สู่ 2561 ด้วยใจระทึก : วงค์ ตาวัน

บรรยากาศอันเงียบเหงาซบเซาของช่วงส่งท้ายปีเก่า 2560 ต้อนรับปีใหม่ 2561 ปรากฏให้เห็นได้จากการมอบกระเช้าอวยพร ของขวัญ ปฏิทิน ไม่เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะทุกคน ทุกองค์กร ห้างร้าน ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่แค่ตัวเลขกำไรในทางธุรกิจจะค่อนข้างลำบากเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่มีใครรู้อนาคตว่าในปี 2561 นี้ จะยิ่งหนักหนาสาหัสกว่า 2560 หรือไม่

การเมืองนั่นแหละ เป็นปัจจัยสำคัญสุด เพราะหัวหน้า คสช. ประกาศเอาไว้เมื่อปี 2560 อย่างชัดแจ้งว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561

“แต่หลังจากประกาศออกไปแล้ว กลับเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวของเครือข่ายฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่น่าจะส่งผลกระทบทำให้โรดแม็ปดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป!?!”

ขณะเดียวกัน การจับตาจากชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นแถลงการณ์ของรัฐบาลสหรัฐด้วยท่าทีเป็นมิตรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศของสหภาพยุโรปที่แสดงไมตรีเตรียมจะฟื้นความสัมพันธ์กับไทยคืนมาใหม่

ล้วนผูกมัดเงื่อนเวลาของการเลือกตั้ง ว่าจะต้องมีในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่หัวหน้า คสช. ลั่นวาจาเอาไว้

“ดังนั้น ในปี 2561 นี้ การเมืองจึงจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น การทวงวันเวลาเลือกตั้งจะยิ่งกระหึ่มมากขึ้น แล้วถ้าลงเอยเลื่อนออกไปอีกจริงๆ นั่นแหละจะยิ่งกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจการค้า!”

จะว่าไปแล้ว เหตุที่ยังไม่มีความแน่นอนของการเลือกตั้ง คาดได้ไม่ยาก ว่าคงมาจากการประเมินผลการเลือกตั้งหากจะมีในปีหน้า

พล.อ.​ประยุทธ์ จันทร์​โอชา ผบ.ทบ.​ลง​คะแนนเสียง​เลือกตั้ง​ผู้​ว่าฯ​กทม. เมื่อ​วัน​ที่ 3 มีนาคม 2556

คงประเมินออกมาแล้วพบว่า แนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ยังคงเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในความนิยม รวมทั้งภาคกลางบางส่วน

“เหตุหนึ่งที่ทำให้คะแนนของเพื่อไทยยังไม่ตก เป็นเพราะปัญหารายได้ของประชาชนชั้นล่าง”

เป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศอาจจะดูเติบโตสวยหรู แต่นั่นคือรายได้และกำไรของกลุ่มทุนใหญ่ไม่กี่ราย

ขณะที่กลุ่มธุรกิจทั่วไป อยู่ท่ามกลางความฝืดเคือง ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา จึงมีการลดจำนวนพนักงานของธุรกิจจำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่าย

กลุ่มธุรกิจด้านสื่อมวลชน เห็นได้ชัดถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

ด้านหนึ่ง เพราะโลกเปลี่ยน ต้องก้าวสู่ระบบออนไลน์ รายไหนเปลี่ยนแปลงหรือก้าวไม่ทัน ก็ตกเวที เป็นอันต้องเลิกล้มกิจการ

แต่อีกด้านหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้ประชาชนลดการใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อนิตยสารต่างๆ หรือสื่อสิงพิมพ์ลดน้อยอย่างฮวบฮาบ และหันไปเสพสื่อออนไลน์แทน

เท่ากับว่าธุรกิจสื่อ ถึงจุดล่มสลายครั้งใหญ่ เลิกกิจการไปตามๆ กัน ด้วยเหตุ 2 ประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสู่ออนไลน์ และทั้งชาวบ้านไม่มีสตางค์ซื้อสื่อสิ่งพิมพ์

“ขณะที่ภาพรวมของประชาชนวงกว้าง ซึ่งเป็นชนชั้นล่างนั้น ขาดเงินในกระเป๋าอย่างหนัก”

นี่จึงเป็นเหตุให้ผู้คนวงกว้าง ยังโหยหาพรรคการเมืองพรรคเดิม ที่เคยสร้างความรุ่งเรืองในการจับจ่ายให้กับรากหญ้า

ประเด็นนี้เอง มีส่วนให้กลุ่มอำนาจปัจจุบัน ยังลังเลใจในเรื่องวันเวลาเลือกตั้ง

เพราะยังไม่สามารถหยุดยั้งการกลับมาของพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม!

