33 ปี ชีวิตสีกากี (48) | เตือนใจ : ‘นาย’ อาจทำให้คดีล้มเหลว

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ผู้รับผิดชอบคดีโดยตรง คือ พนักงานสอบสวนท้องที่นั้น เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุเป็นเพียงผู้ช่วย ฉะนั้น การปฏิบัติของเจ้าพนักงานสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุต้องประสานงานกันและปฏิบัติดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุนี้ จะช่วยตำรวจคนแรกในการปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ

2. ทำการบันทึกสภาพสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้น ซึ่งควรจะเป็นการถ่ายภาพไว้ เพื่อป้องกันในกรณีที่เกิดสงสัยว่า จะมีใครนำวัตถุพยานมาเพิ่มเติมหรือนำไปทิ้งก่อนหรือหลังการตรวจ และควรลงวันเวลาที่ถ่ายภาพนั้นไว้

3. ทำการตรวจอย่างคร่าวๆ โดยพิจารณาว่า จุดไหนควรเดิน จุดไหนไม่ควรเดิน เพื่อจะได้สังเกตว่า มีวัตถุพยานที่ใดบ้าง แล้วทำเครื่องหมายไว้ แล้วแจ้งพนักงานสอบสวนให้ทราบ ถ้าเป็นไปได้ควรกำหนดเส้นทางที่จะเดินในสถานที่เกิดเหตุนั้น เช่น เอาชอล์กขีดไว้ หรือใช้เชือกขึง นอกจากนี้ ควรมีที่วางวัตถุพยานที่เก็บได้ มาเก็บรักษารวมๆ กันไว้ ดูว่ายังขาดพยานอะไรบ้าง ซึ่งต้องอาศัยการซักถามจากผู้เกี่ยวข้อง

4. พิจารณาติดต่อขอความช่วยเหลือถ้าจำเป็น เช่น ต้องการผู้ชำนาญหรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ หรือในกรณีที่ในที่เกิดเหตุนั้นมีศพ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายศพนั้น เว้นแต่กรณีจำเป็น เช่น กีดขวางทางจราจร ก็ทำการเคลื่อนย้ายศพได้ โดยทำเครื่องหมายไว้ เช่น อาจใช้ชอล์กขีดรูปร่างลักษณะท่าทางของศพนั้นไว้

แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นแล้ว ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายศพ ก่อนที่จะมีการชันสูตรพลิกศพอย่างละเอียดถูกต้อง

 

วัตถุพยานประเภทที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก มีดังนี้

1. โลหิต
2. รอยเท้า รอยยางรถยนต์
3. วัตถุประเภทไวไฟ
4. อาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนอยู่
5. วัตถุพยานในคดีข่มขืนกระทำชำเรา
6. วัตถุพยานชิ้นเล็กๆ
7. ลายนิ้วมือแฝง
8. เขม่าดินปืน

วัตถุพยานเหล่านี้ เราต้องรีบจัดการเก็บไว้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียหายหรือลบเลือนไป

โลหิตเป็นของเหลว เราต้องเก็บไว้ในลักษณะที่ไม่ให้เกิดการบูดเน่า โดยให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพราะโลหิตเหลว สามารถตรวจพิสูจน์ได้ง่าย มีโอกาสตรวจพิสูจน์ได้ละเอียดขึ้น โดยอาศัยเครื่องมือคล้ายที่หยอดตา แล้วดูดเข้าไปเก็บไว้ที่หลอด จุกหลอดให้แน่น

วิธีเก็บที่ดีที่สุด คือ นำหลอดที่บรรจุเลือดนั้น แช่ลงในน้ำแข็งแล้วรีบนำส่งไปตรวจโดยเร็ว ถ้าเป็นท้องที่ที่อยู่ไกล ก็ต้องเอาโลหิตนั้นหยดลงไปในสำลี หรือกระดาษกรอง เพื่อทำให้แห้ง ถ้าเปื้อนที่เสื้อผ้า ก็ต้องทำให้แห้งเสียก่อน เพื่อป้องกันการบูดเน่า แล้วจึงส่งไปตรวจ

