ชวนชมคลิปความรู้ ‘สุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย ครั้งที่ 2’

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
ตัวอย่างการอธิบายปรากฏการณ์เด่นซึ่งบันทึกไว้โดยคุณพรพิมล เมืองจันทร์ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ

ในช่วงกว่า 13 ปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สนใจชมเมฆและปรากฏการณ์ในบรรยากาศ เห็นได้จากจำนวนสมาชิกของ ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’ ซึ่งมีถึง 430,502 คน (ในวันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2566)

‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’ เป็นกลุ่มใน facebook ครับ อยู่ที่ www.facebook.com/groups/CloudLoverClub ซึ่งผมสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 นับถึงวันนี้ก็กว่า 13 ปีแล้ว

ในแต่ละวันสมาชิกชมรมฯ จะโพสต์ภาพรวมๆ แล้วหลายร้อยภาพ หรืออาจถึงหลักพันภาพหากมีเหตุการณ์พิเศษบนท้องฟ้า เช่น เมฆสีรุ้ง หรืออาทิตย์ทรงกลดสุดอลังการ ผลก็คือ ชมรมคนรักมวลเมฆมี ‘คลัง’ ภาพ คลิป และข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับเมฆและปรากฏการณ์ในบรรยากาศ

คลังภาพและข้อมูลนี้ทำให้สามารถประมวลเป็นหนังสือได้ถึง 8 เล่ม เล่มสำคัญคือ Cloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี และ All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ส่วนหนึ่งของแกนนำในการจัดกิจกรรมสุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย ครั้งที่ 2

ชมรมคนรักมวลเมฆยังมีนิทรรศการและกิจกรรมพบปะเพื่อนสมาชิกแบบเจอกันตัวเป็นๆ กว่า 10 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้รับการสนับสนุนจาก Thai PBS Podcast เนื่องจากผมเป็นวิทยากรมานานราว 4 ปี และจัด Podcast ไปกว่า 230 ตอน

กิจกรรมดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘สุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย ครั้งที่ 2’ ซึ่งจัดที่ Thai PBS ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9-13น.

Thai PBS ระดมมืออาชีพกว่า 30 คนมาช่วยงานเบื้องหลัง ได้แก่ สำนักโทรทัศน์ฯ ดูแลการบันทึกเทป แสง เสียง รวมทั้งการออกแบบเวทีและศิลปกรรม สำนักสื่อดิจิทัลดูแลงานออนไลน์ การถ่ายทอดสด กราฟิก พีอาร์ออนไลน์ การลงทะเบียนออนไลน์ การเตรียมอาหาร การประสานสถานที่ ทีมสื่อสารองค์กรทำข่าวพีอาร์และถ่ายภาพนิ่ง สำนักสร้างสรรค์และสำนักข่าวให้พื้นที่ข่าวและสปอตพีอาร์ และฝ่ายสื่อเสียงจัดทำเนื้อหาทั้งหมดและจัดชุดภาพถ่ายที่ส่งประกวด โดยมีคุณโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง เป็นแม่งาน

เรียกได้ว่าจัดเต็ม เพราะกวาดตัวแทนทีมมาจากสำนักต่างๆ ของ Thai PBS มาช่วยงานนี้ครึ่งองค์กรทีเดียว – ผมขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ณ ที่นี้

 

ตัวกิจกรรมหลักประกอบด้วยการนำเสนอภาพเมฆและปรากฏการณ์เด่นๆ ที่ถ่ายได้โดยคนไทยในช่วงราว 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในการจัดกิจกรรมครั้งแรกในชื่อเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 (คือ 3 ปีก่อน) ได้มีการนำเสนอภาพปรากฏการณ์เด่นๆ ในช่วงก่อนหน้าที่คนไทยพบเจอไปแล้ว ครั้งนี้จึงถือเป็นการต่อยอด

ผมเชื่อว่าตอนนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคน ‘ดูเมฆ’ หรือทำกิจกรรมที่ฝรั่งเรียกว่า cloudspotting กันอย่างจริงจังเผลอๆ อาจอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกด้วย โดยดูจากจำนวนสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ จากปรากฏการณ์หายากที่คนไทยบันทึกภาพไว้ได้ เช่น รุ้งแฝดสาม เมฆทรงกลม สไปรต์ บลูเจ็ต และจากการประมวลความรู้เป็นระบบในหนังสือ Cloud Guide

กิจกรรรมหลักอื่นๆ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการชมเมฆโดยเพื่อนสมาชิก’ และการทำแบบทดสอบ ‘คุณตกหลุมรักเมฆเข้าแล้ว – ใช่หรือไม่?’ ใครสนใจ ลองไปที่ www.cloudloverclub.com/test-cloudlover/

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดภาพถ่าย ซึ่งตัดสินกันในวันจัดกิจกรรมโดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นกรรมการตัดสิน หัวข้อการประกวดมี 2 ประเภท ได้แก่ ‘เมฆแห่งจินตนาการ’ และ ‘ปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก’

คุณผู้อ่านที่สนใจชมภาพที่ได้รับรางวัลสามารถชมในข่าว ‘ไทยพีบีเอสจัดรวมพลคนรักเมฆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จินตนาการ-วิทยาศาสตร์’ ได้ที่ https://www.thaipbspodcast.com/news/77/ไทยพีบีเอสจัดรวมพลคนรักเมฆ+แลกเปลี่ยนเรียนรู้จินตนาการ-วิทยาศาสตร์+

ช่วงท้ายสุดยังมีกิจกรรมชมเมฆจริงพร้อมรับประทานอาหารกลางวันไปด้วย ผลที่ได้น่ารื่นรมย์เพราะมีคำถามดีๆ ต่อเนื่องราวครึ่งชั่วโมงทีเดียว

คุณผู้อ่านที่สนใจความรู้ หรืออยากชมบรรยากาศของกิจกรรมนี้ สามารถชมย้อนหลังโดยค้นเน็ตด้วยคำว่า ‘สุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย ครั้งที่ 2’ หรือไปที่ https://fb.watch/oyXq0N0ejw/?mibextid=Nif5oz ส่วน YouTube ก็ที่ https://www.youtube.com/watch?v=csF-oLgkElM หรือสแกน QR code ที่นำมาฝากครับ

QR Code สำหรับคลิปบันทึกกิจกรรม ‘สุดยอดเมฆฟ้าผ่านสายตาคนไทย ครั้งที่ 2’ ใน YouTube
คุณเพชรนาถ มิตกิตติ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ กำลังเล่าประสบการณ์การสังเกตหมวกเมฆสีรุ้ง
บรรยากาศการตัดสินภาพถ่ายโดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม
พาชมเมฆจริงบนฟ้าในช่วงสุดท้าย
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบันทึกภาพร่วมกัน