หรือคิดใหญ่ ทำไม่เป็น?

สมชัย ศรีสุทธิยากร
A Pheu Thai Party campaign poster pledging a 10,000 Thai Baht handout should they win Thailand's upcoming general election is pictured in Bangkok on May 2, 2023. (Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ในบรรดาพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายการหาเสียงอย่างมีสีสัน ต้องยอมรับว่ามีแต่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบายได้หวือหวา แปลกใหม่และติดหูประชาชน

พรรคเพื่อไทยเปิดตัว 70 นโยบาย ใช้เงิน 3 ล้านล้านบาท ที่สำคัญและติดหูประชาชน ได้แก่ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท รถไฟฟ้าใน กทม. 20 บาทตลอดสาย และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่เผยแพร่ในการหาเสียงถึง 300 นโยบาย และที่ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งโดยระบุนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณ 52 นโยบาย โดยมีนโยบายหลักๆ ที่ติดหูติดตาประชาชน เช่น การจัดสวัสดิการทั่วหน้า เงินบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หากคิดเป็นเม็ดเงินงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายตลอด 4 ปีนับว่าไม่น้อยหน้าพรรคเพื่อไทย

อาจเป็นจังหวะทางการเมืองหรือความโชคดีที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล คำถามถึงความเป็นไปได้และการทวงถามนโยบายที่หาเสียงจึงไม่เกิดขึ้น

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยกลับต้องแบกรับคำทวงถามนโยบายที่หาเสียง โดยเฉพาะนโยบายที่พรรครับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะกับประชาชน เช่น เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

ต้องยอมรับว่า แต่ละนโยบายนั้นคิดใหญ่ แต่จะทำเป็นแบบที่พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทย เคยทำเมื่อ 10-20 ปีก่อนได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องรอดูคำตอบ

 

สิ่งที่คาด อาจไม่เป็นตามที่คิด

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ล้วนแต่มีสมมุติฐานที่รัฐบาลสามารถกระตุ้นให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP : Gross Domestic Products) เติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ 5 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เป็นวาระการบริหารประเทศ

อย่างที่ทราบว่า GDP ของประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ คือการบริโภคของประชาชน การลงทุนในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการนำเข้าส่งออกของประเทศ

การนิ่งและมีแนวโน้มลดลงของ GDP ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงว่า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เรามีการเติบโตของ GDP เพียงร้อยละ 1.5 จึงสร้างความหวั่นไหวแก่ผู้เป็นรัฐบาลไม่น้อยว่า ตัวเลขร้อยละ 5 ที่ตั้งเป้าหมายนั้นอาจเป็นเรื่องที่ห่างไกล และยากจะขยับค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนแรกเข้าของข้าราชการ

ไม่รวมถึงนโยบายอีกหลายเรื่องที่ล้วนต้องใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน ที่หากรายได้รัฐลดลง ความสามารถในการใช้จ่ายของรัฐย่อมลดลงตาม ไม่เป็นไปตามเป้า ก็ยากจะใช้จ่ายออกไปได้ยกเว้นกู้เงินมาชดเชยในส่วนงบประมาณที่ขาดดุล

 

การลดลงของ GDP
อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ

ตัวเลขในส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ หรือที่เรียกว่าการอุปโภคภาครัฐบาล (Government spending) นั้นเป็นตัวเลขที่ติดลบอย่างต่อเนื่องมาทุกไตรมาส คือ ไตรมาสที่ 1 ติดลบร้อยละ 6.3 ไตรมาสที่ 2 ติดลบร้อยละ 4.3 และไตรมาสที่ 3 ติดลบร้อยละ 4.9 เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐ (Government investment) ที่เป็นบวกแค่ไตรมาสที่ 1 บวกร้อยละ 4.7 และกลายเป็นลบในไตรมาสที่ 2 ติดลบร้อยละ 1.1 และไตรมาสที่ 3 ติดลบร้อยละ 2.6

การติดลบในส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นมีสาเหตุหลักคือ พระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2567 ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ เนื่องจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 ให้ส่วนราชการและหน่วยรับงบประมาณทั้งหมด จะทำงบประมาณรายจ่ายขึ้นใหม่ ในวงเงินงบประมาณรวม 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยทำเสร็จแล้วในช่วงท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 130,000 ล้านบาท โดยเป็นการประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีก 30,000 ล้านบาทและจากเงินกู้อีก 100,000 ล้านบาท

