ศัลยา ประชาชาติ : อภิสิทธิ์ คับข้องใจ “บิ๊กตู่” หู-ที่ไม่ได้ยินนักการเมือง ปัจจัยเสี่ยง อันตรายถ้า “อยู่ต่อ”

ที่สำนักงานหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คลาคล่ำไปด้วยสมาคมการค้า ทายาทเศรษฐีเก่า-ใหม่

ห้องทำงานส่วนตัวสลับกับห้องประชุม ถูกเปิดรับแขก-ทูตานุทูต และนานาสื่อจากต่างประเทศ

เบื้องหลังคือความชุลมุนเรื่อง “ระเบียบ-ธุรการ” ที่ต้องเร่งจัดการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งใหม่

เบื้องหน้าคือความหวั่นไหว ถึงวันเปิดเทอมใหญ่ ที่ไม่มีใครขีดเส้นปฏิทินได้

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนพันธุ์การเมืองแท้ๆ คิดกะการคู่ขนาน ทั้งเรื่องวาระนโยบาย-แท็กติกกฎหมายเลือกตั้ง

สนทนากับ “อภิสิทธิ์” เกาะติด-ลงรายละเอียดทุกมิติ ทั้งเกมแห่งอนาคตการเมือง และเรื่องปัญหาปากท้องประชาชน

 

เขาเปลี่ยนแปลงไม่ฟันธงว่าจะมีเลือกตั้ง-หรือไม่ ในปี 2561 แต่เขาบอกเหตุผลได้ว่า ถ้าจะ “ไม่เลือกตั้ง” น่าจะมาจากสาเหตุของ “คสช.” ทั้งองคาพยพ ยังไม่พร้อม

ข้อวิเคราะห์จาก “อภิสิทธิ์” แทงทะลุแม่น้ำ 5 สาย หากไม่มีการเลือกตั้ง 2561 มี 2 อุบัติเหตุ

อุบัติเหตุแรก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย คือ การแก้รัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเปลี่ยนแปลงขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายการเลือกตั้ง ทำให้การเปิด-ปิดล็อกการเมือง เลื่อนเงื่อนเวลาออกไป

อุบัติเหตุที่สอง กรณีพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …

หากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย “ไม่ผ่าน” การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกำหนดเวลา แน่นอนที่สุดว่าการเลือกตั้งตามปฏิทินการเมืองต้องขยายเวลาออกไปอย่างไม่มีสิ้นสุด

“อภิสิทธิ์” บอกว่า จะเอาอย่างไรก็ให้ คสช. ตอบมาให้ชัด เพราะทั้งนักการเมือง-นักธุรกิจต่างไม่ปรารถนาความไม่ชัดเจน

“แม่น้ำทุกสายมาจาก คสช. ถ้า คสช. มองว่าโรดแม็ปต้องเปลี่ยน พูดให้ชัดว่าจะเปลี่ยน เพราะเมื่อมีแต่ความไม่แน่นอน ผลเสียจะเกิดกับส่วนรวม ความเชื่อถือของประเทศ นโยบายจะรวนไปหมด สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง”

 

ความไม่แน่นอน-เป็นต้นทุนที่พรรคการเมือง-องค์กรธุรกิจ “ต้องจ่าย” มากว่า 10 ปี

อภิสิทธิ์บอกว่า “นักลงทุน นักธุรกิจ ต้องการความแน่นอน ความชัดเจน ประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมาการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความลังเล การลดเงื่อนไขของความไม่แน่นอนได้ จะมีแต่เป็นบวก”

มีคำถามที่พ่อค้าวาณิชถามไถ่กันในตลาดหุ้น ถึงเหตุผลที่มองไม่เห็นใต้เส้นโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. อาจพูดไม่ออก บอกไม่ได้ถึงปฏิทินการเมือง

อภิสิทธิ์เห็นว่า “ไม่เห็นเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะปัญหาอุปสรรค เช่น ความวุ่นวาย รัฐบาลมีเครื่องมือและอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดการ”

คนการเมืองเริ่มส่งเสียงย้อน-แย้งว่า ลีลานายกรัฐมนตรี-ลงพื้นที่คล้ายหาเสียง ส่อนัยต้องการ “อยู่ต่อ”

ปรากฏการณ์นี้ “อภิสิทธิ์” ประเมินว่า “อันตราย”

“คงมีความพยายามที่จะให้มั่นใจว่า ควบคุมสถานการณ์ได้หลังเลือกตั้ง แต่ถ้าตั้งเป้าว่าไม่สนใจเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง อันตราย”

 

เหตุผล-ความจำเป็นในการอยู่ต่อเพื่อ “บริการคนจน” นั้น อดีตนายกรัฐมนตรีอ่านทางทะลุไปถึงนโยบาย-มาตรการเศรษฐกิจ ที่ทีม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จะเก็บเกี่ยวในปี 2561

“ถ้าจะตอบว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รูปธรรมคืออะไร ปฏิรูปไม่เคยมีรายละเอียด ไปถามใครก็ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรที่ทำอยู่ ใครรู้บ้าง ชาวบ้านไม่รู้เลย ไม่มีทางสำเร็จ ผมเห็นด้วยที่ คสช. ไม่ควรจะหมกมุ่นในเรื่องการเลือกตั้ง แต่ คสช. ควรตั้งเป้าว่า ก่อนถึงวันเลือกตั้ง สภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่ต้องการจะปรับปฏิรูปคืออะไร”

