ในประเทศ : ม.44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง บูมเมอแรงสั่นคลอนอำนาจ คสช.

ทันทีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยที่ คสช. ได้ใช้อำนาจที่เปรียบเสมือนยาวิเศษ ด้วยการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่แฝงอยู่ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ขยายกรอบเวลาดำเนินการ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้สามารถดำเนินการทางธุรการของพรรคได้ จากเดดไลน์เดิมที่ให้ทุกพรรคการเมืองปรับข้อมูลสมาชิกพรรคให้เสร็จภายในวันที่ 5 มกราคม 2561

โดยคำสั่งตามมาตรา 44 ได้ขยายเงื่อนไขเวลาของการทำงาน

ดังนี้

 

1.ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 ผู้ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่สามารถดำเนินการทางธุรการได้ เช่น โดยต้องหาผู้ร่วมอุดมการณ์อย่างน้อย 500 คน หาทุนประเดิม 1 ล้านบาท เรียกประชุมผู้ก่อการ 250 คนเพื่อกำหนดชื่อพรรคและสัญลักษณ์ เลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งในการจัดประชุมเพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. ก่อน

2. ภายหลังวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 พรรคการเมืองเก่าต้องจัดทำทะเบียนรายชื่อสมาชิก และให้สมาชิกชำระค่าบำรุงพรรค ส่วนเงื่อนไขที่ต้องทำภายใน 180 วัน หรือภายใน 1 ปี หลังประกาศใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ให้เลื่อนไปเริ่มนับหนึ่งจากวันที่ 1 เมษายน 2561

3. ภายใน 90 วันนับจากยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคได้

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. จะร่วมกันเพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนดำเนินการการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ป โดยหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอาจเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองร่วมด้วย

 

เมื่อไล่ถอดรหัสของคำสั่งตามมาตรา 44 โดยละเอียดแล้วจะพบว่าการปลดล็อกให้พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ เนื่องจากในคำสั่งดังกล่าวมีการระบุว่า “ยังมีความจำเป็นต้องคงประกาศและคำสั่ง คสช. ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างการดำเนินการตามกฎหมายไปกระทำกิจกรรมทางการเมืองอื่น อันกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและความปกติสุขในบ้านเมืองซึ่งกำลังดำเนินมาด้วยดี ตลอดจนกระทบต่อบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง”

ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมและกระแสคัดค้านจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองพรรคใหญ่ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขปัญหาดังกล่าว ว่าเป็นการแก้ปัญหาจริงหรือไม่

หรือเป็นเพียงการทำตามคำขอของคนบางกลุ่มที่ต้องการจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่อาจจะเป็นพรรคทหาร หรือพรรคนอมินี เพื่อให้ได้ประโยชน์กับคำสั่งนี้กันแน่

เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว จะทำให้สมาชิกพรรคการเมืองเก่ามีภาระมากขึ้น ทั้งจะต้องทำเป็นหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคและจ่ายค่าสมาชิกซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนมากพอสมควร ภายใต้เดดไลน์ 30 วัน ที่ต้องจัดการให้เสร็จ

กระบวนการดังกล่าวคอการเมืองจึงไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นได้ นั่นคือ เป็นการฆ่าตัดตอนสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่เรื่องสมาชิกพรรคถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้จะไม่ใช่หลักประกันการแพ้ชนะเลือกตั้ง แต่สมาชิกพรรคการเมืองเป็นหลักประกันในการเดินหน้าไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การกำหนดให้มีผลยกเลิกสมาชิกภาพก็ถือเป็นการลิดรอนสิทธิรูปแบบหนึ่ง แทบไม่ต่างอะไรกับการถูก “เซ็ตซีโร่พรรค”

ยิ่งหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงจะต้องเป็นการเลือกตั้งภายใต้บริบทประชาธิปไตยครึ่งใบโดยเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ภายใต้กำกับของ คสช. ซึ่งมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคเดิมและพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพราะมีสัญญาณที่เริ่มจะชัดเจน จากคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงกระเพื่อมจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ของ คสช. เพียงเท่านั้น

เพราะในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลปีใหม่นี้ ผู้มีอำนาจได้ส่งสัญญาณผ่านทางนิติบัญญัติไปในหลายด้าน รวมไปถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. … ด้วย

หลังจากที่ประชุม สนช. ได้ผ่านร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ด้วยมติ 197 ต่อ 1 โหวตผ่านฉลุย มีสาระสำคัญคือไม่รีเซ็ตคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเก่า ปล่อยผีให้อยู่ยาว โดยในมาตรา 178 ของร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ระบุว่า “ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป. นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11(1) และ 18 มิให้นำมาใช้บังคับ” อันเป็นการกำหนดให้ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมายนั้น

หากจะอธิบายเรื่องการต่ออายุให้เห็นภาพ ย่อมสามารถบอกได้ว่า “สนช. ต่ออายุคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกไปอีก 7 ปี โดยที่ปัจจุบันก็อยู่ไปแล้ว 2 ปี เมื่อยืดอายุออกไปอีก 7 ปีก็จะเป็น 9 ปีนั่นเอง โดยให้เหตุผลว่า ทำงานเข้าตาและเพื่อให้การสอบสวนทุจริตเกิดความต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกันเสียงคัดค้านในการให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อจนครบตามวาระเดิม ถือว่าสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560

เพราะนอกจากจะเขียนให้ยกเว้นคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว กมธ. เสียงข้างมากยังได้เติมข้อความให้ยกเว้นลักษณะต้องห้ามด้วย ดังนั้น อาจจะเป็นครั้งแรกที่สภาออกกฎยกเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ปัญหานี้คือ การเขียนกฎหมายแบบเอาลูกไปฆ่าแม่ เอา พ.ร.ป. ไปยกเว้นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่ หากมีการร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความบทบัญญัติดังกล่าว

 

ทั้งหมดทั้งมวลย่อมสะท้อนการใช้อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ และฝ่ายนิติบัญญัติที่กำเนิดมาจากอำนาจรัฐประหาร ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าของ คสช. โดยจะเห็นการใช้อำนาจเช่นนี้ในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด หากเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนในทางที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นการใช้อำนาจเพื่อพวกพ้องของตนเองนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับนักการเมืองที่เคยก่อวิกฤตในอดีต

ที่น่ากังวลคือ แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ประกาศใช้แล้ว ยังมีการใช้อภินิหารทางกฎหมายในมาตรา 44 มาแก้ไข ก็ยิ่งน่าจับตาว่าในกฎหมายลูกฉบับต่อๆ ไป จะมีอภินิหารทางกฎหมายออกมาสำแดงอิทธิฤทธิ์อะไรอีกหรือไม่

เพราะต้องไม่ลืมว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ และหากมาตรา 44 แก้ไขปัญหาเรื่องปลดล็อกพรรคการเมืองไม่ได้จริง อาจจะนำไปสู่การแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในขั้น สนช. ก็เป็นได้

หากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศไว้ว่าเป็นเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือไม่

เพราะยิ่งเวลาผ่านไป โรดแม็ปของ คสช. ก็เริ่มปรับเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา จนหลายฝ่ายเริ่มออกมาจับสัญญาณกันได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า “อยากจะอยู่ยาว”

เมื่อถึงเวลานั้น ชายชาติทหารจะออกมาชี้แจงกับประชาชนอย่างไร มรสุมในด้านวิกฤตและศรัทธา คงไม่ต่างอะไรกับบูมเมอแรงที่จะย้อนกลับมาสั่นคลอนอำนาจของ “คสช.” เอง