เกษียร เตชะพีระ : “4 ด่านวาทกรรมสิทธิมนุษยชนไทย” (2)

เกษียร เตชะพีระ
(ภาพจาก http://www.moneylifetoday.com/index.php/component/multicontent_client/showcontent/30350 )

ถัดจากวาทกรรม “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ความเป็นไทยได้อย่างเดียว” (Thai uniqueness คำแปลหลังอนุวัตตามศัพท์บัญญัติอันชอบกลของราชบัณฑิตยสถาน สาขาวิชาคณิตศาสตร์) วาทกรรมลำดับที่สองที่รัฐบาล คสช. ใช้มาจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยก็ได้แก่วาทกรรมสภาวะยกเว้น (the state of exception) ดังเช่นที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม อธิบายว่า :

“มาตรา 44 จึงเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยช่องทางปกติ โดยไม่ใช้อาวุธในการกำจัดฝ่ายใด แต่เป็นการควบคุมสถานการณ์ไม่ปกติ…”

“วิษณุ-วินธัย-วีรชนแจงคณะทูตต่างชาติ ยัน ม.44 ใช้คุมสถานการณ์ไม่ปกติ”

7 เมษายน 2558 (http://www.newsplus.co.th/63779)

หรือดังที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ชี้แจงทำนองเดียวกันหนึ่งปีให้หลังว่า :

“ที่ คสช. ได้เสริมมาตราพิเศษเพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ก็เพราะสถานการณ์อยู่ในช่วงเวลาพิเศษหรือบ้านเมืองยังไม่เป็นปกติ ซึ่งก็เพื่อให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงเวลาเร่งด่วนเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน และแม้เจ้าหน้าที่จะมีกฎหมายพิเศษไว้เสริมประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน แต่จะใช้ตามความจำเป็นอย่างระมัดระวังตามความจำเป็นและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยพยายามใช้กฎหมายปกติก่อนเป็นหลักเสมอมา”

“สวนหมัดรายงานสิทธิมนุษยชน ระบุใช้ ก.ม.พิเศษเพื่อแก้ไขปัญหา”

14 เมษายน 2559 (http://bangkok-today.com/web/สวนหมัดรายงานสิทธิมนุษยชน)

โดยสรุป ตรรกะเหตุผลของ คสช. ก็คือ : [เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ –> จึงต้องใช้อำนาจพิเศษ –> ทำให้เกิดภาวะยกเว้นที่ปลอดความขัดแย้งทางการเมืองใต้อำนาจอาญาสิทธิ์ หรือ the state of exception]

ผมคิดว่ามีข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับตรรกะ นัยสืบเนื่องและผลกระทบของวาทกรรมสภาวะยกเว้น

ดังต่อไปนี้ :-

1)

ในทางปฏิบัติแบบไทยๆ ภายใต้สภาวะยกเว้นดังกล่าว เพื่อรักษาระเบียบสังคม จะมีการใช้ปัจจัยพระเดชหรือกำลังบังคับลงโทษเข้มข้นหนักหน่วงขึ้น

และใช้ปัจจัยพระคุณหรือการโน้มน้าวจูงใจให้ยอมตามน้อยลง

2)

พื้นฐานอ้างอิงเบื้องต้นให้สังคมยอมรับความชอบธรรมของสภาวะยกเว้นก็คือ เงื่อนไขเวลา (“มันเป็นสถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่ใช่ถาวร”) และลักษณะเฉพาะของมัน (“มันเป็นอำนาจพิเศษ ไม่ใช่อำนาจปกติ”)

นั่นหมายความว่า หากเงื่อนเวลาและลักษณะเปลี่ยนไป (“เอ๊ะตั้งสองปีแล้ว ไหนว่าชั่วคราวไง ทำไมยังไม่เลิกเสียที?” & “อำนาจพิเศษไหงถูกใช้เป็นประจำทั่วไป เหมือนเรื่องปกติล่ะ?”)

