ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทางสายไหม – ไหม่จีซาน

ออกจากซีอานเราเดินทางไปในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หลังจากที่แวะวัดเจดีย์ห่านป่าใหญ่ของพระถังซำจั๋งแล้ว เราเดินทางไปสู่เมืองเทียนสุ่ย คนจีนออกเสียงว่า เทียนฉุ่ย ระยะทาง 280 ก.ม.

ตลอดเส้นทาง จะมีจุดพักประมาณทุกๆ 150 ก.ม. สองข้างทางเห็นแต่ภูเขาที่แห้งแล้ง รัฐบาลจีนพยายามอย่างยิ่งที่จะต่อสู้กับธรรมชาติ โดยนำเอาต้นหลิวมาปลูก

ถามว่าทำไมต้องต้นหลิว ต้นหลิวมีลักษณะที่อดทน รากยาว เมื่อปลูกไปได้ 10 ปี ก็ถอนออก เนื่องจากรากยาว พอถอนออกก็นำเอาดินข้างล่างขึ้นมาบนผิวด้วย เวลาปลูกก็ต้องขุดดินลึกลงไปหลุมละ 1.50 เมตร เพื่อให้แน่ใจว่าต้นไม้จะหยั่งรากได้ และเพราะเนื้อที่ดินเดิมไม่ค่อยมีเนื้อดินที่จะเป็นอาหารให้ต้นไม้ จึงต้องนำดินจากที่อื่นมาใส่ในหลุมที่ปลูกต้นไม้ด้วยค่ะ

พื้นที่ที่เป็นไหล่เขา เห็นถึงความพยายามที่จะต่อสู่กับความแห้งแล้งของธรรมชาติ

เขาพยายามตัดหน้าดินให้เป็นขั้นบันได อาศัยน้ำธรรมชาติ คือหิมะที่ตกในช่วงฤดูหนาว แล้วค่อยละลายลงมาตามไหล่เขาที่ทำเป็นขั้นบันไดที่ว่านี้

ข้าน้อยขอคารวะจริงๆ

 

หญ้าที่ขึ้นเป็นกอเตี้ยๆ สีน้ำตาล สัตว์ชนิดเดียวที่สามารถกินหญ้าชนิดนี้ได้คืออูฐค่ะ เราผ่านดินแดนที่เวิ้งว้าง เต็มไปด้วยภูเขาที่แห้งแล้ง วันแล้ววันเล่าทีเดียว เห็นถึงความกว้างใหญ่ของแผ่นดินจีน และเห็นถึงความพยายามที่มนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติ

เมื่อพ้นเขตที่เป็นภูเขา คราวนี้ก็เวิ้งว้างเป็นทะเลทราย บางช่วงจะเห็นกังหันลมเป็นช่วงๆ เป็นความพยายามที่จะใช้ทรัพยาการแรงงานที่ได้จากธรรมชาติ ไม่เห็นบ้านผู้คนเลย จนกว่าจะเข้าเขตเมือง

การเดินทางของเราเป็นอย่างนี้ตลอดเส้นทาง 3,500 ก.ม.

เราฟังคุณสุลินไกด์ของเราเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางที่เรากำลังเดินทาง แต่ก็นั่นแหละ มักจะเข้าตำรา หนังท้องตึงหนังตาหย่อน ก็ไม่ว่ากัน พอพวกเราเงียบ คุณสุลินก็เงียบ ก็หลับไปด้วยกันนั่นแหละค่ะ

ช่วงนี้ไกด์ของเราเป็นผู้หญิงชื่อคุณเชี่ยวลู่ แปลว่าถนนเล็ก เป็นชื่อแซ่นะคะ ไม่ใช่ชื่อตัว เป็นแซ่ที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก แม้คนจีนเองก็ว่าอย่างนั้น นโยบายของรัฐให้ไกด์ประจำมณฑลทำหน้าที่ให้ข้อมูล แล้วให้คุณสุลินที่เป็นไกด์ของเราที่ซีอานเปลี่ยนมาทำหน้าที่ล่าม แปลภาษาจีนของคุณเชี่ยวลู่ เป็นภาษาไทยอีกที

