ปิดฉาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” จำคุก20ปี กู้กรุงไทย หมดสิทธิกู้ชาติ รอลุ้นอีก”หลายคดี”รอตัดสิน

มติชนออนไลน์ เจ้าของภาพ

“บริษัทจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มีประชาชนเข้ามาลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศ การดำเนินงานของบริษัทต้องมีธรรมาภิบาล ถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ต้องมีความโปร่งใสให้ตรวจสอบได้ หากผู้บริหารกระทำการไม่ตรงไปตรงมาย่อมส่งผลเสียแก่ผู้ลงทุน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง”

ข้อความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำคุก นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก อีก 2 คน ซึ่งเป็นอดีตกรรมการ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คนละ 20 ปี ฐานร่วมกันทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการ บริษัท แมเนเจอร์ฯ อันเป็นเท็จ และนำไปขอค้ำประกันเงินกู้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,078 ล้านบาท ซึ่งบริษัทดังกล่าวนั้นมีนายสนธิ ถือหุ้นอยู่ด้วย

การกระทำของพวกจำเลยนั้นก็เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ตกเป็นลูกหนี้ค้ำประกัน และยังลวงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ให้รู้ถึงภาระค้ำประกันดังกล่าวด้วย

ความผิดถือเป็นเรื่องร้ายแรง เรื่องคุณงามความดีที่จำเลยกล่าวอ้างต่อศาลนั้นไม่เป็นเหตุสมควรที่จะให้ศาลรอการลงโทษได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน

และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วเสร็จ นายสนธิ กับพวกจำเลยได้โอบกอดกัน จากนั้น นายสนธิถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที โดยอยู่ในแดนแรกรับซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้นักโทษใหม่ปรับตัวกับสภาพความเป็นอยู่ และจะต้องปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบของเรือนจำเหมือนนักโทษคนอื่นๆ

จากนั้นแพทย์ได้ตรวจร่างกายพบว่านายสนธิมีความดันต่ำ และเป็นต้อกระจก

โดยมีอาการเครียดเล็กน้อย ก่อนจะถูกย้ายตัวไปควบคุมที่เรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ใช้คุมขังนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกไม่เกิน 15 ปี

จึงต้องย้ายสถานที่คุมขัง

ย้อนกลับไปเส้นทางชีวิตของนายสนธิ ในวัย 68 ปี ที่ผ่านมามีประวัติที่น่าสนใจทั้งการทำงาน และการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ซึ่งนายสนธิ เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ใหญ่ และริเริ่มธุรกิจสื่อสารมวลชน ในเครือ “ผู้จัดการ” จนประสบความสำเร็จในวงการน้ำหมึก และเป็นบุคคลที่เคยสนับสนุน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมารับบทบาทสำคัญในฐานะแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากมิตรก็กลายเป็นศัตรู หลังนายสนธิเป็นแกนนำที่ออกมาต่อต้านนายทักษิณ โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตเชิงนโยบาย กระทั่งเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา นายสนธิ ก็ถูกศาลตัดสินว่าเป็นผู้ทุจริตในการใช้เอกสารอันเป็นเท็จ

นอกจากคดีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทยแล้ว นายสนธิ ยังเป็นจำเลยในคดีอาญาและคดีแพ่งอีกหลายคดี

ย้อนกลับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ธุรกิจในกลุ่มของผู้จัดการประสบปัญหาอย่างรุนแรง และเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 นายสนธิ ยังถูกศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเป็นบุคคลล้มละลาย โดยมีการประกาศคำสั่งของศาลลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี

และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ศาลล้มละลายกลาง ยังมีคำสั่งให้บริษัทแมเนเจอร์ฯ เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ล้มละลาย เนื่องจากหนี้ท่วมกว่า 4,700 ล้านบาท

จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้นายสนธิ ถูกฟ้องร้องเป็นคดีเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาหลายคดี

ซึ่งโจทก์ที่ยื่นฟ้อง นอกจากอัยการแล้ว ยังประกอบด้วย นายทักษิณ ชินวัตร, พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพเรือ เครือญาติ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง, นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ, พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร., นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีต รมช.คมนาคม และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย

ซึ่งหลายคดีได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว

แต่บางคดีศาลก็มีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา

อย่างเช่น คดีของนายภูมิธรรม ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาวันที่ 11 กันยายน 2552 ให้จำคุกนายสนธิ เป็นเวลา 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งคดีอยู่ระหว่างฎีกา โดยศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 29 กันยายน 2559 นี้ และตามขั้นตอนศาลจะเบิกตัวนายสนธิ จากเรือนจำมาเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันดังกล่าว

นายสนธิ ยังถูกอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีนำคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ซึ่งเป็นจำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ที่ศาลพิพากษาจำคุกไปแล้ว 15 ปี มาเผยแพร่ซ้ำ

ซึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ให้จำคุกนายสนธิ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน

และนายสนธิ ยังถูกอัยการยื่นฟ้อง กรณีนำผู้ชุมนุมปิดอาคารรัฐสภา ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการต่อสู้ แต่คดีที่นำผู้ชุมนุมบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ให้จำคุกนายสนธิ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ส่วนคดีชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง คดียังอยู่ระหว่างรอสืบพยานในศาลอาญา และนายสนธิ ยังถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมในความผิดตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กรณีตั้งเวทีชุมนุมปิดการจราจร แต่คดีนี้ศาลยังไม่มีคำตัดสิน

นอกจากนี้ นายสนธิ ยังเป็นจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย กรณีบุกรุกเข้าไปในท่าอากาศยานดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์

แต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ยื่นฟ้องนายสนธิ กับพวก ต่อศาลแพ่ง ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกว่า 522 ล้านบาท

โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยทั้งหมดชำระค่าเสียหายตามฟ้องไปก่อนหน้านี้

ด้าน นางสาวอัจฉรา แสงขาว หนึ่งในทีมทนายความของนายสนธิ ระบุภายหลังศาลฎีกาตัดสินจำคุกนายสนธิ ว่า นายสนธิจะต้องรับโทษไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จึงจะสามารถดำเนินการยื่นเรื่องขอพักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ได้

ส่วนการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลนั้น ต้องมีการพูดคุย และขึ้นอยู่กับความประสงค์ของนายสนธิ

แม้วันนี้ นายสนธิจะถูกคุมขังตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาแล้ว

แต่การต่อสู้ของนายสนธิ ยังไม่จบลงเท่านี้ เพราะบรรดาคดีความต่างๆ ที่นายสนธิถูกฟ้องเป็นจำเลย ยังมีค้างอยู่ในชั้นศาลอีกหลายคดี