รอยเท้า รอยยางรถยนต์ ต้องสำรวจว่าที่พื้นมีร่องรอยอะไรหรือไม่ ถ้ามีต้องป้องกันมิให้ใครไปทำลายเหยียบบริเวณนั้น

– การเก็บรอยเท้า ทำได้โดยการถ่ายรูป

– รอยเท้าแฝง ทำโดยวิธีปัดฝุ่น เก็บเหมือนลายนิ้วมือแฝง

– รอยเท้าที่อยู่กลางแจ้ง เช่น ในดินเหนียว รอยจะเป็น 3 มิติ การเก็บก็โดยใช้วิธีการหล่อปูนปลาสเตอร์ (Plastic Palint Fingerprints)

รอยยางรถยนต์ มักเกี่ยวกับกรณีที่คนร้ายใช้ยานพาหนะ จะเป็นรอยเส้น ซึ่งมี 2 แบบ คือ

– รอยที่ปรากฏบนพื้นถนนที่สะอาด ใช้การถ่ายภาพ

– รอยที่ปรากฏบนดินเหนียว มักจะเป็นร่อง และมักถูกลบ เพราะถนนมีรถวิ่งมาก ต้องรีบเก็บโดยเร็วที่สุด โดยการถ่ายภาพและการตรวจ

วัตถุไวไฟ

ส่วนมากเป็นของเหลวไวไฟ เกี่ยวกับคดีวางเพลิง ซึ่งตามธรรมชาติของไฟมักจะไหม้จากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน วิธีหาต้นเพลิง ก็จะหาในที่ต่ำ สำหรับวิธีตรวจของเหลวไวไฟจะไหลลงที่ต่ำ จึงทำให้ไฟไหม้ตามลงมาด้วย ซึ่งบางครั้งอาจไหลไปรวมกันอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในที่ต่ำได้

เพราะฉะนั้น เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุต้องรีบหาว่าอะไรเป็นเชื้อเพลิง และเก็บไว้ไม่ให้ระเหย

ถ้าไม่มีเชื้อเพลิงเหลืออยู่ ก็อาจจะหาโดย การที่มีน้ำมันติดอยู่กับกระดาษ ผ้า กระสอบ ซึ่งใช้ชุบน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น เก็บโดยเอาใส่ไว้ในกระป๋องที่สะอาด เพื่อกันระเหย ถ้าไหลซึมลงไปในที่ต่ำ ก็อาจขุดขึ้นมาเก็บไว้ก็ได้

น้ำมันที่ระเหยเร็วมักจะตรวจพบยาก เช่น น้ำมันเบนซิน ส่วนมากมักจะพบน้ำมันก๊าด

 

ในระหว่างที่ผมทำงานเป็นพนักงานสอบสวน และไปตรวจที่เกิดเหตุในคดีสำคัญๆ มักจะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูง มาร่วมตรวจที่เกิดเหตุด้วย

หากเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนมาก่อน ผมมักจะได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อการทำให้คดีประสบความสำเร็จ

และมีหลายครั้งที่ผมพบผู้บังคับบัญชาที่ผ่านการสืบสวนสอบสวนมาน้อย มีประสบการณ์แบบผิวเผิน และไม่มีความเข้าใจของความละเอียดอ่อนในการรวบรวมพยานหลักฐาน มักจะสั่งการจนทำให้คดีเกิดความเสียหาย และมีหลายคดีล้มเหลวในการจับกุมคนร้าย

ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาระดับสูงๆ ยศมากๆ ดาวบนบ่าเยอะๆ ที่เติบโตมาแบบเทาๆ จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญและบางทีขัดขวางความสำเร็จของคดีเสียเอง

จึงเป็นข้อเตือนใจสำหรับผมอย่างหนึ่ง

เมื่ออยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปอีก คือ อาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนอยู่ มีอันตรายมาก ซึ่งอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ ต้องระมัดระวัง และต้องมีความรู้ในเรื่องปืน ก่อนเก็บต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเราเองก่อนเป็นอันดับแรก ในกรณีที่ต้องจับอาวุธปืนนั้น

