งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์

ปริญญา ตรีน้อยใส

เคยพาไปมองมาแล้วว่า แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีพระราชดำริตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 ให้มีสวนสาธารณะ แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมือง และสภาพทางเศรษฐกิจ คงทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที

จนถึงโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 15 ปี เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ.2468 นั้น จึงมีพระราชดำริที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเป็นถาวรวัตถุที่ระลึกในวาระดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน ตำบลศาลาแดง ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยเริ่มจากการแสดงสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่นี้เสียก่อน

งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์นั้น เปรียบได้กับงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติ ที่นิยมจัดในปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้น มหานครในยุโรปล้วนจัดงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติ เช่น ที่ลอนดอน คืองาน London Great Exhibition 1851 และ 1862

ที่ปารีส คืองาน Paris Exposition Universalle 1855, 1867, 1878, 1900 และ 1937

ที่มิลาน คืองาน Milan International Exposition 1906 ที่นิวยอร์ก คืองาน New York World Fair 1939

วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดงานมหกรรม ก็เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรม

รวมทั้งแสดงบทบาทและอำนาจทางการค้า การเมือง ระหว่างประเทศ ในยุคสมัยที่กำลังสร้างอาณานิคม ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก

ภาพมุมสูง สวนลุมพินี สถานที่จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์

ในพระราชหัตถเลขา ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงระบุวัตถุประสงค์ในการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ว่า เพื่อให้สินค้าของประเทศสยาม เป็นที่รู้จักแก่มหาชนนานาชาติ และเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรู้จักสินค้าต่างๆ ที่มีอยู่ในชาติ ให้เกิดความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจของสยามในเวลานั้น ทำให้มีปัญหาทางด้านงบประมาณ

หนึ่งในวิธีการหาเงินสำหรับการจัดงาน คือการขายตั๋วลอตเตอรี่ ที่คณะกรรมการและจัดการฯ ประกาศขายตั๋วลอตเตอรี่ จำนวน 2 ล้านฉบับ

ระบุว่ารายได้ทั้งหมด จะนำไปใช้เพื่อการก่อสร้าง ในที่ดินส่วนพระองค์ ที่ทุ่งศาลาแดง เนื้อที่ 144,000 ตารางวาเศษ ที่ได้พระราชทาน ให้เป็นสวนลุมพินี สถานที่รื่นเริงสำหรับพระนคร

เป็นที่น่าเสียดายว่า หาได้มีการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เนื่องมาจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคต ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468

งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่ตามแผนจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม จึงต้องหยุดชะงักลง

พื้นที่จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ หอนาฬิกาจีน ศาลากระโจมแตร รวมทั้งสระน้ำ บ่อน้ำต่างๆ จึงถูกทิ้งร้างอยู่นานหลายปี จนกลายเป็นปัญหาคาตาของคนกรุงเทพฯ ในเวลานั้น

กว่าจะมีการรื้อฟื้นโครงการสวนลุมพินีหลายปีต่อมา ซึ่งจะพาไปมองในฉบับหน้า •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส