ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (2) เหามัมมี่ และคดีของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (2)

เหามัมมี่ และคดีของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

 

ในปี 2010 ทีมนักวิจัยนำโดยแบร์รี่ พิตเทนไดรจ์ (Barry Pittendrigh) จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์บานา แชมเปญ (University of Illinois Urbana Champaign) ร่วมกันถอดลำดับพันธุกรรมของเหาร่างกาย (body louse) ของมนุษย์ได้สำเร็จ

งานวิจัย “Genome sequences of the human body louse and its primary endosymbiont provide insights into the permanent parasitic lifestyle” ที่แบร์รี่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences, USA ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนต้องประหลาดใจ

เพราะจีโนมของ “เหาร่างกาย” นั้นทั้งเล็กและเรียบง่ายมากๆ ถ้าเทียบกับแมลงชนิดอื่นๆ คือมีขนาดเพียงแค่ราวๆ ร้อยแปดล้านคู่เบสเท่านั้น

เรียกได้ว่าเล็กจ้อยที่สุดแล้วในบรรดาแมลงทั้งหมด

แผนที่โลกใหม่ โดยเซบาสเตียน มุนสเตอร์ (Sebastian M?nster) ปี 1540

แม้ว่าร้อยแปดล้านจะฟังดูไม่ค่อยเล็กเท่าไรนัก แต่ถ้าเทียบกับจีโนมแมลงอื่นๆ เช่น ผีเสื้อโมนาร์ช (Monarch Butterfly) ที่มีขนาดราวๆ สองร้อยห้าสิบล้าน ยุงรำคาญที่มีขนาดราวๆ ห้าร้อยสี่สิบล้าน และของยุงลายที่มีขนาดมโหฬารถึงหนึ่งพันสามร้อยล้านคู่เบส ยังไงจีโนมของเหา ก็ดูกระจิ๋วจ้อยอยู่ดี

และถ้าเอามาเทียบกับของมนุษย์ที่มีขนาดประมาณ “สามพันล้านคู่เบส” แล้วนั้น บอกได้เลยว่าแค่เศษเสี้ยวก็ยังเทียบไม่ได้ ถ้าจะให้เทียบขนาดกับจีโนมมนุษย์แบบกะประมาณเป็นตัวเลขกลมๆ ขนาดของจีโนมเหาก็ยาวเพียงแค่ราวๆ หนึ่งในสามสิบของจีโนมมนุษย์เท่านั้น

“การจะเป็นปรสิตสูบเลือดมนุษย์นั้น ไม่จำเป็นต้องมียีนอะไรที่เว่อร์วังมากมาย เพราะทุกอย่างหาได้จากโฮสต์”

เมย์ เบเรนบาอ์ม (May Berenbaum) ผู้เชี่ยวชาญกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าว “แค่จีโนมเล็กๆ เรียบๆ ง่ายๆ ก็เพียงพอแล้ว”

ภาพวาดคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในห้องสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา (Library of Congress)

แต่เดี๋ยวนะ เหาก็กินเลือด ยุงก็กินเลือด แต่แล้วทำไมจีโนมของเหา เมื่อเทียบกับยุงลายแล้วจีโนมถึงเล็กกว่ามากถึงสิบเท่า คือถ้าเอาตามเหตุผลของเมย์ตีความได้สั้นๆ ว่าวาสนามันต่างกัน

ในขณะที่ยุงต้องวิวัฒนาการมาอย่างเพียบพร้อมเพื่อให้สามารถบิน ติดตามความร้อน คาร์บอนไดออกไซด์ กลิ่นน้ำหวานดอกไม้ กลิ่นเลือด ไปจนถึงกลิ่นตัวของเหยื่อเพื่อเสาะหาอาหารและดำรงเผ่าพันธุ์

เหากลับมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นอยู่กับมนุษย์ พวกมันยึดโยงสิงร่างอยู่กับร่างกายมนุษย์เท่านั้น ไม่เคยจากไปไหน

ซึ่งถ้ามองในมุมหนึ่งก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เพราะสำหรับเหา ร่างกายของมนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรไปจากคฤหาสน์ ร้านบุฟเฟ่ต์และร้านสะดวกซื้อแบบ one stop shopping ที่มีทุกสิ่งให้เลือกสรรในชีวิต เป็นทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารอันอุดม ไม่ต้องตามหาอาหาร แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องผู้ล่าอีก (ถ้าจะมีประเด็นก็แค่เรื่องเดียวคือจะเจอแชมพูหรือยาฆ่าเหา หรือเปล่าก็เท่านั้น ซึ่งจากรายงานในปี 2007 ราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์ของพวกเหาสามารถวิวัฒน์ตัวเองจนดื้อต่อยาและแชมพูต้านเหาได้แล้ว)

