แนวรบด้านตะวันตกเปลี่ยนแปลงมาก | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(Photo by Ye Aung THU / AFP)

ตามที่มีบางฝ่ายเสนอให้ทางการไทยริเริ่มการแสวงหาสันติภาพในเมียนมา โดยมองว่า เพื่อมนุษยธรรมทางการไทยควรแสดงบทบาทนี้ แม้ว่าเป็นงานยากมากก็ตาม

ผมไม่คัดค้านความพยายามนี้ แต่อยากนำเสนอความยุ่งยากและสลับซับซ้อนอย่างมากในสิ่งเรียกว่า วิกฤตการณ์ในเมียนมา ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นมากกว่าสงครามกลางเมือง (Civil War) และการเมืองชาติพันธุ์ (Ethnic politics) ดังแต่ก่อน

ทั้งนี้ ผมขอนำรายงานที่น่าสนใจของ Crisis group Watch list 2023 ในหัวข้อ ‘Myanmar : Post Coup Crisis and Flawed Election’ ที่รายงานออกมาตั้งแต่ 31 มกราคม 2023 ดังนี้

 

ภาพรวม

2 ปีหลังจากรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมียนมายังคงอยู่ในวิกฤตการณ์ลึกมาก ด้วยเศรษฐกิจย่ำแย่และผู้คนเป็นล้านต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

แม้ว่ากำลังทหารรัฐบาลใช้ความป่าเถื่อนและกดขี่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล การต่อต้านของประชาชนขยายตัวในวงกว้างยังคงดำเนินต่อไป ทั้งไม่ใช้ความรุนแรงและใช้ความรุนแรงทั่วประเทศ ความขัดแย้งยังเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ณ ที่อาศัยของกองกำลังของชนกลุ่มน้อย และในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางที่เป็นจริงเรื่องการส่งกลับประเทศคนโรฮิงญามากกว่าล้านคนที่ได้รับความรุนแรงในรัฐยะไข่และต้องลี้ภัยไปบังกลาเทศ

การศึกษานี้พบว่าตัวชี้วัดมหภาคแสดงว่า เศรษฐกิจเมียนมามีเสถียรภาพเพียง 20% ก่อนรัฐประหาร อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเลวร้ายมาก ระบบสาธารณสุขและการศึกษายังอลหม่าน

คนมากกว่า1.5 ล้านคนถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเนื่องจากความขัดแย้งหลังรัฐประหาร

พร้อมด้วยวิกฤตมนุษยธรรมมีข้อจำกัดใหม่ องค์กรไม่ใช่รัฐเหมือนถูกสกัดกั้นการเข้าถึงอย่างมาก แล้วรัฐบาลเมียนมากำลังจะจัดการเลือกตั้งกลางปี 2023 เพื่อให้การปกครองโดยพลเรือนกลับคืนมา แม้เป้าหมายการรวบอำนาจที่ควบคุมช่วงเปลี่ยนผ่านชั่วคราวสู่รัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังยังคงอยู่

นั่นหมายความว่า ไม่มีแนวโน้มอะไรบ่งชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นที่น่าเชื่อถือ แล้วมีความเสี่ยงจะมีความรุนแรงมากต่อไป ข้อมูลล่าสุด ผู้นำทหารเมียนมาก็ยังยืนยันจะจัดการเลือกตั้ง

 

ข้อเสนอ

Crisis Group มีข้อเสนอน่าสนใจคือ

1. สหภาพยุโรปและชาติสมาชิกควรแสดงจุดยืนชัดเจนไม่ให้เครดิตการเลือกตั้ง หรือความชอบธรรมที่มาจากการใช้ความรุนแรง บรรยากาศแห่งความกลัวจากระบอบการเมืองทหาร การเลือกตั้งถูกจัดขึ้นโดยทหารกลุ่มเดิมในปี 2020 ความจริงคือ มีการจับกุมหรือสังหารผู้นำ ส.ส.และสมาชิกของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง สหภาพยุโรปและสมาชิกควรกระตุ้นพันธมิตรนานาชาติให้ผูกพัน รวมทั้งทำงานร่วมกับอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค สร้างฉันทานุมัตินานาชาติและร่วมมือส่งสัญญาณเหมือนๆ กัน การขาดแผนการออกจากวิกฤตอย่างชัดเจนของเมียนมา มีความเสี่ยงสูงสำหรับบางรัฐบาลในเอเชีย

