ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
เพียงแค่ 100 วัน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปแล้วเกิน 10 ประเทศ สวมบทหัวหน้าเซลส์แมน เจรจาการค้า ดึงการลงทุน เพื่อผลลัพธ์ปลายน้ำสร้างงาน สร้างเงินให้กับคนในประเทศ
ว่ากันว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ที่นายกฯ เดินทางไป 10 กว่าประเทศ กระทรวงการต่างประเทศใช้เวลาตามงานถึง 3 วัน ว่าสิ่งที่นายกฯ ไปเจรจาคืบหน้าไปถึงไหน
ภายใต้ 2 กลยุทธ์ ที่ “เศรษฐา” ใช้ในการเดินหน้าสร้างรายได้ให้กับประเทศ
หนึ่ง economy of speed นายกฯ พร้อมเจอหน้ากับผู้นำประเทศ ผู้นำธุรกิจระดับ CEO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับคนที่จะมาลงทุนกับเรา ว่ามาลงทุนแล้ว เรามีข้อดีอย่างไร ถ้ามีปัญหาอย่างไรเราก็จะช่วยให้คลี่คลายปัญหาได้
สอง customer centric ต้องเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง ถ้าเราอยากได้นักท่องเที่ยวเข้ามา อยากให้เขามาลงทุน เราก็ต้องทำให้เขาอยากมา
ญี่ปุ่น คือประเทศที่ “เศรษฐา” เยือนล่าสุด ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น
โดยเคาะประตู-โรดโชว์ประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ” “Heart-to-heart” partnership
ร่มใหญ่ของการหารือ “เศรษฐา” ฝาก นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนธุรกิจของเอกชนไทย และหวังที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้าน Soft power ในโครงการ OTOP ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก OVOP ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ในความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล หวังว่าจะมีนักลงทุนและแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะในสาขา Data Center ขนาดใหญ่และบริการคลาวด์คุณภาพสูง
ทั้งสองประเทศยังเตรียมจัดตั้งกลไกความร่วมมือ ภายใต้ความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industrial Dialogue)
และไทยยินดีร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามกรอบพันธมิตรเอเซค (AZEC) ซึ่งริเริ่มโดยญี่ปุ่น
ไฮไลต์ของการเดินทางเยือนญี่ปุ่น คือการเจรจากับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น 7 บริษัท ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงทุนในไทยอีกกว่า 8 หมื่นล้าน โดย “เศรษฐา” สรุปผลการหารือว่า
1. บริษัทฮอนด้า มีแผนลงทุนในไทย 5 หมื่นล้าน ในอีก 5 ปี ซึ่งได้บอกไปว่าไม่ต้องห่วงเรื่องการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสันดาปในรถยนต์ไปเป็นอีวี เราให้ความสำคัญ เพราะอีกหลายคนทำงานในบริษัทเครือข่ายยานยนต์ของญี่ปุ่น ตนพยายามเร่งให้เขาสร้างโรงงานกรีน เอนเนอจี และปลั๊กอิน-ไฮบริด ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เคยแถลงไว้
2. บริษัทนิสสัน ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ เขาเข้ามาในรถอีวีก่อนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคือ นิสสัน ลีฟ ก็ยืนยันว่าจะทำต่อเนื่องในเมืองไทย
3. มิตซูบิชิ ที่ทำรถกระบะ เขาก็จะพัฒนารถกระบะอีวี ภายในปี 2025 ซึ่งรถกระบะเป็นรถที่ขายดีในไทย ฉะนั้น การจะเปลี่ยนรถกระบะเป็นอีวีในไทยเพื่อพลังงานสะอาดถือเป็นปัจจัยสำคัญ ก็ได้เร่งให้เขาลงทุนให้เร็วขึ้น เพราะการเปลี่ยนจากสันดาปไปเป็นอีวีก็ค่อนข้างรวดเร็ว เขาจะใช้เราเป็นฐานในการส่งรถกระบะไปขาย อีกไม่กี่ปีก็จะเริ่มแล้ว
4. บริษัทซูซูกิ แม้เป็นบริษัทเล็กแต่อยู่ในไทยมานาน เขาทำอีโค่คาร์ คือซูซูกิสวิฟต์ โดยขอให้เราส่งเสริมต่อ ซึ่งก็ได้แนะนำให้ทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะเมืองไทยขายดี
5. บริษัทอีซูซุ พร้อมลงทุนอีกประมาณ 32,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาเขาลงทุนไป 2 หมื่นกว่าล้านบาท