เมย์เปรียบวิถีชีวิตของเหาว่าเป็นเหมือน “หนูตกถังข้าวสาร (cushy experience)”

และด้วยสาเหตุที่ว่าร่างกายของโฮสต์ที่เป็นมนุษย์นั้นมีแทบทุกอย่างที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของพวกมันอย่างอุดมสมบูรณ์ ทำให้เหาไม่จำเป็นต้องมียีนที่แมลงอื่นๆ จำเป็นต้องมีในการดำรงชีวิต

อย่างเช่น ยีนที่เกี่ยวกับการรับรู้และหลบหลีกภัย

ยีนเพื่อการล่าหาเหยื่อ (ซึ่งมีอยู่อย่างครบเครื่องในกรณีของยุง) และอีกสารพัด

ที่ขาดก็แค่วิตามินบางตัว อย่างเช่น วิตามินบี 5 หรือกรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid) ที่พวกมันได้เสริมมาจากแบคทีเรีย (symbiont) ที่ดำรงอยู่อย่างเกื้อกูล ซึ่งที่จริงก็อาศัยอยู่ในตัวของมันเอง (ที่อาศัยอยู่บนตัวมนุษย์) นั่นแหละ

แต่การขาดยีนที่สำคัญในการดำรงชีวิตอิสระ พวกมันจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของพวกมันเอง เหามนุษย์ถูกพันธนาการให้ยึดโยงอยู่แค่กับโฮสต์ซึ่งเป็นมนุษย์ ไม่สามารถแยกตัวออกมาอยู่อย่างอิสระได้

พูดในอีกนัยหนึ่งก็คือ “เหามนุษย์จำเป็นต้องอยู่กับมนุษย์ และจะติดแค่จากมนุษย์สู่มนุษย์เท่านั้น เพราะถ้าเมื่อไรที่พวกมันแยกตัวออกจากมนุษย์ พวกมันจะตาย”

และเนื่องจากเน้นเกาะมนุษย์ ไม่มียีนอะไรให้รกรุงรัง จีโนมของพวกมันจึงเรียบง่ายได้อย่างที่สุด

 

“เรารู้ว่าปรสิตพวกนี้ แพร่กระจายไปทั่วโลกพร้อมๆ กับพวกเรา” เดวิด รีด (David Reed) นักวิจัยเหาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) กล่าว เดวิดคาดหวังว่าการศึกษาพันธุกรรมเหาจะทำให้เราเข้าใจแบบแผนการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์ยุคโบราณได้

เดวิดมองว่าเราอาจจะใช้ “เหา” เพื่อเป็นเครื่องหมาย (marker) ที่สะท้อนถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในแต่ละชาติพันธุ์ในอดีตได้ เพราะ “เหาไม่มีปีก พวกมันบินไม่ได้ กระโดดก็ไม่ได้ ติดผ่านสัตว์ก็ไม่ได้ โอกาสเดียวที่มันจะติดไปยังมนุษย์คน (หรือกลุ่ม) ใหม่ได้ ก็คือการเกาะและไต่ข้ามไปหากมีการสัมผัสใกล้ชิดเท่านั้น” เดวิดขยายความ

“และถ้าไม่เคยพบปะ ค้าขาย หรือมีกิจกรรมร่วมกัน เหาจะไม่มีทางติดข้ามไปได้”

เดวิดเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาปรสิต อย่างเช่นเหานี้ จะมาช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ที่ไม่มีหลักฐานอะไรจะบอกได้ในอดีต หรืออาจจะช่วยเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของมวลมนุษยชาติที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยก็อาจจะเป็นได้

สำหรับเดวิด การศึกษาปรสิตจะเป็นมิติใหม่ของการวิจัยประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เขาเรียก “องค์ความรู้จากอดีตกาลที่ได้มาจากปรสิต” ว่า “ปรลิขิต (parascript)”

 

เพื่อขับเคลื่อนวงการปรลิขิต เดวิดเริ่มหาทางศึกษาเหาจากยุคดึกดำบรรพ์

และด้วยความบังเอิญ ทีมของเดวิดก็ไปได้ตัวอย่างหัวมัมมี่ที่มาจากทะเลทรายทางตอนใต้ของประเทศเปรูมาสองหัว