2. สหภาพยุโรปและชาติสมาชิกมีแรงขัดง้างจำกัดกับพวกนายพลเมียนมา ดังนั้น พวกเขาควรทำงานใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ เพื่อให้มีสถานภาพดีขึ้น ในบรรดาผู้เล่นที่มีอิทธิพลมากกว่าได้แก่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่นและจีน

3. สหภาพยุโรปควรทำต่อไปในการพัฒนากรอบการแซงก์ชั่นเมียนมา โดยเน้นผลประโยชน์ของทหารและธุรกิจของทหาร สหภาพยุโรปควรขยายเป้าหมายการแซงก์ชั่นไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารที่รับผิดชอบการกดขี่และบีบบังคับหลังการรัฐประหาร รวมถึงความสัมพันธ์กับบริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของหรือที่ทหารเกี่ยวข้อง

4. สหภาพยุโรปและชาติสมาชิกควรหลีกเลี่ยงการรับรองความชอบธรรมต่อระบอบการเมืองหลังรัฐประหาร ในขณะที่รักษาความผูกพันกับผู้เล่นสำคัญกลุ่มต่างๆ ที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ พวกเขาควรผูกพันกับ National Unity Government และผู้เล่นคนสำคัญ รวมทั้งคนกลุ่มน้อยติดอาวุธ และตัวแทนประชาสังคมมากขึ้น ควรสนับสนุนบทบาทของอาเซียนต่อไป และผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติ แล้วติดตามเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อสามารถตอบโต้สถานกาณ์อย่างทันท่วงที และเรียกร้องข้อริเริ่มทางการทูต

สุดท้าย สหภาพยุโรปควรเพิ่มความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมฉุกเฉิน และความต้องการระยะยาวของประชาชนชาวเมียนมา ด้านสุขภาพ การศึกษาและชีวิตความเป็นอยู่ ควรร่วมงานกับองค์กรท้องถิ่น ช่วยในระดับที่เหมาะสมในความช่วยเหลือบริเวณชายแดน

 

ท่าทีและข้อริ่เริ่มของไทย
โจทย์และอคติเก่า

ก่อนจะประยุกต์แนวความคิดและแนวปฏิบัติจากทีมงานของสหภาพยุโรปต่อวิกฤตการณ์เมียนมาหลังการรัฐประหารเมียนมาข้างต้น

ผมอยากสรุปโจทย์และอคติเก่าของผู้นำนโยบายและคนไทยบางกลุ่มที่เราควรละทิ้งได้แล้ว

ผลประโยชน์เมียนมาผลประโยชน์ไทย?

เป็นเวลาอย่างน้อย 40 ปีแล้ว ประเด็นพม่าเดิมหรือเมียนมาในปัจจุบันถูกครอบงำด้วยโจทย์เก่าๆ อคติเก่าและผลประโยชน์ของกลุ่มเดิมๆ ผู้นำทางนโยบายไทยในอดีตมักเริ่มต้นด้วยสภาพภูมิศาสตร์คือ ไทยและเมียนมามีพรมแดนติดกันยาวไกลมาก อะไรที่กระทบและก่อผลเสียต่อเมียนมาย่อมกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีชาติไหนในอาเซียนได้รับผลเสียหายเท่ากับไทย มียิงกัน มีสงครามกลางเมืองในเมียนมา ชาวบ้านเมียนมา ทั้งชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในเมียนมาก็ลี้ภัยมาอยู่ที่ไทย (อาจอยู่บริเวณชายแดน) เป็นภาระทางงบประมาณและกำลังพลของไทย

ซ้ำร้ายกระทบสินค้าส่งออกของไทยในการค้าชายแดน ที่มีมูลค่าสูง แล้วส่งผลต่อสินค้าจากฝั่งเมียนมาก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ตรงนี้อาจจะจริง ดังนั้น ผู้นำนโยบายไทยในอดีตจึงใช้นโยบายหลายด้านเช่น นโยบายรัฐกันชน (Buffer State) คือผู้นำไทยติดต่อเจรจาและผูกพันส่วนตัวกับผู้นำทหารเมียนมาเป็นหลัก