ถ้าเราจัดทัวร์ไปไม่มีไกด์จากมณฑลนั้นๆ ไม่ได้ค่ะ ไกด์มณฑลใดก็ให้ทำหน้าที่ในมณฑลนั้น นี้เป็นนโยบายการกระจายรายได้ที่ดี มิฉะนั้นคนเมืองใหญ่จะได้เปรียบคนที่อยู่ในมณฑลเล็กกว่า

ทริปของเรามีไกด์ 3 คน จาก 3 มณฑลเปลี่ยนกันขึ้นมาทำหน้าที่ เมื่อเราเดินทางเข้าสู่มณฑลนั้นๆ

 

อ้า พอขึ้นทางด่วน ต้องรัดเข็มขัด จะเดินไปเดินมาในรถไม่ได้ค่ะ รถทุกคันมีกล้องวงจรปิด ถ้าตำรวจเจอ คนขับจะโดนทำโทษ เขาถืออย่างเคร่งครัดมาก

ต้องเล่าเสริมว่าทำไมรัฐบาลถึงเคร่งครัดเป็นพิเศษ มีอุบัติเหตุครั้งหนึ่งบนทางด่วน ผู้โดยสาร 55 คนตายยกคัน มีสองคนที่รอด ทั้งสองคนรัดเข็มขัด รัฐบาลจึงออกกฎเข้มงวดว่า หากอยู่บนทางด่วนต้องรัดเข็มขัด และกำกับให้รถทุกคันมีกล้องที่ตำรวจอาจเรียกดูได้ทุกเมื่อ น่าประทับใจนะคะ

ทุกครั้งที่ออกรถ คุณฉาง คนขับต้องเตือนไกด์ให้ส่งเสียงตามสายเตือนพวกเราให้รัดเข็มขัด รัฐบาลคอมมิวนิสต์เป็นอย่างนี้ น่าศรัทธานะ

พอถึงจุดพักรถ ซึ่งมีตลอดทาง คนขับไดพักอิริยาบถ ลูกทัวร์เข้าห้องน้ำ ห้องน้ำจะมีม่านเป็นผ้าพลาสติกหนักมาก กันลมค่ะ ช่วงนี้ลมแรงจัด เพราะอยู่ท่ามกลางที่ราบโล่งจริงๆ ห้องน้ำยังมีกลิ่นอยู่ทุกแห่ง แม้ว่าสะอาดขึ้นแล้ว เรื่องห้องน้ำนี่ท่านประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ก็มีความตระหนัก รับปากว่าจะจัดการให้ได้มาตรฐานขึ้นในปีนี้

ร้านขายชาและของขบเคี้ยวอยู่อีกอาคารหนึ่ง ชาของเขาสำเร็จมาในถ้วยกระดาษ เปิดซองแล้วใส่น้ำร้อนเอง น่าจะ 5 หยวนค่ะ ทุกจุดจะมีน้ำร้อนให้อุดมสมบูรณ์มาก

แม้แต่บนรถทัวร์ก็มีน้ำร้อนให้เช่นกัน

 

เล่าถึงเมืองเทียนฉุ่ยก่อนนะคะ เทียนคือฟ้า ฉุ่ยคือน้ำ อยู่ในมณฑลกานซู่ ขึ้นชื่อในความแห้งแล้งอย่างที่ได้บรรยายมาข้างต้นนั้นแหละค่ะ มณฑลนี้ถ้าดูในแผนที่จีนที่มีรูปร่างคล้ายไก่ มณฑลนี้เป็นส่วนปีกไก่ เป็นดินแดนที่ทุรกันดารทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

แม้ว่ามณฑลนี้จะขึ้นชื่อในความแห้งแล้ง มีสภาพอากาศที่รุนแรง ทั้งพายุทราย ลมร้อนแล้ง พายุลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง

แต่ก็เป็นดินแดนที่บรรพบุรุษชาวจีนดำรงชีวิตมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล ทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

