ต่างประเทศอินโดจีน : ซอฟต์ เพาเวอร์

ข้อมูลล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคมของสมาคมจีนกัมพูชาระบุว่า โรงเรียนสอนภาษาจีนในกัมพูชามีอยู่มากถึง 55 โรงด้วยกัน

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ต้วนฝ่า” ในกรุงพนมเปญ ก่อตั้งเมื่อปี 1914 ที่น่าทึ่งมากก็คือ “ต้วนฝ่า” ไม่เพียงเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา ยังเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียด้วย

ต้วนฝ่า มีนักเรียนอยู่ 8,000 คน และส่อว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศ

ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสเคยเป็นภาษาที่สองของกัมพูชา พอถึงยุคใหม่ภาษาอังกฤษก็เข้ามาได้รับความนิยมแทนที่ แต่ทุกวันนี้ภาษาจีน-แมนดารินหรือจีนกลางเป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตาและถูกเลือกเรียนกันก่อนหน้าภาษาอังกฤษด้วยซ้ำไป

แบรดลีย์ เมิร์ก ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันแอนด์ซีแอตเติล แปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์กัมพูชา-จีน เชื่อว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ภาษาจีนจะกลายเป็นภาษาที่ 2 ของที่นี่

 

มีเหตุผลอยู่หลายประการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภาษาจีนฟีเวอร์ขึ้นที่กัมพูชา

แรกสุดคือการหลั่งไหลเข้ามาของทุนธุรกิจจากจีน มาลงหลักปักฐานทางธุรกิจของตนเองอยู่ที่นี่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความต้องการบุคลากรในท้องถิ่นที่เรียนรู้มากพอที่จะสื่อสารด้วยภาษาแมนดารินได้

ความต้องการมีมาก แต่ผู้รู้ภาษาจีนกลางมีน้อย ชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตของจีนจึงสามารถเรียกรายได้ เรียกเงินเดือนได้มากกว่าพนักงานทั่วไป

ซิ่ว หลง เซียะ ผู้อำนวยการสถาบันขงจื้อแห่งกัมพูชา บอกว่า พนักงานทั่วไปจะมีรายได้ตกเดือนละราว 200-300 ดอลลาร์ (6,500-9,800 บาท) แต่ถ้ารู้ภาษาจีนด้วย เงินเดือนจะถีบตัวขึ้นเป็น 400-500 ดอลลาร์ (13,000-16,300 บาท) ทีเดียว

ประการถัดมาคือ การเรียนการสอนภาษาจีนกลางที่กัมพูชาได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีน ผ่านทางสถาบันขงจื่อ (คอนฟิวเชียส อินสติติวต์-ซีไอ) ที่ทำงานร่วมกับ “ฮั่นปั้น” หรือ “สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ” ที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมภาษาของทางการจีน ซึ่งดูแลการเรียนการสอนภาษาจีนใน 140 ประเทศทั่วโลก

“ฮั่นปั้น” จัดส่งครูสอนภาษาเข้ามาทำงานในกัมพูชา นับจนถึงขณะนี้รวม 80 คนแล้ว

หน้าที่หลักของครูสอนภาษาจีนเหล่านี้คือ “สอนครูสอนภาษาจีน” เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นครูในท้องถิ่นต่อไป ตอนนี้ชั้นเรียนของครูสอนภาษาชาวกัมพูชาที่ต้องการสอนภาษาจีนมีมากถึง 27 ชั้นเรียน

สถาบันขงจื่อกัมพูชา เพิ่งจัดตั้งมา 8 ปี ภารกิจหลักคือทำงานร่วมกับราชบัณฑิตยสภาแห่งกัมพูชา รับผิดชอบการฝึกอบรมบุคลากรของรัฐให้เรียนรู้ภาษาจีนกลาง

กับคัดนักเรียนชาวกัมพูชาปีละ 50 คน ให้ได้รับทุนเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนถึงในประเทศจีนทุกปี

 

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมเพิ่งเปิดตัว “แมนดาริน เซ็นเตอร์” ขึ้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ของกระทรวงในกรุงพนมเปญ เป้าหมายเพื่อสอนให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมทั้งทหารทั้งหลายในกองทัพรู้ภาษาจีนกลางระดับ “อ่านออกเขียนได้”

เหตุผลก็คือ กัมพูชานำเข้าอาวุธจากจีนมาหลากหลาย คู่มือการใช้งานทั้งหลายเป็นแมนดารินล้วนๆ นี่รวมถึงการใช้ภาษาในการฝึกอบรม และการซ้อมรบร่วมกับจีนอีกด้วย

สก ทัช ผู้อำนวยการราชบัณฑิตยสภาแห่งกัมพูชา บอกว่ายังมีคำขอให้มีการจัดตั้งศูนย์ภาษาจีนทำนองเดียวกันค้างคา ยังไม่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมอยู่อีก 7 กระทรวง บวกกับสำนักงานกรมตำรวจพนมเปญอีกหนึ่งกรม

ตำรวจกัมพูชาอ้างว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาจีน เพราะนักท่องเที่ยวจีนนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาแจ้งความผ่าน “ฮ็อตไลน์” ฟังกันไม่รู้เรื่อง แก้ไขปัญหาให้กันไม่ได้ เป็นอุปสรรคสำคัญ

เดวิด แชมโบห์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ชี้ว่า กรณี “การส่งออกภาษา” ของจีนในกัมพูชาถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับการขยายอำนาจอิทธิพลด้วย “ซอฟต์ เพาเวอร์”

ไม่ต้องรบ ไม่ต้องขัดแย้ง ก็สร้างอิทธิพลเหนือกว่าครอบงำได้

แชมโบห์ย้ำว่า จีนไม่เคยอดออมเพื่อ “ซอฟต์ เพาเวอร์” เช่นนี้ ไม่ได้ผลจริง ไม่ยอมทุ่มเงินมหาศาลลงทุนถึงปีละ 10,000 ล้านดอลลาร์ทุกปีแน่นอน