และจากการศึกษาลักษณะของหัวทั้งสองในเบื้องต้น เดวิดคาดการณ์ว่าทั้งสองตัวอย่างน่าจะเป็นหัวของมัมมี่ที่มาจากยุคหลังทิวานากู-ชิริบายา (Post-Tiwanaku-Chiribaya era) (ซึ่งรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคก่อนยุคเฟื่องฟูของอาณาจักรอินคาเสียอีก) ประมาณปีก็น่าจะอยู่ในราวๆ ช่วงปีศตวรรษที่ 10

สำหรับเดวิด “มัมมี่แค่สองหัวนี้มีค่ายิ่งกว่าทอง” เพราะผมของมัมมี่ทั้งสองตนนั้นถูกถักเป็นเปียเอาไว้อย่างแน่นหนา ยากยิ่งในการสางและสระ ทรงผมแบบนี้ “น่าจะไม่ต่างจากวิมานของเหล่าเห็บเหา” แค่สองหัว เดวิดและทีมสามารถเก็บตัวอย่างเหามัมมี่ได้มากถึงเกือบพันตัวแล้ว

ตัวอย่างมีเหลือเฟือขนาดนี้ เดวิดและทีมสามารถสกัดแยกดีเอ็นเอคุณภาพสูง ออกมาได้อย่างสะดวกดาย

“มีเหาเยอะเยอะเต็มไปหมด นี่มันน่าอัศจรรย์ใจมาก” เดวิดกล่าว “ในความรู้สึกของผม มันสุดยอดมากที่ได้เห็นว่าพวกคนในยุคนั้นติดเหากันระเนระนาดขนาดไหน”

 

แต่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าก็คือ การค้นพบเหาบนหัวมัมมี่เปรูทั้งสองหัวนั้น เพราะมันขัดแย้งกับแนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง

เพราะจากการวิเคราะห์วิวัฒนาการของเหา ในปัจจุบัน เหาแบ่งออกได้เป็นสามสายพันธุ์ นั่นคือ A B และ C

สายพันธุ์ A พบในทุกที่ แพร่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

ในขณะที่สายพันธุ์ B จะพบมากในยุโรป และในแถบอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก

ส่วนสายพันธุ์ C นั้น ค่อนข้างหายาก พบได้ไม่ค่อยเยอะ

ตามแนวคิดเดิม เราเพ่งโทษคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ว่าเป็นคนเอาสารพัดโรค รวมทั้งเหาด้วย จากดินแดนโลกเก่า ซึ่งรวมถึงทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา แพร่กระจายไปติดผู้คนในดินแดนโลกใหม่ในทวีปอเมริกา ทั้งเหนือและใต้ (รวมถึงเปรูด้วย)

ทว่า การค้นพบเหาบนหัวมัมมี่จากดินแดนในทวีปอเมริกาใต้ที่มีอายุกว่าเกือบ 500 ปีก่อนที่กัปตันโคลัมบัสจะท่องโลกนั้น ถือเป็นอะไรที่ผิดคาด

เพราะนั่นหมายความว่าผู้คนในเปรูนั้นติดเหากันอยู่แล้วแบบกระจุยกระจาย

ที่สำคัญ เหาจากหัวมัมมี่เปรูนั้น เป็นสายพันธุ์ A ล้วนๆ แถมมีพันธุกรรมแทบจะเหมือนกันเด๊ะกับเหาบนหัวของบรรพบุรุษของมนุษย์ในแอฟริกา

ซึ่งหมายความว่าเหามัมมี่พวกนี้น่าจะไปลงเอยตั้งรกรากอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ ไปตั้งแต่ช่วงราวๆ เกือบ 100,000 ปีก่อน ตอนที่บรรพบุรุษมนุษย์ระลอกแรกๆ เริ่มอพยพออกจากทวีปแอฟริกาแล้ว

และนั่นทำให้ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” อาจจะดูบริสุทธิ์ผุดผ่องในเรื่องนี้

แต่การที่พวกนักบุกเบิกโลกใหม่น่าจะไม่ได้เป็นกลุ่มแรกที่เอาเหาสายพันธุ์ A มาเผยแพร่ในอเมริกา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกนักบุกเบิกพวกนี้จะไม่ได้มีส่วนในการแพร่ระบาดของเหาสายพันธุ์ต่างๆ ในเวลาต่อมา…

แม้จะฟังดูเพี้ยนๆ ว่า เหา ปรสิตน้อยที่หลายคนรังเกียจ บางทีอาจจะกุมความลับที่น่าสนใจของมนุษยชาติที่น่าสนใจเอาไว้ก็เป็นได้…

ไม่แน่ ถ้าสืบสาวราวเรื่องดีๆ บางที อาจล้วงลึกไปถึงประวัติศาสตร์ที่อาจจะยาวนานเกินกว่ายุคพระเจ้าเหา!