“Street” “Vintage” “Minimal” ฯลฯ สำรวจแฟชั่นหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน ในวันที่โลกเปิดกว้างมากขึ้น : เปลี่ยนผ่าน

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การแต่งตัว” มีผลสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะออกไปข้างนอกพบปะผู้คน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ออกไปทำงานก็ตาม จะเห็นว่าการแต่งตัวของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันออกไป

อย่างที่หลายๆ คนมักเรียกมันว่า “สไตล์”

หากมองย้อนกลับไปในอดีต พัฒนาการของแฟชั่นในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันมาก โดยการเปลี่ยนผ่านแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ภูมิอากาศ ฯลฯ

อิทธิพลการแต่งตัวของแต่ละคนมีที่มาหลากหลายผิดแผกกันไป ไม่ว่าจะนำมาจากนิตยสารแฟชั่น, ศิลปินที่ชื่นชอบ, นักแสดงที่ชื่นชม, สื่อโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่การนำเอาวัฒนธรรมแต่ละยุคสมัยมาปรับใช้กับการแต่งตัวเพื่อให้เข้ากับตัวตนของตัวเอง

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก FEED เพจแนวไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จึงจัดทำคลิปวิดีโอชุด “Fashion on Street” รายการสำรวจแฟชั่นของผู้คนตามสถานที่ต่างๆ ที่วัยรุ่นและคนแต่งตัวดีๆ มักชอบไปรวมกลุ่มกัน เพื่อนำเสนอไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้บริโภคออนไลน์ที่ชื่นชอบการแต่งกาย

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนมาประมาณ 4 เดือน พบว่าผู้คนให้ความสำคัญกับการแต่งตัวค่อนข้างสูง และมีความหลากหลายกว่าสมัยก่อน ในฐานะเครื่องมือช่วยสร้างโอกาสให้กับตนเองในหลายๆ ด้าน

ทั้งเรื่องของหน้าที่การงาน หรือแม้แต่โอกาสในการพบปะผู้คน ทุกคนล้วนให้เหตุผลว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้งานดีๆ หรือได้เจอกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ นั้น มีการแต่งกายเป็นจุดเริ่มต้น

หากมองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สมัยที่ช่องทางโซเชียลมีเดียไม่ได้ถูกพัฒนาเหมือนในปัจจุบัน หลายคนให้ความเห็นว่าตนเองยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งตัว

ยิ่งกว่านั้น ร้านขายเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีหลากหลายแนวเหมือนสมัยนี้ และที่สำคัญ ร้านค้าไม่ได้มีแพร่หลายในทุกศูนย์การค้า จึงทำให้การแสดงตัวตนของแต่ละคนผ่านการแต่งกายค่อนข้างถูกจำกัด

แต่สมัยนี้ผู้คนสามารถเข้าดูและค้นหาเครื่องแต่งกายได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แม้จะไม่มีร้านค้าเสื้อผ้าที่ตัวเองชื่นชอบในพื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่ทุกคนสามารถหาซื้อเสื้อผ้าที่ตนต้องการได้ง่ายขึ้นผ่านอินเตอร์เน็ต

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนเข้าถึงและมองว่าวงการแฟชั่นในบ้านเรา “เปิดกว้าง” มากขึ้น

มาย – ศุภณัฐ สวาท ผู้ช่วยช่างทำผมร้านชลาชล บอกว่า จริงๆ แล้วเป็นคนชอบแต่งตัวแนว “วินเทจ” แต่ละวันก็จะแต่งตัวให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ตัวเองพบเจอ อย่างช่วงนี้ทำงานซะส่วนใหญ่ ก็เลยเน้นชุดที่ทำงานง่ายสบายๆ เน้นเป็นแขนสั้นมากกว่า

เอิร์น – อุนนดา รุจิระลาวัณย์ บอกว่า ชอบแต่งตัวแนว “มินิมอล” แบบเรียบๆ ไม่มีอะไรเยอะ เพราะมันดูไม่น่าเกลียด แล้วมันก็แต่งง่าย สะดวกสบายดี

มิลค์ – ปารวดี ตั้งเกียรติขุนหาญ นักออกแบบภายใน บอกว่าส่วนตัวไม่มีสไตล์การแต่งกายเฉพาะของตัวเอง แต่ว่าอยากจับอะไรมาใส่ก็ใส่เลย คือไม่ได้อยากเหมือนคนอื่น แต่อยากเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เพราะจะเห็นผู้คนใส่เสื้อผ้าที่เป็นแบบซ้ำๆ กัน เหมือนยึดติดสไตล์ที่คล้ายๆ กัน

วี – วิโอเลต วอเทียร์ นักร้องและนักแสดง บอกว่า จะค่อนข้างมี “ความเป็นสตรีต” ในตัวเองสูง เพราะฉะนั้นก็เลยจะเอาความสตรีตไปใส่ในทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานเดินแบบ งานเดินพรม หรืองานกาล่า ก็ยังอยากให้มันดูชิค ดูสตรีต ดูเท่ และดูเป็นวัยรุ่นอยู่

