ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
การเดินทางกลับไทยครั้งแรก ของ “ท่านอ้น-วัชเรศร วิวัชรวงศ์” โอรสคนที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลายเป็นที่สนใจของคนไทยทั่วประเทศ กระทั่งสื่อใหญ่ต่างประเทศยังร่วมรายงานข่าว
แม้จะใช้เวลาอยู่ประเทศไทยเพียงไม่นานในการเดินทางมาครั้งแรก แต่ก็ทำให้คนไทยจำนวนมากติดตามความเคลื่อนไหวต่อเนื่องหลังจากเดินทางกลับสหรัฐ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
และแล้ว เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา “ท่านอ้น” ก็เดินทางกลับไทยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี
ครั้งนี้เป็นการเดินทางมาอย่างเป็นส่วนตัว ตั้งใจร่วมทำกิจกรรมน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทำกิจกรรมในวันพ่อ 5 ธันวาคม รวมถึงเดินทางท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด โดยไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะจะไปแบบเรียบง่าย คาดว่าจะอยู่ประเทศไทยประมาณ 2 สัปดาห์
วันที่ 4 ธันวาคม ท่านอ้น ก็มาถึงประเทศไทย โดยได้โพสต์ภาพถ่ายประเทศไทยจากเครื่องบินเป็นภาพมุมสูง แบบ bird’s-eye view ที่สวยงาม และข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Vacharaesorn Vivacharawongs” ระบุว่า “ไกลสุดสายตา ขอบฟ้าสีคราม แผ่นดินสยาม” ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งจากเนื้อเพลง “ทหารอากาศขาดรัก”
หลังจากโพสต์ไปไม่นานมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น “ยินดีต้อนรับกลับบ้าน” เป็นจำนวนมาก
ย้อนกลับไปที่การกลับไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นับเป็นการมาไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี ใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยกว่า 1 สัปดาห์
ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้เห็นไลฟ์สไตล์-ความคิดของ “ท่านอ้น” ในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน การท่องเที่ยว มุมมองที่มีต่อประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นภาพท่านอ้นนั่งรถตุ๊กตุ๊กตากลมเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ยามค่ำคืน ไปเยี่ยมเด็กๆ ที่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม การแวะกินอาหารในย่านต่างๆ การซื้อตั๋วนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสครั้งแรก แล้วแวะพักที่ร้านกาแฟย่านสยาม
วันเดียวกันยังมีคนถ่ายภาพระหว่างท่านอ้นเดินข้ามสะพานคนข้ามรถไฟฟ้า ได้พบคนนั่งขอทานและมีเด็กนอนอยู่ 2 คน จึงหยุดเดินและได้หยุดหย่อนเงินใส่แก้วพลาสติกให้กับหญิงที่นั่งขอทาน
กลายเป็นภาพที่คนแชร์ต่อกันมากมาย
และแม้จะเดินทางกลับสหรัฐไปแล้ว ท่านอ้นก็ยังติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยต่อเนื่อง และได้แสดงความคิดเห็นในเหตุการณ์สำคัญของไทย เช่น กรณีข่าวเด็กนักเรียนวัย 14 ปี บุกยิงในห้างพารากอนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ครั้งนั้น ท่านอ้นยังแสดงความเห็นว่า
“ได้ยินข่าวแล้วเศร้า หดหู่ใจ สงสารผู้เคราะห์ร้าย มีคำถามหลายข้อ”
ในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ หลังจากมาถึง ก็ปรากฏภาพมีประชาชนที่พบเห็นและจำได้ว่าเป็นท่านอ้น ได้เดินเข้าไปสวัสดีทักทาย ซึ่งท่านอ้นได้ยกมือไหว้ตอบและทักทายอย่างเป็นกันเอง
วันที่ 5 ธันวาคม เวลา 06.00 น. ท่านอ้นได้เข้าสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 หรือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เขตดุสิต ต่อมาเวลา 10.00 น. ท่านอ้นพร้อมคณะเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล พระสงฆ์ 9 รูป ที่วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร
แม้ทุกการเคลื่อนไหวของท่านอ้น จะเป็นที่สนใจของประชาชน แต่ท่านอ้นมักพูดอยู่เสมอว่าไม่ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้คนมากจนเกินไป หลายครั้งต้องยกเลิกกำหนดการที่ต้องไปในจุดที่มีคนจำนวนมากในครั้งนั้น
เช่นเดียวกับครั้งนี้ ท่านอ้นก็ออกปากขอให้สื่ออย่าติดตามทำข่าว ขณะท่องเที่ยวต่างจังหวัดอีกครั้ง
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการปรากฏตัวเดินทางมาประเทศไทยของ “ท่านอ้น” ในมิติหนึ่งคือเรื่องการสื่อสารของท่านอ้นกับประชาชน เพราะท่านอ้นใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กอย่างน่าสนใจ
ในระหว่างเยือนประเทศไทยทั้งครั้งแรกและครั้งล่าสุด ท่านอ้น จะเน้นย้ำตั้งแต่แรกต่อสาธารณะ ผ่านสื่อที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการว่า ไม่ได้กลับมาในฐานะอะไรเป็นพิเศษ กลับมาในฐานะสามัญชนธรรมดา และตลอดเวลาที่อยู่เมืองไทย ท่านอ้นก็ปฏิบัติตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ
แน่นอน วิธีคิดของคนจำนวนไม่น้อยที่พบเจอก็อาจยังไม่คุ้นชิน จึงอาจปรากฏภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่ดราม่าได้ง่าย
เช่น กรณีภาพเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศิริราช กางร่มให้ท่านอ้น และท่านอ่อง ขณะเดินไปกราบถวายราชสักการะ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โรงพยาบาลศิริราช
ก่อนจะมีการชี้แจงว่า เนื่องจากแดดร้อน และท่านอ่องสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก และไม่ชินกับสภาพอากาศจนเลือดกำเดาไหล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทีม รปภ. จึงนำร่มมากางให้ทั้ง 2 ท่าน มิได้มีเจตนาอื่น เพราะปกติทั้ง 2 ท่านจะเรียบง่ายอยู่แล้ว
หรือกรณีภาพผู้ติดตาม ดังเช่นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กของเขา ระบุ เป็นภาพมหาดเล็กคนสนิท ติดตามไปทุกที่ ในขณะมาประเทศไทย และยังโพสต์เปิดเผยว่า ท่านอ้นมีนัดกินข้าวกับคนในพรรคเพื่อไทย
นั่นทำให้ท่านอ้นใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเข้ามาตอบข้างใต้ข้อความในทันทีว่า “ต้องกราบขอโทษครับ ไม่เป็นความจริงเลย ผมไม่ยุ่งกับเรื่องการเมือง”
ส่วนกรณีมหาดเล็กติดตามนั้น ท่านอ้นระบุว่า “กราบเรียนอาจารย์ ผมใช้ชีวิตเมืองนอกเป็นสามัญชน ดูแลตัวเองได้ ไม่มีใครมารับใช้ผม เคยเจอน้องคนนี้แต่เขาไม่เคยมีฐานะเป็นบริวารผม ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาปรนนิบัติ”
ทำให้นายสมศักดิ์ต้องโพสต์ข้อความ ขออภัย ในทันที
เช่นเดียวกับกรณีการตั้งข้อสังเกตในปลายเดือนสิงหาคม เรื่องเข็มกลัดที่ติดที่อกเสื้อ และมีการโยงไปถึงบุคคลต่างๆ ท่านอ้นก็โพสต์ข้อความตอบกลับทันทีว่า “ขอความกรุณาอย่าเอาผมมาเชื่อมโยงกับนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ไม่มีความปรารถนาจะยุ่งเรื่องการเมืองเลย เข็มก็เห็นประชาชนติดกันเยอะแยะ”
นั่นคือการใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารอธิบายและชี้แจงต่อคำถามที่มีที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
แต่ที่น่าสนใจมากกว่าการกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคมปีนี้ คือการที่ท่านอ้นเดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการ “โฉมหน้าเหยื่อ 112” เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก
ครั้งนั้น เป็นห้วงขณะที่วงวิชาการไทยและนานาชาติ ต่างสนใจผลกระทบของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
นิทรรศการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 112Watch ที่ก่อตั้งโดย รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อสร้างความตื่นรู้และตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผ่านรูปภาพและเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดี 25 คน
ท่านอ้นกล่าวเปิดใจ เหตุที่ไปเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าวว่า แม้จะรู้ว่าสิ่งที่จะตามมาคืออาจถูกโจมตีได้ง่าย แต่เหตุที่ต้องมา เพราะจำเป็นต้องฟังเพื่อรู้ ดีกว่าไม่รู้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“ไม่ว่าใครจะมีความคิดอย่างไร เราจะฟังหรือไม่ฟัง เขาก็มีความคิดนั้นอยู่ดี การที่เราไม่ฟังเขาก็ไม่ได้ทำให้ความคิดเห็นเขาหายไป เพราะฉะนั้นรู้ไว้ดีกว่าที่จะไม่รู้ จะเชื่อหรือว่าจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็เรื่องของส่วนตัว มาฟังไว้รับรู้ไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด” ท่านอ้นระบุ
การเดินทางไปเยี่ยมชมรับรู้เรื่องราวดังกล่าวด้านหนึ่งได้รับการพูดถึงและชื่นชม แต่ก็เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นจากฝ่ายที่สนับสนุนการคงอยู่ของมาตรา 112
สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวผ่านรายการ ‘สนธิทอล์ก’ ตอนที่ 208 ในเชิงไม่เห็นด้วยว่าผิดหวัง ที่ท่านอ้นชมงานนิทรรศการ “โฉมหน้าเหยื่อมาตรา 112” ที่สหรัฐมองเป็นงานเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวมุ่งโจมตีสถาบัน โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง
นั่นทำให้ท่านอ้นใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว ตอบกลับความเห็นของสนธิว่า “มันตลกมากที่ผมต้องพูด แต่ผมไม่เคยเป็นสายลับหรือเป็นคนของรัฐบาลอเมริกา หรือซีไอเอ ใครพูดอะไรต่างจากนี้ก็ถือว่ากำลังหมิ่นประมาท และพูดเรื่องเท็จอยู่ ขอกราบขอบคุณทุกท่าน (รวมทั้งคุณสนธิ) ที่ออกความเห็นและให้คำแนะนำ ผมฟังและพิจารณาทุกเสียง และน้อมรับทุกอย่างที่มาด้วยความปรารถนาดี”
แม้ว่าจะอยู่ในสถานะใด แต่การปรากฏตัวของท่านอ้นในประเทศไทยทั้งสองครั้งอยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะเป็นการปรากฏตัวท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อประเด็นทางการเมืองและสังคมที่สำคัญ ด้วยท่าทีของการพยายามทำความเข้าอกเข้าใจ รับรู้ รับฟัง คนทุกฝ่าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022