เทียนฉุ่ยเป็นถิ่นกำเนิดของสามบูรพกษัตริย์ของชาวจีน เทียนฉุ่ยเป็นดินแดนที่อุดมด้วยน้ำ เปรียบกับน้ำจากฟากฟ้าทีเดียว

 

จากเทียนฉุ่ยเราเดินทางไปแวะชมพุทธคูหาไหม่จีซาน

คำว่าไหม่จีซาน แปลว่า ภูเขารูปกองข้าวสาลี เรียกตามรูปทรงของภูเขา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีคาดว่างานแกะสลักบนภูเขาแห่งนี้น่าจะประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4-5

เริ่มมีงานแกะสลักครั้งแรกในสมัยราชวงศ์โฮ่วฉิน (ค.ศ.384-417) ตามความเจริญของศาสนาพุทธที่เข้ามาทางเส้นทางสายไหม ต่อเนื่องมาถึงสมัยจักรพรรดิหมิงย่วนตี้แห่งราชวงศ์เว่เหนือ ได้รับการบูรณะต่อเติมครั้งสำคัญในรัชสมัยของพระเจ้าสุยเวิ่นตี้ในช่วง ค.ศ.589-600 มีการจำหลักรูปพระศากยะมุนีสูง 17 เมตร ขนาบข้างด้วยพระมหาโพธิสัตว์มัญชุศรีและสมันตภัทร สูง 13 เมตร โดดเด่นเป็นสง่ามาก

มีการสร้างซ่อมแซมใหม่ มาจนถึงราชวงศ์ชิง ผลงานที่เหลือ ภูเขาแห่งนี้มีหลายยุค ทั้งเว่ยเหนือ เว่ยตะวันออก โจวเหนือ สุย ถัง ห้าราชวงศ์ ซ่ง หยวน หมิง และชิง ถ้ำเล็กถ้ำใหญ่รวมทั้งสิ้น 194 ถ้ำ

แม้ว่าความงามจะเลือนหายไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็ยังจัดว่าสุดยอดถ้ำหินสลักหนึ่งในสี่ของแผ่นดินจีน

 

ในคณะของเรามีผู้เจริญวัยเลย 70 อยู่หลายท่าน เราค่อยๆ เดินเกาะกลุ่มกันขึ้นไป มีสองท่านเก๋มาก ขึ้นม้ามา เสียไปรายละ 200 หยวน แต่ก็มาส่งได้เพียงเนินเขา ถ้าจะขึ้นไปชมต้องปีนบันไดที่ทำแนบกับตัวภูเขา

ป้าเล็กเพื่อนนั่งรถเข็นด้วยกันกับท่านธัมมนันทา ขอจอดรถเข็นของท่านรออยู่ครึ่งทาง ส่วนท่านธัมมนันทานั้น ลูกศิษย์พาลุ้นเข็นรถไปจนถึงเนินเขา แต่ปีนบันไดขึ้นไปต้องปีนเอง

ทีนี้ต้องเล่าว่า ท่านมีแรงบันดาลใจอะไรถึงปีนเขาขึ้นไปให้ลูกๆ พยุงปีกขึ้นไปนมัสการพระบนยอดเขาได้ ขอบคุณลูกสองคนที่ขนาบซ้ายขวาไปตลอดทาง

เรื่องราวเบื้องหลังการสร้างพระพุทธรูปในถ้ำที่ไหม่จีซานนี้ มีประวัติมาจากพระเจ้าจักรพรรดิของราชวงศ์เว่ยทางเหนือ ที่มีพระมเหสีและพระชายาหลายพระองค์ บังเอิญพระมเหสีนั้นเป็นชาวพุทธ มีพระทัยฝักใฝ่กับการรักษาศีลปฏิบัติธรรม ยอมให้นางสนมตัวเอกที่อยากได้ตำแหน่งขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต

ส่วนพระนางเอง ถอยออกไปอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่สงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