จะว่าไปแล้ว ถ้าไม่มีการวางแผนอย่างซับซ้อน เพื่อให้กลุ่มอำนาจปัจจุบันกลับมามีอำนาจดังเดิมในการเลือกตั้งสมัยหน้า ถ้าไม่มีกระบวนการสืบทอดอำนาจมาเป็นตัวกำหนด ก็จะไม่มีปัญหาความไม่แน่นอนของวันเลือกตั้งเลย

แต่นี่เพราะมีวาระซ่อนเร้นกำหนด เพราะยังไม่รู้ใครแพ้ใครชนะ

ส่วนจะมาปฏิเสธว่า ไม่มีการต่อท่ออำนาจ ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ถึงขณะนี้ไม่มีใครเชื่ออีกแล้ว

“มีการเคลื่อนไหวที่โจ่งแจ้ง เพื่อจะให้ผู้นำคนปัจจุบันกลับมาเป็นนายกฯ อีกหนในการเลือกตั้งสมัยหน้า”

ทั้งกลุ่มเครือข่าย ตระเตรียมการตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเข้ามาเป็นฐานเสียงให้ผู้นำ คสช. ในการอุ้มเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก

ทั้งการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีอำนาจในการร่วมโหวตนายกฯ

ทั้งการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่ต่างๆ อย่างถี่ยิบ โดยมีการตรวจเยี่ยมราชการ พบปะชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้น

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเองไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องหาคะแนนเสียง ก็พอจะฟังได้ แต่มาวันนี้พูดแบบนี้ แทบไม่มีน้ำหนักแล้ว!”

นี่คือกระบวนการเคลื่อนไหวอันเปิดเผย ที่ไม่ต้องปกปิดใดๆ อีกแล้ว ในการจะพูดถึงนายกฯ ในสมัยหน้า ว่าจะต้องมาจากคนนอกและเป็นคนหน้าเดิม

ไม่เท่านั้น ในทางไม่เปิดเผย ดังที่มีอดีต ส.ส. แห่ออกมาเปิดโปงว่า มีพรรคการเมืองใหม่ พรรคนอมินี พรรคทหาร ออกติดต่อทาบทามอดีต ส.ส. ในหลายๆ พรรคเพื่อไปร่วมกับพรรคการเมืองใหม่

โดยมีการเอ่ยชื่อพรรคใหม่ชัดเจน มีตัวผู้นำพรรคใหม่เรียบร้อยแล้ว

“แถมยังมีการเคลื่อนไหวแบบปิดลับอีกประการ นั่นคือ แกนนำ คสช. เดินทางไปพบปะกับกลุ่มการเมืองใหญ่ๆ ในบางจังหวัด ทำทีนัดไปตีกอล์ฟในพื้นที่นั้น เสร็จแล้วก็ย่องไปเยือนนักการเมืองขาใหญ่ในพื้นที่ กินข้าวสร้างสายสัมพันธ์อย่างจริงจัง”

เหล่านี้ชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวเพื่อตั้งพรรคใหม่ การดึงตัว ส.ส.เก่า หรือกลุ่มการเมืองที่มีอดีต ส.ส. ในสังกัดหลายคน เพื่อให้เข้ามาสู่เครือข่ายการสนับสนุนแกนนำ คสช. นั้น

ลงมือทำกันอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว

เพียงแต่ที่เคลื่อนไหวทั้งทางเปิดเผยและทางไม่เปิดเผยดังกล่าว เมื่อประเมินผลแล้ว ยังพบว่า โอกาสของกลุ่มอำนาจปัจจุบันยังไม่สดใส มีแนวโน้มสูงที่จะได้เป็นรัฐบาล และเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะคนนอกได้

แต่เสียง ส.ส. ในสภา น่าหนักใจ เพราะพรรคขั้วตรงข้ามยังน่าจะชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. เกินกว่า 200 เสียง จะทำให้รัฐบาลนายกฯ คนนอก ไม่สามารถบริหารงานได้ ไม่สามารถชนะเกมในสภาผู้แทนฯ ได้

นี่เองทำให้การเลือกตั้งจะมีในปี 2561 หรือไม่ ยังต้องลุ้นระทึกกันต่อไป!

การเมืองในปี 2561 ยังมีเรื่องให้ต้องจับตามองกันระทึกอีกประการ นั่นคือ กระแสข่าวที่ว่าอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองอย่างฉับพลันอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่พูดคุยกันอย่างอื้ออึงในหมู่ชนชั้นสูง เพราะมีความเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดอีกครั้ง

มีการหยิบยกเหตุการณ์การเมืองไทยในยุคปี 2519-2520 มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

ในปี 2519 ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีเป้าหมายเพื่อกวาดล้างขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เป็นฝ่ายซ้าย ในเย็นนั้น คณะทหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ายึดอำนาจ แล้วจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาปกครองประเทศ

รัฐบาลยุคนั้น เดินแนวทางขวาจัดสุดโต่ง ควบคุมจำกัดเสรีภาพประชาชนอย่างเข้มข้น แต่ผลที่ตามมา ทำให้นักศึกษาจำนวนมากแห่กันเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้สงครามจรยุทธ์ยิ่งขยายตัว

“โดยรวมจึงถือว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามยิ่งเติบใหญ่”

คณะทหารชุดสงัด-เกรียงศักดิ์ จึงต้องปฏิวัติซ้ำในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ อันเป็นรัฐบาลที่ทหารตั้งขึ้นมาเอง โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน

“ด้วยความชาญฉลาด ทำให้กระแสการปฏิวัติซ้ำถูกอกถูกใจชาวบ้าน โดยการประกาศล้มแนวทางเผด็จการ พลิกโฉมการเมืองคืนสู่ประชาธิปไตย คืนเสรีภาพให้สื่อมวลชน รวมทั้งการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง โดยเฉพาะผู้นำนักศึกษาที่โดนจับในวันที่ 6 ตุลาคม”

เป็นการคลี่คลายบรรยากาศการเมืองครั้งใหญ่

เหล่านี้ กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันถึงกระแสการเมืองในปี 2561

โดยมีการพูดถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2520 กันมาก!