อภิญญ ตะวันออก : เมษายน 1975 – ตามหาสถานทูตไทยกรุงพนมเปญ

เป็นที่คาดว่า อาจมีการลดสถานะกัมพูชาในองค์การสหประชาชาติอีกครั้งหรือไม่ในปีหน้า? เมื่อ กึม มโนวิชยา/มโนวิเจีย บุตรสาว กึม สกขา ซึ่งติดคุกขณะนี้ ยื่นเรื่องให้ยุบสมาชิกภาพ ซึ่งอดีตของกัมพูชาก็เคยประสบสถานะดังกล่าวมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพลพต, เฮงสัมริน และห้วงหนึ่งของสมัยฮุนเซนครั้งยึดอำนาจ (2540)

การตั้งค่าฉนำสูญ/ปีศูนย์ของกัมพูชาที่ต่างกรรมต่างวาระด้วยสาเหตุทางการเมืองแบบนั้น ทำให้ฉันนึกถึง ฉนำ/ฉะ-นำสูญในปี พ.ศ.2518/1975

และคนที่ทำให้ฉันรำลึกครั้งนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่หญิงม่ายเขมรคนหนึ่ง เธอชื่อ โป ดีนา

เรื่องก็มีอยู่ว่า ราวพฤษภาคม พ.ศ.2556 โป ดีนา ถูกเบิกตัวขึ้นให้การที่ศาลเขมรแดง ในคดี 002 และตอนนั้นเองที่อาการ “คร่ำครวญหวนไห้ปิ้มว่าจะขาดใจ” จนทำให้หญิงพยานบ้านๆ คนนี้ เป็นที่จดจำและติดตามเรื่องราวของเธอในกาลต่อมา

โป ดีนา ให้การเรื่องราวต่อชีวิตของเธอสลับกับเสียงร่ำไห้ในเวลาที่เธอกล่าวถึงบุคคลอันที่รักซึ่งจากเธอไป ในจำนวนนี้มี นายแซ ซาริน/แส สาริน-สามี ซึ่งเขานี่เองที่เธอกล่าวว่า “ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย” ก่อนจะถูกเขมรแดงกวาดต้อนออกจากกรุงพนมเปญในกาลนั้น

โป ดีนา ยืนยันสถานพักและทำงานของเธอตั้งหน้า “มุขเวียง” บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสมัยนั้นคือตำหนักของเจ้านายเขมรองค์หนึ่ง เธอเรียกเขาว่าพระองค์มจะเปา หรือ “เจ้าน้อย”

 

ตอนหนึ่ง ทนายความฝ่ายจำเลย/นวน เจีย ซักค้าน : “เมื่อเขมรแดงเข้าพนมเปญ (*) พยานทำงานอะไร?”

“วันนั้น ฉันทำงานที่สถานทูตไทยกับครอบครัว มีที่ตั้งอยู่ตรงมุขเวียงเยื้องพระบรมมหาราชวัง พวกเขาถามว่า ฉันเป็นเจ้าของบ้านรึ? ฉันบอกไม่ เป็นแค่คนเฝ้าบ้านให้เจ้าของเท่านั้น”

ทนาย : “ลักษณะทหารเขมรแดงที่พยานเห็นนั้น พวกเขามีลักษณะท่าทางอย่างไร?”

โป ดีนา : “พวกเขามีกัน 5-6 คน ทุกคนสวมเสื้อผ้าสีดำ พันคอผ้าขาวม้า รองเท้ายางรถยนต์ มีปืนสะพาย ท่าทางดุร้าย พอถามหาเจ้าของบ้าน พวกเขาก็ตรงเข้าทำลาย ทุบรื้อสิ่งของในสถานทูตทันที”

ทนาย : “ตามที่ให้การไว้ก่อนหน้า พยานบอกว่าทหารทุบตีสามี แล้วมีคนหนึ่งออกมาห้าม เป็นใครผู้นั้น?”

โป ดีนา : “คือพระองค์เจ้านโรดม กันฑุล เขาเห็นสามีฉันถูกทารุณหนัก ทรงออกมาและบอกว่า อย่าทำร้ายเขาเลย เขาเป็นแค่คนดูแล ไม่ใช่เจ้าของ”

ทนาย : “ก่อนหน้านั้น พยานให้การว่า ทำงานสถานทูต แล้วทำไมจึงมีองค์นโรดม กันฑุล ออกมาแสดงตน?”

โป ดีนา : “วันนั้น องค์กันฑุลได้ยินเสียงร้องเอะอะจึงออกมาห้าม ทรงมาประทับชั่วคราวที่ตำหนักของเจ้าน้อย แต่ตำหนักของท่าน (เงียบ) ฉันไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่ที่ไหน”

ทนาย : “ก่อนหน้านี้ พยานบอกว่าทำงานสถานทูตไทยกับสามี แต่ตอนนี้กลับบอกว่า เป็นตำหนักพระองค์มจะเปา?”

