บันไซ : เมื่อญี่ปุ่นขึ้นไทย ในสงครามมหาเอเชียบูรพา | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ไทย คือ ประตูสู่พม่าและมลายู

ด้วยเหตุที่ไทยเป็นเหมือนบานประตูเปิดเข้าสู่อินเดีย พม่า มลายู และสิงคโปร์ของญี่ปุ่น การเดินทัพผ่านไทยของกองทัพญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก

เช้าตรู่ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าทางอรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี พระตะบอง พิบูลสงคราม พร้อมยกพลขึ้นบกที่บางปู จ.สมุทรปราการ รวมทั้งที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี

สำหรับทางภาคใต้นั้นมีการสู้รบกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารไทยกับญี่ปุ่น

สายวันนั้นเอง ฯพณฯ ทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยยื่นคำขาดขอให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย โดยญี่ปุ่นจะรับรองเอกราชและอธิปไตยของไทย

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการอภิปรายในคณะรัฐมนตรีกันอย่างหนัก แต่ไทยไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ จึงยินยอมตามคำขอของญี่ปุ่น (กอบเกื้อ, 35)

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นเห็นว่า แม้นญี่ปุ่นจะใช้วิธีทางการทูตในการเจรจาขอเดินทัพผ่านไทยก็ตาม แต่เป็นวิธีการทางการทูตที่มีอำนาจทางการทหารหนุนหลัง (อิชิอิ โยเนโอะ และ โยชิกาวะ โทชิฮารุ, 217)

อีกราว 1 เดือนต่อมา จอมพล ป.ได้รับรายงานจากหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศว่า ญี่ปุ่นแสดงความไม่พอใจอย่างมากที่ไทยยังไม่ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นรบรุดไปข้างหน้า แต่ยังมีความกังวลแนวหลังของการรบ ตราบใดที่ไทยยังไม่ประกาศสงครามให้แน่ชัด

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, 2527, 50-51)

กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก

เมื่อญี่ปุ่นบุก

การเตรียมความพร้อมของญี่ปุ่นในด้านการข่าวและพาหนะขนส่งนั้นมีผู้บันทึกว่า ในช่วงก่อนสงครามไม่นานนัก มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวพระนครมากกว่าปกติทั่วไป ร้านค้าญี่ปุ่นเล็กๆ ก็ปรากฏว่ามีรถยนต์ใช้กันถึงร้านละ 2-3 คันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจ (เสถียร ตามรภาค, 2518, 16)

ก่อนญี่ปุ่นบุกไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2484 เสถียร ตามรภาค นายทหารไทยคนหนึ่ง เล่าว่า เขาเปิดรับฟังวิทยุอังกฤษจากฮ่องกง มีการประกาศเตือนรัฐบาลไทยว่า มีขบวนเรือรบญี่ปุ่นประมาณ 70 ลำ แล่นเข้ามาสู่อ่าวไทย ขอให้ไทยจงระวังตัว

ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 วันที่ญี่ปุ่นบุกขึ้นไทยตามชายแดนนั้น เมื่อวิทยุกรมโฆษณาการว่า ญี่ปุ่นบุกขึ้นไทยแล้ว ในพระนคร พบเห็นเครื่องบินลำหนึ่งบินลงมาต่ำและบินวนเหนือสนามม้านางเลิ้ง เพื่อดูการปูผ้าขาวอันเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทยไปยังพม่าและมลายู (เสถียร ตามรภาค, 2518, 126)

จากความทรงจำของชาวบ้านแถบสถานีรถไฟบางกอกน้อยเล่าว่า ในวันที่ญี่ปุ่นเข้าไทยนั้น ในตอนสายๆ มีเครื่องบินญี่ปุ่นบินโปรยใบปลิวไปทั่วพระนคร เพื่อขอความเห็นใจและเรียกร้องให้คนไทยให้ความช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่น (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 266-267)

ในช่วงที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นฝั่งทางภาคใต้นั้น ที่สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างที่นายทหารญี่ปุ่นยศพันโทคนหนึ่งยืนประกาศข่าวให้ประชาชนฟังถูกประชาชนยิงด้วยปืนลูกซองตายแต่จับตัวผู้ยิงไม่ได้ อีกวันหรือสองวันหลังจากการสื่อสารถ้วนถึงแล้วการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นทางใต้จึงได้สงบลงได้ (เสถียร, 2518, 128)

และหากใครเปิดวิทยุในคืนวันที่ 8 ธันวาคมนั้น วิทยุกรมโฆษณาการรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของกองทัพญี่ปุ่นเป็นระยะให้ประชาชนทราบ

ภาพถ่ายทหารญี่ปุ่นกับทหารไทย

ก่อนญี่ปุ่นบุก
สถานทูตฯ พาชาวญี่ปุ่นหลบภัย
ในเรือกลางเจ้าพระยา

ท่ามกลางบรรยากาศที่คุกรุ่นในภูมิภาค กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลเข้าอินโดจีนฝรั่งเศสอย่างคึกคัก ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยในเช้าตรู่ 8 ธันวาคมนั้น มาซาโอะ เซโตะ เด็กญี่ปุ่นที่อาศัยในพระนครช่วงเวลานั้น บันทึกว่า ชุมชนชาวญี่ปุ่นในพระนครทราบข่าวในทางลับก่อนกองทัพญี่ปุ่นบุกไทยแล้ว