ต่อไปก็คำนึงถึงว่าจะมีลายนิ้วมือติดอยู่หรือไม่

 

วัตถุพยานในคดีข่มขืนกระทำชำเรา

ผู้ที่ถูกข่มขืนจะต้องถูกนำส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด และสิ่งที่จะต้องตรวจ ก็คือร่องรอยที่เกิดจากการกระทำ หรือพยายามกระทำผิดนั้น ได้แก่ เส้นขน คราบอสุจิ ตามเสื้อผ้าเนื้อตัว ดังนั้นผู้ถูกส่งไปตรวจจึงไม่ควรอาบน้ำก่อน เพราะจะทำให้วัตถุพยานถูกทำลายไป

วัตถุพยานชิ้นเล็กๆ (Trace Evidence)

ได้แก่ เศษเส้นผม ขน พืชต่างๆ ซึ่งอาจถูกทำลายโดยสภาพแวดล้อมนั้นได้ เช่น ลมอาจจะพัดปลิวหายไป หรือคนอาจเหยียบย่ำได้ จึงต้องรีบทำการเก็บก่อน เศษแก้วมีความสำคัญมาก แก้วเมื่อแตก อาจจะกระเด็นได้ไกล อาจติดตามเสื้อผ้าคนร้ายเมื่อเราจับได้ทันที อาจเอาเศษแก้วมาพิสูจน์กับแก้ว, กระจกที่แตก

คดีสำคัญที่จังหวัดสตูล ผมติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดได้ ก็มาจากวัตถุพยานชิ้นเล็กๆ เพียงชิ้นเดียว ที่คนร้ายทำตกอยู่ในที่เกิดเหตุ จนศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ตัดสินประหารชีวิตนายตำรวจยศร้อยตำรวจเอก ซึ่งเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่า

ลายนิ้วมือแฝง เป็นวัตถุพยานสิ่งแรกที่ตำรวจทุกคนควรให้ความสนใจอย่างมาก และต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ลายนิ้วมือแฝงนั้น จะต้องมีอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ

เขม่าดินปืน ในปัจจุบันเราจะทำการตรวจที่มือของคนร้าย ให้รีบทำการเก็บเขม่าที่มือของคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุการณ์ เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ปริมาณของเขม่าที่ติดอยู่กับมือของคนร้ายจะลดลงเรื่อยๆ

กรณีคนตายอาจเก็บเขม่าที่มือของคนตายได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพราะคนตายไม่สามารถจะล้างมือ หรือกระทำการใดให้เขม่าบนมือตนเองหายไปได้

วิธีการเก็บก็โดยใช้สำลียอนหู เอามาชุบกับน้ำกรดดินประสิวความเข้มข้น 5% แล้วเอามาเช็ดที่มือ โดยแบ่งมือออกเป็น 4 ส่วน คือ หลังมือซ้าย หลังมือขวา ฝ่ามือซ้าย ฝ่ามือขวา แล้วทำการเอาไม้ยอนหูที่เช็ดตามส่วนต่างๆ แล้วนั้นใส่ในซองเก็บไว้ แต่ละอันแยกกันไว้ การพิมพ์ลายนิ้วมือศพ ก็ทำหลังจากเก็บเขม่าแล้ว

ฉะนั้น เมื่อเราได้ผู้ต้องหามา เราอย่าให้ผู้ต้องหาไปล้างมือเป็นอันขาด

การบันทึกสภาพของวัตถุพยาน

หน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่สำคัญมาก นอกเหนือจากการเก็บวัตถุพยานแล้วยังมีการบันทึกภาพของวัตถุพยานไว้ ซึ่งเป็นการบันทึกสภาพของสถานที่เกิดเหตุหรือวัตถุพยาน ซึ่งมีดังนี้