โป ดีนา : “ค่ะ ฉันทำงานให้สถานทูตไทย แต่ไทยเช่าต่อจากเจ้าน้อยอีกทีหนึ่ง”

ทนาย : “หลังจากนั้น พยานพอจะทราบความเป็นไปของเจ้ากันฑุลหรือไม่? พวกเขา (เขมรแดง) ทำอะไรกับท่านและครอบครัวของพยาน?”

โป ดีนา : “ค่ะ คือราว 2 ทุ่มวันนั้น มี (เขมรแดง) อีกกลุ่มหนึ่ง บังคับให้เราออกจากตำหนัก เราต้องไปจากที่นั่นทันที ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่เคยทราบข่าวกันอีกเลย”

ทนาย : “ขอกลับไปยังคำถามก่อนหน้า ตอนนโรดม กันฑุล ออกมาช่วยรับรองสามีพยาน เขาแสดงกิริยาอย่างไร?”

โป ดีนา : “ค่ะ ท่านทรงยกมือไหว้อ้อนวอนพวกเขมรแดงไม่ให้ทำร้ายสามีฉัน”

ทนาย : “แล้วพยานรู้จักนโรดม กันฑุล มั้ย ว่ามีอุปนิสัยแบบใด? เหตุไฉนจึงรู้จักกับพระองค์?”

โป ดีนา : “ฉันไม่รู้จักมาก่อน ทราบแต่เป็นญาติกับสมเด็จสีหนุ ฉันเคารพพวกเขา แต่ไม่รู้เรื่องอื่น”

ทนาย : “จบคำถาม”

 

ชีวิตแต่หนหลังที่สั้นมาก สำหรับช่วงเวลาในสถานทูตไทย โป ดีนา ในฐานะแม่ครัว/จงเภา และสามีแซ ซาริน ตำแหน่งตามคำกล่าวอ้างคือเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยประจำสถานทูต

แม้จะแจ้งต่อกลุ่มเขมรแดงว่าสามีเป็นแค่ยาม แต่ต่อมาเธอยอมรับว่า แซ ซาริน สามีเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของการิยาลัย เธอกล่าวถึงความสุขอันแสนสั้นที่สถานทูตก่อนวันที่ 17 เมษายน 2518 ด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคง แม้จะเป็นยุคสงครามกลางเมือง แต่ครอบครัวของ โป ดีนา ก็ไม่ประสบเคราะห์กรรมความยากลำบากเช่นคนทั่วไป

แต่ความทรงจำนั้น ก็กลับมาหลอนหลอก จนแม้ขณะให้การต่อศาลเมื่ออายุได้ 60 ปี โป ดีนา กล่าวถึงชีวิตที่เหลือรอดแต่ผู้เดียว ทั้งสามี ลูก ตลอดจนพ่อ แม่ พี่น้อง ทุกคนล้วนแต่จากเธอไป

ตอนหนึ่งเล่าว่า ระหว่างเดินทางออกไปตามเส้นทางชนบท มีคำสั่งให้ผู้ที่ต้องการอยู่ทำงานต่อที่กรุงพนมเปญไปลงทะเบียน แต่เธอห้ามสามีไว้ (เข้าใจว่า แซ ซาริน ต้องการกลับไปทำงานที่สถานทูต) โป ดีนา กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ”

แต่ถึงกระนั้น แซ ซาริน ก็ถูกกรรมาภิบาลเขมรแดงก็จับ แซ ซาริน และส่งไปอบรมทัศนคติ 3 เดือนต่อมา โป ดีนา ที่พยายามติดตามข่าว ทราบว่าสามีของเธอเสียชีวิตแล้ว

แม้กระนั้นก็ยัง โป ดีนา ครองตัวเป็นม่ายจวบจนปัจจุบัน เธอเคยถูกบังคับให้สมรสใหม่กับกรรมาภิบาลคนหนึ่ง แต่เธอขัดคำสั่งขององค์การจนถูกนำไปขังคุก

โป ดีนา คร่ำครวญว่า คนพวกนั้นเข้าใจผิด คิดว่าสามีของเธอเป็นทหาร ซึ่งจริงแล้ว พี่ชายของเธอต่างหากที่เป็นทหารเรือสังกัดกำปงสะปือ เขาถูกเขมรแดงสังหาร เช่นเดียวกับซารินน้องเขย ที่ไม่มีใครเลยเชื่อว่าเขาเป็นแค่ยามเฝ้าสำนักงาน