“ทุกคนรอคอยว่าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไร 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ใช้เงินภายใต้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีวิกฤต”

มาตรการตามข้อเสนอของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่จะตั้ง “ธีมการตลาด” ว่าจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ทุกชุมชน เป็นปีแห่งการบริการคนจนนั้น “อภิสิทธิ์” อดีตนักเรียนปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 บอกว่า “พอถมเงินลงไป ผลที่ได้กลับมาค่อนข้างน้อย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจชนบท การเกษตร ไม่ได้มีอะไรกระเตื้องขึ้น มาตรการหลายอย่างไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน

“การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กำลังซื้อไม่กระจายและหมุนเวียนอยู่ในชุมชน แต่เงินไปกองอยู่ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ รัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจฐานล่างมีปัญหา แต่จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุด หลายเรื่องรัฐบาลไม่เข้าใจความเชื่อมโยง”

 

เขาประเมินอุณหภูมิการเมืองที่มีจุดเดือดจากปัญหาเศรษฐกิจว่า “3 ปีที่ผ่านมาการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ผลค่อนข้างน้อย ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558 รายได้ครัวเรือนลดลง บางจังหวัดลดลงรุนแรง ถึง 1 ใน 3 ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น เป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจไม่วิกฤตแต่คนจนเพิ่มขึ้น ตัวเลขจีดีพีส่งออก แม้จะกระเตื้องขึ้น แต่ถ้าเทียบระดับภูมิภาค 2-3 ปี ขยายตัวต่ำและกระจุกตัวชัดเจน สถานการณ์เศรษฐกิจฐานล่างแย่ลง อ่อนแอลง”

เมื่อเสียงคนมีรายได้น้อยไม่ดังเท่าเสียงของนายทุนประชารัฐ ช่องว่างที่ถ่างกว้าง เปิดโอกาสให้คนการเมืองได้ทำหน้าที่ ทว่าเสียงการเมืองดัง-แต่รัฐบาลไม่ได้ยิน เหตุผลเพราะ

“หนึ่ง ความหวาดระแวงว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อทีมนโยบายพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า ถึงฤดูเกี่ยวข้าวเราอยากเห็นมาตรการเรื่องข้าว ที่จะช่วยแก้ปัญหา แต่โฆษกรัฐบาลตอบโต้ออกมาเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ผมงงมาก เพราะข้อเสนอไม่ใช่การตำหนิรัฐบาลและเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์”

“สอง พอรัฐบาลตัดสินใจว่าไม่อยากฟังฝ่ายการเมืองเดิมเลย กลายเป็นว่า แล้วจะฟังใคร กลายเป็นว่า โดยกลไกรวมศูนย์เขาก็ต้องฟังภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่เป็นหลัก เพราะฉะนั้น มุมมองก็จะเป็นเรื่องของกลุ่มทุนใหญ่เป็นหลัก”

“แม้กระทั่งจดหมายเปิดผนึกของท่านชวน หลีกภัย ส่งไปถึงรัฐบาลก็ต้องการสะท้อนไปถึงปัญหา แต่สุดท้ายท่านนายกฯ ก็อดไม่ได้ที่จะย้อนไปถึงเรื่องของรัฐบาลเก่า…นายกฯ ทำแบบนี้แล้วปลอดภัยจากการเมืองหรือไม่ อีก 2 ปีก็รู้”

ทางออกจากการ “ถมเงิน” ไปที่หมู่บ้าน “อภิสิทธิ์” แนะว่า “ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ มันก็ยาก เงินก็อยู่แต่กับผู้นำชุมชนกับผู้รับเหมา 3 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น ถ้าวันนี้ทีมเศรษฐกิจไม่ปรับมุมมอง ไม่ทบทวนว่า ทำไมเศรษฐกิจถึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ทำแบบเดิมได้ผลแบบเดิม หวังเปลี่ยนแปลงได้ยาก”

“เราก็คับข้องใจนะ มาตรการบางอย่างที่เป็นนโยบายที่มีผล เช่น ประกันรายได้ โฉนดชุมชน ไม่ยอมทำ เพียงเพราะเหมือนกับพรรคการเมือง แต่รัฐบาลพร้อมที่จะเสียภาษีเป็นหมื่นล้าน เช่น ช้อปช่วยชาติ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่พอเวลาจะช่วยชาวบ้าน คุณบอกว่าจะเอาเงินจากไหน”

 

วิพากษ์หนักระดับนี้ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลวิจารณ์กลับว่า การอัดเงินที่ฐานราก ได้ผลแรง นักการเมืองจึงเดือดดาล

อภิสิทธิ์ตอบกลับว่า “ผมเดือดเนื้อร้อนใจว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ ทำให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจมันยากลำบากมากและไม่เป็นผลดีต่อการเมือง ผมไม่ได้กลัวเลยว่าเขาทำไปแล้วจะได้คะแนน ผมเดือดเนื้อร้อนใจว่ามันจะเกิดช่องว่างอย่างรุนแรงระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง”

เรื่องเงินที่หมู่บ้าน-โครงการประชารัฐ-คอนเน็กชั่นทุนใหญ่ “อภิสิทธิ์” ประเมินอย่างเข้าใจ

“ผมไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่า ทุนใหญ่เป็นผู้ร้าย แต่รัฐบาลต้องฟังให้ครบถ้วน ฟังด้านเดียวจะเกิดช่องว่างและนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ถ้าหวังผลทางการเมือง เรื่องทุน ก็ต้องถามว่าแล้วธรรมาภิบาลอยู่ที่ไหน”