1. การจดโน้ต

2. การทำแผนที่สังเขป

3. การถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งในปัจจุบันอาจมีการถ่ายภาพ โดยการใช้ วิดีโอเทป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทันสมัยมาก การจดโน้ต เป็นการบรรยายต่างๆ ที่เราพบเห็นในที่เกิดเหตุ ควรจะช่วยกัน 2 คนขึ้นไป คนหนึ่งเป็นคนบรรยายไปตามที่เห็น อีกคนหนึ่งเป็นคนจด ซึ่งคนบรรยายอาจเป็นพนักงานสอบสวนอาวุโส และผู้จดอาจเป็น พนักงานสอบสวนใหม่ หรือนักเรียนฝึกงาน ซึ่งอาจเริ่มต้นจากภายนอกเข้าไปทีละขั้น เข้าหาสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ได้แก่ ที่ๆ เป็นที่ของหาย หรือศพนอนอยู่ ซึ่งต้องค่อยๆ จดไป

หลักการสำคัญคือ ให้สามารถตอบคำถามว่า ใคร? อะไร? ที่ไหน? เมื่อไร? อย่างไร?

 

การทำแผนที่ เป็นการทำในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อแสดงแผนผังในสถานที่นั้น แผนที่ฉบับร่างใหม่นั้น จำเป็นต้องตรงกับมาตราส่วนและทิศทางให้ตรงกับความเป็นจริงและใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด

สำหรับมาตราส่วนที่ต้องนำมาลงในฉบับจริงนั้น ต้องดูให้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ และแผนที่นั้นจะต้องมีอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อแสดงทิศทางเข้าออกของคนร้าย

และที่สำคัญมากก็คือ คดีรถชนกัน พนักงานสอบสวนมักลืมมาตราส่วนขนาดของรถ ส่วนมากจะผิดมาตราส่วน ซึ่งทำให้การพิจารณาสภาพที่เกิดเหตุนั้น ผิดข้อเท็จจริง

ผมได้นำความรู้จากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นความรู้วิชาพิเศษคือวิชาออกแบบเขียนแบบ มาใช้ในการทำแผนที่เกิดเหตุ และบางคดี ผมสามารถออกแบบได้อย่างสวยงาม ทำเป็นแบบสามมิติ มองเห็นสภาพที่เกิดเหตุ เข้าใจง่าย สามารถอธิบายด้วยภาพว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ด้วยภาพเพียงภาพเดียว

การถ่ายภาพ บางครั้งต้องอาศัยการถ่ายภาพทางอากาศ เช่น ในสถานที่มีอาณาบริเวณกว้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องบินเสมอไป แต่อาจอาศัยตัวอาคารสูงๆ ได้ ซึ่งมีความสำคัญมาก ช่วยให้เกิดความเข้าใจในคดีรถชนกัน หรือคดีอื่นที่เกิดในถนนได้

แต่ถ้าเป็นอาณาบริเวณกว้างจริงๆ เช่น เครื่องบินตก หรือการตัดต้นไม้ ก็ต้องใช้เครื่องบินช่วยในการถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุโดยทั่วๆ ไป

1. ถ่ายบริเวณข้างเคียงทั้งหมดที่อยู่รอบๆ

2. ถ่ายบริเวณโดยรอบ เช่น ห้องทั้งห้อง หรือบริเวณบ้าน ได้แก่ ถ่ายจากประตูห้องเข้าไป แล้วถ่ายในห้อง

3. ถ่ายเน้นวัตถุพยานเป็นชิ้นๆ แสดงถึงความสัมพันธ์ของวัตถุพยานกับที่เกิดเหตุ เช่น มีศพ ปืน เลือด ก็ถ่ายภาพเน้นถึงวัตถุพยานนั้นๆ ให้สัมพันธ์กับที่เกิดเหตุ

4. ถ่ายภาพ Closed up โดยเน้นชัดเฉพาะวัตถุพยานเป็นชิ้นๆ ไป ใกล้กว่าข้อ 3 โดยให้เห็นลักษณะส่วนประกอบต่างๆ ของวัตถุพยานนั้นๆ เช่น รอยบาดแผลของศพ อาวุธปืนถ่ายให้เห็นถึงตำแหน่งว่าอยู่ที่ใดของห้อง

ต่อไปจึงถ่ายให้เห็นลายเส้นเพื่อไปทำการตรวจพิสูจน์