มุกดา สุวรรณชาติ : เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อครองอำนาจ (3) ถ้าพลาด…พังทั้งชาติและตัวเอง

มุกดา สุวรรณชาติ

ช่วงเวลานี้แม้ข่าวเรื่องนาฬิกากำลังดัง แต่ที่เป็นประเด็นทางการเมืองสำคัญ คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง อยากจะเตือนว่า ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ นักการเมืองอาจยอมสยบ สมคบเพื่ออำนาจ แต่ประชาชนยุคนี้ใครจะคุมได้

ยุคก่อน การให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองของผู้มีอำนาจในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แม้เขียนรัฐธรรมนูญเองเพื่อครองอำนาจ แต่ก็ยังถูกหักหลัง หรือบางสมัยก็ถูกประชาชนต่อต้านจนพังได้

ปี 2561-2562 โมเดลการเมืองในอดีตอาจเกิดซ้ำ

 

รัฐธรรมนูญที่ดี ใช้ 2 ปีต้องฉีกทิ้ง

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ แม้ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจริงๆ แต่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยก็มีการพัฒนามากขึ้น

7 ตุลาคม พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นถูกนำมาใช้

มีการแต่งตั้ง ส.ว. ได้ 100 คน แต่ข้าราชการมาเป็น ส.ว. ไม่ได้ มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ได้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นนายกฯ แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือนเมษายน 2519 ได้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

การรัฐประหารครั้งนี้มีการปราบอย่างรุนแรงและโหดร้ายทารุณ ทำให้นักศึกษาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้หนีเข้าป่า ใช้วิธีติดอาวุธทำสงครามกองโจรต่อสู้กับรัฐบาลอีก 5-6 ปี ถือเป็นวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดชองประเทศ

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ที่มีเพียง 29 มาตราแต่อยู่ได้เพียง 1 ปีก็ถูกรัฐประหาร

 

รัฐธรรมนูญ 2521
ต้นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อครองอำนาจ
แต่พลาดถูกหักหลัง ตกจากเก้าอี้นายกฯ

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 เพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ

โดยให้รัฐสภา ประกอบด้วยวุฒิสภาแบบแต่งตั้งและสภาผู้แทนราษฎร แต่ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา

วุฒิสมาชิกแต่งตั้งโดยนายกฯ เป็นผู้เสนอ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. (225 คน) มีวาระคราวละ 6 ปี จับสลากออกทุก 2 ปี

บทเฉพาะกาล 4 ปีแรก นายกฯ ไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ (ผบ.ทบ. เป็นรัฐมนตรีได้ ส.ว. เป็นผู้คุมกองพลก็ได้) ส.ว. มีอำนาจเท่า ส.ส.

พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็เลยตั้ง ส.ว.ทหารบก 113 คน จาก ส.ว. 225 คน ที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นทหารตำรวจ

ดูแล้วต้องสืบทอดอำนาจ อยู่ไปจนแก่ตายแน่นอน แต่ความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้น

 

วิธีการตั้งรัฐบาล 2522
แบบไม่สนใจพรรคการเมืองใหญ่
โมเดลนี้ลองคิดดูว่าปี 2561-2562 ถ้าจะใช้ซ้ำต้องทำอย่างไร?

ผลการเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 กลุ่มกิจสังคมได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 82 คน ชาติไทย 38 ปชป. 33 ประชากรไทยของสมัคร 32 เสรีธรรมที่สนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ 21 คน ชาติประชาชน 13 นอกนั้นอีก 9 พรรค ได้ต่ำสิบ… ขณะที่ผู้สมัครอิสระได้รวม 59 คน จากเสียงทั้งหมดในสภา 301

พล.อ.เกรียงศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยใช้พรรคเล็กอย่างเสรีธรรมและชาติประชาชนเป็นแกน รวม ส.ส.อิสระส่วนใหญ่ (47 คน) และพรรคต่ำสิบ มี ส.ส. หนุนเพียง 107 คน ไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนฯ แล้วก็เอาเสียง ส.ว. 225 คน มาเป็นกำลังหลัก

ผู้มีอำนาจเอาเปรียบทุกอย่าง เรียกประชุมสภาทางวิทยุโทรทัศน์ ใครไม่มาประชุมไม่สน ได้เป็นนายกฯ ไปตามความต้องการ

กลุ่มการเมืองใหญ่ที่ไม่ได้หนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ กลายเป็นฝ่ายค้าน ทั้งกิจสังคม ชาติไทย ปชป. ประชากรไทย

คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ มีข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน อาทิ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก

นี่คือรัฐบาลที่เป็นผลจากร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อครองอำนาจ พ.ศ.2521 หรือที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ทำได้สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ เพราะ ส.ว. มีอำนาจเหมือน ส.ส.

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว. ช่วยได้เฉพาะตอนตั้งนายกฯ… การผ่านกฎหมาย หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ว. ไม่มีอำนาจ

ถ้าจะใช้โมเดลนี้ในปี 2561

เกมลดกำลังพรรคการเมืองใหญ่ จึงดำเนินต่อไป

เกมให้โอกาสสร้างพรรคเล็ก ต้องดำเนินต่อไป

จะแก้กฎหมายกี่ฉบับ เพื่อความได้เปรียบก็ต้องทำ

 

ยุทธการเจาะหลังบ้าน

รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ มี ส.ว. เป็นแรงหนุนอันแข็งแกร่ง รวมแล้วมีเสียงเกินครึ่งรัฐสภาไปเยอะ

แต่เมื่อ ส.ว. อันแข็งแกร่งทรยศ ก็พังไม่เป็นท่า

ปี 2561-2562 ส.ว. 250 คน คงไม่แต่งตั้งมาจากขั้วอำนาจเดียว และอะไรจะเกิดขึ้น

ปี 2522 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จากกิจสังคมรู้ดีว่า 82 เสียง ส.ส. สู้ 225 เสียง ส.ว. ไม่ได้ จึงไม่ปะทะโดยตรง แต่อ้อมเข้าตีหลังบ้าน ใช้ทฤษฎีวัดรอยเท้าของสฤษดิ์ เกลือจึงเป็นหนอน เป็นการยึดอำนาจที่ไม่ใช้อาวุธ

พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบไปจนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2523 ไม่ถึงปี ปราสาทการเมืองที่ดูมั่นคงก็พังลงมาต่อหน้า จากม็อบเรื่องน้ำมัน ก็ถูกบีบให้ลาออกกลางสภา

เมื่อโหวตหานายกฯ คนใหม่ พล.อ.เปรมได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 200 จาก ส.ส. 195 รวม 395 เสียง

พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้เพียง 5 เสียง เกือบทุกคนทรยศหมด

ส่วนคึกฤทธิ์ได้ 80 เสียง

เมื่อการแสดงจบ ถึงตอนแบ่งเค้ก พรรคร่วมรัฐบาล กิจสังคมในฐานะผู้แสดงนำได้ตำแหน่งรัฐมนตรีไป 11 ชาติไทยได้ 6 ปชป. ได้ 5 พรรคเล็กๆ ได้ 1 ตำแหน่ง

เฒ่าสารพัดพิษ ยังคงมีพิษทั่วทั้งตัว เมื่อไม่ได้เป็นนายกฯ ก็สามารถโค่นคนที่มาแย่งไปได้ในเวลาไม่ถึงปี

จากนั้น พล.อ.เปรมสวมบทตาอยู่เป็นนายกฯ ต่อ โดยอาศัยนักการเมือง พรรคการเมือง และ ส.ว.กลุ่มเดิม พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ อยู่หลายสมัย นานถึง 8 ปี 5 เดือนโดยไม่เคยลงเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบไม่ได้กำหนดให้นายกฯ จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง มีคนพยายามทำรัฐประหารหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ระบอบประชาธิปไตยจึงดำเนินต่อมาถึงการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2531 พล.อ.เปรมประกาศไม่รับตำแหน่ง

พล.อ.ชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติไทยขณะนั้นจึงได้รับตำแหน่งนายกฯ จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ถูกคณะ รสช. ทำการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 จึงสิ้นสุดลงโดยมีโอกาสใช้นานถึง 12 ปี 2 เดือน

มีผู้วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ได้ยาวเพราะเป็นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองเข้ามามีส่วนในอำนาจได้ง่ายโดยไม่ต้องทำการรัฐประหาร

ถ้าประนีประนอมกันได้ ทั้งผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง และการลากตั้ง จะร่วมกันเสพอำนาจและผลประโยชน์ โดยประชาชนนั่งมองตาปริบๆ ไปนาน

2562 การเมืองจะมาแนวนี้หรือไม่ จะมีใครหักหลัง ใครจะเป็นเฒ่าสารพัดพิษ


การสืบทอดอำนาจ…โดยทหาร
สมคบกับนักการเมือง ปี 2534-2535 ทำไม่สำเร็จ

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จากนั้นนำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 มาใช้ชั่วคราวจริงๆ แต่พยายามสืบทอดอำนาจโดยผ่านระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง (เพราะนายกฯ ชั่วคราว ไปมอบให้ นายอานันท์ ปันยารชุน) จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 อย่างรวดเร็ว ในเดือนธันวาคม 2534

มีเนื้อหาเพื่อสืบทอดอำนาจดังนี้

1. รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา

2.วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง มีจำนวน 270 คน มีวาระละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี ให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 300 คน ซึ่งราษฎรเลือกตั้ง แสดงว่า ส.ว. มีจำนวน 9 ใน 10 ของ ส.ส.

3.นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

บทเรียนการครองอำนาจหลังเลือกตั้งไม่ถึงปีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ กับการครองอำนาจ 8 ปีของ พล.อ.เปรม ทำให้ รสช. มียุทธศาสตร์คบพรรคใหญ่ และตั้งพรรคของตนเอง เป็นพรรคทหารที่ไม่จำเป็นต้องมีคน รสช. ออกหน้า ชื่อพรรคสามัคคีธรรมซึ่งเลือกตั้งได้ที่ 1 มี 79 เสียง ชาติไทย 74 ความหวังใหม่ 72 ปชป. 44 พลังธรรม 41 กิจสังคม 31 นอกนั้นเป็นพรรคเล็ก

การรวมตัวเป็นรัฐบาลผสมของพรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม และพรรคเล็กๆ โดยหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ คนนอก ทำให้เกิดการต่อต้านบานปลาย เป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

โครงสร้างอำนาจคล้ายยุค พล.อ.เปรม แต่คนไม่ยอมรับนายกฯ คนนอก

(แต่ นายอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นนายกฯ คนนอกทำไมรับได้)

การประท้วงต่อต้านจบลงด้วยความตาย แต่อำนาจ รสช. ก็จบลงเช่นกัน

บทเรียนนี้คือ เมื่อประชาชนกล้าสู้กับอำนาจเผด็จการ อำนาจนั้นก็ไม่สามารถปกครองต่อได้

แต่วงจรอุบาทว์ยังย้อนรอย ซ้ำซาก ไม่มีใครเห็นหัวประชาชน…ประเทศชาติจะพังไม่สน ที่กำลังเกิดขึ้น ก็ทำแบบไม่สนใจความรู้สึกประชาชน คล้ายจะบอกว่า คนโง่และขี้ขลาด ปกครองไม่ยาก สถานการณ์ในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? …(ต่อฉบับหน้า)