ส่วนพระโอรสองค์เดียวของพระนางถูกกลั่นแกล้งส่งให้ออกไปครองเมืองเล็กๆ ที่อยู่ชายแดน เรียกว่าตัดน้ำตัดไฟไม่ให้เป็นใหญ่เป็นโตได้

ปรากฏว่า พระโอรสนั้น แม้จะไปครองเมืองที่ห่างไกลและทุรกันดาร แต่กลับทรงมีพระปรีชาขยายอาณาเขตออกไปกว้างไกล เป็นที่เดือดร้อนของนางสนมเอก

นางสนมเอกจึงออกอุบายบังคับให้พระมเหสีเขียนจดหมายเรียกพระโอรสเข้ามาในเมืองหลวง ชัดเจนว่าเป็นแผนที่จะจัดเก็บพระโอรสเสีย

พระมเหสีก็ล่วงรู้ความตั้งใจของพระสนมเอก ไม่ยอมเขียนพระราชสาส์นไปถึงพระโอรส จนถูกทรมานสิ้นพระชนม์

ฝ่ายพระโอรสเห็นพระมารดาเงียบหายไปนานผิดปกติ จึงเดินทางเข้ามาในเมืองหลวง จึงได้ทราบว่า พระมารดาถูกกำจัดไปแล้ว ทั้งพระเจ้าจักรพรรดิก็ยังไม่ทรงทราบว่าพระมเหสีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว

พระจักรพรรดิเองเสียใจต่อการที่พระองค์มิได้ปกป้องดูแลพระมเหสี ทั้งพระโอรสก็เสียพระทัยที่ไม่สามารถดูและพระมารดาของตนได้

ด้วยความสำนึกผิดเช่นนี้ ทั้งพ่อและลูกจึงว่าจ้างสลักพระพุทธรูปบนเขาไหม่จีซานถวายพระมเหสี และถวายพระมารดา

กลายเป็นภูเขาลูกกตัญญู บรรดาข้าราชบริพารต่างพากันทำบุญตามอย่าง ให้มีการว่าจ้างศิลปินแกะสลักพระพุทธรูปเข้าไปในเขาไหม่จีซานเป็นจำนวนมากถึง 194 ถ้ำ

ประวัติเบื้องหลังการสร้างพุทธคูหานี้แหละค่ะที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านธัมมนันทาปีนขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด ได้เคารพพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่แกะสลักและพอกด้วยดินเหนียว ทาสีงดงามอย่างยิ่ง

พระพุทธรูปในถ้ำหมายเลข 44 สร้างขึ้นสมัยเว่ยตะวันตกงดงามมาก โดยเฉพาะรอยยิ้มของพระพุทธรูปได้รับฉายาว่า โมนาลิซ่าแห่งบูรพาทีเดียว

 

เมื่อลงมาแล้ว มองย้อนกลับขึ้นไป ท่านธัมมนันทารำพึงว่า “เออ มันขึ้นไปได้อย่างไร” ไม่มีอะไรอื่นค่ะ นอกจากแรงบันดาลใจที่ระลึกถึงความรักที่แม่มีต่อลูก ยอมตายดีกว่าที่จะเขียนจดหมายล่อให้ลูกเข้ามาติดกับให้ฝ่ายศัตรูฆ่า ความรักของแม่มากมายมหาศาลนัก

ไหม่จีซาน เป็นเขาลูกกตัญญู และรำลึกถึงความรักของแม่ที่เป็นความรักที่ไร้ขอบเขตจำกัด โอย ซึ้งมากค่ะ

ลงมาข้างล่าง ลูกคนหนึ่งซื้อชาถวายท่านธัมมนันทา นึกว่าเป็นชาจีนธรรมดา กลายเป็นชาจีนใส่ครบเครื่อง นอกจากชา สมุนไพร แล้วยังมีเม็ดแดงๆ และพุทราจีนอีก 2 เม็ดใหญ่ ลอยมาในถ้วยกระเบื้องมีฝาปิดอย่างดี 20 หยวนกระมัง (100 บาท)

เขาบังคับให้ซื้อถ้วยเขาด้วยนั่นเอง