โดยเฉพาะพระองค์นโรดม กันฑุล (2463-2519) สีหนุ อดีตนายกรัฐมนตรี (2505-2509) และ รมว.ต่างประเทศที่เคยถูกนายพลลอน นอล จับขังคุกและลูกพี่ลูกน้องอดีตประมุขแห่งรัฐนโรดม สีหนุ เชื่อว่าในกลุ่มกรรมาภิบาลเขมรแดงต้องมีคนรู้จักและจดจำเขาได้

แต่ในวันนั้น นโรดม กันฑุล ออกจากพนมเปญพร้อมๆ กับซารินและดีนา เชื่อว่า ในสภาพอันไม่อาจปะติดปะต่อใดๆ ได้เช่นนั้น พระองค์เจ้ากันฑุลน่าจะประสบชะตากรรม ดังที่ราว 1 ปีต่อมา มีบันทึกว่า พระองค์ทรงถูกสังหารที่ตำบลโอว เรียงโอยว

กระนั้นก็ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์เขมรคนสุดท้ายในสถานทูตไทยก่อนจะเสียชีวิต

 

ล่วง 4 ทศวรรษแล้วสินะ ทว่าเรื่องราว โป ดีนา ที่พาให้เราค้นพบพิกัตอดีต “สถานทูตไทย” หรือตำหนัก “เจ้าน้อย” บริเวณ “ด้านหน้า” พระบรมมหาราชวัง โดยด้านหนึ่ง คือที่ทำการกระทรวงยุติธรรม และอีกด้านหนึ่ง คือกลุ่มตึกเดียวและตึกแถว บนถนนสีโสวัตถิ์ริมฝั่งแม่น้ำตนเลสาบ และเป็นที่ตั้งย่านเดียวกับคลับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCC)

ทำให้ (ฉันเอง) เชื่อว่า ตึกสีเหลืองโทปาส/สัญลักษณ์โคโลเนียลหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมถนนติดกับสนามหญ้าดังกล่าว น่าจะเป็นตำหนักเจ้าน้อย?

และจากข้อสันนิษฐาน ว่ากลุ่มทหารเขมรแดงสามารถจู่โจมเข้าออกโดยง่าย

ตึกหลังนี้ ยังมีสถานะต่างๆ ตลอดหลายทศวรรษ ทั้งสำนักงานบริษัท คาเฟ่ ร้านอาหาร และเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเช่าเปิดกิจการ

เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ใหม่ที่เผยให้ทราบว่า ใช่แต่สถานทูตฝรั่งเศส หรือสถานทูตอเมริกันเท่านั้น ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคเขมรแดงของกัมพูชา

หากแต่ตัวละครการเมืองอย่างพระองค์เจ้าสีโสวัตถิ์ สิริมะตะ ผู้ร่วมโค่นระบอบกษัตริย์กับระบอบลอนนอล แต่เขาไม่ได้หนีออกนอกประเทศเช่นลอน นอล ที่ไปสหรัฐ แต่กลับเลือกที่จะลี้ภัยไปฝรั่งเศสและหลบอยู่ในสถานทูตแห่งนั้น กระทั่งถูกกลุ่มเขมรแดงกดดันด้วยข้อแลกเปลี่ยนให้ส่งตัวสิริมะตะ มิฉะนั้นสถานทูตจะต้องปิดตัว

คือฉากหนึ่งของภาพยนตร์ทุ่งสังหาร/The Killing Fields ที่จำลองไว้ตอนสิริมะตะออกมาและถูกควบคุมตัวออกไป

ทั้งสิริมะตะและกันฑุลต่างเป็นว่านเครือ/ศัตรูและมิตรของสีหนุ มีบทบาททางการเมืองทั้งคู่แต่คนละขั้ว กระนั้น ชะตากรรมของคนทั้งสองฝ่ายก็เป็นไปอย่างเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้เวลานั้น พระองค์เจ้านโรดม กันฑุล ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในสถานทูตฝรั่งเศสเช่นกัน แต่กลับเลือกที่จะมาซ่อนตัวอย่างเงียบๆ ในสำนักงานร้างของสถานทูตไทย

เป็นตำหนักของพระญาติ-เจ้าน้อยที่ทรงคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัย

และอาจจะเป็นหนึ่งในตอบของปริศนาที่ว่า ทำไมทหารเขมรแดงจึงกลับมาอีกครั้งตอน 2 ทุ่มและทำการบังคับให้ทุกคนออกจากที่นั่น

แต่ในที่สุด ชะตากรรมขององค์กันฑุล ก็ไม่ต่างจากซาริน สิริมะตะและทุกคน

———————————————————————————————————————-
(*) วันที่ 17 เมษายน 1975 ตามที่ทนายระบุนั้นตรงกับวันที่เขมรแดงบุกยึดกรุงพนมเปญ
แต่วันเกิดเหตุการณ์ที่สถานทูตไทยนั้น พยานไม่ถูกซักค้านว่าตรงกับวันใด