การยอมรับความชอบธรรมของสภาวะยกเว้นก็อาจเปลี่ยนไปด้วย

3)

เมื่อใด “สถานการณ์ไม่ปกติ” ชักยืดเยื้อเรื้อรังยาวนานจนคล้ายเป็นสภาพถาวร และ “อำนาจพิเศษ” ถูกใช้บ่อยครั้งกว้างขวางสารพัดเรื่องจนไม่ต่างจากอำนาจปกติ ก็เป็นไปได้ว่าประสิทธิภาพของมันจะลดลง เพราะเป้าหมายของการใช้อำนาจค่อยๆ เรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับความไม่ปกติและลักษณะพิเศษนั้นเพื่ออยู่รอด

ผลก็คือเกิดสภาวะที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Law of Diminishing Returns หรือกฎการลดน้อยถอยลงของผลผลิตส่วนเพิ่ม

นั่นคือยิ่งอ้างสถานการณ์ไม่ปกติไปยาวนานเท่าไหร่ ยิ่งใช้อำนาจพิเศษฟุ่มเฟือยบ่อยครั้งเพียงไหน ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะยิ่งกลับลดน้อยถอยลงทุกที

จนถึงจุดหนึ่งก็จะไม่คุ้มกับต้นทุนทรัพยากรอำนาจที่ใช้เพิ่มซ้ำซ้อนลงไป

4)

นอกจากนี้ การใช้อำนาจพิเศษเพิ่มพูนถี่ขึ้น ในทางปฏิบัติก็คือใช้พระเดชหรือกำลังบังคับลงโทษเข้มข้นหนักหน่วงขึ้น แต่ใช้พระคุณน้อยลงนั่นเอง

ก็แลธรรมชาติของพระเดชนั้นย่อมก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ตั้งแต่ตื่นกลัวเจ็บปวดขัดเคืองไปถึงคุมแค้นอาฆาตในจิตใจ หรือกระทั่งแข็งขืนคัดค้านต่อต้านในทางปฏิบัติ ที่จะใช้พระเดชเข้มข้นหนักหน่วงขึ้นแล้วไม่เกิดผลสะท้อนย้อนกลับจากเป้าหมายและสังคมวงกว้างทั้งภายในและภายนอกประเทศเลยนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก

ที่เป็นตรรกะย้อนแย้งน่ากังวลก็คือเมื่อ [ใช้พระเดช –> การแข็งขืนต่อต้าน –> ทำให้จำต้องใช้พระเดชเพื่อกดปราบการแข็งขืนต่อต้านเข้มข้นหนักหน่วงขึ้น –> การแข็งขืนต่อต้านยิ่งแพร่หลายแข็งกล้าขึ้นตาม –> ใช้พระเดชเพิ่มขึ้นอีก –>) วนเป็นรูปอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

อำนาจพิเศษจึงเป็นเครื่องมือที่อาจใช้ได้ผลช่วงหนึ่งแต่ก็มีข้อจำกัด และข้อจำกัดของมันที่สำคัญโดยเฉพาะในยามที่ใช้เพิ่มพูนถี่ขึ้นก็คือ มันจะได้ผลลดน้อยถอยลง (diminishing returns) และมีแนวโน้มจะผลิตซ้ำตัวปัญหา ทำให้ต้องใช้อำนาจพิเศษหรือพระเดชซ้ำซ้อนซ้ำซาก (reproducibility) เพิ่มถี่ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เกิดเป็นอาการ backfire หรือส่งผลตรงข้ามกลับตาลปัตรกับที่ตั้งใจไว้แต่แรก

5)

การกำหนดหมายสภาวะยกเว้นว่าสภาพใดและเมื่อไหร่จะถือเป็น “สถานการณ์ไม่ปกติ” และฉะนั้นจึงต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” นั้นเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์อธิปัตย์ (sovereign) แห่งรัฐ ซึ่งย่อมมีลักษณะพลการตามอำเภอใจ (arbitrariness) อยู่ในตัว

กล่าวคือ คิดเองเออเองตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องปรึกษาหารือขออนุมัติหรือฉันทามติจากบุคคลหรือสถาบันอื่นใด มติขององค์อธิปัตย์เป็นที่สุดยุติ ไม่มีการต่อความยาวสาวความยืดจากนี้

ผลด้านกลับที่เกิดขึ้นก็คือพลังฝ่ายอื่นกลุ่มอื่นในสังคมก็อาจหันมาลอกเลียนแบบ เที่ยวกำหนดสภาวะยกเว้น-สถานการณ์ไม่ปกติ-อำนาจ/มาตรการพิเศษเองแบบข้างเดียวฝ่ายเดียว (unilaterally) โดยพลการตามอำเภอใจบ้าง มิไยว่าผู้อื่นหรือสถาบันอื่นในสังคมจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรก็ตาม อาทิ แถลงการณ์ของกลุ่มศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับคดีพระธัมมชโยที่ว่า :

“นอกจากพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี หรือหลวงพ่อธัมมชโยจะเจ็บป่วยมีอาการอาพาธรุนแรงมากแล้ว คณะศิษย์เห็นพ้องต้องกันว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยการมอบตัวก็ต่อเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติคือเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น เพราะการที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมทำให้ขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรม…”

“ศิษย์ธรรมกาย อ่านแถลงการณ์ “พระธัมมชโย” ควรมอบตัวเมื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์”

16 มิถุนายน 2559 (http://www.matichon.co.th/news/175934)

ร้อนถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ต้องถามกลับศิษย์ธรรมกายว่า “อะไรคือประชาธิปไตยที่แท้จริง?” (http://www.matichon.co.th/news/176231) ซึ่งก็คงตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะตรรกะที่มาของมันก็พลการ (arbitrary) ไม่ต่างจาก “ประชาธิปไตย 99.99%” ในปัจจุบันของท่านนายกฯ นั่นเอง

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1427087028)

6)

หลักนิติธรรม (the rule of law) น่าจะเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของรัฐบาล คสช. ดังที่หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำสม่ำเสมอว่าขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ตัวอย่างเช่น :

“นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทุกคนเคารพกฎหมาย เพราะกฎหมายนั้นทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งขออย่ามองว่า เข้าข้างใคร เพราะทุกคนคือคนไทยเหมือนกัน และสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอดีตนั้น ต้องการหยุดการขัดแย้ง โดยยืนยันว่า การใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อต้องการให้เกิดการตรวจสอบ และเพื่อให้ทุกอย่างเกิดความสงบสุข พร้อมยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของประเทศไทยคือการไม่เคารพกฎหมาย ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยกันทำงาน เพื่อประชาชน บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และอย่าทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย”

“นายกฯ ขอทุกคนเคารพ กม. ยันใช้ ม.44 นำสงบ”

7 เมษายน 2559 (http://news.sanook.com/1976266/)

ปัญหาก็คือ ในสภาวะยกเว้นปัจจุบัน คำว่า “ทุกคน” มีข้อยกเว้นอยู่ ดังที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงเมื่อเร็วๆ นี้ว่า :

“มีคนย้อนถามว่า แล้วผมเคารพกฎหมายหรือไม่ ขอยืนยันว่าผมเคารพกฎหมาย แต่กฎหมายของผมมีของผมเอง ถ้าเป็นเวลาปกติผมไม่ล้มอยู่แล้ว ทุกอย่างอยากแก้ไข อยากปฏิรูป แล้วโยนให้คนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวจะทำได้หรืออย่างไร ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือด้วย…”

“นายกฯ เปิดวันสิ่งแวดล้อมโลก ชี้มนุษย์กำลังขาดจิตสำนึก ขออย่าเบียดเบียนสัตว์”

29 มิถุนายน 2559 (http://www.matichon.co.th/news/193726)

ความเหลื่อมต่างตกห่างในข้อความทั้งสองข้างต้นสะท้อนปฏิทรรศน์ (paradox) หรือความย้อนแย้งใน…

– การอ้างอิงสภาวะยกเว้น (the state of exception) ที่เปิดให้ใช้อำนาจพิเศษเหนือหลักกฎหมายและเหนือสิทธิมนุษยชนตามปกติ ควบคู่ไปกับ

– การเรียกร้องหลักนิติธรรม (the rule of law) ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย

ทั้งนี้ก็เพราะการยกเว้นตนเอง (self-exception) ขององค์อธิปัตย์ตามความเป็นจริงแห่งอำนาจ อันเป็นการยกเว้นให้ผู้ออกกฎเกณฑ์อยู่เหนือกฎเกณฑ์ และผู้บัญญัติกฎหมายอยู่เหนือกฎหมาย (rule-maker above the rule & law-maker above the law) นั้นย่อมทำให้ไม่ใช่ทุกคนเคารพกฎหมายเหมือนกันและเท่ากันอย่างสากลในทางเป็นจริง

และการที่คนอื่นทั้งหมดยกเว้นองค์อธิปัตย์คงสภาพเป็นคนในบังคับ (subjects) อยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ไม่ได้แสดงฐานะบทบาทพลเมือง (citizens) ผู้ออกกฎหมายควบคู่ไปด้วยตามปกตินั้น ย่อมทำให้หลักนิติธรรม (the rule of law) ไม่อาจปรากฏเป็นจริงได้