6. มาสด้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งรถไปขายประเทศต่างๆ เขามั่นใจว่ารถเอสยูวีของเรามีสมรรถนะที่ดี ส่งขายยังต่างประเทศได้ บริษัทเหล่านี้พยายามลงทุนเพิ่มในไทย แรงงานของไทยพึ่งบริษัทเหล่านี้เยอะ
7. โตโยต้า คือบริษัทที่ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่เมืองไทยมา 60 ปีแล้ว ประธานของบริษัทมาพูดคุยเองและเขาก็เคยอยู่เมืองไทยมาก่อน ถือว่าเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี ได้พูดคุยถึงการทำรถกระบะที่เขาขายดี คือโตโยต้า ไฮลักซ์ โดยภายในปี 2025 เขาจะเริ่มผลิตแล้วแม้จะช้าไปนิด
แต่เขาผลิตเพียง 5,000 คัน ก็ได้ถามไปว่าทำไมผลิตน้อยจัง ซึ่งสิ่งที่เขาเป็นห่วงคือสถานีชาร์จรถไฟฟ้า จึงได้ยืนยันไปว่าเราขยายเครือข่ายตรงนี้ไปมาก ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน เขาก็จะกลับไปพิจารณา การเร่งผลิตรถกระบะอีวีให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ อีกส่วนของโตโยต้าเขาทำเรื่องไฟแนนซ์รถยนต์สอดคล้องกับการแก้หนี้ในระบบ หากเขาช่วยเราได้ในส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นการบีบดอกเบี้ยหรือปรับเบี้ยปรับ ก็ต้องรบกวนด้วย
ในพาร์ตของรถยนต์ “เศรษฐา” ยังหารือกับ Panasonic ในฐานะที่เป็นผู้ทำแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์เทสลา โดยบริษัท Panasonic กำลังพิจารณาสร้างโรงงานใหม่ มีความต้องการพื้นที่ทำโรงงาน 600 ไร่ เพื่อเป็นโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ และระบบกักเก็บพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต 200 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2031
รวมถึง Mitsui ที่มีความชำนาญในธุรกิจด้านพลังงานสะอาดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายลดคาร์บอน Decarbonisation ในการคมนาคมขนส่งของรัฐบาล ทั้งนี้ “เศรษฐา” เชิญชวนให้มาเปิดสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคในไทยด้วย
ด้านนวัตกรรมเพิ่มรายได้การเกษตร มีการหารือกับ Kubota มาช่วยทำ Smart Farming มาเป็นระบบควบคุม ระบบชลประทานในภาคการเกษตร การใช้โดรนมาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง
มีการตกลงว่าไทยจะไปดูสถานที่ และให้ทางคูโบต้ามาช่วยกันพัฒนา ช่องทางที่ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี
อีกด้านหนึ่ง ในระหว่างการพบปะเจรจากับตัวแทนฝ่ายต่างๆ ของญี่ปุ่น แผนงาน “Thailand Landbridge Roadshow” เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่มีการฉายภาพรวมของโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัท ที่สนใจ
“เศรษฐา” ยืนยันว่า นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
Landbridge จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
นายกฯ สรุปผลงานการเยือนญี่ปุ่นว่า “บวกมากๆ และจากที่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เชื่อว่าท่านรู้อยู่แล้ว ว่าคุยกันแล้วเป็นอย่างไร ได้บอกไปว่าการเดินทางมาครั้งนี้ให้คะแนนความพึงพอใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีกับไทย 8-9 จาก 10 คะแนน”
“ผมยังเชื่อว่าทุกบริษัทที่มาก็มีความสบายใจ ที่ระดับผู้นำประเทศได้คุยกันอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงให้คำตอบที่ชัดเจนด้วย ให้ได้ก็บอกให้ได้ ให้ไม่ได้ก็บอกคงให้ไม่ได้ แต่มีทางเลือกอื่นให้เลือก และเชื่อว่าทุกหน่วยงานที่มาทำการบ้านมาอย่างดีมาก ผมเพียงมาให้คำยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่าทำเต็มที่”
เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงศักยภาพในการเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ และดูเหมือนจะได้คะแนนด้านบวกมากเป็นพิเศษ จากทริปเคาะประตูเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเที่ยวล่าสุดนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022