โดยในคืนวันที่ 7 ธันวาคม ไม่กี่ชั่วโมงก่อนกองทัพญี่ปุ่นบุกไทย สถานทูตสมัยนายทสุโบกามิจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ที่โรงเรียนญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในสมาคมญี่ปุ่น ถนนสุรวงศ์ เป็นกโลบายในการดึงชาวญี่ปุ่นมาชุมนุมกัน จากนั้น สถานทูตจัดรถบรรทุกหลายคันเข้ามารับคนญี่ปุ่นในโรงเรียนไปขึ้นเรือแกงจีส มารุ ที่สถานทูตจัดไว้ที่ท่าเรือมิตซุยที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บางรัก

ภายในเรือ ผู้โดยสารเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงแก่และเด็กราว 700 คน เช้าของวันที่ 8 เขาจึงทราบข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกไทยแล้ว เขาอยู่บนเรือจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม สถานทูตจึงปล่อยตัวทุกคนลงจากเรือ (มาซาโอะ เซโตะ, เล่ม 1, 2548, 69-74)

ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าพระนครแล้ว กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดสถานที่ราชการและเอกชนหลายแห่งในการตั้งกองทหารเพื่อควบคุมพระนครและประเทศไทย สำหรับพระนครแล้ว มีกองทหารตั้งอยู่หลายแห่ง เช่น สวนลุมพินี หน้าภัตตาคารห้อยเทียนเหลา ข้างโรงแรมโอเรียนเต็ลบางรัก หน้าห้องสมุดเนลสัน เฮย์ถนนสุรวงศ์ และมีกองทหารสารวัตรตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนชาวญี่ปุ่นต่างๆ ด้วย

จากความทรงจำของเด็กไทยลูกจีนชาวนครชัยศรี บันทึกว่า ภายหลังญี่ปุ่นบุกแล้ว ทางราชการจัดให้นักเรียนไปโบกธงไทย-ญี่ปุ่น ต้อนรับทหารญี่ปุ่นและทูตญี่ปุ่นตามสถานีต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟสายใต้พร้อมร้องไชโยๆ อีกทั้งตามแนวรางรถไฟ และริมถนน ปรากฏป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เป็นภาพทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจับมือกัน (ช.งิ้วราย, 2546, 40-41, 55)

จากประสบการณ์ของทหารไทยผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่สารวัตรทหารผสมไทย-ญี่ปุ่นเล่าว่า กองทัพญี่ปุ่นยึดสวนลุมพินีเป็นค่ายพักทหาร มีรถถังจอดเรียงรายจำนวนมาก มีหน่วยพลาธิการจัดการต้มน้ำชงชาและหุงหาอาหารเลี้ยงกำลังพล มีการจัดสถานที่อาบน้ำ บริเวณที่อาบน้ำไม่มีฝากั้น มีเครื่องสูบน้ำจากคูในสวนลุมฯ ขึ้นมามีเครื่องกรองน้ำให้สะอาดก่อน เหล่าทหารจะแก้ผ้าอาบน้ำกัน ในค่ายทหาร ร้องเพลงปลุกใจกันดังลั่นจนถึงเที่ยงคืน (เสถียร, 130)

ด้วยเหตุที่ทหารญี่ปุ่นคิดว่า ไทยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นจึงมักใช้อำนาจบาตรใหญ่ เช่น มีเหตุแย่งชิงอาหาร ผลไม้ในตลาดโดยทหารญี่ปุ่นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรถบรรทุกทหารญี่ปุ่นที่จะไปสมรภูมิเห็นแม่ค้าไทยหาบกล้วยหอม มะพร้าวเผา และขนมตามท้องถนน รถเหล่านี้มักหยุดรถและมีทหารลงมาแย่งชิงสินค้าไปทั้งหาบ แม่ค้าเหล่านั้นเป็นหญิงชรา อ่านหนังสือไม่ออกจึงจำทะเบียนรถทหารไม่ได้ รู้แต่เพียงเป็นรถบรรทุกมีตราดาวซึ่งเป็นของกองทัพบกญี่ปุ่น

ทำให้สารวัตรทหารฝ่ายไทยต้องไปเจรจาให้ทหารญี่ปุ่นชำระค่าสินค้าเหล่านั้นแก่แม่ค้าชาวไทยเสีย (เสถียร, 132)

โปสเตอร์กองทัพญี่ปุ่นแจกจ่ายชี้ชวนให้ไทยร่วมขับไล่มหาอำนาจผิวขาวออกไปจากเอเชีย
ทหารญี่ปุ่นในพระนครแจกใบปลิวให้ชาวไทยช่วยสนับสนุน เครดิตภาพ : NHK และเพจทางรถไฟสายมรณะ
โปสเตอร์แสดงความยินดีกับไทยที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น
ประชาชนยืนฟังวิทยุบริเวณตลาดใกล้สถานีสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2484 เครดิตภาพ : 50+
กองทัพญี่ปุ่น สวนลุมพินี เครดิตภาพ : ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์