แม้ขณะนี้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตัวของผู้คนจะเริ่มมาจากหลายช่องทางมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่เพียงจากกลุ่มดาราและสื่อมวลชนกระแสหลัก แต่สิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อ “แฟชั่น” การแต่งกายของผู้คนมากที่สุด ตามความเห็นของวิโอเลต คือ “ดนตรี”

“ดนตรีกับแฟชั่นมันไปด้วยกันแหละ ก็คือ ดนตรีมันก็เป็นการเซ็ตเทรนด์บางอย่างของสังคมนั้นๆ รวมถึงเสื้อผ้ามันก็เป็นการเซ็ตเทรนด์ ซึ่งมันคือเทรนด์อยู่แล้ว มันเลยมาเมิร์จเจอกัน

“อย่างเช่นเวลาเรามีเดินแฟชั่นโชว์ มีบ้างไหมที่จะไม่มีเพลง มันก็น้อยครั้งมากๆ ยกเว้นว่าจะเป็นแบบช่วงทดลอง เพราะฉะนั้น มันเลยมาคู่กัน ทุกอย่างมันจะมาเป็นแบบภาพและเสียง แต่ว่าแฟชั่นมันก็จะมาเป็นภาพ ส่วนดนตรีมาเป็นเสียง พอมันอยู่ด้วยกันมันเลยสมบูรณ์แบบ”

วี – วิโอเลต วอเทียร์ กล่าว

โลมา – ปัญญ์ ปัญจางคกุล นักศึกษา บอกว่า ชอบแต่งตัวแนว “สตรีต” โดยเริ่มต้นจากการดู MV เพลงต่างประเทศ เห็นการแต่งกายของคนผิวสีก็เลยนำมาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง เพราะคิดว่าการแต่งตัวมันช่วยบ่งบอกตัวตนของเราได้ว่าเราเป็นคนยังไง ชอบอะไร ติดตามอะไร

มาภา แสวงผล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปกติการแต่งตัวจะสอดคล้องกับเพลงที่ฟัง คือชอบฟังเพลงที่มีความเป็นร็อก ก็เลยชอบเสื้อผ้าที่มีความเป็น “กรันจ์” หรือ “แกลมร็อก” นิดนึง

ขณะที่ ยอด – ยอดยิ่ง เนียมเกาะเพ็ชร ดีเจ มองว่า ตอนนี้โลกเปิดกว้างแล้ว แต่ละคนแต่งตัวกันอย่างมีสไตล์เป็นของตัวเอง สามารถนำสิ่งต่างๆ มา “มิกซ์ แอนด์ แมตช์” ให้เข้ากับตัวเอง

แม้ลักษณะการทำงานของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้สภาพการทำงานเปิดกว้างต่อการแต่งกายมากขึ้น และการแต่งตัวก็เป็นเรื่องจำเป็นในลักษณะงานบางอย่าง ดังนั้น เครื่องแต่งกายจึงถือเป็น “สิ่งจำเป็น” ในยุคนี้

แม้การแต่งกายในบ้านเราจะเริ่มเปิดกว้าง และหลายๆ สไตล์เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

แต่สำหรับการแต่งกายที่เป็นกลุ่มเฉพาะ อย่างกลุ่มคนที่ชื่นชอบเพลงร็อกหรือวัฒนธรรมร็อก และนำมาปรับใช้กับการแต่งตัวผ่านการเจาะร่างกายและการสักร่างกาย กลับยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก โดยบางครั้งพวกเขาถูกมองว่าเป็นคนหัวรุนแรง

เมฆ ทองบุญ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ตัวเองเป็นคนชอบอะไรหลายอย่าง ชอบฟังดนตรีก็ได้รับอิทธิพลมา เห็นเขาเจาะแล้วบางทีก็ชอบ รู้สึกว่ามันสวยดี หากมองให้เป็นศิลปะ แต่ถ้าคนภายนอกจะมองว่าเราดูน่ากลัวก็คงไม่แปลก

เพราะท้ายที่สุดแล้ว การแต่งตัวมันก็คือการแสดงตัวตนของเราว่าเราเป็นคนยังไง หรือเราชื่นชอบอะไรผ่านการแต่งกาย

“คนภายนอกมองว่าน่ากลัว ผมคิดว่าก็ไม่แปลก บางทีก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าตัวเราชอบอย่างนี้ แล้วเขายังไม่ได้รู้จักเรา ถ้าเกิดเขามารู้จักเรา เขาอาจจะเปลี่ยนมุมมองก็ได้ ผมไม่ได้คิดในแง่ลบมากนัก รับคำติชมได้ ก็มองเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวมากกว่า” เมฆกล่าว