ในเวลาเดียวกันแอบสนันสนุนชนกลุ่มน้อยด้วย เพื่อให้เมียนมาที่ไร้เสถียรภาพเป็นกันชนทางการเมืองของไทย ดังนั้น เราจึงมีเรื่องเล่าขาน พลเอกเมียนมาเป็น ลูกชายบุญธรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย เรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวนายทหารระดับท้องถิ่นและระดับชาติใกล้ชิดและถูกคอกันมาก หมายความว่า ผู้นำไทยเลือกใช้นโยบายชนชั้นนำเป็นหลัก ควบคู่กับทำงานและร่วมมือค้าขายกับผู้นำชนกลุ่มน้อยเช่นกัน นโยบายนี้ไทยมีแต่ได้

ความจริงแล้ว รัฐกันชนเท่ากับไทยยังรับรองความชอบธรรมของผู้นำทหารเมียนมา

ต่อมา นโยบายผูกพันอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) นับเป็นคำพูดโก้ๆ แต่ตรรกะก็เหมือนกับนโยบายรัฐกันชน กล่าวคือ เป็นความผูกพันส่วนตัวของชนชั้นนำทางนโยบาย แทนที่จะกดดันเมียนมา ไทยพยายามวางตัวเป็น หน้าต่าง หรือทางออกให้กับเมียนมาไม่ว่าผู้นำเมียนมาจะทำรัฐประหาร เข่นฆ่าประชาชน หรือโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วเราก็อ้าง ฉันทานุมัติอาเซียนคือ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ล่าสุด การทูตเงียบๆ (Quiet Diplomacy) แสนโก้คือ ไม่ว่ากล่าวตักเตือน ไม่โจมตีการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยธรรมของผู้นำทหารเมียนมา แล้วเชิญผู้นำทหารมาร่วมประชุมในกรุงเทพฯ หรือพัทยา แล้วอ้างว่าเป็นการประชุมไม่เป็นทางการ ย่อมไม่ต่างอะไรกับนโยบายรัฐกันชน ความผูกพันอย่างสร้างสรรค์เลย

นโยบายไทยต่อเมียนมาด้วยภาษาสวยหรูจึงตรงกันข้ามกับข้อเสนอของอาเซียน องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งของ Crisis Group ที่เสนอมาตรการแซงก์ชั่นผลประโยชน์ของทหารและสินค้าบริษัททหาร เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานบังคับ การอายัดทรัพย์สินและเงินผู้นำทหารในต่างประเทศ แม้แต่ธุรกรรมการเงินบริษัทต่างประเทศ เป็นต้น ข้อเสนอให้ติดต่อพูดคุยกับรัฐบาลของฝ่ายค้าน ติดต่อแกนนำของกลุ่มชาติพันธุ์

ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ทั้ง 3 นโยบายทำให้กลุ่มผลประโยชน์ไทยน้ำลายไหลมากกว่า

 

โจทย์ใหม่

ถึงไม่อาจยืนยันความพ่ายแพ้ของกองกำลังรัฐบาล การสูญเสียเมืองสำคัญให้กับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

แต่โจทย์ใหม่ของเมียนมาเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว ตอนนี้และอนาคตอันใกล้ เมียนมาแบ่งแยกเป็นส่วนๆ มีบางพื้นที่เป็นอิสระจากส่วนกลาง

กลุ่มชาติพันธุ์มีอาวุธ เงินมากมายและไม่มีวันหมด มีองค์กรอาชญกรรมข้ามชาติที่ร่วมมือกันระหว่างชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม มีกลุ่มคนจีนที่ก่ออาชญกรรมข้ามชาติ ค้ามนุษย์ บ่อนออนไลน์ ค้ายาเสพติด ฟอกเงิน กลุ่มโจรคอลเซ็นเตอร์

ตอนนี้เมียนมามีผู้เล่นที่เป็นอาชญากรร้าย แล้วทางการไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจะเจรจากับใคร ต่อรองกับใคร ในมิคสัญญีเมียนมา

อันนี้ล่ะครับที่สร้างความยุ่งยากต่อทั้งไทย ภูมิภาคและนานาชาติ ผู้นำไทยคนไหนครับจะสร้างสันติภาพในเมียนมาที่ซับซ้อนได้ง่ายๆ