นเราก็ยังอาจนึกคำไม่ออกอยู่เป็นระยะ

ถ้าคำที่นึกไม่ออกไม่สำคัญก็คงไม่เป็นไรนัก แต่หากปรากฏการณ์คำพูดติดที่ปลายลิ้นเกิดกับชายหนุ่ม แล้วทำให้เขานึกชื่อแฟนตัวเองไม่ออกต่อหน้าเธอ (ในขณะที่มีสาวสวยคนอื่นอยู่ใกล้ๆ) รับรองว่าเป็นเรื่องแน่ๆ ครับ…อิอิ