การทบทวนงบประมาณดังกล่าว ทำให้ปฏิทินงบประมาณของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ล่าช้าออกไปจากปกติถึง 7 เดือน คือ กว่าที่คณะรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้ ก็ล่วงไปถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567

เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่สามารถประกาศใช้ การใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญของ GDP จึงยังไม่เกิด รัฐบาลสามารถใช้จ่ายได้โดยยึดถือรายการตามงบประมาณประจำปีที่ผ่านมาไปพลางก่อนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงบประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง งบฯ ผูกพัน แต่ยังไม่สามารถจ่ายในรายการงบฯ ลงทุนใหม่ๆ ได้

การทบทวนงบประมาณเพื่อให้เกิดการจัดทำนโยบายตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ กับเวลาที่ล่าช้าไป เป็นเรื่องที่ได้คุ้มเสียหรือได้ไม่คุ้มเสีย คิดใหญ่ทำเป็น หรือคิดใหญ่ทำไม่เป็น?

 

นโยบายการแจกเงินดิจิทัลที่ยังไม่มีข้อสรุป

การใช้เงินราว 500,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณแผ่นดิน เพื่อแจกประชาชนประมาณ 50 ล้านคน ให้จับจ่ายใช้สอยคนละ 10,000 บาท ถือเป็นอีกเรื่องที่คิดใหญ่ แต่ถึงวันนี้ความชัดเจนเกี่ยวกับทั้งแหล่งงบประมาณ กำหนดการ วิธีการแจกจ่ายและวิธีการใช้ก็ยังคลุมเครือแม้ว่าจะมีการชี้แจงจากนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนก็ตาม

แต่เป็นการชี้แจงที่ไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนตั้งคำถามใดๆ และเร่งยุติการแถลงการณ์ข่าว

คำถามถึงความเหมาะสมในการกู้เงินผ่านการออกพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจึงยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า เป็นภาวะวิกฤต ฉุกเฉิน จำเป็น เร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือเป็นเพียงเพื่อรักษาหน้าตาของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ถูกปรามาสว่า คิดใหญ่ทำไม่เป็น

แต่พันธนาการตามกฎหมายต่างๆ ที่เขียนขึ้นมาในยุครัฐประหารเพื่อไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองนำนโยบายแผ่นดินไปใช้ประโยชน์ในการหาคะแนนนิยมให้แก่พรรคการเมืองของตนจนเกิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ กลายเป็นข้อจำกัดที่ส่วนราชการ องค์กรอิสระต่างๆ ไม่สามารถให้ความร่วมมือกับนโยบายดังกล่าวได้เต็มที่และยังเฝ้าเตือนให้เห็นถึงวิบากกรรมที่อาจตามมาในอนาคต

ทุกคนรู้ดีว่านักการเมืองมาแล้วไป แต่ราชการยังอยู่ จึงไม่อยากเอาตัวเข้าเสี่ยงกับนโยบายที่อาจขัดกับหลักของกฎหมาย

 

คิดใหญ่ทำได้ต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง

การคิดใหญ่เป็นเรื่องที่ดี เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยึดติดอดีตด้วยมุมมองที่ใหม่และใหญ่จนเป็นผลกระทบ (impact) ในการพัฒนาประเทศ

แต่การคิดใหญ่ต้องตั้งบนฐานคติของมโนสุจริตในการทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์กติกาที่มีอยู่และบนพื้นฐานของการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อแสวงหาประโยชน์จากคะแนนนิยมทางการเมืองหรือผลประโยชน์แอบแฝงที่ตอบคืนมาจากการลงทุนทางการเมือง

ผู้นำพรรคในอดีต เช่น นายทักษิณ ชินวัตร แม้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศมากมายก็ตาม แต่ไม่พ้นข้อกล่าวหาการทุจริตเชิงนโยบายที่สร้างนโยบายแล้วคืนกลับไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ตนได้รับประโยชน์ด้วย

ผู้นำรัฐบาลในอดีต เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะได้รับการสนับสนุนคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นและมีความปรารถนาดีต่อการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วยการจำนำข้าว ก็ไม่พ้นข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตของบุคคลรอบข้างที่ไปทำสัญญาปลอมในการซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ กลายเป็นความเสียต่อประเทศอย่างมากมาย

ปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสของนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้นำรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ที่จะทำนโยบายที่ไม่เพียงคิดใหม่ ทำใหม่ เป็นคิดใหญ่ ทำเป็น

หากแต่ที่ผ่านมาใกล้ 3 เดือนของการรับตำแหน่ง คำหลังยังไม่เห็นชัดนัก